ธรรมชาติ ป่า ดอย ศิลปะ วัฒนธรรม นอกจากสิ่งเหล่านี้ เชียงใหม่ยังมีอีกสิ่งชูเด่นที่ทำให้ต่อมาใครบางคนมอบอีกฉายาให้กับเมืองนี้ว่า ‘เมืองแห่งความคราฟต์’ ราวกับเป็นหุบเขาเหลียงซานของวงการออกแบบที่รวมดีไซเนอร์มากวิทยายุทธไว้จำนวนมาก
จูเลี่ยน–ซีเลียง ฮวง สถาปนิกหนุ่ม อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานอย่าง Chiang Mai Design Week เทศกาลงานออกแบบของจังหวัดเชียงใหม่ และ Chiang Mai Design Award งานมอบรางวัลให้กับนักออกแบบเชียงใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นประจำทุกปี หน้าที่การงานทำให้เขามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับนักออกแบบท้องถิ่นจำนวนมาก จนค้นพบว่าตอนนี้นักออกแบบเชียงใหม่กำลังมีความต้องการร่วมกันอยู่หนึ่งอย่าง
พวกเขากำลังต้องการพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดและพื้นที่รองรับผลงานสร้างสรรค์จำนวนมากที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่
ในฐานะคนในแวดวง จูเลี่ยนเก็บเอาความต้องการของเพื่อนนักออกแบบด้วยกันไปเป็นโจทย์ ไปคิด ไปฝัน ไปออกแบบ และทำให้เป็นจริงร่วมกันกับแฟนสาว นก–สุนัดดา สงวนเดช และเพื่อนชาวต่างชาติของเขาอีกสามคน สร้างโปรเจกต์ Weave Artisan Society ชุบชีวิตโรงน้ำแข็งเก่าเก็บกว่า 40 ปีให้เป็นพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์แห่งใหม่
เรื่องน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ที่ตั้งของพวกเขาอยู่ในละแวกถนนวัวลาย ถนนเก่าแก่แห่งเวียงเจียงใหม่ที่ลือเลื่องเรื่องงานช่างฝีมือท้องถิ่นมานานกว่า 200 ปี เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่ต้อนรับขับสู้ผู้คนจากทั่วสารทิศ และย่านสร้างสรรค์ที่กำลังกลับมาเป็นที่สนใจของนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ
ลองก้าวเข้าไปลัดเลาะในซอยผ่านงานสกุลช่างต่างๆเปิดประตูเข้าไปทำความรู้จักกับอดีตโรงน้ำแข็งแห่งนี้และฟังไอเดียเบื้องหลังพื้นที่กัน
Weave Artisan Society ถักทอสังคมนักศิลป์
“จากการสนทนากับนักออกแบบท้องถิ่นหลายคน เราค้นพบว่านักออกแบบในเชียงใหม่กำลังต้องการพื้นที่สำหรับรองรับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา เป็นสื่อกลางแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยสื่อสารผลงานออกแบบ แบ่งปันไอเดีย แบ่งปันความรู้ ทักษะฝีมือ” จูเลี่ยนเล่าที่มาของโครงการขณะพาเราเดินชมสถานที่
“นอกจากนั้นพวกเขายังขาดพื้นที่ตรงกลางสำหรับเข้ามาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เราจึงอยากเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนประสานพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน คำว่า weave ในภาษาไทยแปลว่า สาน ถักทอ ผ้าหนึ่งชิ้นหากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่ามันเกิดจากการสานกันของเส้นใยจำนวนมาก หนึ่งเส้นนั้นเราแทนว่าคือนักศิลป์หรือนักออกแบบคนหนึ่ง เรามีหน้าที่นำเขาเหล่านั้นมาสานรวมกัน ประสานจนเกิดเป็นผลงานชิ้นใหม่ขึ้นมา” นกช่วยเสริม
“สำหรับถนนวัวลาย คนทั่วไปจะมองว่าค่อนข้างเป็นงานแบบดั้งเดิม เป็นถนนของงานเครื่องเงิน งานเครื่องเขินแบบอดีต คนรุ่นใหม่ที่สนใจงานร่วมสมัยจึงเลิกสนใจถนนเส้นนี้ แต่หากมองภาพรวม ถนนเส้นนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการศิลปะในจังหวัดเชียงใหม่ เราอยากให้ที่นี่เป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่กับงานแบบดั้งเดิม และสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ในอนาคต
“ในชื่อของเราจะมีคำว่า artisan อยู่ ซึ่งเราอยากใช้คำไทย เลยลองค้นหาความหมายไทยดู ก็เจอความหมายว่า เป็นช่าง เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรต่างๆ แต่มีคำหนึ่งที่ขึ้นมาคือคำว่า ‘นักศิลป์’ เรารู้สึกว่าเป็นคำที่น่าสนใจ และไม่ได้เป็นคำที่จำกัดไว้แค่ช่างฝีมือ เรารู้สึกว่าคำนี้สามารถจำกัดวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของนักออกแบบที่เราสนใจชวนมาร่วมงานด้วยได้เป็นอย่างดี
“เช่นเดียวกับบรรยากาศที่เราพยายามสร้างขึ้นมาจากคำว่า society ห้อยท้าย เราอยากให้เกิดเป็นสังคมของนักศิลป์ที่เข้ามาร่วมกันแชร์ไอเดีย แชร์ความคิดกัน อีกทั้งคำว่า สังคม สำหรับเรายังมีความหมายถึงการเรียนรู้ภายในกลุ่มจากการอยู่ร่วมกันอีกด้วย นั่นจึงเป็นความหมายของที่มาชื่อ Weave Artisan Society” นกอธิบายที่มาของชื่อโครงการ
สร้างสรรค์เรื่องราวใหม่บนพื้นที่โรงน้ำแข็งร้าง
เมื่อตัดสินใจใช้ถนนวัวลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ พวกเขาเลือกใช้โรงน้ำแข็งร้างอายุมากกว่า 40 ปีของชุมชนเป็นที่ตั้งของโปรเจกต์ในฝัน
“ตอนเดินมาเจออาคารแห่งนี้เรียกได้ว่ามันกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นซากปรักหักพังอยู่แล้ว บริเวณโดยรอบเป็นป่ารก หลังคาก็ไม่มี หลังจากเราใช้เวลาอยู่กับพื้นที่นี้สักพัก เรารู้สึกได้ถึงเรื่องราวของที่แห่งนี้ รู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณของสถานที่ และถ้าเราสร้างสิ่งใหม่เข้าไปมากเกินจะกลายเป็นว่าเราทำลายเรื่องราวของสถานที่ เพราะเรื่องราวภายในที่นี่แข็งแรงอย่างมาก” จูเลี่ยนอธิบายหลักการออกแบบของเขา
“ผมต้องการคงสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไว้และใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นหนทางในการเล่าเรื่องราวของชุมชน คนที่เดินเข้ามาจะรู้สึกเหมือนเขากำลังเปิดอ่านหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนไปทีละหน้า ตั้งแต่พื้นแกรนิตที่เดิมเคยใช้สำหรับไถน้ำแข็งมากว่า 40 ปี ยันกำแพงสีชมพู ถ้าสังเกตตรงแท่นนั่ง 6 แท่นตรงข้ามบาร์ร้านกาแฟ Taste Cafe Atelier ดีๆ เดิมทีส่วนนี้เป็นที่ตั้งของเครื่องทำน้ำแข็ง ยังมีอักษรเขียนไว้อยู่เลยว่าเครื่องที่เท่าไหร่ ทำความสะอาดเมื่อไหร่ ซึ่งเรายังคงเก็บไว้
“ลายตรงบาร์ร้านกาแฟเราก็นำท่อน้ำมาตัดครึ่งและเทปูนทำเป็นลวดลายคลื่น โต๊ะบริเวณร้านดอกไม้ Les Fleurs Fac เราก็นำประตูห้องเก็บความเย็นของโรงน้ำแข็งมาใช้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่และช่วยเชื่อมโยงที่นี่กับชุมชนรอบๆ ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่มาก่อนเขาก็จะรู้สึกคุ้นเคยและสามารถเดินเข้ามาที่นี่ได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก”
ไม่ทำลายอดีต ไม่ทำร้ายอนาคต
นอกจากการออกแบบที่ไม่ทำลายเรื่องราวในอดีตของสถานที่แล้ว อีกสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญและท้าทายตัวเองก็คือการออกแบบอย่างไรให้มีความยั่งยืนและไม่เป็นภัยต่อสิ่งรอบตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ที่แห่งนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศสักตัวเดียว
“ที่นี่เราออกแบบให้มีความ sustainable จึงเลือกให้ไม่มีการติดเครื่องปรับอากาศใดๆ ผมเชื่อว่าในเชียงใหม่เราสามารถสร้างพื้นที่โดยที่ไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศได้ เวลาออกแบบสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะโรงแรม ร้านอาหาร สิ่งหนึ่งที่นักออกแบบต้องคิดเลยคือมีแอร์ไหม แต่ว่าที่นี่ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันจะเป็นไปได้ไหมถ้าไม่มีแอร์เลย เราจึงออกแบบพื้นที่แห่งนี้ให้เกิดการไหลเวียนของลม บริเวณหลังคามีช่องว่าง ประตูก็ถูกวางให้ลมสามารถพัดเข้ามาสร้างความเย็นภายใน และนำวัสดุเหลือใช้จากเดิมมาปรับใช้ให้คุ้มค่าที่สุด
“นอกจากนั้นเรายังเน้นเรื่องการออกแบบให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพที่สุด เป็น functional design อย่างประตูหน้าโครงการ ถ้าลองแหงนหน้าดูจะเห็นว่ามันสามารถพับขึ้นได้ ไว้ใช้สำหรับหักเหแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน เช่นกันมันยังสามารถกลายเป็นกันสาดป้องกันสายฝนและช่องลมระบายอากาศได้อีกด้วย” จูเลี่ยนอธิบายหลักการออกแบบอีกอย่างที่เขาคำนึง
เชื่อมผู้คนด้วยถ้วยกาแฟและดอกไม้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงในวงกว้างขณะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะร้านกาแฟ Taste Cafe Atelier และร้านดอกไม้ Les Fleurs Fac ที่ชักชวนให้คนเข้ามาใช้พื้นที่ข้างใน ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่พวกเขาตั้งใจไว้
“เรามองว่าร้านกาแฟคือสิ่งที่จะสามารถชักจูงให้ผู้คนเข้ามาทำความรู้จักกับโครงการของเราได้ ซึ่งเต้ (ปรีติ สุวรพงษ์) เพื่อนสนิทของเรา เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีแพสชั่นในกาแฟมาก เช่นเดียวกันกับร้านดอกไม้ เนื่องจากภายในพื้นที่แห่งนี้มีความแข็งกระด้าง เป็นหิน เป็นปูน เราจึงเลือกที่จะนำต้นไม้และดอกไม้เข้ามา นำธรรมชาติขึ้นชื่อที่อยู่รายล้อมเชียงใหม่เข้ามาอยู่ภายในโครงการเพื่อลดความแข็ง ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่ภายในพื้นที่ได้นานขึ้นและซึมซับเรื่องราวที่เราตั้งใจเล่าได้” จูเลี่ยนเล่า
พื้นที่ที่เปิดให้ความคิดสร้างสรรค์มีชีวิต ไม่ตายตัว
“อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากของการออกแบบโครงการ เราตั้งใจไม่ให้ที่แห่งนี้มีโซน เราวางให้มันเป็นโถงใหญ่ที่ผสมผสานทุกส่วนไว้ด้วยกัน มีความยืดหยุ่นพร้อมเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความคิดสร้างสรรค์ของนักศิลป์ต่างๆ ที่เข้ามาจัดงาน สิ่งที่เราออกแบบกับพื้นที่จึงเปรียบเสมือนกับผ้าใบเปล่าที่รอนักศิลป์แต่ละคนเข้ามาแต่งแต้มสีสันลงไป สามารถเปลี่ยนแปลงได้สำหรับทุกความคิดสร้างสรรค์ที่เข้ามาภายในที่แห่งนี้ โต๊ะ เก้าอี้ที่คุณเห็นวันนี้พรุ่งนี้จึงอาจเปลี่ยนไปได้เสมอ นี่คือไอเดียที่ทำให้ที่นี่มีชีวิตชีวา ไม่เป็นกล่องหรือกรอบปิดกั้นความคิดใดๆ”
“Process Driven Creative Destination นี่คือแนวคิดหลักของเรา เพราะเวลาคิดถึงงานคราฟต์ งานดีไซน์ หรืองานศิลปะ เรามักจะนึกถึงผลงานที่สำเร็จออกมาแล้ว แต่สำหรับที่นี่เราไม่ได้สนใจแค่ตัวผลงาน เราสนใจกระบวนการทำผลงานนั้นให้เกิดขึ้นมา ตั้งแต่การคิด การทำ เพราะว่านี่คือสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับผลงาน ถ้าเราได้รับรู้ว่าผลงานนี้เกิดขึ้นมาเพราะอะไรและทำไมถึงเป็นสิ่งที่คนต้องการ เราจะเข้าใจคุณค่าของผลงานนั้น
“สิ่งที่เรากำลังทำก็คือการนำกระบวนการเบื้องหลังผลงานเหล่านั้นออกมาสู่ด้านหน้า เมื่อคนเดินเข้ามาภายในโครงการ สิ่งแรกที่คุณจะเห็นเลยก็คือส่วนพื้นยกระดับที่มีม่านพลิ้วอยู่ตรงกลาง นี่คือส่วนไฮไลต์ที่สุด เราจะนำกระบวนการที่ปกติไม่เคยถูกเปิดเผย อยู่แต่ภายในสตูดิโอออกมาสู่ข้างหน้า เวลาจัดเวิร์กช็อปเราก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้ แม้แต่ร้านกาแฟและร้านดอกไม้ภายในโครงการ จะเห็นว่าเราออกแบบให้เปิดอย่างมาก ใครก็สามารถมองเห็นทุกกระบวนการและสามารถเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ได้อย่างง่ายดาย
“การเปิดให้ได้เห็นกระบวนการจะเปิดโอกาสให้ได้ทำความเข้าใจกับผลงาน รู้จักนักศิลป์ แน่นอนว่าเขาจะมองเห็นคุณค่าของผลงานนั้น” จูเลี่ยนกล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบันโครงการ Weave Artisan Society แล้วเสร็จไปมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาพร้อมแล้วที่จะให้บริการทุกคนที่เข้ามา ซึ่งตอนนี้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เวียนมาจัดเป็นนิทรรศการและเวิร์กช็อปจำนวนมาก เพื่อสร้างประสบการณ์สร้างสรรค์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่ และต่อไปข้างหน้าพวกเขาก็ได้เชิญนักศิลป์จำนวนไม่น้อยในแวดวงมาร่วมสร้างสีสันใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ภายในพื้นที่แห่งนี้
หวังว่าเมื่อคุณได้เห็นกระบวนการคิดและการทำงานเบื้องหลังของโครงการนี้แล้ว จะเข้าใจ เห็นคุณค่า และตกหลุมรักที่แห่งนี้เช่นเดียวกับเรา