Journey of the Eternal City: กรุงโรมและบททดสอบแห่งกาลเวลาของมหานครหลายชีวิต

Highlights

  • โรมคือเมืองที่เต็มไปด้วยสมบัติอันประเมินค่าไม่ได้ เพราะตัวมันเองไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หลากยุคที่ยังมีลมหายใจ
  • ปัญหาหนึ่งของโรมที่แก้ไม่ตกคือเขม่าควันของรถที่ไปจับโบราณสถานจนเสียหาย หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของการทำความสะอาดและการใช้มาตรการทางกฎหมาย
  • โรมในช่วงหลายปีมานี้จึงเหมือนบ้านที่ได้รับการปรับปรุง ทาสีใหม่ และทำให้ทุกอย่างดูมีชีวิตชีวามากขึ้น จนกระทั่งไวรัสโคโรนาเดินทางมาถึงบ้านของพวกเขาแบบไม่ทันตั้งตัว

ในวันที่เขียนต้นฉบับนี้คือวันที่อิตาลีเริ่มมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 แซงหน้าจีน

มันยังไม่ใช่จุดสูงสุดของวิกฤตนี้ และไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้จะจบลงยังไง หวังเพียงแต่ว่าเมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปทุกคนจะกลับมายืนได้อีกครั้ง

เช่นเดียวกับเมือง ไม่ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวสักแค่ไหน เมืองที่ยิ่งใหญ่จะกลับมายืนขึ้นได้อีก เมืองที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดก็คือ ‘โรม’

เมื่อกล่าวถึงโรม ใครหลายคนอาจนึกถึงภาพเมืองเก่าจัดที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและหัวขโมย แต่ใครจะกล้าพูดล่ะว่าเมืองแห่งนี้เป็นเพียงเมืองเก่าธรรมดาแห่งหนึ่งเพราะโรมไม่เคยเป็นอย่างนั้น จะเฟื่องฟูหรือตกต่ำก็ไม่มีใครบังอาจใช้คำว่าธรรมดากับเมืองแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยสมบัติเจ้าคุณทวด เจ้าคุณปู่ เจ้าคุณพ่อ มรดกทางประวัติศาสตร์หลากยุคหลายเรื่องราว ที่ยังคงกองอยู่เต็มบ้านให้ลูกหลานได้เก็บกินดอกผลไม่สิ้นสุด

ดังนั้นหากบอกว่าโรมเต็มไปด้วยความโบร่ำโบราณมันก็โบราณแบบท้องพระคลังที่เต็มไปด้วยสมบัติอันประเมินค่าไม่ได้ หากบอกว่าเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวนั่นก็เพราะตัวมันเองไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์หลากยุคที่ยังมีลมหายใจ

ไม่แปลกหรอกหากมันจะเต็มไปด้วยหัวขโมย

ปัญหาใหม่

ปัญหาสำคัญของโรมไม่ใช่เรื่องหัวขโมย เท่ากับปัญหาเน่าๆ ไม่แพ้กันอย่างเขม่าควันของรถที่ไปจับโบราณสถานจนเสียลุคไปหมด

แน่นอนว่าถนนที่มุ่งสู่โรมไม่ได้สร้างไว้เพื่อรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อสมบัติพัสถานหลายหลากของเมือง

มีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของการทำความสะอาด และการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างการห้ามรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลวิ่งในเขตกลางเมือง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในปี 2024

นอกจากปัญหาเขม่าควัน ปัญหาสำคัญของโบราณสถานโดยเฉพาะมรดกชิ้นสำคัญอายุ 2,000 ปีอย่างโคลอสเซียม ก็คือโครงสร้างใต้ดินที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟใต้ดินที่สร้างขึ้นใกล้ๆ นั่นเอง

แม้อัฒจันทร์ความจุ 50,000 ที่นั่งซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 80 ปีหลังคริสตกาลนี้จะยังคงความสมบูรณ์อยู่มากเมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรมรุ่นเดียวกันหลายแห่งของโลกที่เหลือแต่ชื่อ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีเพื่อรักษามรดกชิ้นนี้เอาไว้

จะบอกว่าโชคดีก็ได้ที่อย่างน้อยฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งไม่ยกเว้นการโจมตีโรมยังระวังไม่ทิ้งระเบิดลงไปทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอัฒจันทร์แห่งนี้ที่ใช้เป็นหลุมหลบภัยสำหรับชาวเมือง (เว้นระเบิดที่ลงไปยังวาติกันด้วยความผิดพลาด 2 ลูก) มิหนำซ้ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องก็ทำให้กรุงโรมกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต และโคลอสเซียมกลายเป็นฉากหลังสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้มาเยือนในแต่ละปี

โชคร้ายคือการจราจรที่เพิ่มขึ้นตามกันโดยเฉพาะถนนรอบตัวโคลอสเซียมเองที่ถือเป็นวงเวียนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนกระทั่งต้องมีการห้ามรถยนต์วิ่งบนถนนนี้ในที่สุด

โคลอสเซียมใหม่

โคลอสเซียมได้รับการบูรณะอีกครั้งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่การต้องใช้เงินจำนวนมากกับความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับโครงสร้างของสถาปัตยกรรมยักษ์ใหญ่นี้ทำให้การฟื้นฟูทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งมีการสำรวจด้วยเลเซอร์และอินฟราเรดในปี 1997 เผยให้เห็นความผิดปกติของโครงสร้าง รวมถึงแบบแผนของอัฒจันทร์ที่ชัดเจนมากขึ้น

ความรู้ที่มากขึ้นนำมาสู่โอกาสในการบูรณะโคลอสเซียมอย่างเป็นชิ้นเป็นอันที่สุดเท่าที่เคยมีมา ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่าจะเอาเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการนี้จากไหน บทสรุปมาถึงในปี 2011 เมื่อเจ้าของแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ของอิตาลีอย่าง Tod’s แสดงความจำนงว่ายินดีบริจาคเงินจำนวน 25 ล้านยูโร สำหรับฟื้นฟูโคลอสเซียมที่หมองคล้ำจากมลภาวะและเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของรถไฟใต้ดิน

แม้มีข้อถกเถียงอยู่มากที่เมืองจะรับเงินจากภาคเอกชนเพื่อใช้ในกิจการของเมือง ซึ่งทำให้แผนการบูรณะครั้งนี้ดีเลย์จากปี 2011 ไปจนถึงปี 2013 แต่ในที่สุดมันก็เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่ Tod’s ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยฟื้นฟูเมือง แต่รวมถึงแบรนด์ของโรมแท้ๆ อย่าง Fendi ที่ออกเงิน 2.5 ล้านยูโรบูรณะน้ำพุเทรวี (Fontana di Trevi) และ Bulgari ที่ออกเงิน 1.5 ล้านยูโรบูรณะบันไดสเปน จนกลายเป็นความธรรมดาใหม่ (Tod’s ไม่ใช่แบรนด์ที่มีฐานที่มั่นในโรมแต่อยู่ในแคว้นมาร์เค ส่วนแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงอื่นของอิตาลีอย่าง Gucci อยู่ในฟลอเรนซ์ ส่วน Prada, Armani และ D&G อยู่ในมิลาน)

ไม่แปลกที่ธุรกิจซึ่งขายความเป็นช่างฝีมือของอิตาลีจะสนับสนุนเงินทุนเพื่อการนี้ เพราะความวิจิตรล้ำค่าของเมืองไม่ต่างจากทุนที่มองไม่เห็นของแบรนด์ด้วยเช่นกัน และไม่แปลกที่จะบอกว่าการที่มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Tod’s อย่าง Diego Della Valle จะใช้จ่ายเงินจำนวนนี้เพียงเพื่อตอบสนองความปรารถนาส่วนตนที่อยากรักษาสมบัติล้ำค่าของโลกเอาไว้ เงื่อนไขมีอยู่ว่าแม้ Tod’s จะใช้เรื่องนี้ในการประชาสัมพันธ์แบรนด์ แต่จะไม่มีการโฆษณาใดๆ ของแบรนด์อยู่ในพื้นที่ของโคลอสเซียม

โรมใหม่

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน การบูรณะโคลอสเซียมจะเสร็จสิ้นเร็วๆ นี้

แต่โลกก็มักส่งความท้าทายใหม่มาให้แผนการสะดุด เช่นเดียวกับครั้งนี้

อย่างน้อยโคลอสเซียมก็ได้รับการทำความสะอาดไปแล้ว เช่นเดียวกับซุ้มโค้งจำนวน 31 ซุ้มที่ได้รับการบูรณะและประตูที่ได้รับการติดตั้งใหม่

เมื่อรวมกับการบูรณะสถานที่สำคัญแห่งอื่น โรมในช่วงหลายปีมานี้จึงเหมือนบ้านที่ได้รับการปรับปรุง ทาสีใหม่ และทำให้ทุกอย่างดูมีชีวิตชีวามากขึ้น จนกระทั่งไวรัสโคโรนาเดินทางมาถึงบ้านของพวกเขาแบบไม่ทันตั้งตัว

แต่โรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวและในครั้งเดียว เพราะประวัติศาสตร์บอกกับเราว่าโรมผู้ยิ่งใหญ่นั้นเกิดใหม่ได้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิดในเวทีโลกในฐานะสาธารณรัฐ รุ่งโรจน์ในฐานะจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ (โคลอสเซียมและแพนทีออนสร้างขึ้นในยุคนี้) เริ่มใหม่อีกครั้งในฐานะเมืองหลวงของรัฐสันตะปาปา ผ่านความยุ่งยากในช่วงปลายยุคกลางแต่ก็กลับมารุ่งเรืองขึ้นไปอีกเมื่อแทนที่ฟลอเรนซ์ในการเป็นศูนย์กลางยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา จนถึงการขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อรวมประเทศอิตาลี ทั้งยังเป็นเมืองที่มุสโสลินีฝันว่าจะสร้างความเกรียงไกรแบบจักรวรรดิโรมันขึ้นใหม่ และแม้จะเป็นผู้แพ้สงครามก็ยังเป็นฉากหลังสำคัญให้กับความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมบันเทิงของโลก

โรมจะผ่านบททดสอบของกาลเวลาได้อีกครั้งหรือไม่ และเมืองแห่งนี้จะกลับมาทวงถามความเป็นนิรันดร์ตามสมญานาม The Eternal City ยังไง นั่นคือเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์


อ้างอิง

The-Colloseum.net

AUTHOR