PINK IS FOR BOYS นิทานที่สลายอคติทางเพศสภาพด้วยการเล่าเรื่อง

ซื้อชุดชมพูให้เด็กผู้หญิง
บาร์บี้สำหรับเด็กผู้หญิง
ตุ๊กตาของเด็กผู้หญิง

ซื้อชุดสีฟ้าให้เด็กผู้ชาย
รถไฟสำหรับเด็กผู้ชาย
หุ่นยนต์สำหรับเด็กผู้ชาย

สบู่กลิ่นดอกไม้ รองเท้าสีดำ นิทานเจ้าหญิง นิทานการต่อสู้ การ์ตูนที่มีตัวละครเท่ๆ ฯลฯ

ใครกันนะที่ควรเล่นเลโก้
ใครกันนะควรดูแบทแมน
ใครกันนะควรใส่ชุดซูเปอร์ฮีโร่
ใครกันนะควรเตะฟุตบอล

ใครกันนะที่ควรเล่นตุ๊กตาเอลซ่า
ใครกันนะควรทำคุกกี้
ใครกันนะควรใส่ชุดลูกไม้
ใครกันนะควรเต้นบัลเลต์

ใครกันนะ ที่เป็นคนกำหนดสิ่งเหล่านี้

เรามักเผลอแปะป้ายเพศลงไปในสิ่งของ ของใช้ ความชื่นชอบต่างๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ งานวิจัยชิ้นหนึ่งเคยสำรวจความคิดเห็นของเด็กอเมริกัน วัย 9-12 ขวบ พบว่าเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ค่อยมั่นใจในตนเองเมื่อต้องเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ส่งผลให้เด็กผู้หญิงไม่กล้าคิดว่าโตขึ้นแล้วอยากเป็นนักบินอวกาศ ในทางกลับกันเด็กผู้ชายส่วนใหญ่สนุกกับสองวิชานี้

เมื่อมองในรายละเอียด ไม่ใช่เพราะ IQ ของเด็กทั้ง 2 เพศต่างกัน หากเป็นภาพจำและมายาคติมากมายที่ส่งต่อความคิดและความเชื่อผ่านนิทาน ของใช้ ของเล่น สื่อการเรียนรู้ และนิทาน เราแปะป้ายเพศลงไปในสิ่งเหล่านี้ เช่น เลโก้เหมาะสำหรับเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเล่นสร้างบ้าน สร้างเมือง เล่นเพียงตุ๊กตาหรือทำอาหารก็พอ

ครั้งหนึ่งเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเคยเขียนจดหมายถึงบริษัทผลิตเลโก้ว่า ทำไมตัวละครหลักๆ ของเลโก้เป็นผู้ชายในอาชีพที่ดูมั่นคง งานมีความซับซ้อน เช่น วิศวกร พนักงานดับเพลิง คุณหมอ ช่างซ่อมต่างๆ แม้จะมีตัวละครผู้หญิงอยู่บ้าง แต่ตัวละครเหล่านั้นจะทำงานสบายๆ ง่ายๆอยู่ในบ้าน เลี้ยงลูก ไปซื้อของ เปิดร้านทำผม เรื่องนี้เป็นข่าวดังจนทำให้เลโก้กลับมาทบทวนการออกแบบของเล่นและเริ่มตั้งข้อสังเกต ลงมือวิจัยการเล่นของเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายมากขึ้น

ปัจจุบันเลโก้เริ่มออกแบบชุดของเล่นที่เอื้อให้ตัวละครเพศหญิงขึ้นมามีบทบาทในการทำงานอาชีพต่างๆ มากขึ้น แต่หลายคนยังคงสะท้อนว่า เลโก้ทำไปเพื่อยอดขายในการเจาะตลาดของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง ซึ่งทำสำเร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่สุดท้ายเลโก้ก็กลับมาติดกับเรื่องการใช้สีในการแบ่งเพศอีกเช่นเคย เช่น ชุดเลโก้สำหรับเด็กผู้หญิงจะเน้นโทนชมพู และใช้สีโทนฟ้ากับชุดเลโก้ของผู้ชาย เป็นต้น

นิทานที่ฉันอยากแนะนำ และเชื่อมโยงกับเรื่องเพศคือ PINK IS FOR BOYS เรื่องโดย ROBB PEARLMAN ภาพโดย EDA KABAN นิทานเล่มนี้เหมาะกับเด็ก พ่อแม่ และครูทุกคน ไม่จำเป็นว่าลูกเราจะอยากมีเพศสภาพอย่างไร อย่างน้อยนิทานเล่มนี้เป็นมิตรกับผู้อ่านชวนให้เราวางแว่นของการแบ่งแยกเพศลง ฉันผู้หญิง! เธอผู้ชาย! เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหน พวกเราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน

นิทานเปิดเรื่องด้วยสีชมพู ‘PINK is for boys and girls’ ตามมาด้วยสีฟ้า ‘BLUE is for girls and boys’ ทุกๆ สีจะมีตัวอย่างที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นความไปได้มากขึ้นว่า สีเหล่านี้จะอยู่ในสิ่งของหรือกิจกรรมใดได้บ้าง

เฉดสีต่างๆ ทยอยเดินทางมาทักทายผู้อ่าน ความน่ารักของนิทานเล่มนี้คือการยกตัวอย่าง ช่วยให้เด็กๆ ที่กำลังอ่านนิทานไม่แบ่งแยกเพศว่า พฤติกรรมหรือการเล่นเหล่านี้ควรเป็นหญิงหรือชาย ผู้เขียนมีการยกตัวอย่างสีขึ้นมามากมายทั้ง ส้ม เหลือง ม่วง ขาว ดำ น้ำตาล และจบลงด้วยประโยคที่เป็นเหมือนใจความสำคัญของนิทานเล่มนี้ว่า All colors are for EVERYONE

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ