Fuggerei โครงการบ้านสาธารณะอายุ 500 ปี ที่ยังคงเก็บค่าเช่าปีละ 0.88 ยูโรเท่ากับวันแรก

Highlights

  • Fuggerei คือโครงการบ้านสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและยังคงดำเนินการอยู่ สร้างโดย Jakob Fukker พ่อค้าและนายธนาคารชื่อดังของเมืองเอาคส์บวร์ค (Augsburg) ในเยอรมนี
  • ตอนที่เริ่มสร้างนั้น Fuggerei มีอพาร์ตเมนต์ซึ่งสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น อยู่ถึง 52 หลัง เรียงต่อกัน 8 แถว แต่ละยูนิตมี 3 ห้อง ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องนอน และห้องครัว พร้อมด้วยเตาผิง
  • เงื่อนไขของการเข้ามาอยู่ใน Fuggerei คือต้องเป็นชาวคาทอลิก มีรายได้ต่ำ ไม่มีหนี้ เป็นพลเมืองดีของสังคม และต้องอยู่ในเมืองเอาคส์บวร์คมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

เรากำลังอยู่ในโลกที่ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองและเป็นโลกที่ราคาที่ดินในเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้คน ขณะที่ห้องพักชั้นดีจำนวนมากถูกซื้อไว้เพียงเพื่อเก็งกำไรโดยไม่มีใครอาศัยอยู่

ในวันที่ระบบตลาดล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรม บ้านสาธารณะ (social housing) จึงเป็นประเด็นที่เราต้องพูดถึงมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเวียนนา เมืองที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ที่เป็นต้นแบบของการทำบ้านสาธารณะ (และผู้คนร้อยละ 60 อยู่ในบ้านสาธารณะ) หรือกรุงเทพมหานคร ที่มีโครงการแฟลตดินแดง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่บนพื้นที่เดิม

แม้กรุงเทพมหานครจะเต็มไปด้วยความไม่น่าพอใจสำหรับหลายคน แต่ก็น่าดีใจว่าผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากยังคงอาศัยอยู่ใจกลางเมืองอย่างที่พวกเขาเคยอยู่กันมาเนิ่นนานได้ โดยไม่ต้องถูกซ้ำเติมด้วยการเดินทางอันยาวนานและเหน็ดเหนื่อยวันละหลายชั่วโมงเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองหากถูกผลักให้ไปอยู่พื้นที่รอบนอก

บ้านสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ย้อนกลับไปในปี 1516 โครงการบ้านสาธารณะเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงดำเนินการอยู่ของโลกได้เริ่มต้นขึ้น โดยพ่อค้าและนายธนาคารชื่อดังของเมืองเอาคส์บวร์ค (Augsburg) ในเยอรมนี เขาผู้นี้มีชื่อว่า Jakob Fugger และเป็นที่จดจำในฐานะยาคอบ ฟุกเกอร์ ผู้ร่ำรวย (Jakob Fugger the Rich)

โครงการที่มีชื่อว่า Fuggerei นี้จัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวคาทอลิกที่ต้องการที่พึ่งพิง โดยเฉพาะแรงงานผู้มีรายได้น้อย พวกเขาอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้ เก็บค่าเช่าเพียงปีละ 1 กิลเดอร์ไรน์ (หน่วยเงินที่ใช้ในสมัยนั้น) หากคิดเป็นเงินยูโรในปัจจุบันจะเทียบเท่ากับ 88 เซนต์ ซึ่งเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนที่ผู้ใช้แรงงานได้รับในวันนั้น

แม้จะออกแบบให้ใช้เงินอย่างคุ้มค่าที่สุด นั่นคือออกแบบให้ทุกยูนิตมีหน้าตาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำแค่ให้พออาศัยหลับนอน เพราะสำหรับ Fuggerei คืออพาร์ตเมนต์ที่มี 3 ห้อง ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องนอน และห้องครัว พร้อมด้วยเตาผิง โดยตัวอย่างอพาร์ตเมนต์ฉบับออริจินอลนี้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลักของพื้นที่โครงการในปัจจุบัน

ตอนที่เริ่มสร้างนั้น Fuggerei มีอพาร์ตเมนต์ซึ่งสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้นอยู่ถึง 52 หลัง เรียงต่อกัน 8 แถว ส่วนกำแพงที่สร้างล้อมรอบโครงการมีประตูเข้า-ออกมากถึง 7 จุด

ยิ่งโครงการใหญ่เท่าไหร่ก็ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำได้เท่านั้น หากรู้จักข้อได้เปรียบโดยประหยัดขนาดที่มอบให้ ก็สามารถทำโครงการบ้านสาธารณะที่ใช้การออกแบบอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่และสร้างความสุขให้กับผู้อยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง

 

สิ่งที่ต้องทำคือภาวนา

แน่นอนว่ายาคอบเป็นคาทอลิกและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่ราชวงศ์ฮับสบูร์กในยุคแห่งการการปฏิรูปศาสนาโดยฝ่ายโปรเตสแตนท์

เงื่อนไขของการเข้ามาอยู่ใน Fuggerei คือ ต้องเป็นชาวคาทอลิก มีรายได้ต่ำ ไม่มีหนี้ เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และต้องอยู่ในเมืองเอาคส์บวร์คมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

ส่วนสิ่งที่ต้องทำเป็นการแลกเปลี่ยนนอกเหนือจากจ่ายค่าเช่าปีละ 0.88 ยูโร คือการสวดภาวนาวันละ 3 เวลาให้กับตระกูลฟุกเกอร์ และต้องกลับบ้านก่อนเวลาประตูปิดคือสี่ทุ่ม ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ

ยาคอบโอนโครงการนี้ให้กับเมืองเอาคส์บวร์คในปี 1521 แต่ในทางปฏิบัติตระกูลฟุกเกอร์ก็เป็นเหมือนทั้งเจ้าของและผู้ดูแลโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคนในตระกูลฟุกเกอร์เจเนอเรชั่นที่ 19 (นับจากยาคอบ) ยังคงบริหารมูลนิธิและทรัสต์ที่ยาคอบก่อตั้งไว้เมื่อปี 1520 ซึ่งเป็นปีที่เขาเปิด Fuggerei อย่างเป็นทางการ

5 ศตวรรษและไปต่อ

ผ่านมา 500 ปี โครงการบ้านสาธารณะแห่งนี้ยังคงไปได้อย่างงดงาม อาคาร 2 ชั้นซึ่งสร้างเพิ่มเป็น 67 หลัง เป็นที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์ขนาด 45-65 ตารางเมตร จำนวน 147 ห้อง ยังคงเป็นที่พึ่งพิงของคนยากไร้ ซึ่งไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อให้มีที่พักอาศัย และยังคงมีภาระค่าเช่าเพียงปีละ 0.88 ยูโร

การสานต่อปณิธานที่ต้องการช่วยเหลือชาวคาทอลิกไม่ให้ต้องเป็นหนี้ สมดุลระหว่างการรักษากฎเกณฑ์เดิมอย่างเคร่งครัด กับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่สมควรในบางเรื่อง น่าจะมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ ‘เมืองในเมือง’ แห่งนี้อยู่ได้เป็นอย่างดีมาจนถึงวันนี้ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไป

ที่บอกว่าเป็นเมืองในเมืองเพราะนอกจากเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว Fuggerei ยังมีจัตุรัสอันเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ศูนย์กลางชุมชนอยู่ในโครงการ เช่นเดียวกับโบสถ์ ร้านอาหาร โรงเบียร์ และพิพิธภัณฑ์อีก 3 แห่ง โดยมีกำแพงล้อมรอบโครงการราวกับเป็นกำแพงเมือง

แน่นอนว่ากฎเกณฑ์ที่จะไม่ผ่อนปรนคือการสวดภาวนาวันละ 3 ครั้ง ส่วนเรื่องที่มีการผ่อนปรนคือการยกเลิกค่าปรับหากกลับบ้านเกินเวลา ส่วนเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้อยู่อาศัยคือพวกเขาจะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งสำหรับทำงานให้กับชุมชน

แม้การสวดภาวนาเพียงอย่างเดียวไม่พออีกต่อไป แต่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ก็ยังบอกว่าพวกเขาได้รับสันติสุขและความรู้สึกมั่นคงเมื่ออยู่ในโครงการบ้านสาธารณะเก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น พระเจ้าควรคุ้มครองผู้ตกทุกข์ได้ยากและอำนวยพรให้พวกเขาเป็นสุข ไม่ใช่เพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่ควรเป็นที่พักพิงจิตใจด้วย ใครที่เคยไปเยือนสถานที่แห่งนี้น่าจะสัมผัสสันติสุขนั้นได้เช่นกัน

มันยังคงสันติสุข แม้ว่าเมืองในเมืองที่เรียงรายด้วยบ้านเรือนสีเหลืองภายใต้หลังคาสีแดงและประดับด้วยไม้เลื้อยสีเขียวนี้จะเป็นฉากหลังชั้นดีของการถ่ายภาพ และเรื่องราวของ Fuggerei จะเป็นแม่เหล็กชั้นดีให้กับการท่องเที่ยว จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเอาคส์บวร์คไปแล้วก็ตาม มากไปกว่านั้นรายได้จากค่าเยี่ยมชมสถานที่ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณดูแลโครงการ

ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่

นอกจากพิพิธภัณฑ์หลักที่จัดแสดงอพาร์ตเมนต์ที่รักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้ ภายใน Fuggerei ยังมีพิพิธภัณฑ์อยู่อีก 2 แห่ง แห่งหนึ่งจำลองอพาร์ตเมนต์สภาพปัจจุบัน เพื่อที่ผู้เยี่ยมชมจะไม่ต้องรบกวนผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์จริงเพราะความอยากรู้อยากเห็น แต่ละอพาร์ตเมนต์จะมีห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำอยู่ครบ รวมถึงห้องเก็บของขนาดเล็ก อพาร์ตเมนต์ที่อยู่ชั้นล่างจะมีระเบียงและสวนหลังบ้านเป็นของตนเอง ส่วนชั้นบนเป็นห้องใต้หลังคา

ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งที่ 3 ที่เพิ่งเปิดเมื่อปี 2008 นั้นน่าสนใจไม่แพ้กัน มันคือส่วนที่จัดแสดงหลุมหลบภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง Fuggerei ถูกทำลายไปมากถึง 3 ใน 4 กับเนื้อหาที่บอกเล่ากระบวนการสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่ โดยชื่อนิทรรศการ The Fuggerei in WWII–Destruction and Reconstruction คงอธิบายได้ดีในตัวแล้วว่า สถานที่แห่งนี้จะยังคงอยู่ตามปณิธานของผู้ก่อตั้ง ผู้ศรัทธาในพระเป็นเจ้าและคำสอนของพระองค์ที่บอกให้เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะผ่านวันเวลาและเรื่องราวมามากเท่าใดก็ตาม


อ้างอิง

smithsonianmag.com

AUTHOR