Was fressen monster? นิทานเยอรมันที่พูดเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์กับเด็ก ผ่านการคาดเดาแบบปลายเปิดและคำตอบที่หักมุม

เพื่อนโทรมาเล่าว่ากำลังจะไปเยอรมัน เรารีบแจ้งความต้องการทันทีว่าฝากซื้อนิทานเยอรมัน ขอเท่าที่หิ้วสะดวก ถึงแม้จะไม่มีทักษะทางด้านภาษาเยอรมันแม้แต่น้อย แต่คิดว่านิทานที่นี่คงมีภาพและเนื้อเรื่องที่น่าสนใจมากพอจนจูงใจให้เราสามารถหาทางทำความเข้าใจต่อได้

โดยส่วนตัวฉันหลงรักวรรณกรรมเยอรมัน เริ่มจากประสบการณ์การอ่านหนังสือเรื่อง “โต๊ะก็คือโต๊ะ” ถือเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกๆ ที่อ่านจบเเล้วเต็มไปด้วยความรู้สึกมากมาย ทั้งประหลาดใจ ตื่นเต้น ตลกจนขำออกมา รู้สึกว้าวกับความเป็นไปไม่ได้และการหักมุมมากมายที่นักเขียนพยายามจะสื่อ เรียกว่าเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เราคาดเดาเหตุการณ์ต่อไปไม่ถูก ที่น่าสนใจคือบนหน้าปกเขียนระบุไว้ว่า “ วรรณกรรมสำหรับเด็ก” ตอนนั้นอ่านตอนอายุ 20 ยังรู้สึกว้าวและรับรู้ได้ว่าต่อมกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ทำงานเต็มกำลัง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นภาพว่าวัฒนธรรมการอ่านของเยอรมันแข็งแรงมาก จึงทำให้เชื่อสนิทใจไปว่านิทานที่นี่คงไม่ธรรมดาเช่นกัน

เสน่ห์ของนิทานในที่นี่คือการนำเสนอเนื้อเรื่องที่เหมือนจะดาร์กๆ แต่เเสนจะจริงใจในความเป็นมนุษย์มานำเสนอให้เด็กๆ รับสารได้ เพราะหลายๆ ครั้งที่ “นิทาน” ความดีงามออกมาจนล้นตลาด เมื่อเด็กๆ ถูกป้อนด้วยสื่อเเบบนี้เยอะๆ เด็กๆ จึงตั้งคำถามเเละสับสันกับตัวเองว่า ฉันโกรธมากฉันผิดไหม ฉันโมโหได้ไหม ฉันกรี๊ดได้ไหม ฉันเป็นเด็กไม่น่ารักหรือเปล่า หน้าที่ของพวกเราคงต้องช่วยให้เด็กๆ รับรู้ว่าในโลกกว้างใบนี้มีไม้บรรทัดได้หลายอัน เเละไม่มีอันไหนตรงที่สุดหรือเบี้ยวที่สุด เหมือนที่เยอรมันเลือกสอนประวัติศาสตร์เรื่องกำเเพงเบอร์ลินเเละความโหดร้ายในสงครามกับเด็กๆ โดยไม่บิดเบือน

เมื่อได้รับนิทานเยอรมันเป็นของขวัญเรื่อง “Was fressen monster?” โดย Constanze von Kitzing & Johannes  Büchs เริ่มจากหน้าปกที่ชวนให้ผู้อ่านสงสัยและสะดุดตากับเจ้ามอนสเตอร์ตัวใหญ่นั่งแลบลิ้นบนเก้าอี๋ตัวจิ๋ว ด้วยความที่ยังเดาชื่อเรื่องไม่ออก เดาว่าคงเกี่ยวกับมอนสเตอร์แน่ๆ เมื่อเปิดหน้ารองปกก็พอจะคลำทางได้ว่า ใช่แล้ว นิทานเหล่ามอนสเตอร์ เมื่อเปิดอ่านจนจบเล่มพบว่านิทานเล่มนี้เป็นนิทานภาพรูปแบบไม่มีตัวอักษร (Wordless Picture Books)

“Was fressen monster?” หรือ “เจ้ามอนสเตอร์กินอะไรนะ?” นิทานภาพจากเยอรมันที่มาชวนเด็กๆ สนุกกับการคาดเดาเหตุการณ์ในหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการคาดเดาเเบบปลายเปิด โดยให้เด็กๆ ลองตัดสินใจร่วมกับเจ้ามอนสเตอร์นับสิบตัวว่า “จะกินอะไรดีนะ” เมื่อเปิดหน้าถัดไปกลับพบคำตอบเเบบหักมุมในทุกๆ หน้าตลอดทั้งเล่ม

ตัวอย่างเช่น

เจ้ามอนสเตอร์ที่เดินอยู่ในสวน เขาตัดสินใจว่าจะกินอะไรดีนะ? ระหว่างต้นแอปเปิ้ล ต้นลูกแพร ต้นบลูเบอรี่……….เจ้ามอนสเตอร์ขอกินต้นไม้เข้าไปทั้งต้นเลยละกัน

เจ้ามอนสเตอร์ที่เดินเข้าไปในเมือง เขาตัดสินใจว่าจะกินอะไรดีนะ? มีทั้งร้านไอศกรีม ร้านพิซซ่า ร้านขนมปัง ร้านขายปลา ต้นลูกแพร ต้นบลูเบอรี่……….เจ้ามอนสเตอร์ตัดสินใจกินหลังคาร้านพิซซ่า

เบบี้มอนสเตอร์อารมณ์ไม่ดีที่ถูกคุณพ่อคุณแม่บังคับกินขนม เช่น ไอศกรีม เยลลี่ ชอคโกแลต เค้ก ลูกอม บนโต๊ะเต็มไปด้วยเมนูโปรดของเด็ก เขาตัดสินใจว่าจะกินอะไรดีนะ?……….เจ้ามอนสเตอร์น้อยแอบปีนบันได้เพื่อไปกินผลไม้ ซึ่งเป็นของต้องห้ามในเมืองนี้

เจ้ามอนสเตอร์ที่ตัวใหญ่ สีแดงสด ฟันแหลมน่ากลัว เดินเล่นในสวนที่มีแกะ เขาตัดสินใจว่าจะกินอะไรดีนะ?……….จากรูปลักษณ์น่ากลัวภายนอก เด็กๆ มักเดาว่าเขาจะกินแกะ พี่ๆ ที่โตขึ้นมาหน่อยประมาณ 5 -7 ขวบจะเริ่มเดาทางได้แล้วว่าเขาต้องไม่กินธรรมดา บางคนบอกกินรั้ว บางคนบอกกินหญ้า เมื่อเปิดมาพบว่าเจ้ามอนสเตอร์ตัวนี้กระโดดเข้ามาในรั้วของครอบครัวแกะเพื่อกินดอกหญ้าเล็กจิ๋วสีชมพู

เจ้ามอนสเตอร์ตัวสุดท้ายของเล่ม กำลังตัดสินใจว่าจะกินอะไรในตู้เย็นดี ซึ่งมีของกินอยู่เต็มตู้เย็น……….เมื่อเปิดมาอีกหน้าพบว่าตู้เย็นและของกินทั้งหมดยังคงอยู่ตามเดิม กลายเป็นว่ามอนสเตอร์ตัวใหญ่หายไป เมื่อดูดีๆ พบว่ามีเพราะมอนสเตอร์ถังขยะกินเจ้ามอนสเตอร์ยักษ์เข้าไป

ความสนุกจึงไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ หน้ารองปกหลังจบด้วยการรวมตัวของเหล่ามอนสเตอร์กำลังอ้าปากอย่างอารมณ์ดีและทำท่าเรอออกมาพร้อมกันจากการกินอิ่มที่ผ่านมา

เมื่อเล่าไป 2-3 หน้า เด็กๆ เริ่มจับหัวใจหลักของหนังสือภาพเล่มนี้ได้ว่า ลูกเล่นที่ซ่อนอยู่คืออะไร จนท้ายที่สุดเด็กๆ กล้าตอบคำตอบที่ไร้กรอบมากขึ้น คำตอบที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกความจริง เเต่มีความเป็นไปได้เสมอในโลกของนิทาน สำหรับเราหนังสือนิทานเล่มนี้กำลังพูดเรื่อง การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) กับเด็กโดยตรง ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่เจ้ามอนสเตอร์เผชิญ เน้นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กๆ ทุกคนเคยมีประสบการณ์ร่วม เช่น การกินขนม การเเปรงฟัน การเป่า bubble การถูกคุณพ่อคุณแม่บังคับกินอาหารที่ตนไม่ชอบ เป็นต้น เเต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในนิทานกลับห่างไกลความเป็นจริงยาวไปถึงโลกจินตนาการเเบบไร้ขอบเขต

สื่อที่ดีมีความสำคัญ เเต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติของครู

หากครูชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ เมื่อเด็กคิดต่างหรือเสนอความคิดเห็นไม่ตรงกลับคำตอบในใจครู กลับกลายเป็นความผิด หรือถูกตีตราว่าแปลกเเยก เด็กจะปิดประตูความไว้ใจทันที หลังจากนั้นถึงเเม้เราจะพูดดังเเค่ไหนเขาก็จะไม้ได้ยินเราชัดเท่าเดิม

หลายครั้งที่ครูตั้งใจสอนเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ให้ความสำคัญ สาระสำคัญของทฤษฎีคงไม่ใช่เเค่การจำว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร เเต่คือการทำให้เด็กมีประสบการณ์ตรงในการคิดเชิงวิพากษ์ด้วยตัวเขาเอง จนเกิดความเข้าใจ เราในฐานะครูจึงเป็นเพียงกระบวนการที่จัดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้อยู่ในห้องเรียนที่มีสิ่งเเวดล้อมที่ดี มีพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัย เอื้อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเเสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เกิดการรับฟังอย่างเป็นมิตร จนสามารถยอมรับความแตกต่างของกันและกันให้ได้มากที่สุด 

เหมือนเหล่ามอนสเตอร์ทุกตัวในนิทานที่หลงใหลและสนุกกับการกิน แต่ไม่มีใครมีเมนูโปรดเหมือนกันเลยสักตัว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย