“เมื่อถึงจุดหนึ่ง แพสชั่นจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตคุณ” วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

Highlights

  • หลังจากเดินทางมา 2 ซีซั่นแล้ว วรรณสิงห์บอกกับเราว่าเขาอยากหยุดพักบ้าง ถึงแม้ เถื่อน Travel จะเป็นรายการที่ทำให้เขาได้ตามฝันแต่สุดท้ายแล้วพอถึงวันหนึ่ง เขาก็เรียกร้องหาสมดุลชีวิต
  • สำหรับวรรณสิงห์ สมดุลชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ การอยู่เฉยๆ เพื่อตกผลึกและนั่งคุยกับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • ในมุมมองของวรรณสิงห์ สิ่งสำคัญของการปล่อยวางคือการได้ทำตามแพสชั่นแล้ว เพราะการอยู่กับความรู้สึกค้างคานั้นไม่เป็นผลดีในอนาคต ซึ่งสำหรับเขา ความรู้สึกค้างคาเหล่านั้นแทบไม่มีอยู่เลยในปัจจุบัน
  • สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ว่าเราควรไปต่อด้วยแพสชั่นทางไหน และเมื่อไหร่ที่ควรจะหยุดพัก ถ้าทำได้ เราจะเจอสมดุลชีวิต เคล็ดลับคือถ้าเงื่อนไขในการมีความสุขเราน้อยลง เราก็จะยิ่งมีความสุขได้ง่ายขึ้น

เรานัดคุยกับวรรณสิงห์ ในช่วงเวลาที่เขาเพิ่งประกาศลงเพจส่วนตัวว่า เถื่อน Travel ซีซั่น 2 ถ่ายทำเสร็จครบทุกตอนแล้ว

ถ้านับจาก ep ที่กำลังฉายในปัจจุบันนี้ เถื่อน Travel ซีซั่น 2 ดำเนินมาจนถึงครึ่งทางแล้ว เมื่อนับรวมกับซีซั่นแรก วรรณสิงห์พาตัวเองไปในสถานที่ ‘เถื่อน’ ของโลกมาแล้วหลายสิบประเทศ เฉียดตายมาไม่รู้กี่ครั้ง และบอกเล่าเรื่องราวให้เราร้องว้าวมาไม่รู้กี่หน (แถมถ่ายทำด้วยตัวคนเดียวอีกต่างหาก)

ฟังดูเหมือนประสบการณ์เหล่านั้นเป็นอาหารที่รสชาติหอมหวาน แต่เขาเองนั่นแหละที่บอกกับเราว่าต่อให้อร่อยขนาดไหน กินอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ มันก็เบื่อ

ณ วันนี้เขาบอกว่าอยากให้ตัวเองอยู่เฉยๆ อย่างมีความสุขบ้าง

ที่สำคัญคือสิงห์สารภาพว่าคิดถึง bean bag และ ‘อุนจิ’ กับ ‘เรอิ’ สุนัขพันธ์ไซบีเรียนฮัสกี้ทั้งสองตัวของเขาใจจะขาด

ในวันที่วรรณสิงห์เรียกร้องหาสมดุลชีวิต คงเป็นการดีถ้าเราจะบอกเล่าที่มาที่ไปและความคิดของเขาช่วงนี้ ประโยคเกี่ยวกับความพอดีกำลังถูกเล่าออกมาจากปากชายคนหนึ่งผู้ทำอะไรสุดทางเพื่อแพสชั่นของตัวเองมาตลอด

ไม่ต้องจัดกระเป๋า ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้า แค่นั่งลงและตั้งใจฟัง

สิงห์กำลังพาเราออกเดินทางกลับไปข้างใน

 

เถื่อน Travel ทั้งสองซีซั่นจบแล้ว ดูเป็นการเดินทางที่ยาวนานมากเลยนะ

ถ้านับจากตอนที่เริ่มถ่ายซีซั่นแรกที่ประเทศนามิเบียจนถึงทริปสุดท้ายในซีซั่น 2 ที่ประเทศเกาหลีใต้ก็ประมาณ 2 ปีครึ่งครับ เดินทางแทบทุกเดือน ทริปหนึ่งก็ประมาณ 15-20 วัน (ถอนหายใจ) มองบนไม่รู้กี่ครั้งแล้วด้วยนะเพราะความเหนื่อยล้า (หัวเราะ) แต่พอเสร็จแล้วดีใจมาก รู้สึกว่ากัดฟันสู้มาจนไหว ยังไม่ตาย

คุณเคยบอกว่าการเดินทางมันได้เติมเต็มตัวเอง ถ้าให้เทียบซีซั่นแรกกับซีซั่นที่ 2 ของ เถื่อน Travel มันมีความต่างไหมในแง่การเติมเต็มจิตใจ

การออกเดินทางมันทำให้ได้เรียนรู้มากมาย ทุกครั้งจะมีเรื่องที่แบบ ‘อ๋อ โลกมันเป็นแบบนี้เองเหรอ’ อยู่เสมอ ตั้งแต่การไปโซมาเลียเพื่อคุยกับคนที่อยู่ในประเทศที่ไม่มีรัฐบาล จนถึงคุยกับคนเกาหลีเหนือที่อพยพเข้าไปในเกาหลีใต้ ทุกทริปเรายังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ช่วงหลังๆ มา สิ่งที่ไม่สมดุลคือการพักผ่อนและความเหนื่อยล้าของร่างกาย ไอ้ความใจพองที่ได้เห็นโลกยังมีอยู่เสมอ แต่ให้ตายเถอะ คนเราออกเดินทางแบกเป้ทุกเดือนมันก็เหนื่อยเป็นธรรมดา ชีวิตมันขาดสมดุล เราก็แค่ยอมรับกับตัวเองและรู้ตัวว่าเป็นเช่นนั้น

ความคิดเรื่องความสมดุลเกิดขึ้นมานานหรือยัง

ความเปลี่ยนแปลงของเราชัดเจนนะ ก่อนหน้านี้ 2-3 ปีเราพูดเรื่องแพสชั่น การออกไปข้างนอก และการทำตามความฝันมาตลอด เพราะมันคือสิ่งที่เผาผลาญอยู่ในใจตลอดเวลา เราก็เชื่อว่านั่นคือความสุขของชีวิต แต่พอตอนนี้ในวัย 34 ปี มันก็มาไกลแล้วเหมือนกัน ทำงานมาสิบกว่าปีทำให้เราเห็นว่าชีวิตไม่ได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยแพสชั่นอย่างเดียว มันยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ แต่สิ่งที่เราค้นพบคือไม่จำเป็นต้องออกไปเติมข้างนอกเสมอไป

การนั่งอยู่นิ่งๆ ให้ข้อมูลที่ได้รับมาทั้งหมดตกผลึกกับตัวเราเองก็เป็นช่วงสำคัญในการเรียนรู้เหมือนกัน

พ่อ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) กับเรานั่งคุยเรื่องนี้กันตลอดนะ อย่างคราวนี้พ่อก็ถามว่าเสร็จซีซั่นแล้วจะเอาไงต่อ พอเราบอกว่าพักครับพ่อ พ่อบอกดีมาก (หัวเราะ) พ่อเขาเข้าใจจังหวะชีวิตแบบนี้ เขาผ่านมาก่อน เขาเคยสู้กับรัฐบาลไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี พอถึงจุดหนึ่งเขาก็รู้สึกอย่างนั่งจิบชาเฉยๆ ไม่ยุ่งกับโลกภายนอก มันเหมือนปีนขึ้นภูเขาน่ะครับ พอถึงยอดแล้วก็ต้องลงอยู่ดี

อายุมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมดุลนี้ไหม

(นิ่งคิด) เราคิดถึงหนังสือเรื่อง สิทธารถะ ของแฮร์มานน์ เฮสเส หลายคนบอกว่าถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ในแต่ละช่วงวัยก็จะได้อะไรที่ไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง เราอ่าน สิทธารถะ ครั้งแรกตอนอายุ 18 จนถึงตอนนี้ก็อ่านมา 3-4 รอบแล้วก็ยังรู้สึกว่าทุกครั้งที่เราอ่าน เรามองเห็นตัวเองแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ดังนั้นเมื่ออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของการเติบโตของคนน่ะครับ อย่างน้อยเรารู้สึกว่าก็เป็นเรื่องดีที่การเติบโตและแก่ไปของเราช่วยให้คนอื่นได้เรียนรู้ เราเอาความคิดอ่านมาสะท้อนให้สังคม หน้าที่ของศิลปินและนักเขียนคงเป็นแบบนั้น

หลายอย่างที่เราพูดไว้เมื่อ 5-6 ปีก่อน เรากลับไปอ่านแล้วยังคิดเลยว่ามึงพูดอะไรของมึงวะ (หัวเราะ) แต่เราไม่ปฏิเสธสิ่งที่เคยพูดมาก่อนหน้านี้นะครับ กลับกันเสียอีก เราคิดว่าถ้ายังพูดเหมือนเดิมเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วนี่สิน่าประหลาดใจ หรือถ้ามีคนมาบอกว่าอ้าว ไหนแต่ก่อนพูดแบบนี้ไง เราจะตอบว่าก็เมื่อก่อนเราเป็นคนแบบนั้นนี่ครับ ตอนนี้ไม่ได้เป็น เราไม่ต้องรับผิดชอบต่อเพราะมันไม่ใช่คำสัญญา มันเป็นแค่ตะกอนความคิดในช่วงนั้น สิ่งที่ควรทำคือซื่อสัตย์และยอมรับ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยพูดไว้ นั่นแปลว่าสิ่งที่เราเคยพูดไว้ในวันนี้ เดี๋ยวปีหน้าก็อาจจะไม่ได้รู้สึกแบบเดิมแล้ว เราก็แค่พูดเรื่องอื่นไปตามธรรมชาติและยอมรับให้ได้ว่าเราในวันพรุ่งนี้ก็ไม่ใช่คนเดิม

ดังนั้นมันจะมีจังหวะหนึ่งที่แพสชั่นจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตคุณ แต่ข้อแม้คือคุณต้องได้ลองทำตามแพสชั่นมาก่อนแล้วเพราะไม่งั้นมันจะค้างอยู่ในใจ เราคิดว่าความรู้สึกค้างอยู่ในใจเป็นสิ่งที่ไม่ควรพกไปด้วยยามแก่เฒ่าน่ะครับ อย่างชีวิตตอนนี้เราสำรวจตัวเองแล้วพบว่าความรู้สึกค้างคามันไม่ค่อยเหลือในใจเราแล้ว

ภาวะแบบนี้ทำให้เราไม่ได้ซีเรียสกับคำว่า ‘เป้าหมาย’ เท่าเดิมแล้วหรือเปล่า

เราพบว่าทุกครั้งที่ทำอะไรสำเร็จ เราจะตั้งคำถามต่อไปทันทีว่า what’s next? เอาไงต่อดี ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีความสุขกับเป้าหมาย แต่แปลว่าเรามีความสุขกับระหว่างทางไปแล้ว ได้เรียนรู้หลายครั้งมากๆ ว่าพอถึงจุดที่สำเร็จแล้วเราไม่ได้ลุกขึ้นมาร้องไห้ดีใจ มีเพลงบรรเลงเหมือนในหนังว่านี่คือจุดสูงสุดในชีวิต ชีวิตต้องดำเนินต่อ ดังนั้นเราไม่ได้วิ่งตามเป้าหมายอีกแล้ว เพราะถ้ายังวิ่งต่อ เราก็รู้สึกว่าจะโตขึ้นมาโดยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วเลยวางแพสชั่นและความฝันไว้ในมือนึง แต่อีกมือนึงคือความสงบ ความนิ่ง เพื่อการตกผลึกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เลยวัยหนุ่มไปแล้วอย่างแท้จริง

ช่วงก่อนไปนามิเบีย คุณเพิ่งเริ่มตั้งบริษัทและไม่ได้ออกเดินทาง ตอนนั้นคุณเขียนในหนังสือว่าตัวเองไม่มีความสุขในชีวิต แล้วช่วงพักอย่างตอนนี้มันต่างกับตอนนั้นยังไง

ก่อนจะเกิดรายการ เถื่อน Travel เราตั้งบริษัทกับเพื่อนสองคน ในมุมมองของเราเอง บริษัทนี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองแพสชั่นของเราคือการทำสารคดีแบบที่เราทำอยู่ตอนนี้นี่แหละ แต่ตอนนั้นเราเชื่อว่าเราทำคนเดียวไม่ได้หรอก เราต้องการคนช่วยเหลือ ปรากฏว่าเราไม่ได้รับสิ่งที่เข้ามาตามหาและต้องรับงานคอมเมอร์เชียลหลายๆ งานที่ไม่ตรงกับแพสชั่นเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน เราไม่ได้โทษคนรอบตัวนะครับ เราเข้าใจดีว่าทุกคนต้องกินต้องใช้ แต่กลายเป็นว่าพอทำไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเรากลับเริ่มทุกข์

เรารู้สึกไม่มีความสุข ตื่นมาไม่มีแรง ไม่มีพลัง มีปัญหาทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์  เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้วไอ้สิงห์ จะปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วคือตอนไหน

เราตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีแรงเลย แต่งานก็ยังเข้ามาเรื่อยๆ ทีนี้มันมีวันนึงที่มีคนเชิญเราไปพูดเรื่องแพสชั่น แรงบันดาลใจ และความฝัน ทั้งๆ ที่สภาพเราเป็นแบบนั้น เราไม่อยากไปเลยแต่รับงานไปแล้ว ตอนนั้นจ๋อยมาก แต่พอไปถึงแล้วน้องๆ ที่นั่นเขาทำบอร์ดไว้ เอารูปผลงานของเรามาแล้วเขียนเมสเสจใส่โพสต์-อิทแปะให้พี่สิงห์ ทุกคนอินและอยากรู้เรื่องของเรามาก ทั้งหมดนั้นทำให้เรามองคนบนบอร์ดแล้วรู้สึกว่า ไอ้นี่เป็นใครวะ แล้วฉันเป็นใคร ทำไมไอ้นี่มันดูดีแต่เราเหี่ยวเฉาและไร้พลังมากขนาดนี้

เรายังจำความรู้สึกนั้นได้ว่าเราอยากกลับไปเป็นคนนั้นอีกครั้ง มันมีทั้งแรงขับภายในและภายนอกที่ช่วยให้เราถีบตัวเองออกมา เรากลับมาทบทวนชีวิตแล้วพบว่าการเดินทางคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่สุดในชีวิต เราเลยตัดสินใจไปนามิเบียและแอฟริกาใต้ ตอนนั้นไม่คิดหรอกว่าไปแล้วจะได้อะไร แต่ขอแค่อย่างน้อยหายเศร้า หายซึมสักทีเถอะ สุดท้ายแล้วขอบคุณตัวเองมากๆ เพราะภายใน 3 วันที่ไปอยู่กลางทะเลทรายที่นามิเบีย ความรู้สึกเศร้ามันหายไปทั้งหมดเลย

คุณเคยบอกว่าเวลาเดินทางเราจะได้เดินทางเข้าไปข้างในตัวเรา แล้ว 3 วันนั้นการเดินทางภายในของสิงห์ทำให้เจออะไรบ้าง

เราไม่ได้รู้ชัดหรือเข้าใจว่าความเศร้าตรงนั้นมันเกิดขึ้นจากอะไรนะ แต่พอเราปลดแอกทุกอย่างแล้วตัดสินใจเดินทาง เราได้ไปอยู่คนเดียว ไม่ต้องคิดว่าฉันเป็นใคร คาดหวังอะไร ไม่มีสเตตัสอะไรทั้งนั้น มันโล่งอย่างบอกไม่ถูก ถ้าใครได้ดู เถื่อน Travel ตอนนั้นจะเห็นว่า มีอยู่วันหนึ่งที่เราไปติดหล่มอยู่กลางทะเลทรายคนเดียว (นิ่งคิด) วันนั้นเป็นวันที่สนุกที่สุดในชีวิตวันหนึ่งเลย นั่งยิ้มอยู่คนเดียว บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่มันอิ่ม วินาทีนั้นเราจะจดจำมันไปทั้งชีวิตแน่ๆ

แต่นั่นแหละครับ หลังจากวันนั้นก็อย่างที่ทุกคนรู้กัน รายการ เถื่อน Travel เกิดขึ้นและดำเนินมา 2 ปีครึ่งแล้ว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่เหนืออื่นใดคือเราไม่มีอะไรเสียใจทีหลังที่เราได้ทำไป เถื่อน Travel ทำให้เราได้ทำมาหลายฝันแล้วครับ เต็มที่มาหลายอย่าง หรืออย่างตอนเด็กเราอยากเป็นที่ยอมรับ แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแล้วเหมือนกัน ดังนั้นพักบ้างคงไม่เห็นเป็นไร เพราะถ้าเทียบกับช่วงก่อนไปนามิเบีย ความต่างคือเราได้ทำตามฝันมาตลอด  ดังนั้นตอนนี้เราแค่นั่งคิดและเข้าใจบางอย่างมากขึ้น เราเชื่อว่าสิ่งนั้นมันรออยู่ในการอยู่เฉยๆ และมีความคิดอยู่กับตัวเอง

ฟังดูแล้วทั้งสองช่วงเหมือนเป็นปัญหาปกติที่หลายคนเจอเหมือนกันนะ คือการขาดแพสชั่นและการเอาไงต่อหลังจากทำตามแพสชั่นแล้ว

เราอาจจะโชคดีที่เรารู้ว่าเรารักอะไร แต่ทุกคนก็มีกำแพงที่ต้องก้าวข้ามด้วยกันทั้งนั้น ยาก-ง่ายต่างกันไป มันเป็นการต่อสู้เฉพาะตัวของแต่ละคน ถ้าคุณได้ทำสิ่งที่อยาก เราก็ยินดีด้วย แล้วถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าถ้าคุณได้ทำมันเยอะๆ ก็คงจะคิดเหมือนเราคือรู้จักที่จะหยุดพักบ้าง ถามนักดนตรีทุกคนก็คงรู้สึกเหมือนกันว่าอยากจะหยุดทัวร์บ้าง อยากจะอยู่บ้าน มันเป็นวงจรธรรมชาติ

ถามว่าวันนี้ยังอยากทำ เถื่อน Travel อยู่ไหม อยากนะครับ แต่เราแค่อยากเว้นช่วงให้ชีวิต เราไม่ต้องรีบกับตัวเองอีกแล้ว ไม่ได้กำหนด อย่างตอนช่วงอายุ 20 เราคิดนะว่าพอ 30 เราต้องได้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอ 30 แล้วก็เออ ช่างเถอะ เคยคิดว่าก่อนตายอยากออกเดินทางไปให้ได้สัก 100 ประเทศ ตอนนี้ได้ 70 แล้ว เหลืออีก 30 ก็ค่อยๆ เก็บไป ปีละ 4-5 ประเทศเดี๋ยวก็ครบ

คุณดูรู้ตัวเองเสมอว่าตอนไหนควรไปต่อ ตอนไหนควรหยุด

เราเข้าใจว่าการหลงทางเป็นเรื่องที่ยากมากๆ และเป็นกันเยอะในช่วงนี้ เราเองไม่เคยมีปัญหานี้เพราะพ่อแม่ให้อิสรภาพในการเลือกกับเรามาตลอด ดังนั้นเราก็ไม่รู้จะแนะนำยังไงเหมือนกัน แต่ก็อีกนั่นแหละ คนเราเติบโตมาด้วยเงื่อนไขต่างกัน การวิ่งตามความฝัน ทำตามแพสชั่น หรือการหยุดคิดทบทวน ก็อาจไม่ใช่เส้นทางสำหรับทุกคนและไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นทางสำหรับทุกคนด้วย

ประโยคหนึ่งจากหนังสือ เถื่อนแปด ในทริปนามิเบีย คุณเขียนว่า ‘นี่แหละคือที่ที่กูควรอยู่’ สุดท้ายถ้าให้อธิบายสิ่งนี้แต่ตอนนี้ วรรณสิงห์จะให้ความหมายคำว่า ‘ที่ที่กูควรอยู่’ ของตัวเองว่ายังไง

(นิ่งคิดนาน) มันคือสถานที่ที่เรามีความรู้สึกว่าไม่ต้องการพาตัวเองออกไปจากตรงนั้น สำหรับเรามันคือ on the road ที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา การได้เข้าใจโลกที่ใหญ่กว่าตัวเรา ที่สำคัญคือการได้ละลายอัตตาว่าฉันเป็นใครเพราะรอบตัวเรามันใหญ่กว่านั้นมาก ดังนั้นฉันเลิกสนใจตัวเองดีกว่า ตรงนั้นอาจจะเป็น ‘ที่ที่กูควรอยู่’ สำหรับเรา มันไม่ได้สุขปลื้มปริ่มจนหัวใจพองโต แต่มันเป็นความสงบที่ไม่ต้องค้นหาอะไรเพิ่ม ยิ่งเงื่อนไขน้อยลง ‘ที่ของกู’ สำหรับเราก็จะง่ายขึ้น แต่ก่อน ‘ที่ของกู’ ของเรามันต้องเอาอะไรจากข้างนอกเยอะมาก มันต้องซื้อตั๋วเครื่องบิน ต้องเดินทางไปอยู่ที่แปลกๆ คุยกับคนที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่ตอนนี้เราอยากลดมันลงมาบ้าง เราอยากหา ‘ที่ของกู’ จากการนั่งอยู่บ้านอย่างสงบซึ่งอาจจะยังทำไม่ได้ในเร็ววันนี้หรอก แต่ถ้าทำได้ก็น่าจะดีนะ เพราะถ้าเงื่อนไขเราน้อยลง เราจะยิ่งมีความสุขง่ายขึ้น

 

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]