Change.org พื้นที่เสรีสำหรับประชาธิปไตยสุขภาพดีในยุคดิจิทัล

Highlights

  • เอย–วริศรา ศรเพชร คือ ผู้อำนวยการ Change.org ประเทศไทย เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ Change.org มีการขับเคลื่อนใน 196 ประเทศทั่วโลก
  • และในยุคที่เสียงของประชาชนถูกกดทับและพื้นที่เสรีหดเล็กลง Change.org จึงไม่ได้เป็นเพียงเว็บไซต์ หากแต่เป็นที่พื้นแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นประชาธิปไตย
  • สองปีก่อนทางหน่วยงานได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน และแหล่งที่มาของรายได้ โดยเปลี่ยนมาเป็นการเปิดรับสมัครสมาชิกแทน เธอบอกว่า แหล่งเงินควรจะหลากหลาย เพราะถ้าเงินมาจากแหล่งทุนแหล่งเดียวอาจจะต้องทำตามนโยบายของใครคนใดคนหนึ่ง และเธอเชื่อว่านี่เป็นพื้นที่เปิดของคนธรรมดา พื้นที่นี้จึงควรได้รับการสนับสนุนโดยคนธรรมดา เป็นพื้นที่ของคนที่ Change.org รับใช้จริงๆ

ผู้ใช้สิทธิอึ้ง ได้รับบัตรเลือกตั้งผิดเขต แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า “กาไปเถอะ” #เลือกตั้ง62 #เลือกตั้งล่วงหน้า

หนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดข้อเรียกร้อง “ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต.” บนหน้าเว็บ Change.org ณ วันที่ฉันนั่งเขียนบทความนี้ มีผู้เห็นด้วยร่วมลงชื่อประมาณหนึ่งหมื่นคนเท่านั้น และเพียงชั่วข้ามคืนหลังจากการเลือกตั้ง ก็มีผู้คนหลั่งไหลมาลงชื่อกันในทุกวินาทีจนรายชื่อที่ยื่นถอดถอน กกต. สูงถึง 580,000 รายชื่อ จากความคับข้องใจในการทำงานของ กกต. ชุดนี้ ทั้งจำนวนบัตรเกิน การนำส่งบัตรเลือกตั้งไม่ได้ตามกำหนด การพิจารณาบัตรเสียปริมาณมหาศาล แม้การกาบัตรเลือกตั้งจะจบลงไปแล้วแต่การรวบรวมรายชื่อนี้ยังคงดำเนินต่อไป

หลายคนอาจจะรู้จัก Change.org ในฐานะแพลตฟอร์มรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องเรื่องต่างๆ หลายคนอาจจะเคยเกิดคำถามว่า “ลงชื่อไปแล้วไง?” หรือ “ลงชื่อไปก็เท่านั้นแหละ เราจะไปทำอะไรได้มากกว่านี้”

ในยุคที่เสียงของเราถูกกดทับและพื้นที่เสรีหดเล็กลง Change.org จึงไม่ได้เป็นเพียงเว็บไซต์ หากแต่เป็นที่พื้นแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นประชาธิปไตย

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

เอย–วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ Change.org ประเทศไทย เธอเล่าให้เราฟังว่าตอนนี้ Change.org มีการขับเคลื่อนใน 196 ประเทศทั่วโลก “จุดเริ่มต้นเกิดจาก Ben Rattray เขาเรียนจบและมีแผนที่จะทำงานธนาคาร แต่น้องชายเขาออกมาเปิดตัวว่าเป็นเกย์แล้วก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เขาเห็นน้องโดนโจมตีก็เศร้าแล้ว แต่เศร้ากว่าที่เห็นคนอื่นยืนดูเฉยๆ เขาเลยเบนเข็มเปิด Change.org ขึ้นมา ซึ่งเริ่มแรกเป็นบล็อกที่มีบทความ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาสร้างเรื่องรณรงค์และลงชื่อในภายหลัง กลายเป็นพื้นที่ให้ทุกคนแสดงออกได้อย่างเสรี” 

“Change.org ไม่เหมือนกับการณรงค์ของหน่วยงานอื่นๆ เพราะหน่วยงานอื่นมักมีเป้ามาแล้วว่าเขาอยากทำเรื่องอะไรแล้วสร้างความตระหนักให้คนทั่วไปมาเข้าร่วม แต่ใน Change.org มันคือเรื่องรณรงค์ที่มาจากประชาชนจริงๆ แต่ละคนสามารถเริ่มรณรงค์เรื่องอะไรก็ได้ตามที่เห็นว่าสำคัญ โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดประเด็นให้” เอยทำให้เห็นภาพว่าทำไมใน Change.org ถึงมีเรื่องราวรณรงค์มากมาย เพราะการเป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริงจึงมีเรื่องราวที่หลากหลายตามบริบทของสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นระดับชาติเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ออก พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ เรียกร้องสิทธิต่างๆ การพัฒนากระทะของบาร์บีคิวพลาซ่า เรื่องอาหารกลางวันของโรงเรียน หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวก็ตาม

“เรื่องราวรณรงค์ของเมืองไทยมักเป็นเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อน ในขณะที่เมืองนอกมีเรื่องส่วนตัวมากกว่า” เอยเล่าถึงความแตกต่างระหว่างเรื่องราวการรณรงค์ในภูมิภาคต่างๆ “สังคมเราอาจจะเขินว่าถ้าออกมาเรียกร้องให้ตัวเอง คนจะแซวว่าคิดถึงแต่ตัวเองนะ คนลำบากกว่ายังมีอีก อยู่เงียบๆ ไปดีกว่า ทำให้เรื่องเรียกร้องในประเทศเรามักเป็นเรื่องที่กระทบคนส่วนใหญ่ เปลี่ยนยาก และใช้เวลานาน เช่น เรื่องแก้กฎหมาย เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนวัฒนธรรม”

เอยเล่าต่อว่า “เราสามารถรณรงค์ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวแล้วขยายผลไปสู่คนส่วนใหญ่ได้ด้วยเหมือนกัน การเล่าประสบการณ์ตรง สังคมจะมีความรู้สึกร่วมด้วยง่ายกว่าการรายงานตัวเลข หรืออาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ว่าแม้คราวนี้จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเราหรือใครแค่คนเดียว แต่ผลจากที่สังคมได้รับรู้เรื่องนี้ในวันนี้ มีการบ่มเพาะความเข้าใจ อาจป้องกันให้ไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก หรือทำให้การรณรงค์เรื่องทำนองนี้ง่ายขึ้นในวันข้างหน้า”

ด้วยความที่มีเรื่องรณรงค์หลากหลายบน Change.org ทำให้มีบางคนส่งเสียงถึงเอยและทีมงานว่าทำไมรณรงค์เรื่องนี้ ไม่ไปรณรงค์เรื่องอื่นที่สำคัญกว่า เอยอธิบายว่า “พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เปิด การที่มีคนมารณรงค์เรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนหนึ่ง สมมติว่าเรื่องไก่ทอด ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะมารณรงค์เรื่องที่คิดว่าใหญ่กว่าไม่ได้ เช่น เรื่องหมูทอด เรื่องสำคัญสำหรับคนหนึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องสำคัญสำหรับทุกคน และไม่สำคัญสำหรับคนอื่นแต่สำคัญสำหรับคุณ คุณก็มีพื้นที่รณรงค์หาคนที่คิดเหมือนคุณได้”

เห็นต่างคือความงาม

“จากประสบการณ์ของเราคิดว่าแทบทุกสิ่งในสื่อสังคมออนไลน์เป็นความคิดเห็น เพราะข้อมูลออนไลน์ในยุคนี้ทำให้แต่ละคนเห็นข้อมูลที่เข้ากับความเห็นของตัวเป็นส่วนใหญ่” เอยยกตัวอย่างประเด็นต่างๆ ให้ฉันฟังอย่างสนุกสนาน เธอเสริมว่าเวลาส่งอีเมลแจ้งข่าวเกี่ยวกับการรณรงค์ออกไป คนส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยมักจะไปลงชื่อกับการรณรงค์นั้น คนที่ตอบอีเมลกลับมาให้เธออ่านจึงมักจะเป็นคนที่เห็นต่าง ทำให้เอยได้เห็นความคิดเห็นที่หลากหลายมากมาย อย่างไรก็ตาม Change.org ไม่ได้วางตัวเป็นผู้กำหนดว่าอะไรผิดหรือถูก แต่เป็นเพียงพื้นที่เสรีให้คนมารณรงค์ตามความเห็นของตัวเองเท่านั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีการรณรงค์สองเรื่องที่ขัดแย้งกันบนหน้า Change.org

ในกรณีการเรียกร้อง “ปฏิรูปแพทยสภา ต้องมีคนนอกเข้าไปเป็นกรรมการ” โดยคุณอุ้ย–ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา มีการเรียกร้องให้แพทยสภาเชิญคนนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อสะท้อนเสียงของผู้บริโภคในด้านการควบคุมค่ารักษาพยาบาลและบริการต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มแพทย์ที่เห็นต่างก็ออกมาตั้งเรื่องรณรงค์ “คัดค้าน คนนอกบริหารแพทยสภา 2560” ด้วยเช่นกัน ส่วนประชาชนที่เห็นด้วยกับเรื่องไหนก็ไปลงชื่อในเรื่องนั้นได้

อยเล่าเหตุการณ์ในวันที่คุณอุ้ยรวบรวมรายชื่อไปยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า “มีนักข่าวมาถามพี่เขาว่า เห็นเรื่องเรียกร้องของอีกฝ่ายหรือยังคะ? เขาได้รายชื่อเป็นหมื่นรายชื่อแล้วนะคะ รู้สึกอย่างไรบ้าง?…พี่อุ้ยตอบว่า พี่คิดว่าสิ่งนี้มันเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย”

ลงชื่อแล้วไปไหน? 

ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยลงชื่อในแคมเปญต่างๆ หลายครั้งที่เราก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นแม้รายชื่อจะมากมายเกินเป้าหมายแล้วก็ตาม และที่สำคัญตัวเลขเป้าหมายรายชื่อเหล่านี้มาจากไหนกัน? วิธีการแบบนี้ได้ผลจริงหรือ? ฉันพรั่งพรูคำถามที่คาใจ

“เราไม่สามารถการันตีได้ว่า ถ้ารายชื่อถึงแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยน” เอยเริ่มเล่าให้ฉันฟัง 

“จำนวนรายชื่อที่เห็น เช่น แคมเปญนี้ต้องการ 500 ชื่อ 1,000 ชื่อนี้มันกำหนดโดยคนที่มาเริ่มเรื่องรณรงค์ แต่เขาไม่ได้มาสัญญาเอาไว้ว่าได้ครบชื่อเท่านี้แล้วจะทำให้ตามที่ขอเลยนะ เจ้าของเรื่องรณรงค์อาจจะกำหนดจำนวนหนึ่งไว้ เพราะคิดว่าเท่านี้แหละน่าจะทำให้เสียงดังพอที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจคนนี้จะได้ยิน ทีนี้ถ้าลงชื่อไปถึงจำนวนนั้นแต่เรื่องรณรงค์ยังไม่จบ ระบบก็จะขยายจำนวนออกไปให้อัตโนมัติ จาก 500 อาจจะเป็น 1,000 เพื่อให้รณรงค์ต่อไปได้” เอยบอก พร้อมเล่ากระบวนการอีกมายมายที่เป็นหัวใจของการรณรงค์ 

“หลายครั้งการลงชื่อออนไลน์เป็นแค่จุดเริ่มต้นของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเท่านั้น มันจุดประกายให้เกิดการอภิปรายขึ้นในสังคม เกิดการรวมตัวของคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นพลังส่งถึงคนที่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนในเรื่องนั้นๆ” เอยเล่าว่าทีมงานเล็กๆ ของ Change.org มีหลักเกณฑ์ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มาสร้างเรื่องรณรงค์อยู่หลายอย่าง เช่น เรื่องที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน คนสนใจมาก เรื่องที่มีโอกาสชนะ มีเรื่องราวกินใจ ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน เรื่องที่กระทบคนส่วนมาก หรือเรื่องที่แสดงถึงความหลากหลายของแพลตฟอร์ม Change.org

เวลาทีมงานเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มาเรียกร้อง ก็จะเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะเรียกร้องใคร ให้ทำอะไร ซึ่งมีวิธีการคิดที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เอยยกตัวอย่างว่า เราจะเรียกร้องคนไทยทั้งประเทศก็จะกว้างเกินไป แต่ถ้าอยากให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะต้องเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือเอกชนบางรายที่มีผลกระทบกับพฤติกรรมนั้นโดยตรง การเลือกว่าจะไปเรียกร้องกับใครก็ไม่ใช่เรื่องที่ตรงไปตรงมาเสมอไป ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของแต่ละแคมเปญ

หลังจากได้ความชัดเจนแล้วก็อาจจะทำ Social Media Analysis เพื่อดูว่าสังคมมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร เล่าเรื่องแบบไหนคนถึงจะอินด้วย อาจทำ Influencer Mapping เพื่อหาว่าคนที่เป็นที่รู้จักในสังคมคนไหนน่าจะสนใจถ่ายทอดเรื่องนี้ต่อ ซึ่งหลายครั้งก็อาจเป็นตัวผู้เรียกร้องเองก็ได้ที่ส่งต่อเรื่องนั้นได้ดีที่สุด รวมไปถึงการกระจายข่าวให้สื่อเพื่อเผยแพร่เรื่องราวออกไปในวงที่กว้างขึ้น ช่วยให้คำแนะนำผู้รณรงค์ในการทำงานกับสื่อ แนะนำทางยุทธศาสตร์การรณรงค์ต่างๆ รวมถึงการรวบรวมรายชื่อไปยื่นต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ และอัพเดทความคืบหน้าให้กับผู้ที่ลงชื่อได้ติดตามเป็นระยะ เพื่อให้เขาได้ร่วมรณรงค์ไปด้วยกันตลอดระยะทาง

แม้ทีมงานจะเข้าไปให้คำแนะนำ แต่เอยก็ย้ำว่าผู้เริ่มเรื่องรณรงค์ยังคงเป็นคนตัดสินใจท้ายสุดในทุกขั้นตอน จะเชื่อหรือไม่เชื่อทีมก็ได้ และเป็นเจ้าของเรื่องรณรงค์ของตัวเองอย่างแท้จริง

เมื่อได้ฟังการทำงานที่ซับซ้อนแล้วจึงรู้ว่าภาพหน้าเว็บไซต์ที่เราเห็นบน Change.org เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการทำงานทั้งหมด 

เอยยังเน้นย้ำด้วยว่า “ชัยชนะของแต่ละเรื่องไม่มีขาวมีดำหรอก แต่อยากให้มองใหม่ว่าการลงชื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ อย่างกรณีแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ คนรณรงค์ขอให้แก้ไขหลายข้อมาก สุดท้ายเขาแก้ไขเพียงบางส่วน หลายคนอกหัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการรณรงค์คือคนหลายแสนคนหันมาติดตามเรื่องนี้ บางคนเริ่มสนับสนุนแคมเปญเพราะกลัวจะกระทบเกมออนไลน์ที่ชอบเล่น พอเขาเข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มประชาชนแอ็กทีฟและคอยจับตาดูเรื่องเสรีภาพออนไลน์ต่อไป แบบนี้เราจะเรียกว่าแคมเปญนี้แพ้ราบคาบได้ไหม?”

เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

ศรัญญา ชำนิ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามคุณแม่น้องการ์ตูน เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา หลังจากที่สามีเสียชีวิตและน้องการ์ตูนลูกของเธอพิการจากนักแข่งรถบนถนนที่พุ่งเข้ามาชนเธอถึงหน้าบ้าน ศาลตัดสินคดีว่าคู่กรณีมีความผิดและเธอจะได้รับชดเชยค่าเสียหาย แต่คู่กรณีไม่มีเงินให้ และหากเธอต้องการค่าชดเชยก็ต้องดำเนินเรื่องอีกหลายขั้นตอนซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง

 ท้ายที่สุดเธอจึงรวบรวมความกล้ามาสร้างแคมเปญใน Change.org “เพิ่มบทลงโทษคนขับรถแข่งบนทางสาธารณะแล้วชนคนตาย ให้เท่ากับ เจตนาฆ่าคนตาย” และได้รับการสนับสนุนและความเห็นใจจากผู้คนมากมาย จนสุดท้ายแคมเปญนี้มีคนลงชื่อทั้งหมด 40,000 กว่ารายชื่อ

เอยเล่าเหตุการณ์ประทับใจในครั้งนั้นให้ฟัง “นักข่าวถามแม่น้องการ์ตูนในวันที่ไปยื่นรายชื่อที่รัฐสภาว่า เคยมาที่นี่หรือเปล่า? 

คุณแม่ตอบว่า ไม่เคยเพราะรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของประชาชน แต่วันนั้นเขาไปพร้อมกับรายชื่อของคนอีก 40,000 คน เขารู้สึกว่าเสียงของเขาดังขึ้น มีกำลังใจขึ้นมา มันทำให้เราประทับใจมากในแง่ที่ว่างานเรามันช่วยให้คนที่คิดว่าตัวเองเสียงเบาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป เกิดความเชื่อในพลังของตัวเองและประชาชนขึ้นมา”

พื้นที่จำกัดบนเวทีปัญหาที่เพิ่มขึ้น

“หลังรัฐประหารปีนั้น มีคนมาสร้างเรื่องรณรงค์เพิ่มขึ้นเกินสองเท่า” ตัวเลขนี้ทำให้ฉันประหลาดใจ จำนวนที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากพื้นที่สาธารณะที่มีลดลงประกอบกับการที่ Change.org เป็นที่รู้จักมาขึ้นด้วย “อย่าง NGO เขาก็มาใช้ Change.org กันมากขึ้นเพราะพื้นที่ที่เขาทำงานก็ลดลง จะขยับอะไรมากด้วยวิธีเดิมๆ ก็อาจจะเสี่ยงไป เขาก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ว่านอกจากผลักดันรัฐบาลแล้วก็อาจจะไปผลักดันธุรกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจผลักดันภาครัฐอีกทีหนึ่ง ทีนี้จะผลักดันภาคธุรกิจก็ต้องทำงานกับผู้บริโภคที่มีผลต่อธุรกิจนั้นๆ แต่ผู้บริโภคหลายคนอาจจะมอง NGO ว่าต้องสะพายย่ามใส่เสื้อม่อฮ่อม คนอื่นจะรู้สึกว่าไม่ใช่คนแบบฉันที่ชอบเล่นเฟซบุ๊กเลย NGO จึงมองว่า Change.org มีคุณค่าสำหรับเขา เพราะสามารถเชื่อมโยงคนเหล่านี้ได้” 

แน่นอนว่า Change.org อาจไม่ใช่หัวใจของการเรียกร้องทั้งหมด แต่เป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดขึ้นได้ในโลกยุคดิจิทัล และยังคงเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยที่สำคัญในขณะที่พื้นที่เสรีหดเล็กลงอย่างในปัจจุบัน

Clicktivism ประชาพิจารณ์ในโลกออนไลน์

นอกจากฟังก์ชั่นการลงชื่อแล้วในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ Change.org ยังมีการทำแบบสอบถามให้กับผู้ใช้งานเพื่อสำรวจเสียงของประชาชนว่าเรื่องไหนควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต่อไปควรลงมือแก้ไข และผลโหวตอันดับ 1 ก็ตกอยู่กับประเด็นความเป็นธรรมทางกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม

ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งไปยังพรรคการเมืองต่างๆ และผู้สื่อข่าว เพื่อกระจายข่าวสารและช่วยให้นักการเมืองเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ใครสนใจก็สามารถอ่านประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่  www.change.org/l/th/yourvoice

แต่สิ่งที่ฉันตื่นเต้นที่สุดคือฟังก์ชั่นการทำงานที่เรียกว่า ‘Decision Maker Tool’ ของ Change.org “ผู้แทนของประชาชนหรือบริษัททั้งหลายสามารถมาตั้งโปรไฟล์ของตัวเองได้ และถ้ามีการรณรงค์ถึงเขา เขาก็จะเห็นตลอดว่าประชาชนอยากให้ช่วยอะไรบ้าง และสามารถตอบคำถามบนเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ได้โดยตรง ใครที่เข้ามาดูเรื่องรณรงค์ก็จะเห็นและเป็นช่องทางให้คนในพื้นที่ สื่อสารกับคนที่ดูแลพวกเขาได้โดยตรง”

ฟังก์ชั่นนี้ใช้ได้ผลแล้วในต่างประเทศ เอยเล่าให้เราฟังถึงตัวอย่างการใช้งานในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อินเดีย ฝรั่งเศส หรือเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย “อย่างฝรั่งเศสประธานาธิบดีก็มีโปรไฟล์ของเขาแล้วก็มาตอบแคมเปญอยู่เป็นประจำ เขามาตั้งโปรไฟล์ตั้งแต่ก่อนได้รับเลือกตั้งแล้วแหละ ผู้สมัครคนอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน การมาตอบข้อเรียกร้องต่างๆ โดยตรงสำหรับเขามันง่ายกว่า เพราะไม่ต้องมาตอบอีเมลทีละฉบับ ในประเทศอังกฤษนอกจากจะใช้ Change.org แล้ว รัฐบาลยังมีเว็บไซต์ลงชื่อออนไลน์ของตัวเองด้วย โดยถ้ามีประชาชนมาลงชื่อครบ 100,000 คน เรื่องนั้นก็จะได้รับการพิจารณาไปอภิปรายในสภา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญต่อการสื่อสารกับประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์” 

ในประเทศไทยเองก็มี Decision Maker Tool เช่นกัน และจะนำมาใช้เร็วๆ นี้ โดยหลังเลือกตั้งทาง Change.org จะพยายามชวนผู้แทนและนักการเมืองต่างๆ มาทดลองใช้งานในพื้นที่นี้ด้วย

โมเดลธุรกิจที่ไม่ผูกขาด

เดิม Change.org มีรายได้ในการดำเนินการจาก NGO โดยช่วยจับคู่ผู้ใช้ Change.org เข้ากับ NGO ที่ทำงานในเรื่องที่ผู้ใช้คนนั้นสนใจ แต่เมื่อสองปีก่อนทางหน่วยงานได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน และแหล่งที่มาของรายได้ โดยเปลี่ยนมาเป็นการเปิดรับสมัครสมาชิกแทน 

การทำระบบสมาชิกไม่ใช่เงินก้อนใหญ่โตแต่เป็นสิ่งจำเป็น เอยบอกว่า “แหล่งเงินควรจะหลากหลาย ระบบสมาชิกนี้เงินจะมาจากคน คนละเล็กละน้อยหลายๆ คนจนทำให้พื้นที่นี้เข้มแข็ง ถ้าเงินมาจากแหล่งทุนแหล่งเดียวเราอาจจะต้องทำตามนโยบายของใครหรือกลัวว่าจะขัดใจใคร เราคิดว่านี่เป็นพื้นที่เปิดของคนธรรมดา พื้นที่นี้จึงควรได้รับการสนับสนุนโดยคนธรรมดา เป็นพื้นที่ของคนที่เรารับใช้จริงๆ” 

ใครที่อยากมีส่วนรวมในพื้นที่นี้ นอกจากคุณจะสามารถมาเสนอแคมเปญต่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้แล้ว คุณยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เข้มแข็งขึ้น และสนับสนุนเสียงของคนของคนธรรมดาให้ดังขึ้นได้ ผ่านการสมัครสมาชิกที่ www.change.org/changer

เราได้แต่คาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ พื้นที่เสรีทางความคิดและประชาธิปไตยจะขยายใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!