“ไอเดียที่เกิดขึ้นมาแล้วมันจะจบลงตรงไหน ด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งตัวคน ทีมงาน ทั้งเงิน เวลา และทรัพยากร ทุกอย่างพร้อมที่จะตายได้ตลอด…โจทย์คือทำยังไงให้เขาอยู่รอด”
ในช่วงปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีทองของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) หรือธุรกิจที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาทางสังคมมากกว่าผลกำไร ซึ่งเราได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ และโครงการที่สนับสนุนเกิดขึ้นมากมาย มีไอเดียหลากหลายทั้งการท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมการศึกษา การจ้างงานคนพิการ เทคโนโลยีด้านสุขภาพต่างๆ แต่หากมองให้ดีแล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ไอเดียแหวกแนว ไม่เป็นที่คุ้นเคย จะได้รับการยอมรับและปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
นี่เองจึงเป็นโจทย์สำคัญของ RISE Impact กิจการเพื่อสังคมที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ
งานบ่มเพาะคน คนบ่มเพาะงาน
ฉันนัดคุยกับ โบ๊ท–วิษณุ กุลทวีวุฒิ และ ชุลี หวังศิริเลิศ สองในห้าของทีมผู้ก่อตั้งบริษัท RISE Impact ในร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่ง เอาจริงๆ ฉันไม่ได้รู้จักการทำงานของ RISE Impact มากนัก แต่มักจะเห็นภาพการเดินทางและไอเดียที่น่าสนใจต่างๆ จากสองคนนี้อยู่เสมอ จนฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขากำลังทำงานเรื่องอะไรอยู่กันแน่
“พวกเราสนใจเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราไม่ได้สนใจด้านไหนเป็นพิเศษ แต่เราเข้าใจปัญหา เราเข้าใจเรื่องคนพิการ สิ่งแวดล้อม หรือการศึกษา ซึ่งวงต่างๆ เหล่านี้แหละมารวมกันเป็นสังคม ถ้าคนในแต่ละวงอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงและเห็นคุณค่าตรงกัน เราก็อยากให้เขานึกถึงเรา” โบ๊ทเล่าถึงความตั้งใจในการทำงานเบื้องหลังให้กับผู้ประกอบการทางสังคมรายอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ทุกคนในทีมเคยเป็นพนักงานของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) มาก่อน หน่วยงาน สกส.จัดตั้งขึ้นเพื่อทดลองให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ว่าการอบรบ การเป็นที่ปรึกษา หรือการให้ทุนรูปแบบไหนที่จะช่วย SE ได้ดีที่สุด หลังจากดำเนินการตามแผนประมาณ 4 ปี สำนักงานปิดตัวลงเพื่อเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
จาก ‘หน้าที่’ กลายเป็น ‘ความช่วยเหลือ’ ทั้งห้าคนจึงเป็นผู้ให้คำปรึกษาและจัดกิจกรรมให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องแม้ตัวองค์กรจะปิดไปแล้ว…RISE Impact จึงก่อตั้งขึ้น
ไอเดียถ้าไม่ได้ไปต่อ ก็จบอยู่แค่เวิร์กช็อป
ช่วงแรกเป็นการรับจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปตามหน่วยงานต่างๆ เป็นครั้งๆ เช่น การอบรมเรื่อง Design Thinking, Lean Startup หรือ Social Innovation จากการทำงานอย่างหนัก พัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ แต่พวกเขากลับพบว่าไอเดียเหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเลย
“เรารู้สึกว่าการจัดงานเป็นครั้ง ต่อให้เราทุ่มเทมากขึ้นแค่ไหน เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแบบแผนนี้ได้ โครงการ 3 วันหรือ 1 เดือน แค่มีไอเดียเกิดขึ้นก็ดีมากแล้ว แต่มันสั้นเกินกว่าที่ไอเดียนั้นจะต่ออายุให้กลายเป็นสิ่งที่ยั่งยืนได้” ชุลีเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการผันตัวเองจากพนักงานที่มีเงินเดือนประจำออกมาจัดตั้งบริษัทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทางสังคมอย่างจริงจัง
“ถ้าเทียบเคียงตอนที่เราทำงานอยู่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจกับตอนนี้มันแตกต่างกันมากเลยนะ ตอนนั้นเราอยู่ในส่วนของรัฐที่ต้องช่วยเหลือทุกคนและเราก็เป็นลูกจ้างด้วย กับตอนนี้ที่เรากำลังทำธุรกิจเองและกำลังช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสังคมด้วยกัน ซึ่งเราเข้าใจมากขึ้นเยอะเลยว่าผู้ประกอบการเขามีปัญหาอะไร ทำไมตอนนั้นเขาถึงส่งรายงานไม่ทันเวลา เพราะทรัพยากรเวลาและบุคคลก็จำกัดไปหมด ความเข้าใจตรงนี้ทำให้เราเป็นเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจเขาได้” เธอเล่าถึงการเติบโตภายในจากการลงมือทำด้วยตัวเอง
ทดลองและพิสูจน์
ในฐานะคนทั่วไป ฉันเห็นว่าโครงการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริม SE มีเยอะขึ้นมาก ทั้งการอบรม โครงการประกวด หรือให้ทุนต่อยอด แต่โบ๊ทบอกว่าในจังหวัดอื่นแทบเข้าไม่ถึงโอกาสเลย พร้อมยกตัวอย่างโครงการที่ประทับใจจากมหาวิทยาลัยพะเยาให้เราฟัง
“ที่พะเยาเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ เป็นจังหวัดที่มีคนน้อยและไม่มีการท่องเที่ยวมากนัก ทางมหาวิทยาลัยเองก็ลำบากมากในการหาวิทยากรมาจัดกิจกรรมให้ แต่เราก็พบว่ามันมีไอเดียดีๆ อยู่ที่นี่ด้วยนะ ทั้งจากการเรียนในห้องเรียน การช่วยเหลือจากอาจารย์ แต่ทรัพยากรอื่นๆ มันมาไม่ถึงเขาเพราะโครงการประกวดต่างๆ หรือที่ปรึกษาก็อยู่ในกรุงเทพฯ หมด เราเลยช่วยเชื่อมทรัพยากรที่จำเป็นให้เพื่อให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริง” โบ๊ททำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น และเล่าถึงผลสำเร็จที่มีส่วนช่วยในการบ่มเพาะอย่างภาคภูมิใจ
น้องๆ ทีม ALIVE ได้รับแรงบันดาลใจจากวิชาคอมพิวเตอร์ที่สอนผลิตซีพียูขนาดเล็ก โดยอาจารย์มีโจทย์ให้เอาความรู้ไปแก้ปัญหาสังคม น้องกลุ่มนี้เห็นปัญหาการปั๊มหัวใจจากการเป็นอาสาสมัครกู้ภัย จึงพัฒนาซีพียูขนาดเล็กนี้มาช่วยให้จังหวะและคำนวณแรงกดอย่างง่ายซึ่งจะช่วยให้อาสาสมัครปฏิบัติงานได้ถูกวิธีและผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ผลงานของน้องๆ ได้รับการต่อยอดและชนะเลิศโครงการ Research to Market และไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นผลงานออกมาใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้
หลังจากนั้นโครงการของ RISE Impact จึงไม่ได้หยุดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นโครงการระยะยาวมากขึ้น เจ้าตัวเผยว่าปีนี้จะมีโครงการใหญ่ระหว่าง RISE Impact และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยโครงการจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ กระบวนการที่ช่วยให้เห็นภาพปัญหาชัดเจนขึ้น ที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงที่คอยกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า และเงินสนับสนุนสูงถึง 3,000,000 บาทต่อทีม และจะเปิดรับสมัครภายในเดือนนี้อีกด้วย สำหรับคนที่สนใจบ่มเพาะความฝันของตัวเองสามารถติดข่าวสารได้ทางเฟซบุ๊ก riseimpact.co
ความคิดสร้างสรรค์ที่น่าเบื่อ
หลังจากที่มีการอนุมัติกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเมื่อปีที่แล้ว (แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้) ซึ่งจะช่วยเหลือ SE ด้วยภาษีแบบพิเศษ ช่วยเหลือด้านเงินทุน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา คาดว่าปีนี้บ้านเราจะมีกิจการเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่น่าแปลกที่ต่างประเทศแทบจะไม่รู้จัก SE กันแล้ว
“แนวโน้มในอนาคตของ SE กับธุรกิจปกติจะเป็นเรื่องเดียวกันมากขึ้น ธุรกิจปกตินี่แหละที่จะมีส่วนช่วยเหลือสังคมผนวกอยู่ด้วย อย่างบริษัทในยุโรปก็เป็นแบบนี้แล้ว ถ้าพูดว่า SE แทบจะไม่มีใครเข้าใจเลยเพราะเป็นบริษัทใหญ่ที่ใส่ใจสังคมไปแล้ว” ชุลีเล่าให้ฟังถึงทิศทางของกิจการเพื่อสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นการแก้ไขปัญหาของบริษัทใหญ่ๆ ก็ยังเหลือช่องว่างให้ธุรกิจรายเล็กได้พัฒนาอยู่เสมอ ฉันเห็นภาพการแข่งขันของตลาดที่เกิดขึ้นอยู่ปกติ เพียงแต่ในยุคปัจจุบันเราอาจไม่เน้นกันที่ผลิตภัณฑ์แต่เน้นที่การทำดีมากกว่า
คุยเรื่องโครงการต่างๆ มาถึงตรงนี้ ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่าผู้ขัดเกลาไอเดียเหล่านี้จะเห็นความคิดสร้างสรรค์จนเบื่อบ้างไหม เพราะในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า แนวคิดสุดเจ๋งทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ในเวทีประกวดแต่ละงานมีไอเดียกว่าร้อย ฉันเองก็ยังอธิบายความรู้สึกนี้ไม่ถูก
พูดไม่ทันขาดคำ โบ๊ทพยักหน้าแล้วเล่าว่า “เราเข้าใจนะ ตอนที่เราเริ่มทำงานใหม่ๆ เราก็จะตื่นเต้นมากด้วยความที่ไม่รู้จัก แต่ตอนนี้เราตื่นเต้นกับคนที่ลงมือทำมันมามากกว่า เรายังตื่นเต้นกับคนที่ทำได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่เราเห็นมันเป็นแค่ความฝันของเขา”
“ไอเดียต่างประเทศก็ไม่ได้ว้าวมากนะ แต่เขาทำมันได้จริงๆ แล้วเขาติดตามผลลัพธ์และเอาผลลัพธ์มาแสดง มันยังว้าวได้อีกกับไอเดียที่ไม่ได้ใหม่มากแต่อยู่ในบริบทใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงและติดตามผลกระทบทางสังคมได้” ชุลีพูดถึงหัวใจสำคัญคือการวัดผลได้
ฉันเองก็ไม่ได้ว้าวกับรูปแบบการเป็นที่ปรึกษาของทีม RISE Impact แต่ฉันชื่นชมในความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทางสังคมด้วยกัน ตลอดบทสนทนาเกือบสองชั่วโมง คำว่า ‘คุณค่า’ เป็นคำที่ฉันได้ยินบ่อยมาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าผู้ประกอบการมีคุณค่าควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ และท้ายที่สุดผลลัพธ์จะเกิดขึ้นต่อพวกเราทุกคน