Wayfinding Bangkok เพจที่อยากบอกคุณว่ารถไฟฟ้ารวดเร็ว แต่ป้ายบอกทางอาจพาคุณสาย

Highlights

  • สมิต บุณยรักษ์ คือผู้ที่สนใจระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าและคิดว่าปัจจัยนี้สำคัญกับผู้โดยสารไม่แพ้ระบบรถหรือตั๋ว เขาไม่ต้องการให้ระบบรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ มีป้ายบอกทางหลากหลายรูปแบบมากจนผู้โดยสารต้องเรียนรู้วิธีการอ่านป้ายทุกครั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่
  • เขาสร้างเพจ Wayfinding Bangkok ขึ้นตั้งแต่ปี 2016 หลังจากเจอหลายปัญหาของระบบป้ายบอกทางบ้านเรา คำนิยามของเพจนี้คือพื้นที่พูดคุยเรื่อง wayfinding ป้ายบอกทาง และแผนที่ เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจากการหลงทางโดยไม่โทษพวกเขาก่อน
  • สมิตคาดหวังว่าในอนาคตหน่วยงานจะเล็งเห็นความสำคัญของ wayfinding ว่าเป็นอีกตัวแปรที่ช่วยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ดีขึ้น สร้างมาตรฐานของป้ายบอกทางในหน่วยงานเดียวกัน และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมกับการทดสอบระบบป้ายอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามหลักการ user experience

เคยไหมที่ตัดสินใจเลือกเดินทางบริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางให้สั้นลง แต่กลับต้องเสียเวลา (หรือบางครั้งก็เสียเงิน) มากขึ้น เพราะป้ายบอกทางพาสับสนงุนงงจนขึ้นผิดขึ้นถูกเสียเวลายิ่งกว่าเดิม

ถ้าให้ยกตัวอย่างกรณีป้ายบอกทางที่สร้างปัญหาให้ผู้โดยสารจำนวนมากจนกลายเป็นกระแสถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย เราคงนึกถึงกรณีป้ายแสดงสถานีต่อไปบนสถานีรถไฟฟ้าสยามช่วงปลายปี 2018 ที่ไม่มีการระบุสถานีปลายทาง ทำให้ผู้โดยสารใหม่สับสน หรือกรณีล่าสุดอย่างป้ายบอกทางของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่ชวนให้ผู้ศึกษาเส้นทางงงงวยขึ้นผิดขบวนกันถ้วนหน้า

นี่ยังไม่นับรวมความไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันของระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงิน ทั้งที่ดำเนินงานภายใต้องค์กรเดียวกัน สัญลักษณ์บนป้ายภายในสถานีที่ชวนเข้าใจผิด และปัญหาอื่นๆ อีกไม่น้อย

จากเหตุการณ์ที่ยกมาด้านบน สะท้อนให้เห็นว่านอกจากตัวรถไฟแล้ว ระบบป้ายบอกทางหรือ wayfinding นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้คุณเดินทางเร็วขึ้น ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้คุณเสียเงิน เสียเวลา และเสียอารมณ์โดยไม่จำเป็น

สมิต บุณยรักษ์ คือผู้ก่อตั้งเพจ Wayfinding Bangkok ที่จะมีอายุครบ 4 ปีในเดือนพฤษภาคมนี้ เขานิยามมันว่าเป็นพื้นที่พูดคุยเรื่อง wayfinding ป้ายบอกทาง และแผนที่ เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจากการหลงทางโดยไม่โทษพวกเขาก่อน

แม้คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนอยู่จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สนใจโดยตรง แต่สมิตมองว่าทุกปัจจัยในการเดินทางต่างทำงานร่วมกันหมด และจากเหตุการณ์ที่ MRT สิงคโปร์เปิดให้บริการ Downtown Line ในปี 2013 พร้อมเปิดตัวระบบป้ายบอกทางใหม่ที่รัฐบาลสิงคโปร์จ้างบริษัทที่ปรึกษา wayfinding ชื่อ Transport Design Consultancy (TDC) จากอังกฤษ สมิตจึงเริ่มต้นรู้จักและสนใจด้านนี้

เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ MRT สิงคโปร์ใช้ระบบป้ายบอกทางเดียวทั้งระบบ โดยพื้นหลังเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือเขียวเข้มแล้วค่อยแสดงแถบสีเมื่อจำเป็นต้องบอกชื่อสายรถไฟฟ้า ซึ่งช่วยรักษาคอนทราสต์ระหว่างตัวหนังสือที่ผู้โดยสารต้องอ่านและพื้นหลังได้ดีกว่า นับเป็นการใส่ใจผู้ใช้งานและยังลดภาระงานในการชี้แจงเส้นทางของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ป้ายบอกทางสร้างความสับสน

หลังจากนั้นเป็นต้นมาสมิตก็สนใจสังเกตระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าในต่างประเทศและนำมาเปรียบเทียบกับของไทย จนเมื่อปี 2016 เขาตัดสินใจเปิดเพจ Wayfinding Bangkok หลังจากเห็นปัญหาและความไม่มีมาตรฐานของระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าบ้านเรา

ชายหนุ่มบอกกับเราว่าเขาไม่ต้องการให้รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ มีระบบป้ายบอกทางหลากหลายรูปแบบมากจนผู้โดยสารต้องเรียนรู้วิธีการอ่านป้ายทุกครั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ ไม่เอาแบบรถไฟฟ้า 10 สาย ป้าย 25 มาตรฐาน

เพราะระบบป้ายบอกทางสำคัญต่อผู้ให้บริการและผู้โดยสารกว่าที่คิด นี่คือสิ่งที่สมิตอยากบอกคนทำงานทุกคน

อยากให้เล่าปัญหาระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาทำเพจนี้ทั้งที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม

ก่อนเปิดให้บริการสายสีม่วงช่วงก่อนปี 2016 คนที่โดยสารรถไฟฟ้าเริ่มต้นถ่ายรูปป้ายบอกทางต่างๆ ที่เพิ่งติดตั้งทั้งภายในและทางออกสถานีสายสีม่วงเพื่อแชร์ว่าป้ายสายนี้ใช้พื้นหลังสีม่วง แม้แต่ป้ายเชื่อมไปชานชาลาสายสีน้ำเงินก็เป็นพื้นหลังสีม่วง (เน้นเสียง) ผมเลยนึกถึงรถไฟฟ้าทั้ง 3 ระบบที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ บีทีเอส, เอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่ใช้สีพื้นหลังป้ายและหลักการออกแบบแตกต่างกัน

ผมจึงไม่มั่นใจว่าในอนาคตระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าบ้านเรา หากมีสายสีส้ม ชมพู และเหลือง เปิดให้บริการ ป้ายต้องใช้พื้นหลังเต็มแผ่นเป็นสีส้ม ชมพู และเหลือง จริงเหรอ ท่าทางป้ายจะไม่สามารถรักษาคอนทราสต์ได้ตลอดการเดินทางของผู้โดยสาร และไม่ให้ความสำคัญกับผู้โดยสารตาบอดสีบ้างเลย

แต่ตอนนั้นผมเริ่มต้นจากความสนใจเรื่องกราฟิกเป็นหลัก ไม่ได้สนใจเรื่องการหลงทางขนาดนั้น ฉะนั้นพอเห็นสิงคโปร์ใช้ระบบป้ายบอกทางมาตรฐานเดียวกัน ผมก็อยากเห็นรถไฟฟ้าในไทยใช้หลักการแบบนี้บ้าง อย่างลอนดอนเองก็ใช้ป้ายพื้นหลังสีขาวและใช้แถบสีเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ แต่ป้ายบอกทางบีทีเอสที่ใช้กันตอนนี้ก็มาตรฐานหนึ่ง พอส่วนต่อขยายสีเขียวใต้ที่เพิ่งสร้างใหม่เลยสมุทรปราการไปก็มีป้ายขนาดอีกมาตรฐานหนึ่ง สีเขียวเหนือที่ไปสะพานใหม่ก็อีกมาตรฐานหนึ่ง เป็นต้น

 

สรุปแล้ว wayfinding ไม่ใช่แค่ป้ายบอกทางใช่ไหม แล้วมันสำคัญยังไงกับการเดินทาง

เราเชื่อว่าเมื่อเห็นคำนี้ครั้งแรก คนส่วนใหญ่จะคิดว่าหมายถึง ‘ป้ายบอกทาง’ ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะ wayfinding สำหรับเราคือสิ่งที่ทุกคนคิดและทำเพื่อหาเส้นทางไปถึงจุดหมายที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ wayfinding จึงเกิดขึ้นจากการตีความสิ่งแวดล้อมเพื่อเลือกเส้นทางได้ด้วยตัวเอง ซึ่งประกอบไปด้วยการออกแบบภายใน การตั้งชื่อสถานี ป้ายบอกทาง แผนที่ แอพพลิเคชั่นนำทาง และเสียงประกาศ ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องมือ wayfinding ที่ช่วยหนุนความเข้าใจของผู้คนได้

wayfinding สำคัญมาก เพราะ wayfinding ที่ดีทำให้คุณไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ด้วยทางที่ดีที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกรายละเอียดว่ารถไฟฟ้าเดินรถยังไง ผู้โดยสารจะไม่ขุ่นเคืองที่เผลอขึ้น-ลงบันไดเลื่อนผิดตัว เช่น บันไดเลื่อนที่รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลม

จากที่เห็นในเพจ คุณดูทำอะไรเยอะกว่าแค่เปิดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น คุณทำอะไรอีกบ้าง

เพจนี้เริ่มต้นโดยการทดลองออกแบบป้ายบอกทางในจุดต่างๆ แล้วเปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นใต้รูปแบบป้ายที่เราทดลองออกแบบ โดยหวังว่าข้อมูลพวกนี้จะนำมาตั้งต้นทดสอบระบบป้ายอย่างถูกต้อง และนำไปสู่การออกแบบระบบป้ายบอกทางจริงๆ ในอนาคต ทั้งนี้เราเปิดรับความคิดเห็น คำวิจารณ์ และข้อเสนอแนะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าทางอินบอกซ์ตลอด และยิ่งชอบเมื่อผู้โดยสารเล่าเหตุการณ์หลงทางของตัวเองหรือประสบการณ์การถูกถามทางจากนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้เวลาเห็นการขยับตัวด้าน wayfinding ในระบบรถไฟฟ้าต่างประเทศ เราก็นำมาทำคอนเทนต์ลงเพจ เช่น เมืองลอสแอนเจลิสเปลี่ยนชื่อสายรถไฟฟ้าจากชื่อสีต่างๆ เป็นตัวอักษรแล้ว แล้วเราก็เคยไปสำรวจสถานี สังเกตการเดินของผู้โดยสาร และปล่อยตัวเองเป็นเป้าให้คนถามเส้นทางภายในสถานี เพื่อค้นหาปัญหายอดฮิตในสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ แล้วนำกลับมาคิดว่าทำไมผู้โดยสารถึงถามคำถามนี้ในตำแหน่งนี้ด้วย โดยเฉพาะช่วงที่มีปัญหาป้ายเหนือชานชาลาสถานีรถไฟฟ้าสยาม เพราะมีการนำชื่อปลายทางออกไปแล้วแทนที่ด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีก่อนหน้า สถานีปัจจุบัน และสถานีต่อไป เราก็ติดตามสถานการณ์นี้มาตลอดจนบีทีเอสเปลี่ยนป้ายอีกครั้งเป็นการแสดงข้อมูล 4 สถานีดังที่เห็นในปัจจุบัน

 

ทำไมถึงเลือกพูดถึง wayfinding ของระบบรถไฟฟ้าเป็นหลัก

เนื่องจากปณิธานในการเปิดเพจคือการสร้างมาตรฐานระบบป้ายบอกทางสำหรับรถไฟฟ้า ดังนั้นคอนเทนต์จึงเน้นป้ายระบบรถไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ช่วงหลังเริ่มลองโพสต์ระบบป้ายบอกทางในห้างสรรพสินค้าบ้างแล้ว ตั้งแต่ปัญหาสัญลักษณ์ห้องน้ำห้างไอคอนสยามที่โซเชียลมีเดียถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าดีอยู่แล้วหรือควรปรับปรุง ซึ่งเราก็ดีใจที่ทางห้างจัดการปัญหานี้โดยการเพิ่ม ตัว M กับ W เหนือสัญลักษณ์เดิม และล่าสุดเราอัพเดตการเปลี่ยนแปลงระบบป้ายบอกทางในเซ็นทรัลเวิลด์ที่มาพร้อมการรีโนเวตและโลโก้ใหม่ของห้าง

 

แท้จริงแล้วหน้าที่ของป้ายบอกทางคืออะไร แล้วมันส่งผลยังไงกับผู้ใช้บ้าง

หน้าที่ของมันคือการช่วยผู้โดยสารเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะตอนที่พนักงานสถานีไม่อยู่ใกล้ตัวพอที่จะถามทางได้ และระบบป้ายบอกทางและแผนที่ยังช่วยลดภาระของพนักงานสถานีในการตอบคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการเดินทางประจำสถานีนั้นๆ

สำหรับบริษัทเดินรถ หน่วยงานราชการ และเจ้าของพื้นที่ ระบบป้ายบอกทางเป็นเครื่องมือเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบรถไฟฟ้าและแบรนด์ได้ การรักษา consistency บนป้ายทำให้เห็นความเป็นเอกภาพของระบบ สร้างความสบายใจและลดความตึงเครียดในการใช้บริการของผู้โดยสาร ทั้งนี้เมื่อระบบป้ายบอกทางเป็นมาตรฐานเดียวกัน การบริหารและการบำรุงรักษาระบบป้ายก็จะง่ายขึ้นและช่วยลดงบประมาณด้านความหลากหลายของป้ายอีกด้วย

ในความเห็นของคุณ ป้ายบอกทางที่ดีควรมีลักษณะยังไง

ข้อมูลบนป้ายบอกทางต้องน่าเชื่อถือ วางใจได้ สร้างความมั่นใจต่อการเดินทางแม้ผู้โดยสารจะใช้บริการเป็นครั้งแรก ป้ายบอกทางและแผนที่ในระบบต้องออกแบบและติดตั้งตามลำดับขั้นตอนอย่างเป็นเหตุเป็นผล (logical hierarchy) เมื่อผู้โดยสารเข้าสู่พื้นที่หรือตำแหน่งใดป้ายต้องตอบคำถามของผู้โดยสารได้ทันที เพราะหลายครั้งหลายคราวผู้โดยสารไม่ได้ว่างอ่านรายละเอียดขนาดนั้น ขนาดป้าย สีที่ใช้ การออกแบบสัญลักษณ์ และ typeface ก็ต้องเน้นให้อ่านได้รวดเร็วและตีความง่ายจากระยะห่างที่เหมาะสม

แต่บางครั้งถึงแม้จะออกแบบป้ายบอกทางและแผนที่ดีมากแค่ไหน ศักยภาพของระบบป้ายบอกทางก็ยังออกมาไม่เต็มที่ เพราะป้ายโฆษณาสามารถบดบังหรือทำให้ป้ายบอกทางหมองลง ด้วยเหตุนี้การออกแบบ wayfinding ควรควบคู่กับการควบคุมปริมาณและตำแหน่งป้ายโฆษณาด้วย

การออกแบบมีส่วนสำคัญยังไงบ้างในการทำระบบป้ายบอกทางให้ฟังก์ชั่นที่สุด

การออกแบบป้ายบอกทางต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจผู้โดยสารหลากหลายประเภท ตั้งแต่ผู้โดยสารใหม่จนถึงขาประจำ เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์ และอีกมากมาย รวมถึงการเลือกข้อมูลหรือตัดข้อมูลใดจากระบบป้ายและแผนที่ต้องผ่านการทดสอบอย่างถูกต้องและเป็นไปตามหลักการ user experience

ยกตัวอย่าง MRT สิงคโปร์และสนามบินดูไบ ที่ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการจะมีการทดสอบระบบป้ายบอกทาง โดยให้ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งค้นหาเส้นทางถึงจุดหมายที่คละมาให้ ด้วยการเดินและใช้ป้ายที่มีในสถานี เพื่อหาข้อควรปรับปรุงป้ายก่อนเปิดให้บริการจริง

อีกข้อที่สำคัญคือการเลือกตำแหน่งติดตั้งป้าย ซึ่งต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายของป้ายแต่ละประเภทและตำแหน่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ เพราะเราคงไม่ต้องการเห็นป้ายข้อมูลทางออกหันหนีผู้โดยสารที่กำลังออก แล้วหันหน้าหาผู้โดยสารขาเข้าแทน

ปัญหาการออกแบบระบบป้ายบอกทางในเมืองไทยส่วนใหญ่ที่คุณเจอคืออะไร

เราคาดว่าเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเลย เพราะสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับ wayfinding เท่าที่ควร ต้องมีคนหลงจริงแล้วร้องเรียนไปถึงจะปรับปรุงแก้ไข ปัญหาต่อมาที่เห็นประจำคือตำแหน่งและประเภทป้ายไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น สถานีมีป้ายข้อมูลทิศทางรถไฟฟ้าน้อยเกินไปหรือห่างจากจุดที่ผู้โดยสารต้องการใช้ ป้ายที่ให้ข้อมูลลิฟต์แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการก็มีน้อยเและขนาดเล็กเกินไป

ยังไม่นับรวมตำแหน่งที่ผู้โดยสารต้องการข้อมูลสำคัญๆ แต่ถูกจอโฆษณาจับจองเป็นที่เรียบร้อย ผมไม่ได้ต่อต้านป้ายโฆษณา แต่ป้ายบอกทางและป้ายโฆษณาควรอยู่ร่วมกันได้ดีกว่านี้

 

คุณคาดหวังว่าจะเห็นแนวโน้มการออกแบบระบบป้ายบอกทางรถไฟฟ้าไทยในอนาคตยังไงบ้าง

เราคาดหวังว่าหน่วยงานจะเล็งเห็นความสำคัญของ wayfinding ว่าเป็นอีกตัวแปรที่ช่วยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนบ้านเราให้ดีขึ้น นอกเหนือจากค่าโดยสาร ระบบตั๋วร่วม และวิศวกรรมอื่นๆ อย่างน้อยระบบป้ายบอกทางของหน่วยงานเดียวกันก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน

ท้ายที่สุดเราหวังว่าขั้นตอนการออกแบบระบบป้ายบอกทางจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมกับใช้วิธีทดสอบระบบป้ายบอกทางอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามหลักการ user experience

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!