การพบเจอกัน แลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้กัน คือความงดงาม | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

วันนั้นขณะที่ผมนั่งอยู่ในห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ รอผู้คนในเมืองมาฟังเสวนา ฝนก็ถล่มลงมาคล้ายกลั่นแกล้งกัน

ครั้งนี้ผมตั้งใจเดินทางจากกรุงเทพฯ ตามคำเชิญชวนของเจ้าบ้านอย่าง ครูต้อม–ชโลมใจ ชยพันธนาการ และ พี่หนึ่ง–วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนที่ย้ายไปใช้ชีวิตที่น่าน เพื่อมาพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางการทำงานและการคงอยู่ของนิตยสาร a day

ยอมรับว่าในใจผมเองแอบกังวลว่าจะมีใครในตัวเมืองเล็กๆ อยากออกมานั่งฟังหัวข้อเฉพาะทางเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฝนพรำที่ต้องตรากตรำออกจากบ้าน

ฝนไม่ตกยังไม่รู้ว่าจะมีใครมาไหม แล้วนี่น้ำจากฟ้าดันเทลงมาไม่หยุด จะเหลือคนมาเยือนสักกี่คน แต่ฤดูกาลเป็นเช่นนี้ ใครจะไปขัดขืนได้นอกจากยอมรับโชคชะตา นั่งรอเวลาและผู้คน

ระหว่างนั้นผมนึกถึงครั้งหนึ่งที่ผมตอบรับคำชวนไปเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนากับพี่หนึ่งที่ร้าน Bookmoby

วันนั้นก่อนเริ่มงานพี่หนึ่งบอกผมเพื่อคลายกังวลว่า “ไม่ต้องกังวลเรื่องจำนวนนะ มีคนมาฟังคนเดียว หรือสามคนก็ไม่เป็นไร สามคนที่มาอาจจะเป็นคนที่มีความหมายในชีวิตก็ได้ในวันหน้า อาจจะดีกว่า 20-30 คนก็ได้”

อย่าหมิ่นประมาทความน้อย–ที่ผ่านมาเขาย้ำกับผมเช่นนี้บ่อยครั้ง คล้ายเรื่องจำนวนและขนาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต

น้อย เล็ก อาจมีความหมายที่ใหญ่ มาก ก็ได้

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เมื่อปีก่อนชายผู้ที่ใครหลายคนจดจำเขาในฐานะนักสัมภาษณ์กล้าลุกขึ้นมาจัดงาน Nan Poesie เทศกาลบทกวีที่น่าน ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้คนที่สนใจบทกวีในบ้านเรามันไม่ได้มากมายนัก ไม่ได้มีสปอนเซอร์เจ้าใหญ่รายไหนอยากสนับสนุนงานที่คนสนใจเพียงหยิบมือหรอก

แต่นั่นแหละ เขาไม่ได้ทำเพราะมีคนสนใจมาก แต่เพราะเห็นว่ายังมีคนสนใจน้อย มีพื้นที่น้อย เขาจึงทำ

เมื่อครั้งที่เราคุยกันตอนงาน Nan Poesie ตั้งไข่ พี่หนึ่งบอกผมว่า กับบางสิ่งบางอย่างไม่ต้องไปก่นร้อง หรือดิ้นรนเรื่องปริมาณมาก ทั้งนี้ย้ำว่าไม่ได้ปิดกั้นกักขังตัวเอง มาเยอะยิ่งดี มามากๆ ก็ได้ แต่กับบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเรารู้ธรรมชาติความน้อยของมัน เราไปทำให้มันแหลมคมดีกว่า

เทศกาลบทกวีครั้งแรกจึงเกิดขึ้นที่น่าน มีกวีทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นจากทั่วสารทิศไปรวมตัวอ่านบทกวีสดๆ ที่นั่น บทกวีขับขานก้องกังวานในพื้นที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ มีผู้คนหลักร้อยมาร่วมงาน

อยากทำให้คนเมืองอื่นรู้ว่าขนาดเรายังทำกันได้ คนอื่นๆ ก็ทำได้–ผู้จัดงานบอกผมอย่างนั้น

“การลุกขึ้นมาจัดงาน Nan Poesie ก็คือสิ่งหนึ่ง คือหลักฐานที่อธิบายว่า ในเมื่อมันไม่มีพื้นที่ ก็เปิดพื้นที่ให้มันสิ สร้างมันขึ้นมาสิ เท่าที่เราแต่ละคนจะทำได้ ตามช่วงเวลาที่พร้อม ตามกำลัง เราไม่มีอะไรเลยนะเว้ย ตัวคนเดียวกับเพื่อนที่น่านอีกคน มีกันแค่ 2 คน”

ด้วยเห็นทั้งการลงแรงกายและแรงใจมาตั้งแต่ครั้งแรก ผมจึงดีใจไม่น้อยที่รู้ว่าตอนนี้งาน Nan Poesie ครั้งที่ 2 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563

และไม่ใช่แค่ Nan Poesie ทั้งครูต้อมและพี่หนึ่งยังพยายามสร้างพื้นที่ให้คนทำงานสร้างสรรค์ได้มาพบปะพูดคุยกันเป็นระยะ ด้วยเชื่อว่าการพบเจอกัน แลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้กัน คือความงดงาม

งานเสวนาที่ผมมาร่วมก็เป็นหนึ่งในการสร้างพื้นที่นั้น

ไม่แน่ใจว่าฟ้าเห็นใจหรือเห็นความตั้งใจ ฝนที่กระหน่ำโดยไม่มีวี่แววว่าจะหยุดอยู่ๆ ก็ซาลง ผู้คนเริ่มทยอยมามากขึ้นๆ จนแน่นพื้นที่ อากาศยังชื้นฝนแต่บรรยากาศอบอุ่นไปด้วยผู้คนที่นั่งอยู่ตรงหน้า งานเสวนาดำเนินไปโดยได้ ใหญ่–พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล มาเป็นผู้ดำเนินบทสนทนา

“เดี๋ยวคุณดูนะว่ามันเหมือนที่อื่นไหม” พี่หนึ่งบอกผมอย่างนี้ตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม

ไม่เหมือน ยังไงก็ไม่เหมือน เขาย้ำกับผมและชี้ชวนให้ผมสังเกตคนที่มาฟัง

แล้วก็เป็นอย่างที่เขาว่า ผู้คนที่มาตั้งใจฟังอย่างจริงจังและพร้อมแลกเปลี่ยนเมื่อเปิดโอกาส แม้กระทั่งหลังงานผมก็ยังเห็นใครหลายคนยืนแลกเปลี่ยนทัศนะ พูดคุย ไม่ไปไหน บรรยากาศตรงนั้นทำให้ผมเข้าใจประโยคที่เขาบอกผมตอนจัดงาน Nan Poesie ได้กระจ่างขึ้น

และบางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ใครหลายคนที่น่านฝ่าฝนจากบ้านมารวมตัวกันที่นี่

“คนต้องมาเจอกัน ความคิดต้องปะทะกับคนอื่น มันถึงจะชาญฉลาดขึ้น มนุษย์ต้องมี input-output คุณจะนั่งใคร่ครวญอยู่บนภูเขาอย่างเดียว มีไดอะล็อกกับใบไม้อย่างเดียว ก็อาจจะได้ แต่การมีไดอะล็อกกับมนุษย์โดยตรงมันทรงพลัง เราเชื่อว่าการสร้างเวทีสร้างพื้นที่ให้คนมานั่งคุยกันเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่เมืองอารยะควรทำ

“ให้มนุษย์ที่หัวเปิด ใจกว้าง มาเจอกัน มาคุยกัน อย่างอื่นไม่ต้องห่วง เดี๋ยวงานเอกของโลก สิ่งมหัศจรรย์ของโลก มันจะค่อยๆ งอกขึ้นเอง”

AUTHOR