จักรวาลความรู้และชีวิตหลังเกษียณของ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’

เอ่ยชื่อ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในวงสนทนา คุณจะได้ปฏิกิริยาสองอย่าง

หนึ่ง ใคร ไม่รู้จัก

สอง ยิ้ม หัวเราะ พูดถึงด้วยความชื่นชม ทั้งในแง่บทบาทการเป็นอาจารย์ กล้าสอนในสิ่งที่หลายคนเลี่ยงจะพูดถึง และการวางตัวที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนทั้งรุ่นเดียวกันและต่างรุ่นได้ดี

ผมโชคดีที่ได้เรียนกับอาจารย์ธเนศ ผู้เปลี่ยนความคิดและสอนให้ศิษย์ตรวจสอบรากความเชื่อ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าโลกไม่ได้มีเพียงมิติเดียว ทุกคนต่างกัน และทุกสิ่งมีที่มาโดยไม่อาจพิจารณาแยกส่วน

จะมีอาจารย์สักกี่คนที่นอกจากสอนตามตำราแล้ว ยังลุกขึ้นมาทำหน้าที่เปิดโลกและเชื่อมทุกองค์ความรู้ให้ลูกศิษย์มองอย่างรอบด้าน

ในวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ครึ่งหนึ่งของชีวิตธเนศรับบทเป็นผู้ส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดความคิดให้คนหลายเจเนอเรชั่น เขาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษในรั้วมหาวิทยาลัยอื่นมาร่วม 33 ปี ที่ผ่านมา ธเนศมักชำแหละเรื่องราวที่สอนอย่างถึงลูกถึงคน หยิบเม็ดฝุ่นจนกระทั่งผืนจักรวาลมาเชื่อมแบบสหวิทยาการได้อย่างน่าสนใจ

ด้วยตัวตนและผลงานมากมาย อาทิ งานเขียนส่วนตัวที่ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง งานส่วนรวมอย่างการเป็นบรรณาธิการ รัฐศาสตร์สาร ที่ร่ำลือกันว่าต้นฉบับถูกส่งตีพิมพ์ก่อนกำหนดได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และการถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ อย่างจัดจ้านทำให้เขากลายเป็นนักวิชาการสายป๊อปที่มีคนแห่แหนไปฟังเสวนาจนล้นสถานที่จัดอยู่เสมอ

สิ่งที่เรากล่าวถึงข้างต้น ทำให้เพื่อนนักวิชาการหลายคนมองว่าเขาเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีสีสันที่สุดในแวดวงวิชาการไทยร่วมสมัย ปลายปี 2560 นี้เป็นวาระที่เขาเกษียณอายุราชการ นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิตธเนศ เราถือโอกาสของความเป็นศิษย์กลับมาเยี่ยมและพูดคุยกับอาจารย์อีกครั้ง

อาจารย์ที่ไม่ว่าเรียนจบมานานแค่ไหน เราก็จะไม่มีวันลืมการสอนที่ไม่เหมือนใครของเขา

รั้วบ้านอายุเกือบ 10 ปีของธเนศมีหลากสี ตั้งแต่แดง เหลือง เขียว ขาว และน้ำเงิน แตกต่างจากรั้วบ้านคนอื่นในย่านทองหล่อ ซอยแยกแจ่มจันทร์ที่มักเป็นสีเข้มทึม

เมื่อก้าวพ้นประตูไม่นาน ธเนศชี้ชวนให้เรานั่งลงที่โต๊ะอเนกประสงค์ในบ้าน ที่เขาใช้นั่งอ่านหนังสือก่อนหน้าที่เราเดินทางมาถึง

ธเนศต้อนรับเราด้วยกาแฟอินเดียหอมกรุ่นจากชายฝั่งมะละบาร์

วันนี้เขาสวมเสื้อยืดสบายๆ กับกางเกงขาสั้นง่ายๆ แบบที่คนมักใส่เวลาอยู่บ้าน ว่ากันตามตรงเราไม่เคยเห็นเขาในลุคนี้เท่าไหร่ ก่อนเริ่มบทสนทนาเขาเดินไปที่ชั้นหนังสือหยิบ ‘ศิลปะกับสภาวะสมัยใหม่ : ความขัดแย้งและความลักลั่น’ งานเขียนที่ตีพิมพ์ในปี 2552 ออกมาให้เรา 1 เล่ม ก่อนยื่นให้เรา เขาเขียนบางอย่างในหน้าแรกด้วยปากกาสีดำ

“ผมให้ เล่มนี้ไม่ได้พิมพ์ขาย” ธเนศว่า

ก่อนมาสัมภาษณ์ ผมเล่าว่าอยากถามถึงแผนการและชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ แต่เขาตอบตรงๆ ว่าไม่มีหรอก

“ผมไม่เคยวางแผนชีวิตเลย ไม่ได้คิด เกษียณคือเกษียณ การวางแผนเป็นคอนเซปต์ที่ไม่ค่อยมีในหัว ไม่รู้จะจัดระเบียบชีวิตมากมายไปทำไม เพราะผมไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่ต้องวางแผนทุกขั้นตอนชีวิต อย่างน้อยที่สุด ก็อยู่ในระบบราชการเป็นข้าราชการบำนาญไปเรื่อยๆ หรือจนกว่าเขาจะเปลี่ยนระบบ”

“แล้วผมไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ชีวิตไม่มีความแน่นอน วิธีคิดแบบนี้ไม่ค่อยดีสำหรับคนรุ่นใหม่ ถ้าจะคิด ผมจะคิดเฉพาะหน้าประมาณ 3 – 4 เดือน แต่ไม่คิดเป็นปี ไม่ได้มียุทธศาสตร์ 20 ปี โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก อาจเรียกว่าเป็นการตำข้าวสารกรอกเฉพาะหม้อ ไม่มีการวางแผนระยะสั้นหรือยาว”

“แนวคิด strategy สำหรับคนธรรมดาๆ ไม่นับชนชั้นนำชนชั้นนักรบ มาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ที่บอกให้คุณต้องตั้งเป้าหมายไว้ มีโกล์ระยะยาว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าคุณเติบโตขึ้นมาในสังคมเข้าป่าล่าสัตว์หรือสังคมเกษตรกรรมเมื่อพันปีที่แล้วที่จะวางแผนยาวขนาดนั้น คุณจะบอกว่าฉันอยากมีชีวิตที่ออกแบบได้ แต่จริงๆ มันไม่ได้มีทางเลือกง่ายๆ ขนาดนั้น การมีเป้าหมายคือการที่คุณเป็นคนเลือกได้ มีช้อยส์ โลกสมัยใหม่มีการตั้งเป้าหมายต่างๆ เดี๋ยวนี้คุณเลือกได้หมดแล้ว แม้กระทั่งคุณจะเอาลูกเพศอะไร คุณอยากสวยหล่อแบบไหน แค่ผ่าตัดคุณบอกแพทย์ได้เลย ทำให้คนรุ่นใหม่เติบโตมากับชุดความคิดแบบนี้”

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าธเนศทำหน้าที่สอนนักศึกษามาแล้วทั้งชีวิตแล้ว คำถามคือเขาวางจุดสิ้นสุดของการทำหน้าที่นี้ไว้เมื่อไหร่ เขาตอบว่าจะสอนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงสอนแล้ว หรืออาจจะตายถึงหยุดสอน

เป็นเรื่องสามัญ ภาพที่คนอื่นคิดกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงบ่อยครั้งแตกต่างกัน จากตอนแรกภาพที่คิดคือเขาคงใช้ชีวิตพักผ่อนอยู่ว่างๆ หลังทำงานหนักมาโดยตลอด แต่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ธเนศยังคงรับงานสอนเรื่อยๆ เพราะเขาคุ้นเคยว่ามันเป็นภารกิจหนึ่งของชีวิตประจำวัน การสอนจึงเป็นกิจวัตรที่ไม่อาจละเลย

นอกจากชื่อจริงที่คนเรียกเขาว่า ‘ธเนศ’ มีอีกหลายคนยังไม่รู้ว่าเขามีชื่อเล่นว่า ‘ตู่’

เขาเกิดปี 2500 พ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้ง และมีเสี้ยวเชื้อสายสิงคโปร์และอินโดนีเซียจากฝั่งแม่

บ้านอยู่ย่านเก่าแก่อย่างบางรัก สาทร ตั้งอยู่ในเขตยานนาวาเหมือนชื่อนามสกุลของเขาเอง

พ่อของธเนศเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แม่เป็นพนักงานร้านค้าในตลาดสำเพ็ง

ด้วยญาติทางฝ่ายพ่อก็เป็นนักอ่านจึงเติบโตกับหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ เพื่อนแม่ทำธุรกิจตีพิมพ์นิยาย สภาพแวดล้อมทำให้เติบโตมากับหนังสือสารพัดแบบ ธเนศสนิทกับพ่อมาก วัยเด็กเขาติดตามพ่อออกไปทุกที่ พ่อก็ทำให้รักการอ่าน การดูหนังในโรงภาพยนตร์ การท่องเที่ยว และการกินของอร่อย

ในทางสังคมศาสตร์เราเรียกสิ่งหล่อหลอมตัวตนเขาเหล่านี้ว่า ‘กระบวนการขัดเกลาทางสังคม’ (socialization) ทำให้เขาเป็นธเนศที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้

“ผมเติบโตมากับวัฒนธรรมรูปแบบนี้ ถ้าให้ผมตอบเรื่องพฤติกรรมต่างๆ ของตัวเอง มันเป็นกระบวนการหาความสมเหตุสมผลให้พฤติกรรมส่วนตัว อย่างเรื่องการกิน บางคนไม่ได้ทุ่มเทเวลาหรือใช้เงินทองกับอาหารมากขนาดนั้น แต่ผมเติบโตมากับวัฒนธรรมที่บ้านเน้นเรื่องการกินมากจนเป็นความเคยชินมาโดยตลอด”

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมทริปที่ธเนศรับหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยวใน ‘อิ่มท้อง พร้อมคุย’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในย่านบางลำพู หลังจากที่มีลูกศิษย์สนใจเดินตระเวนคุยเรื่องเชิงสังคมที่เล่าผ่านอาหารและสถานที่ ในทริปครั้งแรกที่เยาวราช

สาเหตุที่ธเนศเลือกพาทุกคนออกเดินในย่านบางลำพูเพราะเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่เขาผูกพัน ธเนศเคยอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ แถบนี้เพราะสะดวกต่อการเดินทางไปสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นเวลากว่า 10 ปี แถมสุดท้ายยังมาเป็นลูกเขยของพ่อตาแม่ยายที่อาศัยอยู่ในบางลำพูโดยที่ไม่รู้มาก่อนด้วย

ธเนศเป็นคนลุ่มหลงศิลปวัฒนธรรมแบบพ่อและมีระเบียบพิถีพิถันแบบแม่ เขาถูกเลี้ยงด้วยความมีเหตุและผล มีอิสระที่จะคิดและกระทำ เขาจึงเป็นคนจริงใจและโต้แย้งกับคนอื่นได้ด้วยเหตุผล

จนหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาเถรตรง กล้าวิจารณ์ และฝีปากจัดจ้าน แต่ทว่าใจดี

ธเนศเรียนในรั้วโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่อย่างอัสสัมชัญ บางรัก ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมระยะเวลารวม 12 ปี ตามรอยทางของญาติฝั่งผู้ชายและพ่อ ซึ่งก็ล้วนเรียนจบจากสถานศึกษาแห่งนี้

วัยเด็ก ถ้าพิจารณาจากผลการเรียนเขาเป็นคนไม่โดดเด่น แต่ที่แตกต่างจากนักเรียนทั่วไปคือเขามักมีปัญหากับครูบ่อยๆ เพราะธเนศคิดว่าหนทางหาคำตอบไม่ได้มีทางออกแค่ที่ครูเสนอให้ทำ ภาพที่เขาเถียงกับครูอย่างไม่ยี่หระ เป็นภาพที่เพื่อนๆ เขาคุ้นเคย จนในบางครั้งมีเพื่อนไม่ยอมรับและมองว่าธเนศก้าวร้าว ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้ใส่ใจสิ่งรอบข้างที่ไม่จำเป็นต่อตัวเองมากนัก

ด้วยเหตุที่ชีวิตธเนศรักความอิสระ แต่เขากลับเจอครูที่กำหนดกรอบให้นักเรียนมากมายอยู่หลายหน จึงทำให้ตัวเองตั้งปณิธานว่าอยากเป็นครู ที่สำคัญต้องเป็นครูที่ไม่ใช่ครูแบบเดิม ต้องมีเหตุผลและไม่ยึดกรอบอนุรักษ์นิยม

“ถ้าไปทางอนุรักษ์ตลอดเวลามันคือความชิบหายและความล่มจม เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แต่ก็แล้วแต่คุณมองอีกนั่นแหละ เพราะจุดยืนของคนถูกจัดระเบียบด้วยความคิดทางศีลธรรม ซึ่งแต่ละสังคมมีไม่เหมือนกัน ถ้าคนรุ่นผมยึดถือแนวทางนี้ คนอีกเจเนอเรชั่นอาจบอกว่ากูไม่ยึดอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมไม่รู้จะคาดหวังไปทำไม ถ้าคาดหวังว่าเขาต้องเข้าใจเรา คาดหวังเยอะก็ปวดหัวเยอะ เพราะคนเราไม่เหมือนกันและไม่มีวันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวังมากเลย”

 

ภาพที่คนทั่วไปคิดถึงธเนศสมัยมัธยมศึกษา น่าจะเป็นภาพที่เห็นเขาเป็นเด็กเรียนดี แต่นั่นคือการคาดเดาที่ผิด เพราะเขามีผลการเรียนธรรมดาแถมยังเป็นเด็กที่เบื่อการเรียนในห้อง เหตุนี้ทำให้ตอนจบชั้นมัธยมต้น เขาคิดและตัดสินใจเรียนต่อสายพาณิชย์ แต่เมื่อพ่ออยากให้เรียนสูงๆ ธเนศจึงตกลงใจสอบเข้าเรียนสายวิทย์ แล้วก็ย้ายมาเรียนศิลป์-คณิต ระดับชั้นมัธยมปลายในปีสุดท้าย

เมื่อใกล้จบชั้นมัธยมปลาย ธเนศตั้งใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงไม่สนใจการเตรียมตัวเอนทรานซ์ แต่ที่แปลกมากคือเขาตัดสินใจเลือกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 อันดับรวด ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ชอบดูหนัง ซึ่งแถบสยามมีแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับความชอบ สุดท้ายเขาสอบติดคณะรัฐศาสตร์ เอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยที่เขาบอกใครต่อใครว่าตัวเองฟลุ้ก

สุดท้ายเมื่อเข้าเรียนมหา’ลัย ธเนศก็ยังคงเป็นคนเดิมที่ไม่ได้นิยมการเรียน แต่แน่นอนว่าห้องสมุดมหา’ลัยคือสถานที่โปรดปรานที่สุดของเขา

ธเนศเล่าถึงความแปลกใหม่ในชีวิตมหา’ลัยให้เราฟังว่า “ตอนผมออกจากโรงเรียนชายล้วนอย่างอัสสัมฯ แล้วมาอยู่จุฬาฯ ผมได้เผชิญกับอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอ เพราะว่าผมอยู่โรงเรียนเดิมมาตลอด 12 ปี ไม่เคยได้ย้ายไปไหนเลยจนกลายเป็นความเคยชิน โลกในรั้วโรงเรียนเล็กมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยผมจึงเลือกใช้ชีวิตมากขึ้น”

ธเนศตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ University of Wisconsin-Madison เพราะสนใจในแนวคิดของมาร์กซิส แต่เมื่อเรียนรู้จริงแล้ว เขากลับพบว่าไม่ใช่หนทางที่ชอบเสียทีเดียว เขาพบปัญหาใหญ่และต้องต่อสู้เรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์ กว่าที่เขาจะเรียนจบต้องใช้เวลาเรียนปริญญาโทถึง 3 ปีครึ่ง เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษามาหลายคน ทั้งที่ตามเกณฑ์ ผู้เรียนต้องจบการศึกษาภายใน 2 ปี

“ผมมีปัญหาแบบนี้มาตลอด อยู่สหรัฐอเมริกาผมก็มีปัญหา อยู่อังกฤษผมก็มีปัญหา เหมือนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ควรจะอยู่ ทั้งเรื่องการงานหรือสิ่งที่ผมทำทั้งหลายๆ อย่าง ผมเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาเยอะมาก แต่ทั้งหมดผมคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดานะ ผมเลยเฉยๆ และผ่านมาได้เสมอ”

“แต่จะถามว่าตอนนั้นเครียดไหม ผมเครียดนะ เพราะตัวเองอายุแค่ 23 – 25 ปี ยังไม่เข้าใจโลกสักเท่าไหร่ แต่พอเจอเหตุการณ์พวกนี้มากเข้าก็เริ่มเคยชิน สุดท้ายเราต้องทำให้ชีวิตเราอยู่ต่อไปได้ อยู่ในรูปแบบที่เราเป็นและปรับตัวให้ได้ อยู่กับความล้มเหลวของชีวิตให้ได้ ไม่งั้นคุณก็มีสองทางเลือกคือว่า คุณต้องยอมรับเกณฑ์ของสถาบันให้ได้ อีกทางคือก็เปลี่ยนแปลงสถาบัน ซึ่งผมไม่คิดจะไปเปลี่ยนสถาบัน ผมพูดอยู่เสมอๆ ว่า ผมยังไม่สามารถเปลี่ยนตัวผมเองได้เลย มันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วจะให้ผมไปเปลี่ยนใคร”

หลังจากจบจาก Wisconsin เขากลับมาสมัครเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ แต่ไม่สำเร็จ ธเนศเบนเส้นทางมาสมัครเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์แทน แต่ก็ใช่ว่าเรื่องจะง่ายอย่างที่คิด เพราะมหาวิทยาลัยใช้เวลาพิจารณาก่อนอนุมัติถึง 6 เดือน และถูกโต้แย้งว่าปริญญาไม่ตรงกับคณะรัฐศาสตร์

จนสุดท้ายเขาเป็นอาจารย์ได้สำเร็จ ซึ่งวิชาที่เขาสอนคือ ‘ทฤษฎีและปรัชญาทางการเมือง’

เป็นอาจารย์ได้ 5 ปี ธเนศก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ University of Cambridge ประเทศอังกฤษ ใช้เวลาเรียน 5 ปี ปัญหาก็เป็นเรื่องเดิมๆ คือกรอบความคิดของการเป็นสาขาวิชาจำกัด แต่เขาพบว่าแนวคิดตัวเองไม่ได้จำกัดเฉพาะทางสังคมศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ซึ่งยิ่งทำให้เขารู้ว่าตัวเองเป็นนักคิดที่ไม่ได้จำกัดกรอบใด

“การที่ผมไปอยู่ต่างประเทศทำให้ผมเห็นตัวตนของตัวเองมากขึ้น ได้เห็นอีกมิติหนึ่งที่ผมไม่เคยเห็น สิ่งอื่นๆที่เห็นก็ตื่นตาดี เพราะเป็นอีกวิถีชีวิตที่เราไม่เคยอยู่ ผมเป็นคนชอบเดินทางเพราะเราจะได้ความคิดเห็นจากคนอื่นอีกหลายๆ คน เป็นเรื่องที่เราไม่เคยเห็นและไม่เคยฟังมาก่อนเลย แน่นอน มันทำให้ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

สุดท้ายวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาไม่ได้รับการพิจารณาให้สอบป้องกัน เพราะเหล่าอาจารย์เห็นว่าไม่ตรงสาขาวิชา มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและต้องการให้แก้ไขให้ตรงกับสาขา แต่ก่อนหน้าที่จะเรียนปริญญาเอก เขาเรียน M.Phil (Master of Philosophy) จึงได้วุฒิปริญญาโทกลับมาอีกใบ และได้เริ่มชีวิตนักวิชาการไทยเต็มรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ธเนศเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่อยู่ 9 ปี ก่อนมีน้องชายชื่อ ‘ธนา’ ลืมตามาดูโลก

ด้วยเหตุนี้ วัยเด็กเขาจึงเป็นคนที่ขาดเพื่อนเล่นรุ่นเดียวกัน เติบโตกับคนที่อายุมากกว่ามากๆ โลกของการอ่านหนังสือและการเล่นหมากรุกจึงเป็นการเติมเต็มชีวิต โดยเฉพาะโลกของการอ่านที่หล่อหลอมให้เขาเรียนรู้อย่างมีเสรี เขามักอ่านหนังสือในร้านหนังสือตามที่ต่างๆ อ่านตั้งแต่การ์ตูน นวนิยาย หนังสือโป๊ สารคดี และปรัชญา อ่านทุกอย่างยกเว้นหนังสือเรียน ที่สำคัญเขามักเข้าห้องสมุดเพื่อเปิดอ่านนิตยสารทุกเล่ม

เมื่อธเนศเติบโตมา เขาจึงติดนิสัยไปไหนต้องมีหนังสือติดตัวและฝึกตัวเองให้อ่านที่ไหนก็ได้ ถ้าให้คำนวณ ชีวิตนี้เขาคงหมดเงินกับหนังสือเป็นล้านบาท ด้วยความที่เป็นหนอนหนังสือตัวยงเขาจึงแนะนำหนังสือให้นักศึกษาอ่านได้เป็นอย่างดี และเมื่อโลกกระดาษกำลังเคลื่อนย้ายฐานไปยังโลกออนไลน์ ธเนศก็ไม่เคยขัดข้องกับการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

“ส่วนใหญ่ผมใช้อินเทอร์เน็ตเพราะผมใช้ฐานข้อมูลออนไลน์วารสารของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นประจำ และผมติดตามอ่านวารสารอยู่เสมอ แต่ยังไงก็ยังชอบอ่านฮาร์ดก๊อปปี้มากกว่า เพราะว่าผมอ่านในจอนานๆ ไม่ได้ มันเมื่อยตา”

“เมื่อก่อนผมอ่านค่อนข้างไว แต่เดี๋ยวนี้ 200 – 300 หน้าใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าจะอ่านจบ ผมไม่ได้มีพละกำลังเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นเดี๋ยวนี้ผมจะแคชอัพสิ่งต่างๆ ด้วยการอ่านวารสารวิชาการจำนวน 10 – 20 หน้าเป็นหลัก มันสั้นและเร็ว เพราะอายุเรามาก นั่งนานไม่ได้จะปวดหลัง สังขารไม่เอื้ออีกแล้ว”

ด้วยบทบาทนักวิชาการที่ผ่านการอ่านและการสังเคราะห์มามาก ทำให้เขามีงานเขียนทางสังคมศาสตร์หลากแนว บทความของเขานั้นมีลักษณะการอธิบายที่รื้อถอนโครงสร้างจากแบบแผนเดิมๆ เสนอให้คนอ่านเห็นอีกมุมหนึ่งที่หลายคนไม่เคยตั้งคำถาม ท้าทายความเชื่อกระแสหลัก สะท้อนแง่คิดครอบจักรวาล ดังนั้นการแบ่งแยกประเภทงานเขียนเป็นเรื่องยาก อาทิ นำอาหารมาเชื่อมโยงเรื่องชนชั้น หรือดนตรีเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคม

ถ้าให้นับสิ่งพิมพ์ทั้งชิ้นน้อยและใหญ่ทั้งหมดของธเนศ น่าจะมีถึงหลักร้อย อาทิ On Happiness : ว่าด้วยความสุข, ความไม่หลากหลาย ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม, เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ, เขียนหญิง : อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์, ม(า)นุษย์โรแมนติค, ความรัก ความรู้ ความตาย ฯลฯ ซึ่งผู้อ่านส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่างานเขียนทุกเล่มต้องใช้สมาธิในการอ่านสูงมาก แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะอธิบายทุกสิ่งอย่างละเอียดลออและหยิบทุกข้อมูลมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เห็นภาพรวมในวงกว้าง เขาบอกเหตุผลกับเราว่า

“ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเราไม่ได้อธิบายง่ายดายขนาดนั้น ชีวิตมันซับซ้อนมากๆ เชื่อมโยง ซับซ้อนจนบางทีที่พูดมาทั้งหมดเนี่ยหยาบมาก ผมอธิบายและสื่อสารได้ไม่หมด เหมือนพื้นผิวของโลกเราที่จริงๆ แล้ว ไม่ได้แบ่งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ แต่มันเชื่อมโยงกัน ดิน น้ำ ลม และอะไรต่างๆ เกี่ยวพันทั้งหมด แต่มันเป็นความคิดชุดหนึ่งที่เราถูกฝึกขึ้นมาว่าเราจะต้องคิดแบบแยกองค์ประกอบ เราจึงจับสิ่งต่างๆ พวกนี้หยุดอยู่กับที่และถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้การนิยามบนพื้นที่หนึ่ง”

“คุณลองไปเปิดรากศัพท์ของคำว่า define คุณจะเห็นว่าทุกอย่างถูกทำให้มีลิมิต ทำให้จบและตัดตอนให้ง่ายอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ต้องพูดให้อยู่ในวงนี้เท่านั้นเพื่อจัดระเบียบสิ่งต่างๆ สำหรับผมเป็นชุดวิธีคิดแบบหนึ่งในโลกตะวันตก ไม่ได้ผิดหรือไม่ดี เพราะสิ่งพวกนี้หลักใหญ่ๆ เราได้มาจากการขยายตัวของระบบอาณานิคมและจักวรรดินิยมที่ยุโรปขึ้นมามีอำนาจในระยะเวลา 500 ปีที่ผ่านมา”

 

สิ่งที่คนเรียนกับธเนศพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือเรื่องลีลาการสอนที่หวือหวาและจัดจ้าน จะเรียกว่าท่าเยอะก็ยังได้ แต่ในฐานะลูกศิษย์เรากลับชอบและอยากติดตามการสอนของเขาอยู่เรื่อยๆ

“การสอนหนังสือนักศึกษาสำหรับผมก็คือการเล่นจำอวดแบบหนึ่ง เล่นตลกหรือทำอะไรที่จะดึงดูดความสนใจของผู้เรียน มันต้องมีวิธีการ อะไรที่เป็นเรื่องติ๊งต๊องเราก็ต้องทำให้คนดูจะได้ไม่เบื่อกัน ผมว่ามันคือการแสดงแบบหนึ่ง พอคุณขึ้นมาทำหน้าที่คุณต้องแสดง ยกเว้นว่าคุณป่วยเป็นลมก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างเดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ต มียูทูบ ผมก็เปิดสิ่งที่น่าสนใจให้นักศึกษาดู”

ผมย้อนกลับมาถามบทบาทความเป็นครูในระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ธเนศเล่าว่า

“โอ้ย เรื่องบทบาทน่ะ ยังไงคุณก็ต้องเล่นไปตามเขา เป็นอาจารย์ผมต้องมีเกรดส่ง ผมทำไปตามเกม เหมือนคุณทำงานบริษัท ทำงานที่ไหนชีวิตจะเป็นแบบนั้นแหละ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหน้าที่ปกติ คุณจะเรียกว่าข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยก็ได้ ผมไม่ได้รู้สึกพิเศษ อาจต่างในแง่ความเป็นอาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนอาชีพหมอ ทนายความ หรือคนขับแท็กซี่ เราต้องทำอะไรบางอย่างที่ทุกคนเขาทำกันแบบที่คนในอาชีพนี้ควรทำ”

“ผมไม่รู้ว่ามันเรียกวินัยของอาชีพได้ไหม มันคือหนึ่งใน job description ที่เขาบอกให้คุณทำ คุณต้องทำเหมือนกับที่คุณมาสัมภาษณ์ผม เพราะคุณอยู่ a day ใช่ไหม นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องทำ เขาคาดหวังว่าคุณต้องทำได้ คุณลองบอกเจ้านายคุณว่า เฮ้ย ผมไม่ทำ ผมไม่สัมภาษณ์ เพราะผมไม่ชอบ (เสียงสูง) นึกออกไหมว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องเจอทั้งนั้น ฉะนั้นโดยธรรมชาติเรื่องพวกนี้คือชีวิตประจำวันที่กำหนดชีวิตพวกคุณจนกลายเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยคิดกับมันอีก คุณเลยตื่นเช้าขึ้นมาแปรงฟัน กินอาหารแล้วไปขี้ จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสามัญ”

เราพยักหน้ารับแต่ยังสงสัยอยู่ดีว่าเราต้องทำโดยที่ไม่ต้องตั้งคำถามจริงๆ เหรอ ธเนศตอบทันที

“ผมบอกคุณแล้วไงว่าเรื่องบางเรื่องน่ะคุณทำไป ไม่ต้องคิด คือปวดขี้ก็ไปขี้ หิวก็กิน คุณนึกออกไหม ผมไม่เคยคิดเรื่องอยากเป็นอาจารย์หรือไม่เป็น เมื่อเป็นแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามว่า To be, or not to be

“ถ้าคุณมีแฟน คุณจะถามไหมว่าคืนนี้เราจะเอากันไหม มีเหตุผลไหมที่เราจะต้องเอากันยังไง เอ้า มาตกลงกันสิ นึกออกไหม มันไม่ใช่ ผมถึงบอกไงมึงท้องเสียมึงไม่คิดแล้ว หลายๆ อย่างคุณไม่ต้องคิด จะไปหาเหตุผลทำไม ผมถึงบอกตลอดว่าถ้าคิดตลอดเวลา อย่าให้ลูกเรียนมาก เรียนแล้วเป็นแบบต้องมีหลักการในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดเวลา ไม่เอา การคิดเยอะๆ แบบนี้สังคมสมัยใหม่กำหนดทั้งนั้น ผมสอนสิ่งพวกนี้ ผมบอกว่า ไอ้ห่า กูไม่เคยเชื่อว่า To be, or not to be แค่ f*** it”

“นี่เป็นคำสาปที่คนในโลกสมัยใหม่ต้องเผชิญ ท้ายที่สุดเขาถึงบอกให้คุณเชื่อจากการประมวลผลความรู้ของตัวคุณเอง เพราะเราหลีกหนีความเชื่อที่มีการรองรับด้วยความสมเหตุสมผล มี justification ในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้ เช่น งานวิจัย คุณก็ต้องเอาสิ่งต่างๆ มายืนยัน บอกว่าเชื่อเพราะเขาว่ามาอย่างนี้ ฉะนั้นอีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกอีกเหตุผลที่ต่างกันออกไป เป็นสิ่งที่หักล้างกันไปตามการต่อสู้ทางความคิดก็เป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นมาเป็นพันๆ ปีแล้ว”

 

ดูเหมือนว่าเรื่องที่อาจารย์รุ่นเก่าต้องประสบไม่ต่างกัน คือในขณะที่อายุของตัวเองมากขึ้น แต่นักศึกษาเริ่มอายุน้อยลงเรื่อยๆ เราเรียกสิ่งนี้ว่าช่องว่างระหว่างวัย แตกต่างกันทั้งในเรื่องความคิด ทัศนคติ และค่านิยม ซึ่งสิ่งที่ธเนศต้องทำคือการยอมรับถึงข้อจำกัดและปรับตัวสุดความสามารถที่เขาจะทำได้

“คนแต่ละเจเนอเรชั่นไม่เหมือนกัน ความรู้ผมจำกัด ผมไม่สามารถลิงก์กับเด็กรุ่นใหม่ได้หลายๆ เรื่อง สมมติเขาเกิดฟังเคป๊อป เขาดูซีรีส์เกาหลี แต่ผมไม่เคยดู แล้วตัวอย่างพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะคุณต้องเอาเรื่องรอบข้างมาเชื่อมโยงเพราะเราสอนเรื่องสังคมศาสตร์ เราไม่ได้สอนสิ่งที่ตายตัว สำหรับผมทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องดึงมาพูดอย่างเชื่อมโยง แต่ตอนนี้ลำบากเพราะช่องว่างของวัยเยอะ ผมแก่ขึ้นทุกวันและโลกก็เปลี่ยนแปลงไป”

“ทุกคนเป็นผลิตผลของยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะมีเพดานในความคิดของเรา โดยที่ส่วนใหญ่เรามักจะไม่ออกไปจากเพดานความคิดนี้ เราทุกคนมีวิถีชีวิตต่อไป โดยมีสิ่งนี้ครอบเราเอาไว้ อาจจะจนกระทั่งเราตาย”

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ผมไม่เคยเติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นเลย ไม่อยู่ในหัวผมเลย ผมโตมากับการ์ตูนฝรั่งอย่าง Tintin เพราะโรงเรียนผมเขาแปลตินตินไว้ การ์ตูนพวกนี้อยู่ในนิตยสาร วีรธรรม นอกนั้นผมจะดูการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์อะไรต่างๆ ส่วนใหญ่ผมโตมากับ ลุงโดนัลด์ ดั๊กบ้าๆ บอๆ หรือจะเป็นป๊อปอาย เพราะฉะนั้นไม่มีการ์ตูนญี่ปุ่นในหัวเลย การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาไทยเมื่อผมเป็นวัยรุ่นแล้ว เดี๋ยวนี้การ์ตูนมันเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนี้มีหลากหลายแนวมาก”

“เดี๋ยวนี้ยิ่งแก่ยิ่งปรับตัวยาก สมมติผมสอนเรื่องอะไรสักเรื่อง แล้วเราแบ่งยุค ถ้าเป็นยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คนพวกนี้ไม่ได้เกิดในยุคพลเอกเปรมฯ แค่อธิบายก็เริ่มยุ่งแล้ว เหมือนรุ่นผม ช่วงที่ผมเกิดไม่กี่เดือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มารัฐประหารแล้ว เพราะฉะนั้นผมจะไม่มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ่อผมมีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากๆ แต่ผมเองไม่มี ความทรงจำต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะบอกว่าคืออะไร กำหนดว่าคุณเป็นใคร ความทรงจำทั้งหมดที่คุณสั่งสม เรื่องอะไรที่ผมไม่ได้เจอ ผมไม่ได้โตมากับมัน แต่พวกคุณเจอ คุณจะต้องมีช่องว่างแบบนี้ คนแต่ละคนสั่งสมความทรงจำมาไม่เหมือนกัน และสำหรับผมช่องว่างจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอายุของผมเพิ่มขึ้นทุกปี ตราบใดที่ผมยังไม่ตาย ชีวิตผมก็มีสิ่งใหม่ๆ คนใหม่ๆ พวกนี้เข้ามา คนรุ่นใหม่เขาก็มีสิ่งใหม่ของเขาเองด้วย”

ไม่ใช่แค่เรื่องนักศึกษาแต่เรื่องของลูกชายวัยเด็กทั้ง 2 คนก็ดูจะเป็นเรื่องที่เขาต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต เพราะช่วงวัยที่ห่างกันมาก

“ผมมีลูกตอนแก่ ผมจะได้ยินคำแนะนำจากเขาแล้วเรื่องไอพอด คอมพิวเตอร์ ผมก็ทำไม่ได้ พยายามจัดการเท่าไหร่ก็ไม่ได้ วันหนึ่งนั่งรถกลับจากหัวหินมากรุงเทพฯ ลูกผมคนโตเอาไปจิ้มๆ เดี๋ยวเดียวจัดการได้เลย อย่างน้อยๆ นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องเผชิญ ผมต้องคุยกับคนเจเนอเรชั่นคุณตลอดเวลา และต้องเจออายุต่ำกว่านี้ไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยที่สุดผมก็จะได้รู้ว่าคนรุ่นพวกคุณหลังจากนี้ลงไปคิดและทำอะไร เพราะไม่เกินสิบปีนี้ลูกผมเป็นวัยรุ่น ถ้าตอนนั้นผมอายุ 70 ปี ผมต้องมาแคชอัพสิ่งนี้ตลอดเวลา แต่ผมไม่ทันไม่ได้ ไม่งั้นผมจะไม่เข้าใจ คนเราอยู่กันด้วยความเข้าใจ ผมต้องพยายามทำความเข้าใจ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หมดไหม คงเป็นไปไม่ได้ในท้ายที่สุด”

“ผมแต่งงานเมื่ออายุ 48 ปี มีลูกคนแรกตอนอายุ 53 ปี เพราะงั้น ถ้าผมอายุ 70 กว่า จะทำยังไงให้อยู่กับคนอายุ 18 ปีได้ ปีกว่าๆ มาแล้วมั้ง ผมต้องไปดูคอนเสิร์ต Imagine Dragons ตอนแรกผมคิดว่านี่มันวงเปรตอะไรวะ ไม่รู้จักแม่งเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ผมก็ไปดูกับลูกเพราะลูกชอบ แม่เขาก็ชอบ ก็โอเคสนุกดีนะ หรือ Of Monsters and Men ลูกเขาจะฟังบ่อย แต่เด็กๆ ก็จะเปลี่ยนความชอบไปเรื่อยๆ นั่นแหละ ผมได้เรียนรู้จากเขาเยอะเลย อย่างล่าสุดเมื่อหลายเดือนก่อน เขาก็เพิ่งมารู้จักเพลง Bailando ของ Enrique Iglesias ทั้งๆ ที่มันดังมากๆ ผมไม่รู้เรื่องเลย ฟังแล้วผมก็ว่าสนุก เพลินดี แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะยืนยาวไปถึงขนาดไหน เพราะแก่กว่านี้สังขารผมอาจจะแย่ลงกว่านี้อีก แต่ตอนนี้ก็ยังสนุกอยู่เพราะยังมีแรง”

 

จำได้ว่าสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากรชั้นที่ปี 3 ธเนศเข้ามาสอนเราเป็นครั้งสุดท้าย

เขาสอนศิษย์เรื่องกรณีการถกเถียงของนักวิชาการ 2 ฝ่าย ที่ต่างมีความคิดขั้วตรงข้าม ไม่ว่าคุณจะเลือกเชื่อถือใครก็ตาม เราต้องตรวจสอบว่าทำไมถึงเชื่อสิ่งนั้น ธเนศย้ำว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่แปลกที่เราจะชอบตัดสินคนอื่น แต่เราไม่ควรล้ำเส้นใคร

“คนคนหนึ่งเขาไม่ได้เชื่อแบบคุณ ถ้าคุณมีแฟนเป็นคนมุสลิมแล้วคุณบอกว่าคุณไม่เชื่อในพระอัลเลาะห์ คุณคิดว่าคุณจะใช้ชีวิตอยู่กับเขาได้ไหม อย่างน้อยๆ ที่สุดคุณต้องรู้ว่าหลายคนเขาเชื่อ ปัญหาคือคนในปัจจุบันจำนวนหนึ่งบอกว่าสิ่งที่คุณเชื่ออยู่นั้นมันงมงาย แต่ของกูน่ะไม่งมงาย กูโคตรจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับผมไม่รู้จะไปตัดสินคนอื่นทำไม ผมคิดง่ายๆ เลย คุณจะไปเถียงกับชาวพุทธไหมว่าไม่มีนิพพาน การที่คุณจะอยู่กับชาวพุทธได้ คุณต้องเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น แล้วการที่คุณศึกษาสิ่งพวกนี้มันจะทำให้คุณกลับมาตรวจสอบความเชื่อของคุณ ทำไมคุณถึงไม่เชื่อ คุณไม่เชื่อยังไง”

“วิธีการตรวจสอบง่ายๆ คือการที่คุณออกไปดูว่าสังคมอื่นคิดว่ายังไง ทำไมเขาไม่คิดแบบนี้ แล้วทำไมเราถึงคิดแบบนี้ ทำไมเรากินน้ำแข็ง ฝรั่งไม่กินเบียร์ใส่น้ำแข็ง ขณะเดียวกันประเทศเราไม่มีขายเบียร์อุ่นหรือไวน์อุ่น คุณลองเปิดร้านขายเบียร์อุ่นดูดิ ได้เจ๊งชิบหายเลย กาแฟแม่งยังจะเจ๊งเลย เพราะคนจำนวนมากกินแต่กาแฟเย็น มันคือสภาวะแวดล้อมและหลายๆ อย่าง ถือเป็นเรื่องปกติ ผมใช้เวลายาวนานมากเลยนะ เป็นปีๆ เลยกว่าจะคุ้นเคยว่าแม่งมีมีคาปูชิโน่เย็น เพราะเวลาสั่งคาปูชิโน่จะได้เย็นมาตลอดถ้าไม่บอกไว้ก่อน เมืองนอกไม่มี คนกินกาแฟที่นี่ส่วนใหญ่ใส่น้ำแข็งในกาแฟทั้งนั้น”

“ร้านกาแฟในไทย คนเข้าไปจำนวนมากสั่งกาแฟเย็นเลยครึ่งนึง แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งไหนถูกต้องมากที่สุด ผมพาพวกเชฟไปกินที่ร้านเอธิโอเปีย คนทำเขาคั่วกาแฟด้วยมือ ผมอยากดูว่าพวกบาริสต้าจะว่าไง จะไปด่าเขาไหม เขากินกันมา 2,000 ปี ตกลงถูกกว่าดีกว่าใช่ไหม ตรงนี้ อุณหภูมิเท่านี้ เข้มข้นเท่านี้ กรอบคิดทั้งหมดนี้มาจากการที่เรียนหนังสือผ่านโลกภาษาอังกฤษเยอะไง การเรียนภายใต้กระแสกาแฟ third wave ที่เป็นความคิดแบบแองโกลอเมริกัน ต่อมาก็เป็น fourth wave แล้วอะไรต่อไปล่ะ รสนิยมเป็นเรื่องที่เถียงกันยาก”

“คุณไปดูสิพวกบาริสต้าทั้งหมด ไม่เคยมีใครเรียนมาจากอิตาลี ไม่เคยมีใครมาจากฝรั่งเศส สเปน กรีก และตุรกี ส่วนใหญ่มาจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นทั้งนั้น เป็นประเทศที่มาเริ่มกินกาแฟทีหลัง ร้านดังๆ น่ะ ไม่เห็นมีใครไปเรียนมาจากเอธิโอเปียเลยสักคน เขากินกาแฟกันมาเป็นพันปี อาหรับเอามาจากเขา แต่ก็ธรรมดา ทุกคนชอบตัดสิน ผมเองก็เป็น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะไม่ตัดสินด้วยค่านิยม เราก็มักจะคิดว่ายุคของตนเองก็ดีกว่ายุคอื่นๆ”

เมื่อวันเวลาผ่าน สังขารของร่างกายธเนศก็ร่วงโรยไปตามเวลาไม่ต่างจากคนอื่นๆ เขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเสมอ เขาบอกเราว่าตัวเองกำลังเตรียมตัวจากโลกนี้ไปทุกวัน

“ผมเคยว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมไม่ได้ออกไปกลางแม่น้ำหรอก เมื่อก่อนผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ตอนหนุ่มๆ กล้าเสี่ยงภัยมาก” เขาเล่าถึงวีรกรรมห่ามๆ

“ผมไม่คิดว่าผมเป็นคนเดิมเมื่อตอนอายุ 18 ผมเปลี่ยนแปลงไปทั้งทางกายภาพ ความรู้สึก และอารมณ์ เมื่อก่อนสมัยยังหนุ่มๆ ผมมีความสนุกสนาน ความคิดโลดแล่นว่าอยากจะไปทำนั่นทำนี่ แต่เดี๋ยวนี้นึกไม่ค่อยออกว่าจะอยากทำอะไร เมื่อก่อนนี้ผมเป็นแบ็กแพ็กเกอร์ เดี๋ยวนี้ตั้งแต่สี่สิบปลายๆ ผมมีปัญหาเรื่องปวดหลัง ไม่สามารถใช้แบ็กแพ็ก 18 – 20 กิโลกรัมขึ้นหลังแล้วก็เดินไปไหนต่อไหนได้อีกแล้ว”

จริงอย่างว่า ธเนศเคยออกไปท่องเที่ยวมากมายหลายประเทศ ร่อนเร่แบบค่ำไหนนอนนั่น แต่ด้วยวัยและร่างกายที่ทัดทานไม่ไหว วิถีการท่องเที่ยวจึงเปลี่ยน

“ทุกวันนี้เวลาผมมองตัวเอง ผมเห็นความเสื่อมของร่างกาย ถ้าพูดแบบหยาบๆ ทุก 10 ปี ผมจะเห็นความเสื่อมชัดเจนที่สุด ตอนนี้ผมไปเที่ยวกลางคืนอาจจะต้องฟุบที่โต๊ะ ทั้งที่เมื่อก่อนสบายมาก เดี๋ยวนี้ถ้านอนตีสองก็รวนหมด หัวเข่าผมขึ้นบันไดก็เจ็บ ตอนนี้แขนก็ไม่ดี คือไม่มีอะไรดีเลย ผลจากการเล่นสควอช เพราะฉะนั้นเวลาผมมองไปข้างหน้ามันก็ไม่มีข้างหน้า อายุขนาดนี้ ผมไม่ใช่คนรุ่นคุณที่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ สิ่งเดียวที่เห็นคือความตาย ไม่มีอะไรนอกจากนับวันถอยหลังไปเรื่อยๆ”

ทุกงานเลี้ยงมีวันเลิกรา แต่สิ่งสำคัญคือรอยประทับที่เขาฝากไว้ให้วงการศึกษาไทย แม้ว่าจะเข้ามาอยู่ในฐานะผู้สอนและผู้ประเมินผลการเรียนให้นักศึกษาหลายต่อหลายรุ่น แต่เขากลับบอกเราๆ ว่า

“ไม่ใช่ผมที่จะประเมินความสำเร็จทางการสอนกับใคร ผมมีหน้าที่สอน คนเรียนเขาต้องตอบตัวเขาเองว่าอยากได้อะไร”

“คุณรู้จักสำนวนความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดไหม มันมีอยู่ในสังคมเสมอ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเราจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบและทำให้พอเหมาะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องคิดในทุกๆ เรื่อง เพราะความพอเหมาะพอดี moderation คือสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์”

หนังทุกเรื่องมีวันจบ เช่นเดียวกับบทสนทนาในยามบ่ายที่จบลง ผมก้าวออกมาจากรั้วประตูบ้านหลากสี เราอาจจำเรื่องราวบทเรียนทุกอย่างที่ได้รับมาในชีวิตได้ไม่หมด แต่ประโยคหนึ่งของอาจารย์ที่ผมจำได้แม่นคือ “เราต้องอยู่บนโลกที่มีความแตกต่างหลากหลายนี้ให้ได้”

นี่อาจเป็นกุญแจแห่งแสงสว่างดอกหนึ่งในแวดวงการศึกษาไทยที่ธเนศหยิบยื่นใส่มือนักศึกษาที่เขาเคยสอนมาทั้งชีวิต

กุญแจที่มีชื่อว่า ‘การเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น’

facebook | Thanes Wongyannava


อ้างอิง ประวัติบางส่วนจากสารนิพนธ์เรื่อง ตัวตน (Self) ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา โดย รัตนวลี เห็นแจ้ง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2549

ออกแบบศิลปกรรม วัชรพงศ์ แหล่งหล้า

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย