ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่จังหวัดเชียงใหม่
หากยังไม่มีแผนจะไปไหน ฤดูหนาวนี้เราขอแนะนำให้ลองไปเดินเล่นที่ ‘ศรีประกาศ อิชิ’
ศรีประกาศ อิชิ คือตลาดนัดรวมกลุ่มคนทำงานฝีมือที่จริงจังกับศาสตร์และศิลป์ของตน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟที่คัดสรรเมล็ดชั้นดีและกรรมวิธีการชงที่ดีที่สุดมาเสิร์ฟ ร้านเต้าหู้ของชาวญี่ปุ่นที่ผ่านการค้นคว้าวิธีการปรุงมาแล้วว่าดีต่อสุขภาพและยืดอายุผู้กิน ร้านขนมปังหอมกรุ่นจากเตาไร้ไขมันทรานส์ และมากไปกว่าของกิน ภายในตลาดแห่งนี้ยังมีงานฝีมือจากดีไซเนอร์และศิลปินหลากหลายแขนง ทั้งผ้าย้อมคราม ถ้วยชาม เซรามิก และอีกมาก ให้คุณได้เพลิดเพลินกับการเลือกสรรและสนทนากับพ่อค้าแม่ค้าที่รอต้อนรับแขกทุกท่านอย่างเป็นมิตรและแจกรอยยิ้มให้อย่างไม่กลัวขาดทุน บรรยากาศภายในตลาดแห่งนี้จึงอบอุ่นสู้ลมเย็นของฤดูหนาวเชียงใหม่ได้สบายๆ
ขยับถอยออกมาจากตลาดสักหน่อยเพื่อให้เห็นภาพกว้างขึ้น ศรีประกาศ อิชิ ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบอาคารโบราณสีเหลืองอายุเกินร้อยปี ซึ่งเคยเปิดให้บริการเป็นบ้าน สำนักพิมพ์ คลินิก และสถานะสุดท้ายก่อนถูกทิ้งร้างคือ ‘โรงแรมศรีประกาศ’ โรงแรมแห่งแรกๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ในอดีตเนิ่นนานมาแล้วเคยต้อนรับแขกเหรื่อผู้เดินทางมาสัมผัสอากาศหนาวเชียงใหม่ในช่วงปลายปี
ศรีประกาศ อิชิ คือหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์อาคารเก่าแก่ที่ว่า นำทีมโดย ป้าอ้อ–กิ่งแก้ว สุจริตพานิช ทายาทรุ่นที่ 3 ของหลวงศรีประกาศ ผู้ยังคงแข็งแรง ยิ้มแย้ม และมีพลังที่จะพลิกอาคารที่เคยหายใจรวยรินให้กลับมามีชีวิตชีวาและส่งต่อสิ่งดีงามให้กับคนรุ่นหลัง
ซึ่งตลาดที่มีบรรยากาศน่ารักเฉพาะตัวนี้อาจไม่เกิดขึ้น หากวันหนึ่งอาคารโบราณแห่งนี้ไม่เจอกับพายุลูกใหญ่
“ครั้งหนึ่งเชียงใหม่เจอพายุลูกหนึ่งที่แรงมาก พื้นที่แห่งนี้ไม่มีอะไรบังลมที่เข้ามา มันโดนจั่วของอาคารเข้าเต็มๆ กลายเป็นโพรงใหญ่ขนาด 3 คนลอดได้ ก่อนหน้านั้นเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับอาคารหลังนี้ แค่เก็บไว้เฉยๆ แต่พอเจอเหตุการณ์นี้มันบังคับให้เราต้องคิด เพราะถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็มีแค่ทางเลือกเดียวคือรื้อทิ้ง เพราะส่วนที่เสียหายอาจดึงให้อาคารถล่มลงมา เป็นอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง แต่ถ้าไม่รื้อ จะให้มันอยู่ต่อ มันจะต้องอยู่แบบไหนล่ะ อายุเราก็เกิน 60 ปีแล้ว ไม่สามารถฝันเหมือนคนอายุน้อยที่ยังสามารถเดินไปกู้เงินจากธนาคารได้ ตอนนั้นเรามืดแปดด้านจริงๆ”
ทว่าในความมืดมิดก็ยังมีแสงสว่างลอดผ่านเข้ามา เมื่อผู้คนที่สัญจรไปมาเห็นรูโหว่ขนาดใหญ่บนอาคารเก่าแก่ ก็คล้ายว่าเกิดรูโหว่ในใจของพวกเขาเช่นกัน
“อาคารแห่งนี้โชคดี ผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นแล้วก็รู้สึกเสียดาย เดินมาให้กำลังใจ และเราก็ได้รับน้ำใจจากคนที่ทำงานด้านการก่อสร้าง เขานำโครงไม้ไผ่ที่เหลือมาช่วยค้ำยันตัวอาคารไว้ มีความช่วยเหลือแบบนี้เข้ามาเยอะมาก การซ่อมตัวอาคารเองก็เป็นเรื่องยาก เพราะอาคารอายุมากและมีโครงสร้างแบบโบราณ แต่แล้วก็มีช่างคนหนึ่งเดินทางมาบอกกับเราว่าพ่อแม่สั่งให้เขามาช่วยอาคารหลังนี้ เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ จะให้มันหายไปไม่ได้ พวกเขาทำใจกันไม่ได้ อาคารแห่งนี้จึงได้รับการซ่อมแซม” ป้าอ้อเล่าพร้อมรอยยิ้มกว้าง
น้ำใจและความหวังดีของผู้คนที่รู้สึกผูกพันและอยากรักษาอาคารแห่งนี้ช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมอาคารโรงแรมศรีประกาศให้กลับมาสง่างามอีกครั้ง เพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ ป้าอ้อกับหลานสาวจึงตัดสินใจจัดนิทรรศการ ‘แต้มสีวันวานศรีประกาศ’ ขึ้นมาเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอาคารและชุมชนรายล้อม รวมทั้งเป็นตัวอย่างว่าการอนุรักษ์บ้านและอาคารเก่าในเชียงใหม่นั้นเป็นไปได้จริง
จากนิทรรศการเมื่อครั้งนั้น ป้าอ้อเห็นความเป็นไปได้ที่จะจัดกิจกรรมอื่นๆ จึงตัดสินใจแปลงอาคารโบราณสีเหลืองให้กลายเป็นอาคารกิจกรรม ซึ่งยินดีต้อนรับทุกนิทรรศการรวมถึงกิจกรรมที่สามารถส่งต่อสิ่งดีงามให้กับสังคม โดยมีหลักการง่ายๆ สำหรับคนที่เข้ามาจัดงานก็คือ ช่วยใช้ ช่วยซ่อม
“เราจะไม่รับเงินค่าเช่า แต่เราจะมาคุยกันว่า ตอนนั้นเราขาดอะไร ซึ่งก็ทำให้เราได้เสา ได้อะไรต่างๆ มาซ่อมแซมโรงแรม บางคนจัดหนึ่งงานเล็กๆ ก็ทำให้เราได้เสามาหนึ่งต้น ไม่จำเป็นต้องมีเยอะ เล็กๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรืองานขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มสถาบันต่างๆ ก็ทำให้เราได้เสาหลายต้นหน่อย จะเห็นว่าเราเสริมเสาไม้ด้วยเหล็กเพื่อทำให้มันแข็งแรงขึ้นมาก”
กล่าวได้อีกอย่างว่าอาคารแห่งนี้อยู่ได้ด้วยปัจจัยของคนที่มาจัดงานต่างๆ ภายในอาคาร ซึ่งได้ช่วยกันฟื้นฟูอาคารแห่งนี้ไปด้วยในตัว พื้นที่ของอาคารโรงแรมศรีประกาศในปัจจุบันจึงมีนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ หมุนเวียนกันเข้ามาให้ผู้คนได้เข้าร่วมตลอดทั้งปี และทำให้อาคารอายุมากกว่า 100 ปีแห่งนี้ กลับมามีครึกครื้นและสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง
โดยหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ทุกปลายปีที่เราไม่อยากให้คุณพลาดเลยก็คือ ‘ศรีประกาศ อิชิ’
“ศรีประกาศ อิชิ เกิดขึ้นมาจากความต้องการจัดกิจกรรมของเรา เลยไปปรึกษากับกลุ่มผู้หญิงญี่ปุ่นในเชียงใหม่ที่รวมตัวกันตั้งกลุ่มชื่อว่า ‘ฟูจิน’ เป็นกลุ่มที่ทำงานคราฟต์ขายกัน เรามีไอเดียว่าอยากชวนฟูจิน รวมถึงกลุ่มคนไทยที่ทำงานคราฟต์มารวมตัวกัน ซึ่งเราไม่อยากให้ศรีประกาศ อิชิ มีบรรยากาศของตลาดนัดที่ซื้อ-ขายกันอย่างเดียว เราคิดถึงสมัยก่อนที่มีการโอภาปราศรัยกันระหว่างคนซื้อและคนขาย เราอยากให้ที่นี่มีบรรยากาศแบบนั้น”
คำว่า อิชิ ที่ต่อท้ายศรีประกาศคือคำภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ตลาด การรวมตัว หรืออีกนัยคือหนึ่งเดียว และนั่นคือสิ่งที่ป้าอ้อต้องการให้เกิดขึ้นกับศรีประกาศอิชิ – การรวมสิ่งดีๆ ความคิดดีๆ ไว้ในที่แห่งนี้
“คนที่มาร่วมเปิดร้านเป็นคนทำงานแฮนด์เมดกันทั้งนั้น เขาทำของดีๆ มีความตั้งใจดี เรื่องการขายมาทีหลัง ถ้าของดีจริงก็จะมีผู้ซื้อตามมาอยู่แล้ว บางเจ้าไม่ทันถึงเที่ยงก็หมดแล้ว ต้องกลับไปทำใหม่ และคนเหล่านี้สามารถเล่าเรื่องงานของตัวเองได้ มันมีเบื้องหลังต่างๆ ที่เกิดจากความตั้งใจ การคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกาแฟที่ชงจากน้ำแร่ที่เขาไปเอามาจากภูเขาต่างๆ ทุกร้านมีเรื่องเล่า มีความตั้งใจ ผู้ที่เดินในศรีประกาศ อิชิ จะได้รับฟังเรื่องราวจากร้านต่างๆ ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณกำลังจะตัดสินใจซื้อ และยังได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เกิดเป็นมิตรภาพขึ้นมา”
นอกจากความต้องการสร้างบรรยากาศอบอุ่นและเป็นมิตรระหว่างคนซื้อและคนขาย อีกสิ่งที่ศรีประกาศ อิชิ ให้ความสำคัญอย่างมากก็คือการไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่งานครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในสิ่งที่เป็นจุดเด่นของงานที่ป้าอ้อพยายามแนะนำให้ใช้มาโดยตลอดก็คือ ‘ผ้าฟุโรชิกิ’ ผ้าอเนกประสงค์ของชาวญี่ปุ่นที่สามารถนำมาผูกเป็นกระเป๋า เป็นผ้าพันคอกันหนาว และพับเก็บได้โดยไม่เปลืองพื้นที่
“เราคิดว่าการจัดงานไม่ควรจะสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องอาหารเราก็จะไม่เลือกเมนูที่ต้องใช้จานชามในการทำเยอะ หลีกเลี่ยงการใช้โฟม และพยายามสิ้นเปลืองให้น้อยที่สุด” ป้าอ้ออธิบาย
งานศรีประกาศ อิชิ ครั้งที่ 5 ที่จะจัดในวันที่ 18 – 20 ธันวาคมนี้ มาในธีม Weaving Our Homeland ซึ่งนอกจากสินค้าแฮนด์เมดและอาหารสุขภาพที่ยังคงมีเช่นเดิมแล้ว ปีนี้พวกเขาขยับขยายกิจกรรมไปสู่ชุมชนมากขึ้น อาทิ กิจกรรม ‘รางไม่เลือน’ ที่จะพาคุณเดินลัดเลาะชุมชนเก่า ชมสถาปัตยกรรมเก่า และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านคำบอกเล่าของนายสถานีรถไฟเชียงใหม่ นอกจากนั้นในปีนี้ ศรีประกาศ อิชิ ยังได้ร่วมกับมูลนิธิบ้านสมานใจซึ่งทำงานกับเด็กออทิสติก โดยนอกจากจะมีผ้าทอซาโอริ ฝีมือน้องๆ มาวางขายให้ได้อุดหนุนแล้ว น้องๆ ก็ยังจะมาสาธิตวิธีการถักให้ดูกันสดๆ ภายในงานด้วย รวมทั้งในงานยังจัดฉายภาพยนตร์สารคดี เดอะดาวน์ ให้ผู้ที่เข้าร่วมได้เข้าใจเด็กๆ มากขึ้น
“ศรีประกาศ อิชิ ไม่อยากจะเดินไปข้างหน้าโดยเป็นภาระแก่สังคม อะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อให้อะไรแก่สังคม เราก็พยายามจะทำและสนับสนุนให้คนที่มีความคิดดีๆ มีพื้นที่ ณ ที่นี่ ที่ได้รับน้ำใจจากทุกคนจนสามารถกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เราอยากจะตอบแทนน้ำใจนั้นด้วยสิ่งดีๆ เช่นกัน” ป้าอ้อทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม