Factoria เปลี่ยนโกดังเก่าให้เป็นพื้นที่รวมความฝันคนรุ่นใหม่

Highlights

  • โกดัง Factoria คือพื้นที่รวบรวมคนในวงการงานออกแบบและสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วยออฟฟิศบริษัทสถาปนิก Hypothesis อาร์ตสตูดิโอ Pomme Chan ร้านอาหาร Flavour Factor และคาเฟ่ Factoria Drinkbar ตั้งอยู่ในเวิ้ง Warehouse 26
  • บริษัท Hypothesis คือบริษัทออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ที่นี่เกิดจากแนวคิด dream sharing สร้างพื้นที่ๆ เอื้อให้คนรุ่นใหม่สามารถมาแชร์พื้นที่ ความฝัน ไอเดียและแรงบันดาลใจร่วมกัน

ท่ามกลางเทรนด์รีโนเวตโกดังเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยมากมาย เราพบเห็นโกดังหลายแห่งถูกรื้อถอน หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างเก่าทำเอาจำแทบไม่ได้ ขณะเดียวกันหลายแห่งเลือกที่จะซ่อมแซมเพียงบางส่วน รักษาเอกลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างไว้ให้คนชอบของเก่าได้ชื่นชม

หลายๆ โกดังเก่าในเวิ้ง Warehouse 26 เป็นอย่างหลัง ทันทีที่เราเดินเท้าเข้ามาถึงด้านใน เราสะดุดตากับโกดังสีขาวสะอาดตาที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อสองเดือนก่อน ที่นี่คือ Factoria โครงการที่เปลี่ยนโกดังเก็บชิ้นส่วนรถยนต์เก่าให้กลายเป็นพื้นที่รวบรวมผู้คนในแวดวงงานออกแบบโดยมี Hypothesis บริษัทออกแบบอันดับต้นๆ ของบ้านเราอยู่เบื้องหลัง

เมื่อก้าวผ่านประตูกระจกบานใหญ่ เราเจอกับ บิว–มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา Co-Founder และ Design Director จาก Hypothesis ผู้ดูแลโครงการ Factoria แสนใจดีที่อาสาเล่าที่มาที่ไปของโครงการที่เกิดจากคอนเซปต์ dream sharing แถมพาเราเดินทัวร์รอบๆ อดีตโกดังเก่า ทำความรู้จักกับความฝันของพวกเขาให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม

ชื่อโครงการ Factoria มาจากคำว่า Factorial หรือ ‘ความน่าจะเป็น’ ในเชิงคณิตศาสตร์, Factory ภาษาละตินที่หมายถึง ‘พื้นที่โรงงาน’ ที่พวกเขาใช้, Factor คือ ‘องค์ประกอบ’ ต่างๆ ที่อยู่ด้วยกันภายใต้ชายคาแห่งนี้ และ Fact ที่หมายถึง ‘ความเป็นจริง’ ของสถานที่ – เราขอใช้คำเหล่านี้ช่วยเล่าเรื่องราวของตัวมันเองแล้วกัน


Factorial – ความน่าจะเป็นที่เกิดจากความฝันที่กองรวมกัน

“Hypothesis เราไม่ได้มองตัวเองเป็นสถาปนิก อินทีเรีย หรือแบรนด์ดีไซเนอร์อย่างเจาะจงครับ เราทำร้านอาหาร ทำโรงแรมให้คนอื่นมาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน งานของเราคือการสร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยสิ่งที่เรามีความรู้ ซึ่งก็คือการออกแบบ หลังๆ ก็เริ่มมีคนจ้างเราทำ conceptual บ้าง พอทำให้คนอื่นเยอะๆ ทีนี้เราก็อยากทำอะไรที่เป็นของตัวเองบ้าง เป็นสมมติฐานที่ไม่มีใครมาคอนโทรลเราว่าจะต้องเป็นอะไร

“โลกใบนี้มันนิ่งมานานเกินไปแล้ว อย่างโรงเรียนที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1600 ทุกวันนี้เรายังเรียกมันว่าโรงเรียนอยู่ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนหน้านั้นเราไม่เคยมีโรงเรียนมาก่อนด้วยซ้ำ ผมสนใจว่าไอ้จุดๆ ที่คนตั้งสมมติฐานว่าถ้าเรามีที่สักที่หนึ่งที่มีครูมาสอน มีคนมาเรียนเยอะๆ เราจะเรียกมันว่าโรงเรียน ผมรู้สึกว่า ณ วันนั้นเขาคิดได้ แล้วทำไมวันนี้เราจะคิดสิ่งใหม่ขึ้นมาบ้างไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ Hypothesis พยายามจะทำครับ

“พอเราอยากจะทำ เราก็ต้องหาสถานที่กันก่อน จริงๆ เราตั้งใจขยายออฟฟิศด้วยครับ ผมมีเพื่อนที่อยากทำร้านอาหาร มีเพื่อนบาร์เทนเดอร์ที่ฝันอยากทำบาร์และร้านกาแฟของตัวเอง และมีรุ่นน้อง ปอม–ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ Pomme Chan อีกคนที่อยากขยายอาร์ตสตูดิโอของตัวเองด้วย”

“ตอนที่ความฝันมากองรวมกันเยอะๆ เราคิดว่าถ้าเรามีที่ที่หนึ่งที่สามารถแชร์พื้นที่และใช้มันร่วมกันได้ มันจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เลยตั้งสมมติฐานกันว่าอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอะไรก็ได้ เราจัดตั้งบริษัท Factoria ขึ้นมาโดยที่ทุกคนในนี้เป็นบอร์ด แต่ถ้าใครไม่อยากเป็นบอร์ดก็เป็นผู้เช่าแทน อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ต้องลงทุนเองทั้งตึก เหมือนช่วยกันแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้วย”

Factory – พื้นที่โรงงานที่เป็นได้ทุกอย่าง

“จริงๆ บริษัทเราทำโกดังมาหลายที่เหมือนกันครับ เราเคยทำ Vivarium by Chefs Ministry, Lhong 1919, Air Space ที่หัวหิน พอทำเยอะเราก็ยิ่งเห็นว่าพื้นที่โกดังมีลักษณะพื้นที่ที่ไม่มีเสา เราจะเปลี่ยนพื้นที่เป็นอะไรก็ได้ มันมีความเป็นมัลติฟังก์ชั่นในตัวเอง บวกกับความเท่ของโครงสร้างอื่นๆ ด้วย ไม่แปลกที่ช่วงก่อนคนให้ความสนใจกับการรีโนเวตโกดังเก่าเยอะ”

นอกจากกระจกด้านหน้าที่เปิดโล่งรับแสงธรรมชาติแล้ว หากมองขึ้นไปบนเพดาน เราจะสังเกตเห็นโครงสร้างหลังคาที่มีช่องที่เปิดให้แสงอาทิตย์ลอดเข้ามาสร้างความสว่างให้กับโกดัง นี่คือความอินดัสเทรียลที่พวกเขาตั้งใจหลงเหลือไว้ให้เราสัมผัส

“ถ้าพูดในเชิงการออกแบบ ที่นี่เราแทบจะไม่ได้ออกแบบอะไรใหม่เลยครับ (หัวเราะ) มีปรับปรุงบ้างนิดหน่อย เราตั้งใจอยากคงไว้ซึ่งโครงสร้างอาคารแบบเดิมแล้วเลือกที่จะปรับองค์ประกอบด้านในให้เหมาะสมกับคนที่เข้ามาใช้งานมากกว่า อย่างโต๊ะ หรือชั้นวางของที่นี่เราจะติดล้อหมดเลยเพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่และขนย้าย”

พื้นที่ส่วนกลางของ Factoria เปิดให้คนภายนอกเข้ามาเช่าจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย เช่น งานเลี้ยง งานสัมมนา หรือเวิร์กช็อป หรือถ้าต้องการจัดงานสเกลเล็กๆ หรือต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขามีบริการห้องมัลติฟังก์ชั่นรองรับเช่นกัน ข้อได้เปรียบของที่นี่คือมีทั้งร้านอาหารและคาเฟ่ ใครที่เข้ามาที่นี่หายห่วงเรื่องการจัดหาอาหารและเครื่องดื่มได้เลย

Factor – องค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้สเปซแห่งนี้สมบูรณ์แบบ

ระหว่างที่เดินลัดเลาะมาในสุขุมวิท 26 เราพบว่าย่านนี้เต็มไปด้วยออฟฟิศสถาปนิก อินทีเรีย กราฟิกดีไซเนอร์ รวมทั้งบริษัทออกแบบสื่อ ด้วยความสะดวกสบายของที่นี่เราจะสามารถพบเจอคนในแวดวงออกแบบทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เดินกันขวักไขว่ จิบกาแฟที่ Factoria Drinkbar มาทานข้าวตอนกลางวัน มาแฮงเอาต์ตอนเย็น (ที่นี่บาร์ชิลล์ๆ ที่เปิดให้บริการยามกลางคืนด้วย) หรือจับกลุ่มดูบอลพรีเมียร์ลีกหลังเลิกงาน ราวกับเป็น design community ชุมชนเล็กๆ ของคนทำงานดีไซน์

“หลายๆ คนเป็นลูกค้าประจำร้านอาหาร Flavour Factor เป็นร้านคอมฟอร์ตฟู้ดแล้วแต่เชฟที่ขายเมนูง่ายๆ ที่ใช้วัตถุดิบดีมีคุณภาพ เหมือนเพื่อนทำกับข้าวให้เพื่อนกิน อาหารแต่ละเมนูก็ต้องดีต่อสุขภาพด้วยอย่าง ข้าวไม่มันไก่ หรือไข่ดาวที่นี่จะต่างจากที่อื่นคือเราทอดเสร็จแล้วก็จะนำไปย่างเพื่อรีดน้ำมันออก ไข่ก็จะมีความกรอบเป็นพิเศษด้วย ส่วนตอนกลางคืนเพื่อนเชฟก็จะเปลี่ยนมาขายเมนูที่เป็นดินเนอร์เซต เน้นอาหารที่หนักมากขึ้น”

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Fabrication Lab หรือ F Lab คือห้องทดลองที่ทำให้ sharing space แห่งนี้พิเศษกว่าที่อื่นๆ

“ปกติออฟฟิศเราตัดโมเดลเอง ทำการทดลองกันเองอยู่แล้วครับ อย่างวันที่มีคนมาจัดเวิร์กช็อป เราก็ยินดีแชร์พื้นที่แล็บให้เขามาใช้ รวมทั้งคนนอก หรือน้องๆ นักศึกษาเข้ามาใช้ได้ สมมติว่าคุณอยากคราฟต์ชื่อตัวเองบนแก้วเก็บความเย็น เรามีเครื่อง Fiber Laser ที่สลักชื่อหรือลวดลายต่างๆ ให้คุณได้” บิวยกแก้วน้ำทรงสูงที่สลักโลโก้ Factoria มาอธิบายให้เรานึกภาพได้ชัดขึ้น

“หรือเวลาที่คุณอยากทำสิ่งๆ หนึ่งขึ้นมา คุณสามารถมาปรึกษาเราได้ เรามีสตาฟฟ์ที่สามารถช่วยแนะนำวิธีการตัดวัสดุแต่ละชนิด เรามีเครื่อง CNC Router ที่สามารถตัดไม้ ตัดโฟมได้ มีเครื่อง CO2 Laser ที่เอาไว้ตัดวัสดุที่เป็นอโลหะ ในอนาคตเราอาจจะเติม 3D Printer เข้ามา แต่ ณ ทุกวันนี้เราก็เสิร์ฟคนในแวดวงเราก่อนมันเป็นไอเดียสนุกๆ ที่อยู่ใต้คอนเซปต์การแชร์ความฝันครับ”

Fact – จากฝันที่เป็นจริงของกลุ่มเพื่อน สู่ฝันของคนรุ่นใหม่และชุมชน

“การดีไซน์พื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาใช้จะต้องคิดถึงอะไรบ้าง” เราถามหนุ่มนักออกแบบที่นั่งอยู่ตรงหน้า

“ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มีทางเลือกเยอะครับ พวกเขาต้องการภาวะความเป็นสาธารณะ หรือ common area ที่ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างที่นิวยอร์ก พื้นที่สาธารณะต้องออกแบบมาให้ดีที่สุดเพื่อคนเมือง แล้วคนเหล่านั้นก็จะไปแสดงสิ่งที่เขาอยากจะเป็นตรงนั้น

“สำหรับผม Factoria เป็นเหมือนพื้นที่ให้คนมาพบปะและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน บางคนเราอาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่พอเราเริ่มคุยกันก็หมายความว่าเราเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันแล้ว พอนึกถึงตอนที่เราเห็นคนเต้นรำ เล่นดนตรีในพื้นที่สาธารณะ หรือมีเปิดบูทดีเจบนซับเวย์ ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันจุดประกายสร้างความคิดสร้างสรรค์และความฝันให้เราได้นะ”

เมื่อ Factoria เป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Hypothesis ดีไซน์สตูดิโอที่เชื่อเรื่องการตั้งคำถามที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ แน่นอน ภาพในอนาคตของพื้นที่แห่งนี้ต้องไม่ได้ลงเอยแค่การเป็น sharing space ธรรมดาๆ

“จริงๆ พวกเราฝันไกลมากครับ ผมอยากให้ Factoria สามารถเป็นแบรนด์ที่ขยับไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกมองข้ามอื่นๆ ได้ เราอาจจะเข้าอยู่ในโรงหนังร้าง ปั๊มน้ำมันร้าง หรือตึกร้าง เราอยากเข้าไปปรับปรุงพื้นที่แล้วให้คนในชุมชนและคนภายนอกเข้ามาใช้ประโยชน์ ด้วยเม็ดเงินที่เราพอมีกับสมองที่คิดหาวิธีการบางอย่างเพื่อเปลี่ยนสังคม ทำสิ่งเล็กๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าพวกเราทำได้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย