ยังจำข่าวป้ายรถเมล์หลักล้าน ที่ตัวหนังสือเล็กจนอ่านไม่ได้กันอยู่ไหม?
หากใครลืมไปแล้วเราขอเท้าความให้คุณสักนิด ใครที่จำเรื่องนี้ได้แม่นไม่มีลืมให้ข้ามไปอ่านย่อหน้าถัดไปได้เลย ป้ายเจ้าปัญหานี้มีชื่อว่า ‘ป้ายแนะนำเส้นทางโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รูปแบบ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ)’ ตามข้อมูลที่สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.) บอกไว้คือ มีการจัดทำป้ายนี้ขึ้น 50 จุด ตั้งกระจายอยู่ตามย่านธุรกิจ ย่านสำคัญของกรุงเทพฯ อย่าง หมอชิต-สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยาม-ราชประสงค์ สีลม-สาทร เกาะรัตนโกสินทร์ สุขุมวิท-อ่อนนุช และวงเวียนใหญ่-เพชรเกษม แผนที่ย่านด้านหน้าบอกข้อมูลโดยละเอียด ตัวอย่างเช่น เลขสายรถเมล์ที่ผ่านถนนแต่ละเส้น เลขสายรถเมล์ ปอ.พ. ที่เลิกวิ่งไปเมื่อ พ.ศ. 2557 ลูกศรบอกทิศทางการเดินรถ ชื่อถนน เส้นทางรถไฟฟ้า ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญในแต่ละย่าน เป็นต้น โดยป้ายที่ติดตั้งในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีข้อมูลรถเมล์มากถึง 69 สายในป้ายเดียว ทำให้ต้องย่อตัวหนังสือกันสุดยิบ จนทำให้เหลือความสูงเพียง 0.15 เซนติเมตร (1.5 มิลลิเมตร) เท่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สจส.แจ้งว่าใช้งบประมาณไปราว 2.5 ล้านบาท ในตอนนั้น หลายสื่อตีข่าวถึงงบประมาณที่คลาดเคลื่อน และรุมด่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กันอย่างเผ็ดร้อน (ทั้งที่จริงแล้ว ขสมก.ดูแลเฉพาะการให้บริการเดินรถประจำทางเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับป้ายรถเมล์แต่อย่างใด)
เวลาผ่านไป ความวุ่นวายคลี่คลายลง แต่เมล์เดย์ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) ยังคงต้องทำงานกันต่อเพื่อช่วยให้ สจส.หาวิธีปรับปรุงป้ายนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้จริงๆ อย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อตอนเริ่มต้นโครงการ และนี่คือ ขั้นตอนการเปลี่ยนป้ายข้อมูลขนส่งสาธารณะชวนยี้ให้กลายเป็นป้ายชวนยิ้มที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา
ชวนผู้เชี่ยวชาญมาช่วย
ในสภาวการณ์เร่งด่วนที่สาธารณชนจับตามองไปพร้อมกับก่นด่า สจส.ชวนเมล์เดย์ และสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย มาชวนคุยถึงแผนการระยะสั้นและระยะยาวในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงป้ายเหล่านี้ให้ใช้งานได้จริง ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการทดลองเปลี่ยนอย่างง่ายๆ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ‘ป้ายเปลี่ยนได้’ และหน่วยงานของรัฐพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ยินดีแก้ไขอย่างเต็มใจ นั่นหมายความว่าเราต้องสร้างป้ายทดลองแบบใหม่ขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างที่เตรียมการพัฒนาป้ายอย่างมีส่วนร่วม
ด้วยเวลาที่จำกัด ท่ามกลางกระแสในโลกออนไลน์ที่มาเร็วไปเร็ว สมาชิกเมล์เดย์และนักออกแบบมืออาชีพอย่าง วีร์ วีรพร และเตชิต จิโรภาสโกศล ร่วมกันประชุมอย่างยาวนานในห้องปิดตาย 6 ชั่วโมงรวด จนได้ออกมาเป็นโจทย์ที่ว่า “จะทำอย่างไรให้ป้ายมีตัวหนังสือใหญ่ขึ้น ในพื้นที่ที่น้อยลงกว่าครึ่ง โดยยังให้ข้อมูลได้ครบถ้วนเท่าเดิม” เป็นความท้าทายที่น่ากุมขมับราวกับอยู่ในฉากหนังสายลับสักเรื่อง
ชวนทุกคนมาตอบแบบสอบถาม
เมื่อได้ตัวอย่างป้ายใหม่มาแล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องทดสอบการใช้งานกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ร่ำเรียนด้านกราฟิกดีไซน์มา นอกจากทดลองใช้กับเพื่อนร่วมทีมของเมล์เดย์กันเองแล้ว เรายังเปิดให้ทุกคนได้ทำแบบสอบถามสุดเข้มข้นอันเป็นที่กล่าวขวัญถึงความยาก และซับซ้อน เพราะไม่ได้ต้องการความพึงพอใจ อุ้ม–วิภาวี กิตติเธียร หัวหน้าฝ่ายวิจัยของเมล์เดย์ย้ำอย่างหนักแน่นว่า ทีมวิจัยต้องการรู้ว่าคนส่วนใหญ่ใช้งานได้จริงหรือไม่ เข้าใจสิ่งที่ทีมออกแบบต้องการสื่อสารมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงการจัดทำข้อมูลบนป้ายได้ต่อไป
ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ…แถ่น แทน แท้นนนน!
ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งไม่เข้าใจวิธีการค้นหาปลายทางภายในแผนที่ย่านซึ่งทำขึ้นใหม่ ด้วยความที่วิธีการซับซ้อนกว่าแผนที่ปกติ มีหลักในการใช้งานหลายขั้นตอนจนต้องมีการอธิบายขั้นตอนอย่างจริงจัง ทำให้ทีมงานทุกฝ่ายกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งถึงความเหมาะสมของป้ายเวอร์ชั่นที่สอง และตัดสินใจว่าหากจะขยายผลไปยังป้ายอื่นๆ ที่เหลือให้ใช้งานได้ดี ตอบโจทย์ประชาชนทั่วไปจริงๆ เราต้องนำการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมมาใช้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ชวนประชาชนมาเวิร์กช็อป
เวิร์กช็อป Do it Ourselves ป้ายตามสั่ง จึงเกิดขึ้นในวันที่ 27-28 ตุลาคม 2561 มีทั้งนักออกแบบกราฟิก วิศวกร นักแปลภาษา และอีกหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมกันคัดกรองข้อมูลเฉพาะที่สำคัญและจำเป็น รวมถึงจัดเรียงลำดับความสำคัญของข้อมูล เพราะสำหรับผู้ใช้งานแล้ว ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกับสิ่งที่มองหาอยู่มากกว่าข้อมูลที่กระจัดกระจายและไม่จำเป็นต่อการเดินทาง โดยเปลี่ยนให้ดัชนีบอกสถานที่สำคัญให้เป็นพระเอกของป้าย ยกพื้นที่ให้มากที่สุดและวางไว้มุมบนซ้ายมือเพื่อให้สะดุดตาเป็นส่วนแรก ก่อนที่จะไล่สายตาหาป้ายรถเมล์ที่ถูกต้องสำหรับการเดินทางไปยังจุดหมายที่ตั้งใจไว้
ในเวิร์กช็อปครั้งนี้ทำให้ทีมงานเมล์เดย์ได้แนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น การใช้พื้นที่ด้านล่างของป้ายซึ่งเป็นโครงสร้างเดิม อันเป็นข้อจำกัดที่ว่า ระยะ 80 เซนติเมตรจากพื้นขึ้นมา คนมักจะไม่ก้มลงไปดู ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปจึงเสนอให้เปลี่ยนพื้นที่ส่วนนั้นให้กลายเป็นจุดบอกข้อมูลชี้บอกทิศทางของสถานที่สำคัญใกล้เคียงในย่านนั้นแทน รวมไปถึงการใช้ภาพสัญลักษณ์ของอาคารภายในย่าน เพิ่มจุดสังเกตอย่างทางม้าลายลงไปในแผนที่ ทำให้ผู้ใช้งานประเมินการเลือกเส้นทางได้ดีขึ้น ลดทอนรายละเอียดลงให้ผู้อ่านแผนที่มองเห็นภาพรวมของย่านได้ไวขึ้น ไปขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือในย่านนั้นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ป้ายใหม่ ยังไงต่อ
ทีมงานเมล์เดย์และสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทยกลับมาทำงานต่อจากผลลัพธ์ของเวิร์กช็อป โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้สะดวกสบายที่สุด เข้าใจง่าย ใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยออกแบบระบบการใช้งานอย่างรัดกุม ถกเถียง วิเคราะห์กันนานนับเดือนเพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสมที่สุด มีช่องโหว่น้อยที่สุด ในแต่ละส่วนของตารางข้อมูลบนป้ายจะมีตัวหนังสือกำกับ อธิบายอย่างชัดเจนว่าแต่ละช่องคืออะไร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราได้รับจากผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปและผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ว่าป้ายให้ข้อมูลสาธารณะนั้นควรใช้งานได้เลยทันที โดยไม่ต้องไปอ่านวิธีการใช้งานก่อนให้ยุ่งยาก นี่จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำกับทีมงานทุกคนว่ากระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมนั้นไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง แต่เป็นการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ ความคิดเห็นจากผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้ภาษีของเราทุกคนถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ณ ตอนนี้ป้ายข้อมูลขนส่งสาธารณะโฉมใหม่ได้ติดตั้งแล้ว 18 จุด ใครมีโอกาสได้พบเห็น ได้ทดลองใช้งานแล้ว อย่าลืมมาแสดงความคิดเห็น อภิปรายกันอย่างกว้างขวางกับเราได้เลยที่ mayday.city ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนก็อย่าปล่อยผ่าน
เพราะทุกความคิดเห็น คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ขนส่งสาธารณะของเราทุกคนพัฒนาต่อไปได้อีกไม่รู้จบ