ความทรงจำของความสัมพันธ์ทำให้วัตถุนั้นต่างมีความหมายพิเศษ | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

1

ว่ากันด้วยกายภาพ มันก็แค่กระดาษสภาพทรุดโทรมแผ่นหนึ่ง ที่หากทำหล่นหรือหลงลืมไว้ที่ใดก็คงไม่มีใครสนใจ แต่ทำไมใครบางคน–ที่เนื้อแท้อาจไม่ได้เป็นคนรักษาของหรือทะนุถนอมสิ่งใด จึงตั้งใจเก็บมันอย่างดีราวสิ่งมีค่า ต่อให้เอาเงินมาวางตรงหน้าผมเชื่อว่าผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ขาย

หรือกับต้นชะมวงในรูปถ่ายต้นนั้น หากดูด้วยตาเปล่า เราไม่อาจเข้าใจเลยว่า มันต่างจากต้นชะมวงต้นอื่นตรงไหน ทำไมใครบางคนจึงบอกว่ามันมีความสำคัญทางใจกับเขา

ไหนจะกรรไกรตัดเล็บเก่าๆ อันหนึ่ง ปากกาเก่าๆ ด้ามหนึ่ง กระเป๋าเก่าๆ ใบหนึ่ง และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มองเผินๆ เหมือนเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ไร้ความสำคัญในสายตาใคร แล้วอะไรทำให้สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อผู้เป็นเจ้าของจนกระทั่งยกมันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต

ผมสงสัยเช่นนี้ระหว่างไล่สายตาสำรวจสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์บนหน้ากระดาษเล่มนี้

2

ครั้งหนึ่งผมเคยคุยกับอาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ ถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์ ‘พิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 31’ หรือ ‘31st Century Museum of Contemporary Spirit’ ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งที่เมืองคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 ก่อนจะเปิดพิพิธภัณฑ์ชื่อเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2554

เขาเล่าว่าตอนนั้นได้ร่วมมือกับ 21st Century Museum of Contemporary Art และชาวเมืองคานาซาว่า โดยให้แต่ละคนเอาสิ่งที่มีความหมายมาแสดงร่วมกันคนละชิ้น และให้แต่ละคนบอกเหตุผลว่าสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไร

“มีอยู่คนหนึ่งเขาเลือกภาพในโทรศัพท์มือถือที่เขาจะได้รับจากพ่อตอนปีใหม่ ทุกปีพ่อเขาจะถ่ายใบไม้สี่แฉก ซึ่งมีความหมายว่าจะโชคดี และทุกครั้งที่เขาไม่สบายใจ มีความทุกข์ เขาดูแล้วเขาจะมีกำลังใจ และรู้สึกถึงความผูกพันของเขากับพ่อ ทุกวันเขาจะดูภาพนี้

“ผมรู้สึกว่าความหมายแบบนี้ คุณค่าแบบนี้ มันไม่เกี่ยวกับใครเลย แต่มันสามารถทำให้คนคนหนึ่งขับเคลื่อนชีวิตได้ และผมว่าสังคมเราขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ขับเคลื่อนด้วยคนทุกคน และสิ่งนี้แหละที่โลกศิลปะไม่เคยพูดถึง พิพิธภัณฑ์ไม่เคยพูดถึง แล้วผมให้ทุกคนมายืนถือสิ่งเหล่านี้ ล้อมรอบพิพิธภัณฑ์ศตวรรษที่ 21 ถ่ายรูปร่วมกันด้วยเฮลิคอปเตอร์

“ผมกำลังจะบอกว่าอีกพันปีข้างหน้า พิพิธภัณฑ์ก็คือร่างกายของเราทุกคน สปิริตก็คืองานศิลปะ มิวเซียมที่มีอยู่ในศตวรรษนี้เป็นแค่สถานที่รวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นสิ่งภายนอก แต่เราไม่เคยพูดถึงคุณค่าที่อยู่ภายใน ในโลกความเป็นจริงเราไม่เคยมองมันและพูดถึงคุณค่านี้ เราพูดแต่คุณค่าที่ถูกยอมรับหรือมีมูลค่า ซึ่งมันต่างกัน”

หลังจากได้ฟังในวันนั้นผมพยายามนึกว่าถ้าเป็นตัวเองจะเลือกสิ่งใด พร้อมกับตั้งคำถามว่าอะไรทำให้บางสิ่งมีความหมายกับบางคน 

3

ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการบันทึก ผมมักนึกถึงเพียงกระดาษที่เราใช้วาดเขียน กล้องถ่ายรูปที่เราใช้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องอัดเสียงที่เราใช้บันทึกสิ่งที่ได้ยิน แต่เมื่ออ่าน a day ฉบับนี้จบ ผมพบว่ามนุษย์เราบันทึกความทรงจำด้วยเครื่องมือหลากหลายกว่าที่คิด

กระดาษ ต้นไม้ กรรไกรตัดเล็บ ปากกา กระเป๋า ฯลฯ มนุษย์เราบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆ ไว้กับสิ่งที่อยู่รายรอบตัว ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

บางทีนี่อาจเป็นคำตอบของสิ่งที่ผมสงสัย อะไรทำให้บางสิ่งมีความหมายกับบางคน

ความทรงจำของความสัมพันธ์ที่บรรจุอยู่ในนั้นเอง ที่ทำให้วัตถุต่างๆ มีความหมายพิเศษ

นี่คือความลับของฉันมันแสนจะธรรมดา เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา–ผมนึกถึงประโยคอมตะนี้ในวรรณกรรมเยาวชน เจ้าชายน้อย

เศษกระดาษไม่ใช่เพียงเศษกระดาษเมื่อมีลายมือของคนรักอยู่บนนั้น ต้นชะมวงทั่วไปไม่ใช่ต้นชะมวงทั่วไปเมื่อมันทำให้นึกถึงญาติผู้ใหญ่ที่คิดถึง หรือกรรไกรตัดเล็บธรรมดาก็ไม่ใช่กรรไกรตัดเล็บธรรมดาเมื่อมันทำให้นึกถึงคุณแม่ที่จากไปแล้ว

สิ่งของทั่วๆ ไปไม่ใช่เพียงสิ่งของดาษดื่นธรรมดาเมื่อมันเก็บบันทึกความทรงจำที่มีความหมายระหว่างเราและใครบางคนเอาไว้

และไม่ว่าความทรงจำนั้นจะนำมาซึ่งความสุขหรือเศร้า ทำให้เรายิ้มหรือมีน้ำตา ผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องน่ายินดี

การที่เราเห็นสิ่งใดแล้วมีใครให้ระลึกถึง นั่นไม่ใช่ความงดงามอย่างหนึ่งของการมีชีวิตหรอกหรือ

AUTHOR