Midtown Manhattan: พื้นที่แห่งความใฝ่ฝันดันทุรังสร้างในยุคเศรษฐกิจดำดิ่งที่ดันสำเร็จ

Highlights

  • แมนฮัตตัน คือหนึ่งในเขตการปกครองท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางธุรกิจ วัฒนธรรม และการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เพราะเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) บนวอลล์สตรีท และตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก
  • ประวัติศาสตร์โลกบันทึกเรื่องราวของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ด้วยเหตุการณ์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 แต่แมนฮัตตันกลับมีการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20
  • โครงการที่ว่านี้ก็คือ Rockefeller Center คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 22 เอเคอร์
  • พื้นที่แห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอเมริกา (National Historic Landmark) ในปี 2017

นี่คือภาพที่ได้รับการจัดให้อยู่ในลิสต์ 100 ภาพประวัติศาสตร์ของนิตยสาร TIME (TIME 100 Photos)

ภาพถ่ายชาย 11 คนกำลังรับประทานอาหารกลางวันและสนทนากันอย่างผ่อนคลาย ราวกับว่าความสูง 256 เมตรจากพื้นดินทำอะไรพวกเขาไม่ได้นี้มีชื่อว่า Lunch atop a Skyscraper ถ่ายขึ้นเมื่อปี 1932

น่าเสียดายว่าทั้งที่เป็นภาพประวัติศาสตร์ แต่ชื่อผู้ถ่ายกลับไม่ได้รับการบันทึกไว้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นใครกันแน่ระหว่างช่างภาพ 3 คน ได้แก่ Charles C. Ebbets, Thomas Kelley และ William Leftwich ซึ่งอยู่ที่นั่นในวันนั้น (ข้อมูลบางแห่งบอกว่าอาจจะมีคนที่ 4 ด้วย)

มันไม่ใช่ภาพประวัติศาสตร์เพียงเพราะองค์ประกอบ แต่เป็นภาพที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เอาไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ จนเราสามารถเล่าเรื่องราวของนิวยอร์ก วันนั้นได้โดยเริ่มจากภาพนี้เพียงภาพเดียว

พูดง่ายๆ ก็คือ หากภาพ Migrant Mother (1936) ที่ถ่ายโดย Dorothea Lange คือภาพจำของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ภาพชายกลุ่มนี้ที่นั่งอยู่บนคานเหล็กของ RCA Building ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก็อาจเป็นภาพสะท้อนนิวยอร์กในช่วงเวลาเดียวกันได้ดีที่สุด

นั่นคือความทะเยอทะยานแม้ในยามวิกฤต

 

Bottom of the Great Depression

ประวัติศาสตร์โลกบันทึกเรื่องราวเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ด้วยเหตุการณ์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929

แม้เศรษฐกิจจะดิ่งเหว แต่น่าสนใจว่าในช่วงเวลานั้นแมนฮัตตันมีโครงการใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะตึกระฟ้าซึ่งกำลังแข่งกันสร้างสถิติสูงที่สุดในโลกอย่างไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านมิดทาวน์ (Midtown Manhattan) โดยมีปัจจัยสำคัญก็คือการนำเหล็กมาใช้เป็นโครงรับน้ำหนักตึกสูง ซึ่งไม่ต่างจากการปลดล็อกเพดานความสูงของสิ่งก่อสร้างในวันนั้น

ไล่ตั้งแต่ตึก 40 Wall Street ที่เริ่มสร้างในปี 1929 และเปิดใช้งานในปี 1930 ขับเคี่ยวความสูงกันอยู่กับตึก Chrysler ที่เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1928 และเปิดใช้งานในปี 1930 เช่นกัน ทั้งสองตึกนี้ผลัดกันครองสถิติตึกสูงสุดของโลกในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ตึก Empire State ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 1930 จะเปิดใช้งานในปี 1931 จะแซงหน้าไป

น่าสนใจอย่างยิ่งว่าการล้มครืนของตลาดหุ้นและการดำดิ่งของเศรษฐกิจไม่สามารถหยุดยั้งโครงการเหล่านี้ได้ ตรงกันข้ามภาพชาย 11 คนที่เต็มไปด้วยความสบายบนคานเหล็ก ชั้น 69 ของอาคาร RCA และมีฉากหลังเป็นเซ็นทรัลพาร์ก กลับบอกให้เรารู้ถึงความมุ่งมั่นที่จะไปต่อของเมืองแห่งนี้

หรือไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นความจงใจในการใช้ภาพถ่าย เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ลูกค้า หรือแม้กระทั่งเจ้าของโครงการเอง

 

Top of the Rock

เรากำลังพูดถึงโครงการที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (urban building project) ที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเวลาดำลึกที่สุดของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

โครงการที่ว่านี้คือ Rockefeller Center คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง 48th Street และ 51st Street และ ระหว่าง Fifth Avenue กับ Sixth Avenue ที่ประกอบด้วยอาคารแบบอาร์ตเดโครวม 14 อาคาร บนพื้นที่ 22 เอเคอร์ (ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 19 อาคาร)

มันสะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่น ความใฝ่ฝัน รวมถึงความปรารถนาที่จะยกระดับเมือง เมื่อเอาโครงการที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มาเทียบกับโครงการนี้ที่ห่างกันเกือบศตวรรษก็แทบไม่มีอะไรใหม่

แต่จะบอกว่าเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นก็คงไม่ถูกนัก เพราะความเป็นจริงก็คือมีหลายครั้งที่ John D. Rockefeller Jr. ผู้เป็นเจ้าของโครงการรู้สึกว่านี่อาจเป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ทำให้เขาต้องเฝ้าระวังทุกฝีก้าว แต่ทุกอย่างต้องไปต่อเพราะการหยุดยั้งนั้นมีต้นทุนมากกว่าความเสี่ยงที่รออยู่ตรงหน้า

ในความเป็นจริง เรื่องราวของ Rockefeller Center เริ่มต้นจากความจำเป็นในการหาที่อยู่ใหม่ให้กับ Met Opera (Metropolitan Opera) แหล่งรวมตัวของสังคมผู้ดีในนิวยอร์ก ที่เดิมเคยอยู่บน 39th Street โดยมีร็อกกี้เฟลเลอร์ จูเนียร์ เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดหาที่ใหม่สำหรับการก่อสร้าง และที่ที่เขาเลือกก็คือ Upper Estate ในย่านมิดทาวน์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียครอบครองอยู่ก่อน

แต่กว่าที่จูเนียร์จะตกลงเรื่องสัญญาเช่าและเคลียร์ผู้เช่าเดิมออกเสร็จสิ้น ตลาดหุ้นก็ล่มลงแล้ว พร้อมกับ Met Opera ที่ล้มเลิกโครงการสร้างโรงละครแห่งใหม่กลางคัน ในระหว่างทางเลือก 2 ทาง คือล้มเลิกทุกอย่างไปเสีย กับเปลี่ยนมันให้เป็นธุรกิจของเขาเอง จูเนียร์เลือกอย่างหลัง

แม้ Met Opera จะถอนตัวไป แต่จูเนียร์ก็ได้ผู้เช่ารายใหม่อย่าง Radio Corporation of America (RCA) เข้ามาเป็นผู้เช่าหลัก นั่นคือสาเหตุที่อาคารสูงซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของโครงการนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า RCA Building โดย RCA คือผู้ก่อตั้ง National Broadcasting Corporation (NBC) เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 เจ้าใหญ่ (The Big Three) ร่วมกับ ABC และ CBS

แม้ความสูงเพียง 260 เมตร หรือ 66 ชั้นของ RCA Building จะเทียบไม่ได้กับตึก Empire State ซึ่งมีความสูงนับถึงยอด 443.2 เมตร แต่มันก็ถือเป็นอาคารสูงที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ โดยมีชั้น 67-70 สร้างเป็นหอชมวิวเมืองนิวยอร์กแบบพาโนรามาที่มีชื่อว่า Top of the Rock

หมายเหตุว่า RCA เป็นบริษัทในเครือของ General Electric (GE) มาก่อน โดย GE ถูกบังคับให้ขาย RCA ในปี 1932 ตามกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (antitrust law) ของอเมริกา ก่อนที่จะกลับมาซื้อกิจการคืนในปี 1986 โดยคราวนี้ GE ขายกิจการของ RCA หลายอย่างแต่เก็บ NBC เอาไว้ ส่วนอาคาร RCA Building เปลี่ยนชื่อเป็น GE Building ในปี 1988

ในปัจจุบัน NBC กลายเป็นบริษัทในเครือ Comcast ธุรกิจเทเลคอมอันดับ 2 ของอเมริกา และอาคารที่หลายคนยังคงคุ้นกันในชื่อ GE Building เปลี่ยนชื่อเป็น Comcast Building ในปี 2015

ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนผ่านไปนานเท่าใดและอาคารแห่งนี้จะเปลี่ยนมือเจ้าของ (และเปลี่ยนชื่อเรียก) ไปสักกี่ครั้ง NBC ก็ยังปักหลักอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 1933 และภาพผู้คนต่อแถวรอเข้าไปชมรายการในห้องส่ง รวมถึงเข้าคิวขึ้นไปยัง Top of the Rock ก็คือภาพชินตาในย่านมิดทาวน์แห่งนี้

 

30 Rock

สำหรับหลายคน 30 Rock คือซีรีส์ยอดนิยมกวาดรางวัลล้นหลามที่แพร่ภาพระหว่างปี 2006-2013 มันไม่ได้หมายถึงหิน 30 ก้อน (มิเช่นนั้นก็ควรเติมตัว s ให้เป็น 30 Rocks) แต่มันหมายถึงอาคารเลขที่ 30 Rockefeller Plaza หรือ RCA Building ของเรานั่นเอง ใช่แล้วมันมีชื่อเล่นว่า 30 Rock

30 Rock หรืออาคารแห่งนี้คือที่ผลิต 30 Rock คอเมดี้แบบเสียดสีที่สร้างและนำแสดงโดย Tina Fey นักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับ และคอเมเดียนชื่อดังของอเมริกา ผู้โด่งดังมาจากรายการยอดนิยมอย่าง Saturday Night Live (SNL) ของ NBC โดยเธอได้นำประสบการณ์ความประสาทเสียนานาที่พบเจอในฐานะหัวหน้าทีมเขียนบทรายการ SNL มาสร้างสรรค์เป็นซีรีส์ 30 Rock นั่นเอง

การใช้ชื่อ 30 Rock บอกให้รู้ว่าอ้างถึง NBC หากให้สรุปง่ายๆ ก็คือเธอผลิตซีรีส์เสียดสีเรื่องราวใน NBC ให้ NBC เอง

นอกจากชื่อติดปากอย่าง 30 Rock อีกชื่อหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความทรงจำก็คือ Radio City ซึ่งเคยใช้เรียกพื้นที่โครงการส่วนที่ติดกับ Sixth Avenue ซึ่งเป็นส่วนที่เช่าโดย RCA ทั้งหมด ในปัจจุบันชื่อ Radio City เหลือเพียงส่วนที่ใช้เรียก Radio City Music Hall ที่ยังคงโดดเด่นด้วยแสงไฟนีออนอยู่ตรงหัวมุม Sixth Avenue ตัดกับ 50th Street

นอกจาก Sixth Avenue หรือที่เรียกในอีกชื่อว่า Avenue of the Americas จะเป็นที่ตั้งของ NBC แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของ CBS และ Fox News (ซึ่งมาทีหลังและได้รับการเพิ่มเข้าไปเป็น The Big Four) โดย Fox News ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนขยายของ Rockefeller Center นั่นเอง

 

เมืองในเมือง เมืองของโลก

หาก Rockefeller Center ทางฝั่ง Sixth Avenue คือฐานที่มั่นของสื่อ พื้นที่ส่วนที่ติดกับ Fifth Avenue ก็คือฐานที่มั่นของโลก

ในความเป็นจริง จูเนียร์ไม่เพียงตั้งใจสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แบบ ‘เมืองในเมือง’ เท่านั้น แต่เขาผลักมันไปไกลถึงการเป็นชุมชนเศรษฐกิจโลก ที่มีธุรกิจและหน่วยงานจากประเทศต่างๆ มาตั้งอยู่ด้วย แม้ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งจะมาจากการที่เขาหาผู้เช่าชาวอเมริกันไม่ได้และทำให้ต้องเปลี่ยนแผนและธีมในการก่อสร้าง แต่เขาก็ทำสำเร็จไม่น้อย ผลลัพธ์คือพื้นที่ในส่วน International Complex ซึ่งประกอบด้วยอาคารนานาชาติเรียงรายกันอยู่บน Fifth Avenue

แต่การสร้างพื้นที่ของโครงการให้เป็นศูนย์กลางของโลกอาจยังไม่เท่ากับความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สาธารณะ ในระดับที่สถาปนิกระดับตำนานอย่าง I. M. Pei ยังยกย่องให้เป็น ‘พื้นที่เมือง (urban space) ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของอเมริกา’

เรากำลังพูดถึงพื้นที่พลาซ่าของ Rockefeller Center ที่หลายคนคุ้นชินจากภาพยนตร์หลายเรื่อง ไม่ว่าภาพยนตร์เหล่านั้นจะเล่ามันด้วยภาพต้นคริสต์มาสหรือลานสเกตน้ำแข็งก็ตาม

 

พื้นที่ของผู้คน

จนถึงทุกวันนี้ต้นคริสต์มาสซึ่งนำมาประดับบริเวณพลาซ่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของทุกปีก็ยังเป็นข่าวในอเมริกา ราวกับว่ามันคือศูนย์กลางของการเฉลิมฉลองช่วงเวลาแห่งความสุข

ในปี 2019 ที่ผ่านมา ต้นคริสต์มาส ‘แห่งชาติ’ นี้เป็นต้นสนพันธุ์ Norway spruce สูง 77 ฟุต หนัก 12 ตัน ที่ตัดมาจากสวนของชาวอเมริกันในรัฐฟลอริดา แต่ย้อนกลับไปในปี 1931 มันเป็นเพียงต้นสนขนาด 20 ฟุตที่คนงานในโครงการรวบรวมเงินกันซื้อและช่วยกันตกแต่งด้วยพวงดอกไม้จากฝีมือของคนในครอบครัว สองปีให้หลังเมื่อพื้นที่แห่งนี้เปิดให้บริการ พิธีจุดไฟต้นคริสต์มาสจึงกลายเป็นประเพณีประจำปีนับแต่นั้น

มันกลายเป็นประเพณีสำคัญในระดับที่ทำให้มีการถ่ายทอดสดการเปิดไฟต้นคริสต์มาสนี้มาตั้งแต่ปี 1997 ผ่านรายการ Christmas in Rockefeller Center ของ NBC ในวันพุธหลังเทศกาล Thanksgiving มีการแสดงสดและนายกเทศมนตรีมากดปุ่มเปิดไฟกันเลยทีเดียว

มันอาจเป็นโชคชะตาหรือการตลาดที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้เชื่อมโยงเข้ากับจิตวิญญาณของอเมริกา หรืออาจเป็นการออกแบบด้วยเช่นกันที่สร้างให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงกับผู้คนของแมนฮัตตัน เมื่อพื้นที่เปิดโล่งซึ่งมีไว้เพื่อรับแสงและอากาศได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงกับอาคารทั้งหมด

หรือไม่อย่างนั้นมันก็คือการแก้ปัญหาเพื่อออกจากวิกฤตอีกนั่นเองที่ทำให้เกิดพื้นที่อย่าง The Rink ลานสเกตน้ำแข็งซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก

ย้อนกลับไปในปี 1935 แม้การก่อสร้างโครงการยังไม่แล้วเสร็จดี แต่พื้นที่แห่งนี้ก็มีผู้คนกว่า 60,000 คนมาใช้พลาซ่าในแต่ละวัน กระนั้นคนจำนวนมากก็ยังเดินลงไปไม่ถึงด้านล่างซึ่งมีร้านค้าตั้งอยู่ เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ลานสเกตน้ำแข็งจึงเปิดให้บริการในวันคริสต์มาสของปี 1936 จากที่หวังให้เป็นกิจกรรมดึงดูดผู้คนลงมายังพื้นที่พลาซ่าด้านล่าง (พลาซ่าของโครงการสร้างในหลายระดับความสูง) The Rink กลับกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของนิวยอร์ก ซึ่งนักท่องเที่ยวชื่นชอบมาถ่ายรูปกับประติมากรรมสำคัญ หนึ่งในหลากหลายผลงานศิลปะที่พบเห็นได้ในสถานที่แห่งนี้

 

พื้นที่ศิลปะ

เราเดินทางมาถึงความปรารถนาเรื่องสุดท้ายที่จูเนียร์มีสำหรับโครงการของเขา นั่นคือการสร้างคอมเพล็กซ์แห่งนี้ให้เป็น ‘เมกะสำหรับคนรักศิลปะ’

แน่นอนว่าเขาเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะตัวยง และภรรยาของเขาก็คือผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย MoMA ของนิวยอร์ก โดยจูเนียร์ได้ว่าจ้างให้ศิลปินกว่า 40 ราย สร้างชิ้นงานถาวรสำหรับ Rockefeller Center ภายใต้ธีมที่ชื่อว่า New Frontiers

แม้จะมีคำวิจารณ์ว่าในความเป็นจริงมุมมองต่อศิลปะของเขาค่อนไปทางอนุรักษนิยมอยู่สักหน่อย แต่เขาก็ทำได้ตามที่ตั้งใจ นอกจากจะเป็นไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคในตัวมันเอง โครงการแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่รวบรวมผลงานศิลปะถาวร ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม ภาพเขียน หรือสิ่งทออยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยชิ้น โดยมีหลายชิ้นที่กลายเป็นแลนด์มาร์กของเมือง ไม่ว่าจะเป็น Atlas ประติมากรรมแอตลาส (หนึ่งในไททันตามตำนานกรีก) แบกสวรรค์ไว้บนบ่าที่ตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิหารเซนต์แพทริคบน Fifth Avenue หรือ Prometheus ประติมากรรมที่เด่นเป็นสง่าอยู่ ลานสเก็ตน้ำแข็ง ว่าด้วยไททันโพรมีธีอุสผู้ขโมยไฟลงมาเป็นแสงสว่างให้กับโลกมนุษย์

แม้ในปัจจุบัน Rockefeller Center จะเปลี่ยนมือเจ้าของไปแล้ว แต่โครงการก็ยังสานต่อเจตนารมณ์ในการเป็นสวรรค์สำหรับศิลปะ นอกจากผลงานศิลปะถาวร คอมเพล็กซ์แห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะหมุนเวียนทุกปี มันยังคงเป็นทั้งศูนย์กลางโลกธุรกิจ และพื้นที่ทรงพลังทางวัฒนธรรมไม่เปลี่ยนแปลง

Rockefeller Center ใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี 1931-1939 และเมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่ย่านมิดทาวน์แมนฮัตตันก็ก้าวข้ามเขต financial district หรือวอลล์สตรีทที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะแมนฮัตตัน ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของนิวยอร์กและของโลก

พื้นที่แห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอเมริกา (National Historic Landmark) ในปี 2017

 

อยู่รอดและเติบโต

เชื่อหรือไม่ว่าในช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ชาวอเมริกันกลับมีอายุยืนขึ้น อาจจะจริงอย่างที่มีคนบอกความยากลำบากจะทำให้เราแข็งแกร่ง

เมื่อเข้าสู่ปี 2020 นิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางหายนะของโลกอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ที่จุดชนวน แต่ก็ต้องเผชิญกับระเบิดก้อนใหญ่เมื่อต้องรับมือกับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลก

ถึงตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าเมื่อการแพร่กระจายของไวรัสสิ้นสุด เมืองแห่งนี้จะพาโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้งหรือไม่ แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากภาพชายทั้ง 11 คน บนคานเหล็กของ 30 Rock ก็คือการเดินหน้าสร้างสิ่งใหม่ที่โลกไม่เคยมีโดยปราศจากความหวั่นกลัว

เพราะไม่มีใครรู้ได้เลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาของความยากลำบากที่สุดอาจกลายเป็นสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยงได้ทนทานกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นตัวคอมเพล็กซ์แห่งความฝันใฝ่นี้ หรือจิตวิญญาณของความเป็นศูนย์กลางของโลกก็ตาม


อ้างอิง

Nevius, Michelle and Nevius James. 2009. Inside the Apple: A Streetwise History of New York City. Free Press.

NBC News

Smithsonian Magazine

AUTHOR