นิทานที่เล่าเรื่องผีเพื่อให้เด็กมีความสุขในคืนวันฮาโลวีน

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ขณะที่ทำงานในโรงเรียนอนุบาล ช่วงวันฮาโลวีนเด็กๆ ส่วนใหญ่สนุกกับการออกแบบและแต่งกายแฟนซี บางคนแต่งเป็นแม่มด พ่อมด ฟักทอง นักรบ เจ้าหญิง ซูเปอร์ฮีโร่ ผีน่ารัก และอาจจะมีบางคนที่เน้นความสมจริง เช่น ผีที่มีเลือดเยอะๆ หรือ ผีที่มีมีดปลอมแปะคอ แปะหัวใจมาด้วย ผีหน้าขาวโพลนจนตาหายไป ผู้ใหญ่เห็นปุ๊บก็อดอมยิ้มให้ความน่าเอ็นดูเหล่านี้ไม่ไหว แต่กลายเป็นว่าวันนั้นมีเด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ร้องไห้จนไม่ได้ร่วมกิจกรรมเพราะไม่ชินกับการแต่งตัวของเพื่อน พลอยกลัวเพื่อนๆ ที่ปลอมเป็นผี และกลัวผีตามมา! รู้สึกไม่สนุกกับงานปาร์ตี้แฟนซีที่เกิดขึ้น ไม่กล้าเข้าห้องน้ำ อยากกลับบ้าน

ใกล้ฮาโลวีนอีกครั้ง ด้วยความที่ตอนนี้เราทำงานกับเด็กวัยจิ๋วขึ้นอายุตั้งแต่ 2 – 5 ขวบ และอยากให้เด็กๆ ทุกคนมีประสบการณ์ที่ดีในวันฮาโลวีนไปพร้อมกัน เราจึงวางแผนการเล่านิทาน โดยเลือกนิทานที่ค่อยๆ จุดประกายเกี่ยวกับผีพร้อมปูอารมณ์เชิงบวกและความสนุกเกี่ยวกับความกุ๊กกุ๊กกู่แสนน่ารักของผีน้อยมา 4 เล่ม ดังนี้

I Want My Light On! โดย Tony Ross

ใจความนิทานเริ่มจากความในใจของเจ้าหญิงที่ชอบกลัวความมืด คืนหนึ่งพระราชามาอ่านนิทานให้เจ้าหญิงฟังก่อนนอนแต่เจ้าหญิงไม่ยอมนอนและต้องเปิดไฟนอนเท่านั้น เพราะกลัวผีออกมา ไม่ว่าพระราชา ทหารองครักษ์ พี่เลี้ยง จะมาให้กำลังใจเท่าไหร่ คืนนั้นก็ช่างยาวนานเหลือเกินเพราะเจ้าหญิงยืนยันว่าจะเปิดไฟ วิ่งไปมารอบวัง จนในที่สุดสาวน้อยใจอ่อนยอมปิดไฟนอน แต่เธอกลับได้ยินเสียงแปลกๆ เมื่อก้มลงไปดูใต้เตียงจึงพบกับผีน้อยและตุ๊กตาโครงกระดูกตัวโปรดของเขา ทั้งคู่ตกใจกันมาก ผีน้อยกลัวมากจนต้องรีบลอยลงไปในปราสาทมืดเพื่อหาแม่ผีที่กำลังทำซุปแมงมุม แล้วเล่าว่าแม่จ๋า หนูกลัวมาก หนูไปเจอเด็กมา แม่ผีปลอบใจว่าไม่เป็นไร พร้อมกล่อมผีน้อยให้หลับฝันดี ผีน้อยพูดส่งท้ายว่า “I WANT MY LIGHT ON ANYWAY”

No Ghost Under My Bed โดย Guido Van Genechten

นิทานเกี่ยวกับการนอนคนเดียวของเพนกวินน้อย ก่อนนอนเธอมักได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น เสียงจากหน้าต่าง ผ้าม่าน เสียงจากตู้เสื้อผ้า เสียงจากใต้เตียง เสียงจากกล่องของเล่น ทุกครั้งที่ได้ยินเธอจะเรียกคุณพ่อทันที เมื่อคุณพ่อมาถึงจะคอยเช็กเสียงจากมุมต่างๆ ว่าเป็นเสียงของอะไร เช่น เสียงลมที่มาจากหน้าต่าง เสียงไม้จากตู้ที่ปิดไม่สนิท พร้อมยืนยันกันเพนกวินน้อยทุกครั้งว่าไม่มีผี ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนจริงจัง เพนกวินน้อยเรียกคุณพ่อเสียงดังอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะกลัวผี แต่เพราะต้องการกอดอุ่นๆ จากคุณพ่อ

Skeleton hiccups โดย Margery Cuyler

เด็กทุกคนล้วนเคยสะอึก พี่ผีโครงกระดูกก็เช่นกัน วิธีแก้พื้นฐานเมื่อเด็กสะอึกคือการกินน้ำ หายใจลึกๆ มีบางความเชื่อที่บอกว่าชวนให้ตกใจแล้วจะหายสะอึก แต่เมื่อเป็นผีโครงกระดูกตื่นมาแล้วสะอึก เขามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ไปอาบน้ำ? ขัดเงาโครงกระดูก? แกะฟักทอง? กินน้ำตาล? เมื่อกินเข้าไปน้ำตาลก็ร่วงหล่นลงมาหมด รอบต่อมาเขาจึงตีลังกาเพื่อกินน้ำ แต่น้ำก็ไหลออกมาทางตาหมดเช่นกัน เขาจึงไปกวาดใบไม้เพื่อให้หยุดสะอึก ระหว่างนั้นเพื่อนผีแวะมาจึงชวนกันไปเล่นเบสบอล ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ผีโครงกระดูกก็ยังคงสะอึกต่อเนื่อง จนเพื่อนผีไปหาของในกล่องสมบัติมา 1 สิ่ง นั่นก็คือ กระจก เมื่อโครงกระดูกได้ดูกระจกก็ตกใจจนหายสะอึกทันที

There’s a Ghost In This House โดย Oliver Jeffers

โอลิเวอร์คือนักแต่งนิทานชื่อดัง มีเทคนิคการวาดและเรื่องราวกวนๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความพิเศษสำหรับนิทานเล่มนี้เริ่มจากการออกแบบหน้าปกด้วยกระดาษแก้วเนื้อขุ่น มีลูกเล่นในการตัดให้เด็กๆ สังเกตผีน้อยที่แอบอยู่ในบ้านหลังนี้ เมื่อเปิดมาผู้อ่านจะเจอกับประตูบ้านสมจริง ด้วยโทนสีของภาพที่เน้นสีขาวเทาดำตลอดเรื่อง ยิ่งทำให้การเปิดหน้าต่อไปดูลึกลับยิ่งขึ้น สาวน้อยตาสีฟ้า ผมสีฟ้าเปิดประตู มาต้อนรับเข้าบ้าน เธอเล่าว่านานมากแล้วที่ไม่มีใครมาหาเธอเลย เธออยากให้พวกเราช่วยตามหาผีในบ้านหลังนี้เพราะเธอมักได้ยินเสียงประหลาดออกมาจากห้องโถง ห้องใต้บันได ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องนอน

ผู้เขียนตั้งใจให้เด็กๆ สนุกกับการตามหาผีในหน้าต่างๆ ซึ่งมีการใช้เทคนิคกระดาษแก้วเนื้อขุ่นและพิมพ์ภาพผีลงไป ทำให้การเปิดมาอ่านในครั้งแรกเด็กๆ ต้องช่วยตามหาผีที่พยายามเล่นซ่อนแอบให้เจอ เมื่อเปิดกระดาษแก้วเนื้อขุ่นคั่นอยู่ในทุกๆ หน้า เด็กๆ ก็จะเจอความลับว่าเหล่าผีแอบอยู่ตรงไหน กำลังทำอะไรกันอยู่

เราหวังว่านิทานเหล่านี้พอจะเป็นเพื่อนใจให้เด็กๆ ทุกคนสนุกไปกับงานฮาโลวีนพร้อมๆ กัน และส่งเสริมแรงใจให้เด็กๆ กล้าที่จะนอนปิดไฟ มีความสุขกับกลางคืนมากยิ่งขึ้น เพราะเหล่าผีกุ๊กกุ๊กกู่ไม่มีจริง หรือถ้ามี พวกเขาก็น่ารักเหมือนเด็กๆ ที่สำคัญ พวกเหล่าผีก็กลัวเด็กๆ มากเช่นกัน เหมือนที่แม่ผีจากนิทานเรื่อง I Want My Light On! กล่าวไว้

AUTHOR