วอชิงตัน ดี.ซี. : เมืองที่สงบนิ่งในยามดี และมุ่งพัฒนาเต็มที่เพื่อเฉิดฉายในยามร้าย

วอชิงตัน ดี.ซี. : เมืองที่สงบนิ่งในยามดี และมุ่งพัฒนาเต็มที่เพื่อเฉิดฉายในยามร้าย

Highlights

  • วอชิงตัน ดี.ซี.เป็นเมืองหลวงของอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติอเมริกา โดย George Washington ประธานาธิบดีคนแรก
  • การสร้างวอชิงตัน ดี.ซี.ได้รับอิทธิพลไม่น้อยจากปารีส โดยเฉพาะการวาง Capitol Hill ให้เป็นศูนย์กลางที่มีถนนกระจายไปรอบๆ และการสร้างถนนสายใหญ่เป็นแกนสำคัญใจกลางเมือง
  • มีพื้นที่สาธารณะเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของอเมริกาและเป็นที่รวมตัวของชาวอเมริกันเพื่อแสดงออกทางการเมือง
  • McMillan Plan ถือเป็นการวางกรอบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มันได้รับการเติมเต็มและทำให้วอชิงตัน ดี.ซี.กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอันทรงอิทธิพล

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาไม่เพียงทำให้เราหันกลับมาสำรวจเมืองของตนเองมากขึ้น แต่ยังทำให้เราพูดถึงประวัติศาสตร์ของเมืองอื่นๆ มากขึ้นเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นหลายเมืองในยุโรปที่เคยเผชิญหายนะในช่วงกาฬโรคระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าเป็นเวลาหลายร้อยปี รวมถึงเมืองการค้าที่รุ่งเรืองอย่างเวนิส ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดการกักตัวครั้งแรกในโลกในศตวรรษที่ 13 และเผชิญกับความเสื่อมถอยเมื่อสงครามนำกาฬโรคมาสู่เมือง (เป็นรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้) ในศตวรรษที่ 17

ในขณะเดียวกันผลกระทบทางเศรษฐกิจก็ทำให้เรากลับไปสำรวจเมืองกับการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ หนึ่งในเมืองเหล่านั้นคงหนีไม่พ้นนิวยอร์ก จุดระเบิดของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930

ไกลกว่านั้นคือการตั้งคำถามว่ามีเมืองใดที่รุ่งเรืองในยามที่เมืองอื่นเลวร้าย และถ้ามี เมืองแห่งนั้นก็คงหนีไม่พ้นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของโลกอย่างวอชิงตัน ดี.ซี.

ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่ทรงอิทธิพลเพียงใด สำหรับเราหลายคนวอชิงตัน ดี.ซี.หยุดอยู่ที่ภาพยนตร์ Forest Gump (1994) และสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เจนนี่ (นางเอก) ใช้เป็นทางลัดวิ่งฝ่าฝูงชนเพื่อมาหาฟอเรสต์ (พระเอก) ที่กล่าวสุนทรพจน์อยู่บนเวที

สระน้ำแห่งนี้ทอดตัวตามยาวอยู่ระหว่าง Lincoln Memorial และ Washington Monument (เสาดินสอแท่งนั้นนั่นแหละ) และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เรียกว่า National Mall

มันไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าติดเครื่องปรับอากาศ แต่จะเรียกว่า promenade ก็อาจจะได้ หรือเรียกว่าสวนสาธารณะก็ได้อีก เพราะมันอยู่ในการดูแลของ National Park Service ของอเมริกา

แต่ถ้าจะให้ดี เรียกมันตาม Lisa Benton-Short ผู้เขียนหนังสือ The National Mall: No Ordinary Public Space น่าจะถูกต้องตามที่เป็นมากกว่า

ใช่แล้ว มันคือพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่เหมือนพื้นที่สาธารณะอื่นในโลก

 

แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชื่อชวนตั้งคำถาม แต่ที่มาของชื่อเนชั่นนอลมอลล์ไม่มีอะไรซับซ้อนนัก เพราะคำว่ามอลล์นั้นไม่ได้มีไว้เรียกศูนย์การค้าเพียงเท่านั้น

ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 คำนี้มีไว้ใช้เรียกทางเดินที่มักมีต้นไม้เรียงรายอยู่สองข้างในแบบ promenade ด้วยนั่นเอง โดยชื่อเนชั่นนอลมอลล์นั้นก็หยิบยืมมาจาก The Mall ของลอนดอน promenade ยอดนิยมสำหรับชนชั้นสูงในอดีตที่ลากจากพระราชวังบักกิงแฮมไปจรดจัตุรัสทราฟัลการ์ ถนนราชดำเนินของกรุงเทพฯ ก็ได้รับอิทธิพลมาจาก The Mall เช่นกัน ลักษณะสำคัญของ promenade คือเหมาะกับการเดินเล่นและมักเป็นที่ที่ได้รับการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมอย่างดี

สระน้ำสะท้อนแสงเงาซึ่งมีฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์วอชิงตันไม่เพียงเป็นงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมชั้นดี แต่ยังตอบโจทย์การเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจของเมืองแห่งนี้ได้อย่างไม่มีที่ติ และน่าจะมีส่วนที่ทำให้เรายังคงไม่ลืมฉากนั้นในภาพยนตร์ไปง่ายๆ

หากขยายภาพหน้าจอให้กว้างกว่านั้นเพื่อดูพื้นที่เนชั่นนอลมอลล์ทั้งหมด ก็จะพบงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและสมมาตร มีแกนสำคัญคือ promenade กว้างๆ ทอดยาวเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตรจากอนุสรณ์สถานลินคอล์นไปจรด Capitol Hill อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการรัฐสภาอเมริกา

หากย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ เราก็จะพบว่าวอชิงตัน ดี.ซี.นั้นไม่ต่างกับเมืองอย่างเซินเจิ้น ในแง่ที่ว่ามันคือ planned city เมืองที่สร้างขึ้นจากความว่างเปล่าอย่างมีวัตถุประสงค์

สำหรับเซินเจิ้น วัตถุประสงค์คือการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ สำหรับวอชิงตัน ดี.ซี.คือการสร้างศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา การเรียกพื้นที่สาธารณะว่าเนชั่นนอลมอลล์ก็เพื่อให้เป็นมอลล์ของชาติและเป็นแหล่งรวมสัญลักษณ์ทางอำนาจของประเทศ

หลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษได้ 15 ปี วอชิงตัน ดี.ซี.ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 1791 โดย George Washington บิดาของประเทศและประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ผู้ตัดสินใจเลือกพื้นที่ริมแม่น้ำโพโทแม็กแห่งนี้เป็นที่ตั้งเมืองหลวง โดยเป็นผืนดินที่บริจาคโดยรัฐแมริแลนด์และเวอร์จิเนียเพื่อเป็น District of Columbia ที่ถือว่าไม่อยู่ในเขตของรัฐใด

โคลัมเบีย มาจากชื่อ Columbus ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาอย่างเป็นทางการ แม้ภายหลังจะมีข้อมูลว่าอาจมีทั้งชาวไอริช ไวกิ้ง และจีน เคยไปถึงทวีปดังกล่าวก่อนหน้าโคลัมบัส แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางของเขาส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของประเทศอเมริกาในที่สุด

การสร้างวอชิงตัน ดี.ซี.มีวิศวกรและนักวางผังเมืองชาวฝรั่งเศส Peter Charles L’Enfant รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าผังเมืองนี้น่าจะได้รับอิทธิพลไม่น้อยจากปารีส โดยเฉพาะการวางแคปิตอลฮิลล์ให้เป็นศูนย์กลางที่มีถนนกระจายไปรอบๆ และการสร้างถนนสายใหญ่ หรือ grand avenue ให้เป็นแกนสำคัญใจกลางเมือง

 

ตามแผนของ L’Enfant ถนนสายนี้จะมีความกว้าง 400 ฟุต กับความยาว 1 ไมล์ ตัดจากด้านตะวันตกของแคปิตอลฮิลล์ไปจรดอนุสาวรีย์วอชิงตัน ส่วนทำเนียบขาวจะอยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือของอนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างสำคัญสามสิ่งนี้จะเรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยมพอดิบพอดี

แต่เมืองไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวและไม่ได้สร้างเสร็จโดยมีหัวเรือใหญ่เพียงคนเดียว ไม่เพียง L’Enfant ถูกถอดออกจากโครงการ ปัญหาสำคัญกว่านั้นคือเงินทุนที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แม้แต่อนุสาวรีย์วอชิงตันยังต้องใช้เวลาก่อสร้างนานหลายสิบปี แต่เมื่อมันสร้างเสร็จในปี 1884 อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น ก่อนถูกทำลายสถิติด้วยหอไอเฟลในเวลาไม่นาน

และแม้ grand avenue ที่ถูกวาดไว้ให้เติมเต็มด้วยอาคารแบบวิกตอเรียนจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่มันก็กลายเป็นส่วนสำคัญของเนชั่นนอลมอลล์ในเวลาต่อมา แถมยังทอดตัวยาวกว่าที่วางแผนไว้อีกเกือบเท่าตัว

ต้องรอจนถึงปี 1902 กว่าความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้จะได้รับการหยิบยกมาเป็นประเด็น ในวันนี้ชาวอเมริกันจดจำมันในชื่อ McMillan Plan

ตามแผนนี้ศูนย์กลางของพื้นที่ทั้งหมดจะอยู่ที่อนุสาวรีย์วอชิงตัน โดย grand avenue ถูกเปลี่ยนเป็นสนามหญ้าขนาดกว้าง 300 ฟุตเป็นแกนกลาง ทอดตัวยาวขนาบข้างด้วยต้นไม้ และอาคารสไตล์นีโอคลาสสิกที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์และสถานที่ทางวัฒนธรรมอื่นๆ นำโดย Smithsonian พิพิธภัณฑ์ที่อาจกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุดของอเมริกา จนกลายเป็นคอมเพลกซ์พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยอาคาร 11 แห่ง กับผู้เยี่ยมชนหลาย 10 ล้านคนในแต่ละปี

สระน้ำและอนุสรณ์สถานลินคอล์นก็สร้างหลังแผนแม็กมิลลันนี้เอง

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าแผนแม็กมิลลันถือเป็นการวางกรอบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มันได้รับการเติมเต็มและทำให้วอชิงตัน ดี.ซี.กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอันทรงอิทธิพล

ตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมาเนชั่นนอลมอลล์เปลี่ยนเป็นศูนย์รวมความทรงจำของอเมริกา ส่วนหนึ่งคืออนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่หลายคน ไล่ตั้งแต่ Thomas Jefferson, Abraham Lincoln, Franklin D. Roosevelt ไปจนถึง Martin Luther King, Jr. และเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารที่ร่วมรบในสงคราม ทั้งสงครามโลก สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม และเป็นที่รวมตัวของชาวอเมริกันเพื่อแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่านั่นจะเพื่อเป็นสักขีพยานการสาบานตนของประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่าหรือการประท้วงก็ตาม

นอกจากวอชิงตัน ดี.ซี.ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ช่วงเวลาที่เมืองขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญก็มักเป็นช่วงเวลาที่อเมริกาเผชิญกับความยากลำบาก นั่นเพราะมันคือช่วงเวลาของการใช้จ่ายอย่างอู้ฟู่ของรัฐบาลกลาง

นับจากการก่อตั้งในปลายศตวรรษก่อนหน้า กว่าวอชิงตัน ดี.ซี.จะมีประชากรแตะหลักแสนคนก็ต้องรอจนมีการทำสำมะโนประชากรในปี 1870 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามกลางเมือง โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นผลจากการขยายตัวของรัฐบาลกลางที่ใช้คนทำงานมากขึ้น รวมถึงคลื่นของอดีตทาสที่อพยพเข้ามายังเมืองนี้ ที่เคยเป็นทั้งศูนย์กลางการค้าทาสในอเมริกาและการต่อต้านการค้าทาสในช่วงสงครามกลางเมือง

จากสงครามกลางเมือง ประชากรของวอชิงตัน ดี.ซี.ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในทศวรรษ 1930 อันเป็นผลจากการทุ่มงบประมาณโครงการ New Deal ของประธานาธิบดีรูสเวลต์ เพื่อสู้กับเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณนำมาใช้กับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการรัฐ อนุสรณ์สถาน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เนชั่นนอลมอลล์นั่นเอง

ส่วนช่วงเวลาที่เมืองนี้มีประชากรสูงสุดคือการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 1950 ที่ประชากรแตะหลัก 800,000 คน อันเป็นผลจากการจ้างงานของรัฐบาลกลางที่เพิ่มขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนค่อยๆ ลดลงจนเหลือไม่ถึง 600,000 คนในปี 2000 ปัจจุบันจำนวนประชากรของวอชิงตัน ดี.ซี.อยู่ที่ราวๆ 700,000 คน และพิพิธภัณฑ์สุดท้าย คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกัน เป็นผลงานออกแบบของ David Adjaye สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ ที่เพิ่งเปิดเมื่อปี 2016

ในวันนี้ที่รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกากำลังทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อสู้กับผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของไวรัส เป็นช่วงเวลาที่น่าจับตามองว่าเมืองที่เฟื่องฟูในยามวิกฤตแห่งนี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งหรือไม่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐยังจำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบโครงการก่อสร้างเดิมๆ อีกไหม

 

 

อ้างอิง

สารคดี Building a Nation’s Capital: Washington D.C.

AUTHOR