Wealthi เทคโนโลยีปล่อยเงินกู้ที่เน้นให้คุณฮึดสู้เพราะไม่มีใครอยากมีหนี้นอกระบบ

Highlights

  • Wealthi เป็นกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบของบริษัทปล่อยเงินกู้ ที่ไม่ได้ชวนให้ทุกคนมากู้เงินอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่พวกเขากลับมีสโลแกนหลักว่า 'เมื่อคุณฮึดสู้ เราอยู่ข้างคุณ'

  • สิ่งที่เวลธ์ติเน้นย้ำคือ การปล่อยเงินกู้ในระบบผ่านระบบดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินผ่านการจัดค่ายเพื่อให้ทุกคนแก้ไขปัญหาทางการเงินของตัวเองอย่างยั่งยืน

Wealthi เป็นกิจการเพื่อสังคมที่สำหรับฉันแล้วออกจะแปลกกว่าคนอื่นอยู่สักหน่อย

เวลธ์ติไม่ได้ขายสินค้าชุมชน ไม่ได้บริการท่องเที่ยว หรือมีนวัตกรรมกู้โลก แต่เวลธ์ติเป็นบริษัทปล่อยเงินกู้ที่ไม่ได้ชวนให้คนมากู้อย่างเดียว แต่เขากลับมีสโลแกนหลักว่า ‘เมื่อคุณฮึดสู้ เราอยู่ข้างคุณ’

ภายในห้องสัมมนา นี่เป็นกิจกรรมค่ายปลดหนี้ครั้งที่ 4 แต่สมาชิกในห้องกลับบางตากว่าที่ฉันคิด กว่าครึ่งห้องเป็นเก้าอี้ว่าง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นชายหญิงวัยกลางคนและวัยใกล้เกษียณประกบคู่อยู่กับทีมงานที่กำลังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบันทึกรายรับ-รายจ่าย ฉันแอบฟังคลินิกให้คำปรึกษาการเงินรายบุคคลและรับฟังปัญหาของแต่ละคนก่อนที่จะได้พูดคุยกับคนจัดกิจกรรม

“รัฐบาลเองก็พัฒนาทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมานานแล้ว ใช้งบประมาณเก้าหมื่นล้านบ้าง แสนล้านบ้าง แต่คนเป็นหนี้นอกระบบมารีไฟแนนซ์ผ่านไปไม่กี่ปีคนเดิมก็กลับมากู้อีก กลับมาเป็นหนี้ใหม่อีก มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เขาไม่ได้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราเลยแก้ปัญหาในเชิงการปรับพฤติกรรมของเขาโดยเอาเทคโนโลยีมาช่วย แล้วก็ทำความเข้าใจเขาด้วย” เกี๊ยก–ธวัชชัย อิงบุญมีสกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งเวลธ์ติอธิบายถึงปัญหาหนี้นอกระบบในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องราวทั้งหมดของเวลธ์ตินั้น ไปฟังพวกเขาเล่าต่อดีกว่า

เมื่อวิศวกรพบกับนักเศรษฐศาสตร์

เกี๊ยก, อ้วน–กิตติศักดิ์ วังวรัญญู และ ป้อ–ชาญ จันทร์วุฒิศิลป์ ต่างเป็นวิศวกรที่มีความหลงใหลในด้านเทคโนโลยี ทั้งสามคนเคยร่วมหุ้นทำธุรกิจขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน แต่เขาพบว่าธุรกิจนั้นทำไปเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร พวกเขาจึงตั้งโจทย์ใหม่ว่าความรู้ด้านเทคโนโลยีจะสามารถนำมาแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง? เกี๊ยกจึงคิดว่าความรู้ด้าน data science ของเขาน่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เขาและเพื่อนเห็นอยู่เป็นประจำจากแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้

ในขณะเดียวกัน นักการเงินอย่าง ชัย–นำชัย สุขเกษม และ กั๊ก–เมธาวี พรษ์ทิพพันธ์ ก็สนใจปัญหาด้านการเงิน ทั้งสองทีมเจอกันในงานสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งและพูดคุยกันว่าความรู้จากทุกคนจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยได้ยังไง นั่นเองจึงเกิดเป็นเวลธ์ติ financial technology เพื่อให้คนมีรายได้น้อยที่ไม่สามารถกู้เงินกับธนาคารได้สามารถกู้เงินในระบบได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยพวกเขาหวังว่าธุรกิจเล็กๆ ของพวกเขาจะช่วยลดปัญหาหนี้สินในเมืองไทยและทำให้คนที่มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Blind Test ตาบอดคลำทาง

“ตอนแรกเราเอาข้อมูลจากต่างประเทศมาทดลองสร้างโมเดลก่อน แล้วเอามาทดลองกับบ้านเรา ตอนที่เราทดลองก็คือทำ Blind Test เราปล่อยเงินกู้หมดทุกรายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ปล่อยไปประมาณ 400-500 รายช่วงนั้น เฮ้ย! โดนเบี้ยวหนี้ไปเกินครึ่ง”  อ้วนเล่าให้ฟังถึงวิธีการทดสอบโมเดล แม้ว่าคนจะเบี้ยวหนี้จำนวนมาก แต่นั่นก็ทำให้มีข้อมูลเชิงพฤติกรรมมาพัฒนาโมเดลการทำนายเปอร์เซ็นต์เบี้ยวหนี้ให้แม่นยำขึ้นด้วย

“การเอาข้อมูลไปใช้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจริงๆ คนที่ใช้ก็จะต้องมีจริยธรรม” เกี๊ยกเสริม “บางข้อมูล อย่างเช่นข้อความ เราจะไม่เข้าไปอ่านนะ ทั้งๆ ที่ข้อมูลบางตัวมันแม่นมากเลย ถ้าเราดูข้อความเขาได้ เราจะเห็นชัดเลยว่าเขาไม่ได้จ่ายตังค์ค่าอะไรบ้าง แต่เราไม่ดูและบอกเขาได้เต็มปากว่าเราไม่ได้ก้าวก่ายข้อมูลส่วนตัวของเขา”

ถ้าเราล็อกอินเข้าไปในแอพพลิเคชั่น ก่อนการขอเงินกู้เราก็ต้องตอบคำถามมากมายโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อมูลทั่วไป เช่น เพศ อายุ อาชีพ สถานะ จำนวนบุตรที่มี และถามวิธีเก็บออม พร้อมให้ถ่ายรูปหน้าและเอกสารอย่างบัตรประชาชน ฉันอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าอย่างนี้ก็จะมีคนพยายามตอบให้ดีกว่าความเป็นจริงเพื่อที่จะได้เงินกู้แน่ๆ แต่กั๊กอธิบายต่อว่ามีปัจจัยที่มากกว่านั้นหลายอย่างประกอบกัน

“เราไม่ได้เชื่อสิ่งที่เขาตอบมาร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนเขาพยายามตอบให้เงินเดือนเยอะๆ แต่เขาก็กลัวว่าเขาจะถูกจับได้ทีหลัง เขาก็จะปลอมแปลงเลขบัตรประชาชนก็มี”

บางคนสามารถแต่ไม่ตั้งใจ บางคนตั้งใจแต่ไม่สามารถ

“บางคนกู้ไม่ผ่านแล้วแอดไลน์มาด่าก็มีนะ ดีเหมือนกันที่ไม่ปล่อยกู้ไป ฮา” พี่อ้วนเล่าบทเรียนพร้อมเสียงหัวเราะ

ปัจจุบันมีคนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเวลธ์ติมากถึง 50,000 คน แต่มีคนขอเงินกู้ไปแล้วประมาณ 30,000 คน เนื่องด้วยข้อจำกัดของใบอนุญาตและพื้นที่ให้บริการทำให้ทีมงานอนุมัติเงินกู้ในกรุงเทพมหานครไปแล้วประมาณ 5,000 คนเท่านั้น

ชัย เจ้าหน้าที่ด้านการเงินของสถาบันเอกชนแห่งหนึ่งอธิบายว่าจริงๆ แล้วการปล่อยเงินกู้แบบนี้ไม่ได้มีแค่เวลธ์ติที่เดียว แต่ยังมีรายอื่นๆ อีก โดยการปล่อยเงินกู้ประเภทนี้เรียกว่าใบอนุญาตพิโคไฟแนนซ์ (Pico Finance) เนื่องจากรัฐบาลอยากดึงเจ้าหนี้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบโดยให้จดทะเบียนเพื่อปล่อยกู้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำกัดวงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และมีดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี หรือร้อยละ 3 ต่อเดือน แค่ในพื้นที่จังหวัดที่ขออนุญาตเท่านั้น

“การทำงานปล่อยกู้ของเวลธ์ติกับธนาคารรัฐต่างกันยังไง ในเมื่อก็เป็นเงินกู้ในระบบเหมือนกัน” ฉันถามต่อในฐานะคนที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสินเชื่อหรือการเงินมากนัก

“ความน่าเชื่อถือของผู้ชำระหนี้พิจารณาจาก 2 อย่างคือ ดูความสามารถในการชำระหนี้และความตั้งใจในการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะดูความสามารถในการชำระหนี้ โดยที่เขาไม่ได้ดูว่าคนที่ไม่มีรายได้แต่ก็มีความตั้งใจดี บางคนเขามีรายได้นะ แต่เขามีหลักฐานน้อย เขาก็ยังต้องกู้นอกระบบอยู่ แต่ถ้าเราหาตัวแปรอะไรมาชี้วัดได้ว่าเขามีความตั้งใจก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้” ชัยอธิบายการทำงานให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ฉันยังนึกไปถึงว่าความตั้งใจและความสามารถนี้อาจจะเป็นหัวใจของการทำงานทุกอย่างด้วยก็เป็นได้

“สิ่งที่เราทำคือ ดูทั้งความสามารถและความตั้งใจ ซึ่งความตั้งใจก็ดูคร่าวๆ ได้จากเขามีเพื่อนเป็นคนกลุ่มไหน น่าเชื่อถือไหม นั่นเลยทำให้วิธีวิเคราะห์เราต่างจากธนาคารรัฐ”

เมื่อชี้วัดจากความตั้งใจของคนที่มีความสามารถในการหารายได้ไม่สูงนัก เงินกู้ที่ปล่อยจึงมีวงเงินเพียงรายละ 500 บาทในครั้งแรกๆ แต่เมื่อผู้ใช้งานชำระคืนตามกำหนดและเข้าไปฟังวิดีโอที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินก็จะมีคะแนนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะสามารถกู้ในวงเงินที่สูงขึ้นได้ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ เพราะเขาเชื่อว่าคนเหล่านี้ต้องได้รับความรู้ที่ถูกต้องด้วยเพื่อที่จะแก้ปัญหาหนี้ในระยะยาว

มหัศจรรย์ค่ายปลดหนี้ เวทีที่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ฉันถามถึงบรรยากาศของค่ายที่ดูจะไม่ครึกครื้นเท่าไหร่นัก “เราได้บทเรียนเยอะมากจากการทำค่ายนี้” ทีมงานทุกคนพยักหน้าเห็นพ้องตรงกัน และเล่าให้ฟังว่าค่ายนี้จัดทั้งหมด 6 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งครั้งแรกมีคนที่มีหนี้เข้าร่วมกว่า 40 คน แต่ครั้งที่ 2-3 ก็ค่อยๆ หายหน้าไป เพราะเขาคาดหวังว่าเวลธ์ติจะมาชดใช้หนี้และรีไฟแนนซ์ให้เขา แต่ในความเป็นจริงแล้วค่ายนี้อยากให้ทุกคนเห็นปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัจจุบันมีผู้ร่วมโครงการประมาณ 8 คนที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาทางการเงินและเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

หลังจากช่วงบรรยายในแต่ละครั้ง ทุกคนจะได้เข้าคลินิกแก้ปัญหารายบุคคล เพราะแต่ละกรณีก็มีบริบทของปัญหาที่ต่างกันออกไป ฉันแอบนั่งฟังพี่ผู้ชายกับผู้หญิงคู่หนึ่งที่กำลังวางแผนการลงทุนและซื้อคอนโด ฉันตกใจมากเพราะเขาดูไม่เหมือนคนที่น่าจะมีหนี้มาก่อน

“พี่สองคนนี้ตอนแรกเขามีหนี้เยอะมากเพราะออกจากงานประจำมาลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองไม่รู้จักและค่าเช่าที่ก็แพงมาก เขายิ่งทำยิ่งขาดทุนจนต้องไปหยิบยืมญาติ เอามอเตอร์ไซค์ไปจำนำ ทำทุกทางจนไม่มีใครยอมให้เขายืมเงินอีกแล้ว ชีวิตคู่ก็มีปัญหาทะเลาะกันเพราะคุยกันทีไรก็จะมีแต่เรื่องเงินตลอด จนสุดท้ายเขาไม่รู้จะกู้ที่ไหนแล้วเลยมากู้เวลธ์ติคนละ 500 บาท สองคนก็ 1,000 บาท เขาดีใจมากที่มาเจอเราแม้ว่าเงินจะไม่มาก แต่สำหรับเขาตอนนั้นมันช่วยได้มากจริงๆ” อ้วนเล่าให้ฟังถึงเส้นทางของพี่ทั้งสองคน หลังจากที่กู้เงินและได้มาเข้าค่ายนี้ทั้งคู่ก็เริ่มเห็นปัญหาของตัวเองชัดเจนขึ้นและลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้าไปทำงานประจำ ลดรายจ่าย หารายได้เสริม และที่สำคัญพี่ๆ เขากำลังวางแผนการลงทุนในอนาคต

เกี๊ยกเล่าว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือแรงใจในการทำงานของเขา “พอมาทำตรงนี้เราได้เห็นการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้งานแต่ละคน บางคนมีพัฒนาทางด้านการเงินขึ้นมาก เราก็ดีใจ คนที่เราได้ช่วยเหลือเขาในยามที่คับขันและยากลำบาก หลายคนมาขอบคุณและขอให้เรามุ่งมั่นทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ อย่างน้อยก็เพื่อส่งต่อสิ่งที่พวกเขาได้รับจากเราให้ถึงมือคนให้มากขึ้น”

เป็นหนี้ก็ออมได้

ว่ากันตามความเป็นจริง ฉันสงสัยกับเรื่องนี้ ในเมื่อเป็นหนี้ทำไมถึงไม่ใช้หนี้ให้หมดก่อนแล้วค่อยมาออมล่ะ ซึ่งเรื่องนี้กั๊กก็อธิบายว่า “คนส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้แหละ เงินจะกินยังไม่มีเลย จะให้ออมยังไง จริงๆ เงินออมยังไงก็ต้องมีแม้ว่าจะยังมีหนี้อยู่ ส่วนหนึ่งคือถ้าเขาล้มหรือไม่มีงานจะได้ไม่ลำบากมาก และอีกอย่างคือเป็นกำลังใจว่าเขาก็มีเงินเก็บได้นะ ทำให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย”

ในค่ายนี้มีคุณลุงวัยห้าสิบปลายๆ ซึ่งอีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณอายุแต่ยังมีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก เพราะเขาขาดความรู้ความเข้าใจในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย คุณลุงจึงผ่อนดอกเบี้ยมาเป็นเวลากว่าสิบปีแต่ก็ไม่ได้ทำให้หนี้เขาน้อยลง วันนี้คุณลุงมาคุยกับกั๊กเรื่องการเลือกกองทุนเพราะเขาตั้งใจจะออมเงินในกองทุนอย่างน้อยก็เดือนละ 300-500 บาท คุณลุงใกล้เกษียณคนนี้จึงเป็นแบบอย่างที่เห็นได้ชัดว่าคนเป็นหนี้ก็มีเงินออมได้จริงๆ และความรู้ทางการเงินทำให้เขามีความหวังที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอีกครั้ง

“ค่ายนี้เหมือนทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น บางคนไม่รู้เลยว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร บางคนก็จะบอกว่ารายจ่ายอันนี้ลดไม่ได้ อันนั้นก็ทำไม่ได้ เขาปฏิเสธความช่วยเหลือทุกอย่างตั้งแต่ต้นแล้ว แต่พอเขาเริ่มจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายเขาถึงปลดหนี้ได้ เขาเริ่มรู้จากการที่มาเข้าร่วมค่ายและเรียนรู้จากคนที่มีปัญหาเหมือนๆ กันมาแชร์กัน” อ้วนเล่าให้ฉันฟังว่าจริงๆ แล้วเวลธ์ติเน้นให้แต่ละคนแก้ไขปัญหาของตัวเองมากกว่า ด้วยการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไม่ใช่การชดใช้หนี้ให้และทำให้เขากลับมาเป็นหนี้อีกเหมือนที่ผ่านๆ มา”

เรียนผูก แต่ไม่เรียนแก้ (ปัญหาการเงิน)

หลังจากพูดถึงปัญหาการเงินมากมาย เราก็เริ่มเท้าความกันว่าในความทรงจำของแต่ละคนโรงเรียนสอนการเงินกันยังไงบ้าง? บางคนอาจจะห่างหายจากโรงเรียนมานานแล้ว บางคนเริ่มมีธนาคารโรงเรียนสมัยประถม แต่สุดท้ายเราก็เห็นเหมือนๆ กันว่าโรงเรียนไทยสอนให้เราออมเงินอย่างเดียวแต่ไม่สอนให้เรารู้จักการบริหารเงินเลย

“ที่โรงเรียนไม่มีเรียนการเงินเลย แต่สอนแค่ให้เราออมเงิน แล้วเราก็ไปเรียนผูกเชือกเงื่อนต่างๆ ต้องจำชื่อว่าเรียกว่าอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้เอามาใช้เลย” กั๊กพูดติดตลก แต่นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาอยากฝากไว้

เพราะแม้ว่าคุณจะเป็นคนที่มีหนี้หรือไม่ก็ตาม แต่การวางแผนการเงินเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแรงและทำให้ประเทศของเราพัฒนาขึ้นได้อย่างยั่งยืน


ใครอยากลองศึกษาเพิ่มเติม ลองเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ wealthi.co หรือติดต่อขอใช้บริการได้ที่ LINE @wealthi

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ