นิทานที่ชวนให้เด็กรักความแตกต่างของตัวเองเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนพิเศษขึ้น

เราเคยรีวิวนิทานประเด็น เรื่อง self-esteem ไปแล้ว ซึ่งเป็นนิทานที่ชื่อตรงตัวสุด ๆ เชียร์ใจนักอ่านตั้งแต่หน้าปก เรื่อง I like ME ของ Nancy Carlson ตัวละครหลักในนิทานเลือกให้กำลังใจและบอกรักตัวเองเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไร

“การรักตัวเอง” ช่างเป็นคำที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยความหมาย บางครั้งเราพูดคำนี้กับคนที่เรารักเพื่อให้กำลังใจกันและกัน หรือแม้แต่พูดให้กำลังใจตัวเอง หลายครั้งที่เหมือนจะเข้าใจและรู้สึกไปกับมัน และหลายครั้งที่เราเหมือนยังไม่เข้าใจความหมายจริง ๆ ของมัน 

การที่เราจะพูดกับเด็ก ๆ โดยตรงเลยว่ามารักตัวเองกันเถอะ เรามายอมรับตัวเองกันนะ หากเน้นแค่ให้เด็กท่องตามคงไม่ยาก แต่ถ้าอยากให้เด็กรู้สึกและสัมผัสพลังของการรักตัวเอง จนพัฒนาเป็น self-esteem ที่แข็งแรงจากภายในได้นั้น เราควรจัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เอื้อให้เด็กภูมิใจกับการได้เป็นตัวเอง กล้าที่จะยอมรับตัวเองในมุมต่าง ๆ ไม่ใช่แค่มุมใดมุมหนึ่ง 

หากคุณไม่มั่นใจว่าจะเริ่มจากตรงไหน วันนี้เรามีนิทานมาแนะนำ 2 เรื่อง โดยทั้ง 2 เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือเริ่มจากการที่นักเขียนและนักวาดภาพประกอบล้วนอยู่ในบทบาทพ่อแม่และอยากทำหนังสือให้กำลังใจลูกของตนเองมีความสุขกับการได้เป็นตัวเอง ถึงแม้บางครั้งเราอาจจะไม่เหมือนคนอื่น และการเหมือนคนอื่นก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเสมอไป

เรื่องแรกนิทานเรื่อง The Perfect Fit เรื่องโดย Naomi Jones ภาพประกอบโดย James Jones มีการแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ถึงแตกต่างก็อยู่ร่วมกันได้นะ” เมื่อดูหน้าปกและปกหลังก็พอจะเดาเกมได้เล็กน้อยว่านิทานเรื่องนี้มี สามเหลี่ยม เป็นพระเอก การผจญภัยของสามเหลี่ยมเริ่มจากความชอบที่มักจะเล่นกับเพื่อนรูปทรงต่าง ๆ ทั้ง เพื่อนวงกลม เพื่อนสี่เหลี่ยม เพื่อนหกเหลี่ยม เมื่อได้เล่นด้วยกันสามเหลี่ยมรู้สึกสนุกไปพร้อมเพื่อน ๆ และเพื่อน ๆ เองก็ล้วนยอมรับสามเหลี่ยม แต่หลายครั้งก็เกิดอุปสรรคในการเล่นจนสามเหลี่ยมเริ่มไม่มั่นใจในตัวเอง เขาจึงออกเดินทางอีกครั้งจนในที่สุดก็ได้เจอเพื่อนสามเหลี่ยมด้วยกัน หันไปทางไหนก็ล้วนเป็นสามเหลี่ยม ถ้าจบตรงนี้ก็ดูเหมือนจะแฮปปี้เอนดิ้ง เราประทับใจที่นิทานเรื่องนี้เลือกที่จะขยายความประเด็นเรื่องความเหมือนหรือต่างให้เดินเรื่องต่อไปอีกด่าน โดยสามเหลี่ยมเริ่มคิดถึงเพื่อนรูปทรงต่าง ๆ และพบว่าช่วงเวลาเหล่านั้นมันสนุกมาก เขาจึงเริ่มชักชวนเพื่อนสามเหลี่ยมทั้งหมดออกเดินทางไปทักทายเพื่อนใหม่จากรูปทรงต่าง ๆ พร้อม ๆ กัน 

สามเหลี่ยมพูดขึ้นมาว่า “ฉันเคยคิดว่า ฉันไม่เข้ากับรูปทรงอื่น ๆ ที่ไม่เหมือนกับฉัน แต่แล้วฉันก็นึกขึ้นได้ว่า พวกเราทุกคนพลาดความสนุกไปมากมายเพียงใด จากการที่เราไม่ได้เล่นด้วยกัน . . . . . และแม้ว่าฉันจะไม่ได้เหมือนรูปทรงอื่น ๆ ทุกประการแต่มันกลับเป็นความพอดีที่สมบูรณ์แบบ” 

เรื่องที่ 2 นิทานเรื่อง Minty Mae Gray and the Strangely Good Day Book เรื่องโดย Fifi Box ภาพประกอบโดย Freda Chiu หน้าปกพื้นสีม่วงเข้มกับตัวอักษรสีชมพูสด บวกกับภาพสาวน้อยหน้าตายิ้มเเย้มแสนน่ารักกำลังอ้าแขน เมื่อเปิดมาหน้าแรกพบว่าสาวน้อยหน้าตาสดใสคนนั้นกลับเดินหน้าเศร้าขึ้นบันได หลังจากเลิกเรียนเพราะเพื่อนล้อจมูกของเธอว่าตลก เธอสำรวจจมูกตัวเองในกระจกอีกครั้งและเห็นด้วยกับคำพูดของเพื่อนว่าจมูกมันแปลก ๆ 

ทันใดนั้นเองยูนิคอร์นตรงฝาผนังของเธอได้กลับมามีชีวิต มันมีลักษณะพิเศษมากมายทั้งสีชมพู จุดรอบตัว แตรตัวหัว แต่มันกลับไม่ชอบตัวเองเอาซะเลยจนอยากให้สาวน้อยช่วยระบายสีน้ำตาลให้เหมือนม้าในหนังสือศิลปะ 

หนังสือเล่มนี้ยังชวนเธอและม้ายูนิคอร์นเดินทางไปหาเพื่อน ๆ เริ่มจากเรื่องราวของโมนาลิซ่า ที่อยากทาลิปสติกแบบมันวาวและฟันขาว สาวน้อยก็ได้ให้กำลังใจว่าเธอดูดีมากแล้ว หรือ การเดินทางไปหาแวนโก๊ะ ที่ไม่มั่นใจผมสีทองของตัวเอง สาวน้อยจึงรีบชื่นชมว่าผมของคุณสีสวยเหมือนดอกทานตะวัน หรือ เทพวีนัสแสนขี้อายกับการต้องเปลือยกาย สาวน้อยไม่รอช้าที่จะชื่นชมเทพวีนัสว่าร่างกายของเขาช่างมีพลังและดูศักดิ์สิทธิ์ หรือ การได้ไปเยี่ยมฟรีด้า ที่บ่นเรื่องคิ้วหนา ๆ ของเธอ สาวน้อยรีบตะโกนกลับทันทีว่าคุณล้อเล่นรึเปล่า นี่มันช่างไรที่ติ หลังจากเธอได้ให้กำลังใจเพื่อน ๆ มามากมาย เธอไม่รอช้าที่จะปรับสียูนิคอร์นเพื่อนรักให้กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งโดยไม่จำเป็นต้องเป็นม้าสีน้ำตาลตามขนบ

ยูนิคอร์นดีใจเหลือเกินที่ได้กลับมาเป็นตัวเองในแบบที่ชอบคือการมีตัวสีชมพูและลักษณะพิเศษอีกมากมาย เขารีบขอบคุณสาวน้อยและชื่นชมเธอกลับเช่นกันว่าเธอช่างพิเศษเหลือเกิน  ตอนนี้เธอเข้าใจแล้วว่าหากเพื่อน ๆ หัวเราะร่างกายเธออีก เธอจะจำได้ว่าเราควรยิ้มไปกับมัน เพราะเราล้วนมีความงดงามอยู่ภายในเสมอและความแตกต่างช่วยทำให้ทุกคนยอดเยี่ยม

AUTHOR