ท่าเรือแบบไหนถึงจะเข้าท่า? หาคำตอบกับ MAYDAY! ใน Bangkok Design Week 2020

Highlights

  • เรือคือระบบขนส่งสาธารณะที่มีศักยภาพในการขนส่งสูงเพราะสามารถขนส่งคนได้เป็นจำนวนมากและทำเวลาได้ดี
  • จากที่เคยจับแต่งานพัฒนารถเมล์ นี่เป็นครั้งแรกของทีม MAYDAY! กลุ่มคนที่พยายามทำให้ระบบขนส่งสาธารณะใช้งานง่ายขึ้น หันมาจับโครงการพัฒนาเกี่ยวกับเรือ
  • พวกเขาจัดเวิร์กช็อป ‘สถานี (เรือ) ดำเนินสะดวก’ ให้ผู้คนร่วมแชร์ปัญหาและออกไอเดียให้ท่าเรือเป็นมิตรต่อการใช้งาน และนำไอเดียที่ได้มาตกตะกอนและทดลองทำจริงที่ท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา-คลองสาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2020

เคยไหมเวลาจะไปขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาแต่ดันไปผิดโป๊ะจนเรือที่ตั้งใจจะขึ้นผ่านไปต่อหน้าต่อตา?

เคยไหมที่ไม่รู้ว่าต้องขึ้นเรือลำไหนถึงจะพาคุณไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ?

หรือเคยไหมพอจะเดินไปท่าเรือกลับไม่เข้าท่าเพราะซอยก็ลึก ทางก็เล็ก จนไปไม่ถูก?

หากคุณเป็นนักนั่งเรือขาจรคงคุ้นเคยกับประสบการณ์เหล่านี้บ้าง ส่วนนักนั่งเรือขาประจำอาจปฏิเสธเสียงแข็ง แต่เชื่อเถอะว่าต่อให้เป็นมือโปร หากคุณออกนอกเส้นทางที่คุ้นเคยเมื่อไหร่ละก็ ความหลงและความงงก็อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเช่นกัน

mayday

หลายคนอาจรู้จัก MAYDAY! ในฐานะกลุ่มคนที่อยากทำให้ระบบขนส่งสาธารณะใช้งานง่ายขึ้น โดยได้ร่วมกับ กทม.พัฒนาป้ายรถเมล์บอกข้อมูลสายรถอย่างละเอียดและเข้าใจง่ายมาแล้ว

คราวนี้พวกเขาเห็นว่าเรือเป็นขนส่งมวลชนที่มีศักยภาพสูง เพราะขนส่งคนได้คราวละจำนวนมาก ทำเวลาได้ดี ไม่มีไฟแดง ทั้งยังมีราคาที่จับต้องได้ ส่วนเรือข้ามฟากก็ทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางระหว่างสองฝั่งกรุงเทพฯ​ ให้ถึงกันได้อย่างรวดเร็วราวกับเป็นแผ่นดินเดียวกัน ดังนั้นหากพัฒนาเรือให้ใช้งานง่ายขึ้นและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น คนก็อาจจะหันมาใช้เรือในการเดินทางมากขึ้น

ไอเดียนี้ทำให้ทีม MAYDAY! หันมาหยิบจับงานพัฒนาท่าเรือเป็นครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2020 ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์นี้ โดยทดลองพัฒนาท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา-คลองสานเป็นที่แรก

ท่าเรือฉบับทดลองนี้จะเปลี่ยนโฉมไปจากท่าเรือออริจินอลแค่ไหน เบื้องหลังกระบวนการออกแบบเป็นยังไง และพวกเขาตั้งใจจะช่วยผู้ใช้เรือยังไงบ้าง เราไม่รอท่า มุ่งหน้าไปคุยกับ วิช–กรวิชญ์ ขวัญอารีย์, เนติ์–ณัฐชัย หนูเกื้อ และ โก้–สรชัช พนมชัยสว่าง สามตัวแทนจาก MAYDAY!​ เพื่อหาคำตอบ

 

สอบถามท่า

ในขั้นแรกชาว MAYDAY! เล่าว่าพวกเขาคุยกันถึงอุปสรรคในการใช้เรือด่วนที่ต่างคนเคยพบเจอและใช้มันเป็นจุดเริ่มต้นในการทำแบบฟอร์มสอบถามผู้ใช้เรือ โดยในแบบสอบถามจะมีทั้งคำถามที่เช็กความเข้าใจในการใช้เรือของแต่ละคน รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้สะท้อนปัญหาที่เคยเจอ

ความแตกต่างของธงเรือเจ้าพระยาแต่ละสี ทั้งเรื่องเส้นทาง ราคา และเวลาวิ่ง, ประสบการณ์ในการเดินจากท่าเรือไปสู่ถนน และตำแหน่งของท่าเรือแต่ละประเภท คือตัวอย่างประเด็นที่พวกเขาบรรจุไว้ในแบบสอบถามออนไลน์ และข้อมูลที่ได้นั้นทีมจะนำไปหาแนวทางในการพัฒนาท่าเรือต่อไป

mayday

“ยกตัวอย่างประเด็นในแบบสอบถามคือ เราแอบสงสัยว่าคนเข้า-ออกท่าเรือยังไง ซึ่งคนส่วนมากตอบว่าเดินตามๆ กันไป ซึ่งเราเห็นว่านี่เป็นปัญหา เช่น ถ้าเกิดเป็นวันที่ท่าเรือไม่มีคนแล้วเราจะเดินตามใคร” วิช ผู้ดูแลภาพรวมของงานชิ้นนี้ เล่าให้ฟัง

“อีกปัญหาที่เจอคือหลายๆ ท่าเรืออยู่ห่างจากถนนใหญ่มาก ถ้าลงเรือมาแล้วเจอซอยยาวๆ คนก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องเดินต่อทางไหน หรือในแบบสอบถามเรามีคำถามว่าคุณทราบได้ยังไงว่าต้องขึ้นเรือฝั่งไหน คนส่วนมากจะตอบว่าใช้ความทรงจำ ซึ่งความทรงจำก็อาจจะใช้ไม่ได้กับคนที่ไม่ได้ใช้เรือเป็นประจำรึเปล่า”

mayday

ผลจากการทำแบบสอบถามทำให้พวกเขาตั้งสมมติฐานในใจว่า ‘ข้อมูล’ คือส่วนสำคัญที่ขาดหายไป

“เราตั้งสมมติฐานว่าถ้าคนเข้าถึงท่าเรือไม่ได้ก็จะเริ่มต้นใช้เรือไม่ได้ กลับกันถ้าเขาไปถึงท่าเรือได้ถูกท่าก็จะเดินทางได้ ดังนั้นถ้าเราผลักดันให้คนได้รับข้อมูลที่ชัดเจน เราคิดว่าคนก็น่าจะหันมาใช้เรือมากขึ้น จากนั้นค่อยพัฒนาระบบเรือให้สะดวกสบายรองรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย” วิชเล่า

 

ออกแบบท่า

เมื่อได้ผลจากแบบสอบถามออนไลน์ ขั้นต่อไปพวกเขาจัดเวิร์กช็อป ‘สถานี (เรือ) ดำเนินสำดวก’ เพื่อชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรือและท่าเรือ หน่วยงานที่มีท่าเรือตั้งอยู่ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และประชาชนทั้งที่เป็นนักขึ้นเรือขาประจำและขาจร มาสุมหัวเพื่อหาหนทางพัฒนาเรือให้เป็นขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นไปอีก

ก่อนจัดงานโก้รับบทวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามให้เข้าใจง่ายและนำมาเสนอต่อผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป จากนั้นจึงแบ่งเป็นกลุ่มย่อย และให้แต่ละกลุ่มลองหาไอเดียพัฒนาเรือต่อยอดจากข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม

“กลุ่มที่วิชดูแลมีทั้งเจ้าหน้าที่จากบริษัทที่เกี่ยวข้องและผู้ใช้งาน ผู้ใช้จะเป็นฝ่ายบอกว่าอยากได้อะไรบ้าง ส่วนเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายอธิบายว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ มันจึงเป็นการหาทางออกบนข้อจำกัดระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เราพยายามทำให้ไม่มีข้อจำกัดคือการพัฒนาพื้นที่หรือรูปแบบของท่า เพราะดั้งเดิมแต่ละท่าก็มีรูปแบบที่ต่างกันอยู่แล้ว เราจึงอยากได้ไอเดียสร้างสรรค์ที่หลากหลายที่สุด” วิชเล่า

ในเวิร์กช็อป พวกเขาพบว่าสมมติฐานของพวกเขาที่คิดว่าปัญหาของท่าเรือคือ ‘การให้ข้อมูล’ ตรงกับปัญหาที่หลายกลุ่มระบุ รวมถึงยังได้ประเด็นเพิ่มเติมอย่างเรื่องความปลอดภัยที่คนเห็นว่าเป็นหัวใจหลักของการสัญจรทางเรือ

เมื่อแต่ละกลุ่มได้ประเด็นที่ตนสนใจแก้ แต่ละกลุ่มจะได้รับโมเดลท่าเรือจำลองที่มี 2 โป๊ะ 1 อาคาร ให้แต่ละกลุ่มลองนำไปออกแบบดู

mayday

“เราอยากเห็นว่าทุกคนคิดว่าท่าเรือควรมีอะไรบ้าง เช่น บางกลุ่มเลือกทำสติกเกอร์นำทาง บางกลุ่มบอกว่าควรมีการแยกทางเข้า-ออก บางกลุ่มคิดระบบจ่ายเงินแค่ขาเข้า ส่วนขาออกเน้นออกให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ขวางทางสัญจร บางกลุ่มบอกว่าไม่ควรมีข้อมูลอยู่ในท่า แต่ควรอยู่ด้านหน้าที่เป็นพื้นที่โล่ง ไอเดียเหล่านี้เกิดจากการเวิร์กช็อปทั้งสิ้น”

นอกจากไอเดียเรื่องข้อมูล วิชเล่าต่อว่าหลายกลุ่มเลือกจะเน้นประเด็นเรื่องความปลอดภัย เช่น มีไอเดียทางลาดเชื่อมต่อระหว่างตัวเรือและตัวท่า ไปจนถึงไอเดียเรื่องการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ปฐมพยาบาล เครื่องมือจัดการเหตุฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงการไม่มีสิ่งกีดขวางทางสัญจรของผู้ใช้เรืออีกด้วย

 

สร้างท่า

หลังได้ไอเดียหลากหลายจากผู้คนหลายหลากแล้วก็เป็นหน้าที่ของ MAYDAY! ในการนำไอเดียเหล่านั้นมาสรุปองค์ประกอบที่ท่าเรือควรมี แล้วออกแบบท่าเรือ ติดตั้ง และทดลองใช้จริง

ด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลา ทีมจึงเลือกทำโปรเจกต์นี้ที่ท่าเรือเพียงแห่งเดียวก่อนนั่นคือ ท่าเรือข้ามฟากคลองสาน-สี่พระยา ที่มีคนใช้หนาแน่นและเหมาะพอดิบพอดีกับการเป็นท่าเรือที่คนมาเที่ยวงาน Bangkok Design Week ใช้เดินทางด้วย

mayday

ท่าเรือสี่พระยาก่อนติดตั้งผลงานของ MAYDAY!

ท่าเรือสี่พระยาพร้อมป้ายแบบใหม่

แม้จะเลือกติดตั้งงานที่เดียว แต่เพราะงานที่พวกเขาเคยทำล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับรถเมล์ที่คนในทีมรู้ข้อมูลเป็นอย่างดี เมื่อต้องมาพัฒนาเรือทีมก็ถึงกับออกปากว่าเป็นการทำงานที่ซับซ้อนและแปลกใหม่ ทำให้ต้องทำการบ้านมากเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายก็เป็นไปได้ด้วยดี

สิ่งหนึ่งที่ทางทีมพัฒนาคือแผนที่ ซึ่งจำเป็นว่าจะต้องมีส่วนประกอบของเรือข้ามฟากและเรือด่วนอยู่ด้วยกัน เพื่อการนี้โก้รับหน้าที่หาข้อมูลในการทำแผนที่เส้นทางเรือทั้งหมด ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่การหาข้อมูลที่เป็นปัจจุบันกลับไม่ง่าย เมื่อข้อมูลเรือข้ามฟากหาไม่ง่ายเหมือนเรือด่วน 

“ข้อมูลท่าเรือข้ามฟากบางส่วนต้องดึงมาจาก open data จากหลายๆ ที่ เช่น เราต้องดูว่าท่าเรือนั้นๆ ยังให้บริการไหมจากสถิติของคนใช้เรือข้ามฟากแต่ละปี” โก้ยกตัวอย่าง

mayday

ส่วนเนติ์ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเส้นทางเรือจริง ดูจำนวนทางเข้า-ออกของท่าเรือ และมองหาจุดติดตั้งป้ายบอกทางเข้าท่าที่เป็นไปได้

“เราลงไปเดินดูว่าจุดไหนคือจุดที่ผู้ใช้เรือต้องเจอบ้าง ถ้ามีจุดไหนที่คนเดินไปถึงแล้วจะงงมันก็ควรมีป้าย หรือทางไหนที่สามารถเดินไปยังท่าเรือได้แต่น่ากลัวเราก็ตัดออกหรือไม่แนะนำ” เนติ์เล่าให้ฟัง

แต่ใช่ว่าจะเน้นการติดป้ายรัวๆ ให้คนเห็นชัดเข้าใจง่ายเท่านั้น คิดละเอียดถึงขั้นว่าป้ายใหม่จะติดตั้งอยู่ตรงไหน โดยมีไอเดียว่าพวกเขาอยากปักป้ายใหม่ให้น้อยที่สุด

“เราพยายามมองดูว่าเสาแต่ละต้นสามารถติดสิ่งบอกทางได้ไหม ตู้ไหนสามารถแปะสติกเกอร์ได้บ้าง หรือป้ายไหนที่เราใช้ด้านหลังได้บ้าง เพราะการปักป้ายเพิ่มในกรุงเทพฯ ที่ทางเท้าแคบอยู่แล้วอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี เราเลยดูจากสิ่งที่มีอยู่แล้วก่อน ยกเว้นว่าถ้าไม่มีจุดที่เหมาะสมจริงๆ ก็จำเป็นจะต้องหาทางปักหรือแขวนป้ายเพิ่ม”

วิชอธิบายต่อว่าเมื่อเลือกจุดติดตั้งป้ายและสัญลักษณ์ต่างๆ ได้แล้ว พวกเขาจึงหาทางติดต่อกับเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของสิ่งของเหล่านั้นเพื่อขออนุญาตใช้งาน ซึ่งก็มีทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนโดยมีทาง Creative Economy Agency (CEA) หัวเรืองาน Bangkok Design Week ช่วยประสานบางส่วน

และนอกจากจะออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับท่าเรือข้ามฟากคลองสาน-สี่พระยาแล้ว พวกเขายังนำเอาข้อมูลจากเวิร์กช็อป ‘สถานี (เรือ) ดำเนินสะดวก’ มาถอดองค์ประกอบหลักที่ท่าเรือควรมีเก็บไว้ใช้ในอนาคตด้วย

“เราถอดระบบมาว่าในหนึ่งท่าเรือควรมีอะไรบ้าง เช่น ต้องมีป้ายตรงปากซอยเพราะผู้ใช้ต้องเดินเข้าไปในซอยลึก ต้องมีระบบป้ายตรงทางแยก ถ้าซอยลึกมากเมื่อเดินไปสักระยะหนึ่งต้องมีป้ายย้ำเพราะคนอาจเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่ามาถูกทางไหม และต้องมีป้ายแผนที่ให้ข้อมูล เรากำหนดแพตเทิร์นเหล่านี้ออกมาเพื่อให้สามารถนำไปพัฒนากับท่าเรืออื่นๆ ต่อได้เลย แต่บริบทพื้นที่ รูปแบบ และการออกแบบ อาจแตกต่างกันไป” วิชขยายความ

 

ทดสอบให้เข้าท่า

ขณะนี้ท่าเรือข้ามฟากโฉมใหม่ติดตั้งเสร็จแล้ว ณ ท่าเรือคลองสานและท่าเรือสี่พระยา แต่ท่าเรือนี้ไม่มีทางเสร็จเรียบร้อยหาก MAYDAY! ไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาออกแบบจะได้ผลจริงแท้แค่ไหน 

“เราอยากให้ทุกคนลองไปใช้ท่าเรือและฟีดแบ็กว่ารู้สึกยังไง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบการบอกทางคือประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ถ้าผู้ใช้ไม่บอกเราจะไม่รู้เลยว่ามันดีหรือไม่

“ตอนนี้เราไม่ได้มั่นใจว่าสิ่งที่ติดตั้งมันดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราคิดออก ซึ่งฟีดแบ็กจากผู้ทดลองใช้จะทำให้มันดีขึ้นได้อีก” วิชบอก

“มันอาจเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนต่อไปด้วยว่า เห็นตัวอย่างท่าเรือแบบนี้เกิดขึ้นแล้วทำไมไม่เกิดขึ้นที่อื่นๆ อีกบ้าง นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรานำไปเสนอต่อได้ว่า จากการทดลองทำที่พื้นที่นี้กระแสตอบรับเป็นแบบนี้ แล้วมันอาจนำไปขยายผลต่อได้” เนติ์ทิ้งท้าย

mayday

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม