HandUp องค์กรที่จับคู่ทักษะคนสายธุรกิจ มาพัฒนาองค์กรที่อุทิศเพื่อสังคม

Highlights

  • ปิง–ศรวุฒิ ปิงคลาศัย และ ปอน–อังกูร ไชยปรีชาวิทย์ คือส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งองค์กร HandUp องค์กรที่หาอาสาสมัครมาช่วยงานให้กับมูลนิธิและธุรกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย ตั้งแต่คนที่ทำงานด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ และเทคโนโลยี
  • วิธีการของพวกเขาคือการประกาศหาคนในโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นพวกเขาจะเรียกอาสาสมัครเหล่านั้นมาสัมภาษณ์ครั้งละประมาณ 2-3 คนเพื่อให้ทราบถึงเหตุผลที่แต่ละคนเลือกมาทำงานนี้ รวมถึงเป็นการระดมไอเดียและความคิดในการแก้ไขปัญหาไปในตัว
  • ปัจจุบัน HandUp ช่วยเหลือองค์กรไปมากกว่า 10 องค์กรต่อเดือน แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่พวกเขาได้รับและรู้สึกว่ามีค่าที่สุด นั่นคือการได้เห็นว่าประเทศนี้ยังมีความหวัง และการได้ช่วยเหลือคนเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่คุ้มแล้วที่จะพยายาม

“พอพูดถึงอาสาสมัครหรือ CSR บางทีก็เอาพนักงานเก่งๆ ไปปลูกป่า ทาสี ซึ่งเราคิดว่ามันไม่เกิดผลกระทบเชิงบวกมากเท่าไหร่นัก มันยังสามารถพัฒนาได้อีก เราเลยรู้สึกว่าเราอยากลองดึงพวกเขามาช่วยงานในระดับอื่นที่ใช้ความเชี่ยวชาญของเขามากขึ้น” ปิงฉายให้ฉันเห็นภาพอาสาสมัครแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ปิง–ศรวุฒิ ปิงคลาศัย และ ปอน–อังกูร ไชยปรีชาวิทย์ ส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งองค์กร HandUp ที่เราชวนมาคุยในวันนี้ HandUp เป็นองค์กรที่หาอาสาสมัครมาช่วยงานให้กับมูลนิธิและธุรกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย ซึ่งอาสาสมัครเองก็มีทั้งคนที่ทำงานด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ หรือเทคโนโลยี ฉันเองก็เคยได้รับคำแนะนำดีๆ จากพี่กลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน เลยอยากมาชวนคุยว่า พวกเขาหาอาสาสมัครเก่งๆ มาช่วยองค์กรต่างๆ ได้อย่างไร หรือผ่านประสบการณ์อะไรกันมาบ้าง

HandUp

pro bono งานอาสาที่ว่าด้วยทักษะ

วันนี้ปอนมาในเสื้อยืดทีม Need pro bono? I am in. ทำให้ฉันอดที่จะเอ่ยปากถามไม่ได้ว่า pro bono คืออะไร?

“ตั้งแต่ตั้ง HandUp ขึ้นมาเราโฟกัสอยู่อย่างเดียว เรียกว่า pro bono เป็นภาษาละตินที่ย่อมาจาก pro bono publico แปลเป็นไทยว่า การใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญของเราไปก่อให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือสังคม ในต่างประเทศ pro bono มักถูกใช้เยอะในกลุ่มนักกฎหมาย อย่างทนายอาสาที่ไปว่าความให้กับคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงและถูกฟ้องร้อง” ปอนอธิบาย

งานหลักของ HandUp จึงเป็นการใช้ทักษะของอาสาสมัครมาพัฒนาแกนหลักขององค์กร เพื่อให้นำไปต่อยอดเองได้ โดยมีแนวทางการช่วยเหลือใน 7 ด้าน ได้แก่ การตลาด การเงิน การบริหารจัดการบุคคล แผนกลยุทธ์ เทคโนโลยี การบริหารโครงการ (program management) และการพัฒนาวิชาชีพ (professional development) หรือพัฒนาทักษะให้แต่ละบุคคลเก่งขึ้น

HandUp

HatchUp ก้าวแรกไม่เคยง่าย

เริ่มแรกปิงหอบไอเดียนี้ไปคุยกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) หน่วยงานรวบรวมงานอาสาสมัครที่ทำงานต่อเนื่องมากว่า 30 ปี พี่ๆในมูลนิธิก็ให้คำแนะนำและชวนมาทำงานร่วมกันเสียดื้อๆ พวกเขาทั้งห้าคนจึงเริ่ม pro bono โปรเจกต์แรกที่นี่ โดยการจัดสรรเวลาว่างตอนเย็นหลังเลิกงานมาวิเคระาห์ปัญหาองค์กร วางแผนการตลาด และพัฒนาเป็นคู่มือการทำแบรนด์ขึ้นมา

“ตอนนั้นพวกเรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากเพราะเราทำคู่มือแบรนด์ดิ้งออกมาให้เขาได้ แต่มันไม่ได้ถูกนำไปใช้เท่าที่ควร เนื่องด้วยข้อจำกัดของมูลนิธิ เลยทำให้ไม่เกิดผลเชิงบวกขึ้นมาจริงๆ เราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมขององค์กรก็ได้ เราเลยต้องมานั่งทบทวนกันว่าแค่การหาคนมาทำอะไรสักอย่างให้องค์กรเพื่อสังคมมันไม่พอ มันจบแค่นี้ไม่ได้ มันต้องมีกระบวนการ cross check บางอย่าง” ปิงเล่าถึงบทเรียนสำคัญที่ทำให้ HandUp เปลี่ยนแผนการทำงานใหม่

จากแนวคิดเดิมที่ HandUp จะทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางในการจับคู่อาสาสมัครกับองค์กรเพื่อสังคม เขาเห็นว่ายังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้ ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานองค์กรเพื่อให้ได้รายละเอียดปัญหาที่ชัดเจนที่สุด การสร้างความคาดหวังที่ตรงกันระหว่างองค์กรที่ได้รับความช่วยเหลือและอาสาสมัคร รวมถึงการชี้วัดผลการดำเนินงาน
 HandUp

ถ้าเราไม่มีวิธีการหาคำถามที่ถูกต้อง เราก็จะได้คำตอบที่ไม่ถูกต้อง

“ถ้าเราไปถามทุกคนว่าคุณมีปัญหาเรื่องอะไร 90 เปอร์เซ็นต์ เขาจะตอบว่าไม่มีตังค์ ถ้าเป็นกิจการเพื่อสังคมก็จะอยากให้ช่วยเพิ่มยอดขาย ถ้าเป็นเอ็นจีโอก็จะให้ช่วยหาเงินทุน แต่ผมจะถามว่าปีนี้หรือปีหน้าคาดหวังจะเห็นอะไรในองค์กร แล้วถามต่อว่าอะไรที่มันจะหยุดคุณไม่ให้ไปถึงตรงนั้นได้? แค่เพิ่มคำถามขึ้นมาเราก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าเขาติดปัญหาอะไรอยู่” ปิงเล่าถึงทักษะของการเป็นที่ปรึกษาที่เพิ่มพูนขึ้นมาจากการเข้าไปคุยกับองค์กรต่างๆ มากมายตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

คำตอบที่ถูกต้องจะสะท้อนให้เห็นว่า การไม่มีเงินทุนอาจจะเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย เช่น วิสัยทัศน์องค์กรที่ก่อตั้งมานานและไม่สอดรับกับบริบทสมัยใหม่ หรือการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิม การวิเคราะห์เชิงลึกและแตกปัญหาออกมาทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่าตรงไหนที่เป็นปัญหา และทำให้อาสาสมัครสามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ปิงเน้นว่า “เราจะไม่ช่วยเขาคิดวิธีหาเงินเพราะมันไม่ยั่งยืน และอาสาสมัครก็ช่วยเขาได้ในระยะเวลาสั้นมากๆ แต่เราอยากช่วยอะไรที่มันจับต้องได้ เพื่อให้เขาสามารถเอาไปใช้ต่อยอดได้ในระยะยาว”

HandUp

‘บริจาคทักษะ’ ของบริจาคที่ไม่เคยหมด

เมื่อเข้าใจปัญหาขององค์กรมากขึ้น ทีนี้ก็ถึงขั้นตอนการรับสมัครอาสาสมัครที่จะมาช่วยแก้ปัญหา เริ่มแรกพวกเขาก็ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการโพสต์ตามเฟซบุ๊ก เพื่อนบอกต่อเพื่อนและชวนกันมาสมัคร ปอนผู้ทำหน้าที่สรรหาอาสาสมัครเล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนานถึงวิธีการรวมทีม Avengers

“เมื่อก่อนอาสาสมัครเราเลือกสนุกมากเลยนะ ตอนนั้นจะทำแผนการตลาด เราก็เลือก digital marketing มาคนหนึ่ง เลือกสถาปนิกมาอีกคนหนึ่งเพราะว่าน่าสนใจดี ที่สำคัญคือเราสัมภาษณ์ทุกคนนะครับ ไม่ใช่แค่การคุยโทรศัพท์แต่เรานัดเจอกัน เพราะเราอยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากมาทำงานอาสาสมัคร” ปอนเล่าให้ฟังว่าเขาขลุกตัวอยู่ในร้านกาแฟเพื่อคุยกับคนแปลกหน้าเนิ่นนานแค่ไหน

แต่สิ่งที่ฉันสนใจไปกว่านั้นคือเขาใช้คำถามอะไร แน่นอนว่าคงไม่ใช่การสัมภาษณ์งานเพื่อตำแหน่งนั่นนี่หรือเงินเดือนที่คาดหวัง ปอนเล่าต่ออย่างตื่นเต้นว่า “แรกๆ เราสัมภาษณ์ทีละคน แต่หลังๆ เป็นทีละ 2-3 คนพร้อมกันเพราะทำให้เขารู้จักกันด้วย พอเราเล่าเนื้องานและปัญหาของมูลนิธิให้เขาฟัง เขาก็มีไอเดียวว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทำให้เรารู้ว่าถ้าได้คนนี้เข้าไปช่วยจะต้องเกิดผลลัพธ์ที่ดีแน่ๆ พอเราได้คุยกับคนเก่งๆ ดีๆ และอยากช่วยเหลือสังคม มันทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้มีความหวัง”

โมเมนต์ประทับใจมักเป็นช่วงเวลาที่อาสาสมัครและองค์กรเพื่อสังคมทำงานร่วมกัน ปอนบอก “เหมือนเราพาคนที่อินกับธุรกิจมากๆ มาเจอกับคนที่อินกับภาคสังคมมากๆ มันทำให้เกิด emotional blending อาสาบางคนตกใจว่าองค์กรสามารถช่วยสังคมโดยไม่คิดเรื่องกำไรขนาดนี้ได้จริงๆ เหรอ ส่วนมูลนิธิเองก็ได้ทำงานกับคนภาคธุรกิจมากขึ้น เพราะปกติเขาจะช่วยเหลือกันเองและแทบไม่เจอกับภาคธุรกิจเลย เขาก็จะได้มุมมองใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยฉุกคิดเยอะมาก”

HandUp

ช่วยแค่นี้ไม่พอ เพิ่มจาก 10 องค์กรต่อปี เป็น 10 องค์กรต่อเดือน!

“คิดดูว่านัดสัมภาษณ์คน 6 คนต้องใช้เวลาเท่าไหร่?” เป็นคำถามง่ายๆ ที่ปิงถามขึ้นมา พวกเรานั่งจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่างๆ นานา คนนี้ว่างวันไหนบ้าง ใครว่างตอนกี่โมง รอคำตอบ รอคำตอบ รอคำตอบ…โทรไปคอนเฟิร์มกับคนนั้น แต่อีกคนกลับไม่ว่างแล้ว

นี่แค่ขั้นตอนเดียวเราจะเห็นว่าต้องใช้เวลาทรัพยากรมนุษย์มหาศาล!

หลังจากที่ HandUp สัมภาษณ์คนมากว่า 300 คนและมีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับอาสาสมัครและองค์กร พวกเขาจึงดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการนัดหมายและดำเนินงานในส่วนต่างๆ ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจ แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

“แต่ก่อนเราช่วยได้ประมาณ 10 องค์กรต่อปี แต่เราก็คุยกันว่าเราจะทำแค่นี้เหรอ องค์กรในเมืองไทยที่ต้องการความช่วยเหลือมีเยอะมาก เราเลยปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและอยากจะช่วยเหลือองค์กรให้ได้ 10 องค์กรต่อเดือน คือเพิ่มขึ้นเป็น 12 เท่า แต่ก่อนที่เราจะมาได้ถึงตรงนี้ เราต้องคุยกระบวนการภายในทุกอย่างเลยว่าตรงไหนเป็นคอขวดบ้าง และเราจะพัฒนาตรงไหนได้บ้าง สุดท้ายเราจะทำงานทีละโปรเจกต์เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว แต่ต้องทำเป็นแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้มันทำงานด้วยตัวเองได้” ปิงเล่าถึงการขยายผลเมื่อมีโครงสร้างที่ดี เข้าใจกระบวนการทำงานมากเพียงพอ HandUp จึงพร้อมที่จะพัฒนาและเพิ่มความช่วยเหลือให้มากขึ้นกว่าเดิม

HandUp

การช่วยเหลือที่ยั่งยืนคือการเป็นผู้ให้และผู้รับ

กว่าจะพัฒนารูปแบบมาถึงจุดนี้ได้ปิงยอมรับอย่างเปิดอกว่า “ช่วงแรกๆ ที่เราหลงทางเพราะเราไปดูโมเดลของที่อื่นมาเยอะ แต่พอเราทำตามเขาแล้วมันไม่เวิร์กเพราะวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน เราก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ ว่าเราควรจะทำยังไงบ้าง ตอนนี้โครงการของเราจะใช้คน 1-3 คนและแบ่งงานย่อยๆ เป็น 4 หัวข้อหลัก ถ้าทำได้ทั้ง 4 หัวข้อก็คิดว่าประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำได้แค่ 3 ก็คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์แบบนี้ หรือว่าอาสาสมัครอยากทำเกินกว่านี้ก็ได้”

ปอนเล่าว่ามีหลายครั้งที่อาสาสมัครช่วยเหลือองค์กรนั้นๆ ต่อเนื่องกว่าที่เราตกลงกันไว้ ทำให้เขารู้สึกดีมากๆ “อย่างตอนที่พวกเราลงไปช่วยมูลนิธิพัฒนาเด็ก เขาเก็บข้อมูลอยู่ใน Microsoft Access ที่เก่ามากๆ หน้าที่ของเราคือการช่วยจัดการทำความสะอาดข้อมูลและสร้างแบบบันทึกข้อมูลใหม่ พร้อมสอนให้ใช้งานได้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้เราทำเสร็จตั้งแต่เดือนแรก อาสาสมัครเลยลองทำกิจกรรมโดยการส่งข้อความไปหาผู้บริจาคเก่าๆ ให้เขามาพบปะกัน และบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ เราทำให้เขาเห็นว่าการกลับไปหาผู้บริจาคเก่าที่เขารักมูลนิธิอยู่แล้ว มันง่ายกว่าการไปจัดกิจกรรมใหม่เยอะเลย”

แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะกับอาสาสมัคร อย่างงานเร่งด่วนก็ควรจะจ้างคนมาทำ แต่งานอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญจะมาช่วยวางแกนหลักของการดำเนินงานระยะยาว ทำให้เขามีแผนงานที่ชัดเจนและเป็นไปตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

เดิมโครงการของ HandUp ก็คล้ายกับมูลนิธิอื่นๆ คือได้เงินทุนมาเพื่อทำงานอาสาสมัคร แต่เงินทุนเหล่านี้มักมาพร้อมเงื่อนไขที่จำกัดการช่วยเหลือ ปัจจุบัน HandUp จึงปรับแผนธุรกิจ มาคิดเงินกับผู้รับบริการแทน “ตอนนี้เราพยายามลดค่าใช้จ่ายลงมาและเรียกเก็บกับองค์กรเลย โดยเราคิดเพียง 6,000 บาทกับระยะเวลาทำงานประมาณ 1-2 เดือน ค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นค่าการดำเนินการหมดเลย เพราะเราไม่ได้คาดหวังผลกำไรจากตรงนี้มากอยู่แล้ว แต่อยากให้เป็นบริการที่อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง (self-sustain service)” ปอนเล่า ค่าใช้จ่ายไม่มากเลยเมื่อเทียบกับกระบวนการประสานงานทั้งหมดและความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการทำงานจริงมาร่วม 4 ปี

HandUp

HandUp

ผลตอบแทนสูงสุดไม่ใช่กำไร

ท้ายที่สุดฉันแอบถามถึงสิ่งที่ทำให้ทั้งสองยังคงทำงานหนักกันอย่างเต็มเวลาโดยแลกมาด้วยเงินเพียงไม่กี่บาท และที่น่าสนใจคือชายหนุ่มทั้งสองคนมีความประทับใจในมุมมองที่แตกต่างกันจากงานของตัวเอง

ปิงทำงานใกล้ชิดกับองค์กรเพื่อสังคมเล่าว่า “ตั้งแต่เราทำ HandUp มา ทำให้เรามีโอกาสได้เจอกับผู้นำมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ เยอะมาก เรารู้สึกมีความหวังกับชีวิต ประเทศ และโลกใบนี้มากขึ้น เราเจอคนเหล่านี้ที่เขามีวิสัยทัศน์ที่ดีและอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เขาติดปัญหาแล้วเราหาคนมาช่วยเขาได้ เขาไม่คิดว่าจะได้คนที่ถนัดด้านนี้ มาทำสิ่งนี้ให้ เขารู้สึกขอบคุณ พอเราได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกว่ามันคุ้มแล้วแหละที่เราทำอยู่”

ส่วนปอนที่ทำงานกับอาสาสมัครก็รู้สึกต่างออกไป “ผมต่างจากปิงตรงที่รู้สึกตอนที่มันจบโปรเจกต์แล้วได้กลับไปคุยกับอาสาสมัคร ต้องไปสัมภาษณ์ว่าโปรเจกต์นี้ทำแล้วเป็นยังไงบ้าง คนที่เขาเก่งมากๆ ถ้าเจอข้างนอกเราอาจจะไม่มีทางได้คุยกับเขาแน่ๆ แล้วเขามานั่งคุยกับเรา มาขอบคุณพวกเราที่ทำโครงการแบบนี้ ทำให้เขาได้เห็นและได้ทำในสิ่งที่อยากทำ  ซึ่งจริงๆ แล้วพวกผมไม่ได้ทำอะไรเลย คนที่ไปช่วยองค์กรเหล่านั้นอะคือพวกพี่เว้ย”

สำหรับฉันแล้วสิ่งที่ HandUp ทำคือ การสร้างและการให้โอกาสทุกคนได้ช่วยเหลือกันในการเปลี่ยนแปลงโลก สำหรับใครที่มองหาโอกาสเหล่านี้อยู่ละก็ เข้าไปติดตามกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ได้ที่ handupvolunteer.org หรือเฟซบุ๊ก HandUp Volunteer

HandUp

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!