When Sadness is at Your Door นิทานที่ชวนทุกคนโอบกอดความเศร้าและเป็นมิตรที่ดีต่อกัน

ครั้งล่าสุดที่คุณรู้สึกเศร้า คุณรับมือกับมันอย่างไร? ยากมาก หรือ ง่ายสุดๆ

ถ้าพวกเรามีพลังวิเศษรู้ล่วงหน้าว่าความเศร้าจะมาเมื่อไหร่ เราจะวางแผนรับมือกับมันได้ดีขึ้น … หรือเปล่านะ? แต่ในความเป็นจริงพวกเราต่างคาดเดาไม่ได้เลยว่าเจ้าก้อนความเศร้าจะมาเคาะประตูใจเมื่อไหร่ เพราะมันชอบออกมาเซอร์ไพรส์เเบบไม่ทันตั้งตัว

เดือนที่ผ่านมาเราเป็นโควิด ถึงแม้จะมีเวลาเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมข้อมูล ควบคู่กับการรับวัคซีน และยังรวมถึงการรับรู้ประสบการณ์การเป็นโควิดจากเพื่อนร่วมโลกและคนใกล้ตัวมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราคิดว่าเราน่าจะจัดการชีวิตช่วงป่วยเป็นโควิดได้ดีอยู่บ้าง อย่ากังวลใจไปก่อน แต่เมื่อเผชิญกับโควิดตรงหน้าจริงๆ พบว่าการคาดเดาเหตุการณ์ที่ผ่านมาช่างอุดมคติ ไม่ตรงปก

เริ่มจากอาการทางกาย ได้แก่ ไอมาราธอนแบบไม่เป็นจังหวะ ร่างกายร้อน นอนไม่หลับ หายใจไม่ค่อยออก กระบวนการคิดเชิงเหตุผลไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกายอ่อนแอ สุขภาพใจจึงอ่อนกำลังลงทันที มีความเศร้าเป็นระยะ

ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ตัวเราเองมักคิดว่าฉันมีเครื่องมือมากมายที่จะรับมือกับความเศร้าได้ ไม่กลัวหรอก ไปสะสมวิชาทั้งภาคทฤษฎีผ่านการอ่านหนังสือ และภาคปฏิบัติผ่านการเวิร์กช็อปจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาเเล้ว มันก็แค่ส่วนหนึ่งของความรู้สึก

หากลองจัดลำดับความเศร้า เช่น

เศร้าเเบบที่ 1 ชิลล์ๆ สบายๆ เคยเจอมาเเล้ว 

เศร้าเเบบที่ 2 เข้าใจๆ เหมือนในหนังสือที่อ่านมา สบายมาก 

เศร้าเเบบที่ 3 อ้อๆ เหมือนที่ไปเวิร์กช็อปครั้งก่อน

เศร้าแบบที่ 4 ท้อแท้จากความเศร้าที่มาจากปัจจัยภายนอก

เศร้าแบบที่ 5 มึนงงกับความเศร้าจากประสบการณ์ใหม่

เศร้าแบบที่ 6 เศร้ากับการสูญเสีย แม้จะเข้าใจแต่ก็ยากจะทำใจ

ฯลฯ 

การลองจัดหมวดความเศร้าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ฮ่า เพราะหลายครั้ง เจ้าก้อนความเศร้าก็มีพลังทำลายล้างสูงมาก ภาคทฤษฎีเเละภาคปฏิบัติสวนทางกันสุดๆ ชีวิตค่อยๆ เดินเซจนเกือบล้ม หรือล้มลงไปเลยก็มี เพราะความเศร้าไม่เคยขึ้นมาตะโกนบอกเราล่วงหน้าว่า ฉันมาแล้ว มันปลอมตัวมาหาพวกเราในรูปแบบต่างๆ ยากจะเดาเกมได้

มนุษย์ฐานหัวอาจเสนอว่าเอาอาวุธความคิดเข้าสู้ ต้องชนะแน่ๆ หากคุณออกคำสั่ง บังคับความคิดกับความรู้สึกได้ เรายินดีด้วย เราเป็นคนหนึ่งล่ะที่ทำไม่ได้ เมื่อดึงความคิดมาบวกกับอารมณ์เยอะๆ กลับพบว่าเรามักจะเดินวนไปวนมาในสนามอารมรณ์เหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด

ไม่ว่าจะเป็นลุกขึ้นมาออกกำลังกาย กินเค้ก ดื่มชานม นอนใต้ต้นไม้ ซื้อของออนไลน์ อ่านหนังสือ พยายามปรนเปรอตัวเองด้วยความสุข แต่ก้อนความเศร้ายังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน โตเเค่ไหน เราต่างต้องใช้พลังชีวิตในการรับมือกับอารมณ์เศร้าไม่มากก็น้อย ใคร ‘ใจ’ เเข็งเเรงก็ผ่านได้ไวหน่อย

เเล้วเด็กๆ ล่ะ?

นิทานเรื่อง When Sadness is at Your Door โดย Eva Eland

นิทานเปิดเรื่องด้วย ‘Sometimes Sadness arrives unexpextedly’ ชวนให้ผู้อ่านเดินเรื่องไปพร้อมกับตัวละครเด็กน้อยที่ต้องเจอกับเจ้าก้อนความเศร้าโดยไม่ได้นัดหมาย อยู่ติดหนึบไปด้วยกันทุกที่ ผลักเท่าไหร่ก็ไม่ไปไหน เด็กน้อยพยายามซ่อนมันไว้ในห้องเก็บของ แต่ออกแรงเยอะแค่ไหน เจ้าก้อนความเศร้าก็ออกมาติดหนึบเสมือนเงา ใกล้กันจนบางครั้งหายใจไม่ออก

วันหนึ่งเขาพยายามเผชิญหน้ากับมัน ทักทายกัน ทำความรู้จักกันมากขึ้น ว่าเจ้าก้อนความเศร้าที่กำลังพบเจอ มาจากไหน? ต้องการอะไร? ถึงแม้ยังไม่ได้คำตอบชัดเจน อย่างน้อยเขาได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่กับก้อนความเศร้าด้วยวิธีของตัวเองได้ดีขึ้น ค่อยๆ โอบกอดมัน ตั้งใจฟังเสียงของความเศร้าที่เกิดขึ้น อยู่กับมันเป็น มันอาจจะเพียงพอเเล้วสำหรับการรับมืออารมณ์เศร้า เพราะหลายๆ ครั้งความเจ็บปวด อึดอัด จากความเศร้าถือเป็นวัคซีนชีวิตที่ดีที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น เป็นของขวัญให้ชีวิตหลังจากผ่านด่านมาได้ให้เเข็งเเรงยิ่งขึ้น

หากให้จัดหมวดว่านิทานเล่มนี้เหมาะกับวัยใด ถ้าดูเเค่ภาพคงจัดหมวดไปเป็นหนังสือเด็ก เเต่พอได้อ่าน เราไม่กล้าระบุเลยว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนิทานสำหรับเด็กถึงแม้ปกหลังจะระบุว่า ‘When sadness arrives, don’t be afraid of it. Here’s a thoughtful way to help children deal with this emotion’ เพราะสารสำคัญในเรื่องนี้ประกอบกับภาพที่ชัดเจนมันสื่อสารกับผู้อ่านทุกคน ทุกวัย ที่อยากทำความเข้าใจตัวเองเเละรับมือกับอารมณ์เศร้าของตัวเองให้ดีขึ้น

‘Maybe all it wants to know is that it is welcome’ บางทีสิ่งที่เจ้าก้อนความเศร้าก็อยากจะรู้ก็มีแค่นั้นนั่นแหละ

เกี่ยวกับนักเขียน

Eva Eland เป็นนักเขียน นักวาดภาพประกอบ ชาวดัตช์ ศึกษาการเขียนและการออกแบบภาพและเสียงที่ Gerrit Rietveld Academie ในอัมสเตอร์ดัม และภาพยนตร์วิดีโอที่ School of Visual Arts ในนิวยอร์ก หลังจากทำงานในร้านหนังสือและดูแลเด็กมาหลายปี เธอตัดสินใจที่จะไล่ตามความฝันและศึกษาภาพประกอบหนังสือเด็กระดับปริญญาโทที่ Cambridge School of Art ในอังกฤษ

หนังสือภาพเล่มแรกของเธอ When Sadness Comes to Call ได้รับความสนใจจนนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 20 ภาษา ในปี 2020 นิทานเล่มนี้ได้รับรางวัล Klaus Flugge Prize และรางวัล V&A ในหมวดปกหนังสือ หนังสือของเธอยังเข้าชิงรางวัล Kate Greenaway Award และเข้าชิงรางวัล World Illustration Awards 

ต่อมา เธอออกหนังสือภาพเล่มที่ 2 ชื่อว่า ‘Where Happiness Begins’

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย