จงมีชีวิตอยู่รอเวลาที่เรื่องเศร้าเปลี่ยนเป็นเรื่องเล่าธรรมดา | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ไม่กี่วันที่ผ่านมาระหว่างนั่งครุ่นคิดถึงชีวิตที่ผ่านพ้น อยู่ๆ ผมก็คิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเกือบยี่สิบปีก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องเศร้าแต่ตอนนี้มันกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าธรรมดา
เรื่องหนึ่ง

บ่ายวันนั้นผมนั่งอยู่บนโซฟามองดูตู้ปลาที่ตั้งอยู่ข้างโทรทัศน์ มันเป็นตู้ปลาตู้แรกและตู้เดียวในชีวิต ขนาดของมันไม่ได้ใหญ่โตอะไร กว้างเพียงราวๆ 24 นิ้วเท่านั้น แต่มันมีความหมายกับผมมากเพราะผมซื้อหามาด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบด้วยตัวเอง ตอนที่ซื้อมาผมจัดแจงวางมันไว้บนโต๊ะที่มีล้อเล็กๆ 4 ล้อข้างโทรทัศน์

แล้วระหว่างกำลังนั่งอยู่บนโซฟานั่งดูโทรทัศน์สลับกับมองตู้ปลาของตัวเองอย่างภูมิใจ ผมก็ได้ยินเสียงบางสิ่งแตกหัก ล้อของโต๊ะฝั่งซ้ายคงไม่อาจรับน้ำหนักของตู้ปลาไหว ผมเห็นมันหลุดออกมาจากตำแหน่งที่ควรอยู่ สมดุลของโต๊ะจึงเทไปทางซ้าย

ยังไม่ทันได้ขยับตัวใดๆ ตู้ปลาก็ค่อยๆ ไหลลงไปแตกอยู่ที่พื้นพร้อมๆ กับหัวใจของเด็กคนหนึ่ง

หลังจากตู้ปลาไหลลงไปปะทะกับพื้นปูน เศษกระจกและก้อนหินก็กระจายเต็มบ้าน ปลาทองที่ซื้อมาดิ้นพะงาบอยู่บนพื้นเปียกชุ่ม

ทั้งน้ำตา–ผมเดินอ้อมไปหน้าบ้าน สวมรองเท้าแตะด้วยเกรงว่าจะเหยียบถูกเศษกระจก แล้วเดินฝ่าเศษต่างๆ ไปประคับประคองปลาที่ดิ้นอยู่ที่พื้นขึ้นมาใส่ไว้ในขัน ก่อนจะค่อยๆ จัดการเก็บกวาดเศษซากของตู้ปลาทิ้งลงถังขยะ

พอนึกถึงเหตุการณ์นั้นอีกครั้งในวัยนี้ ผมพบว่ามันคล้ายสิ่งที่ชีวิตคนคนหนึ่งต้องพบเจอ ในยามที่บางสิ่งพังลงตรงหน้า บางครั้งเราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากประคับประคองสิ่งที่เหลือเอาไว้แล้วใช้ชีวิตต่อไป

เมื่อย้อนมองปีที่ผ่านมา ผมเห็นคนรอบตัวหลายคนบอบช้ำกับปัญหาชีวิตที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ สุขภาพ หรือการงาน บางคนเลิกรากับคนรักที่คบหากันมายาวนาน บางคนสุขภาพกายและใจอยู่ในขั้นที่ต้องเยียวยารักษาโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะกลับมาเป็นปกติ ในขณะที่บางคนผิดหวังรุนแรงกับการงานที่ทุ่มเทหัวใจลงไป

ท่ามกลางมรสุมชีวิตที่คนรอบตัวต้องฝ่าฟัน ผมเห็นเขาเหล่านั้นพยายามประคับประคองสิ่งที่ยังหลงเหลือแล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติต่อไป

พวกเขายังคงสู้แม้ข้างในจะเต็มไปด้วยบาดแผลและไม่เห็นปลายทางว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้นได้อย่างไร

มันทำให้ผมนึกถึงบางฉากของการ์ตูนเรื่อง ปรสิต (Parasyte) ที่ผมเพิ่งหยิบกลับมาอ่านอีกครั้งหลังจากอ่านครั้งล่าสุดเมื่อนานมาแล้ว

มีฉากหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องซึ่งถูกสัตว์ประหลาดเข้ามาฟักตัวที่มือข้างซ้าย เข้าไปช่วยเพื่อนร่วมห้องที่ถูกรุมทำร้าย เข้าไปช่วยทั้งๆ ที่รู้ว่าคู่ต่อสู้ตัวใหญ่กว่าและมองไม่เห็นโอกาสชนะ

“ถ้าเป็นสัตว์ด้วยกัน ถ้ารู้ว่าตัวมันมีแรงที่สู้ไม่ได้มันก็จะใช้วิธีหนีแทน” สัตว์ประหลาดที่มือซ้ายบอก ก่อนที่เจ้าของร่างกายจะตอบกลับไปว่า

“มนุษย์น่ะบางเวลาควรหนีแต่กลับไม่หนี นี่แหละคือความต่างระหว่างฉันกับแก”

ผมเห็นด้วยว่าการไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาเป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ ไม่ว่าจะเพราะไม่เห็นหนทางหลีกหนีหรือเพราะเนื้อแท้เป็นคนไม่ยอมแพ้ก็ตาม

และระหว่างที่ผมไล่อ่านเรื่องราวชีวิตของผู้อาวุโสในเล่ม มันก็ยิ่งตอกย้ำคุณสมบัติที่ว่า

บางคนชีวิตต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก บางคนต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจ บางคนมีปัญหากับคนในครอบครัว ในขณะที่บางคนต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพที่ถาโถม

“เป็นธรรมดาของการมีชีวิต ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มีดีใจ มีเสียใจ มีโศก มีสุข” พี่ช้าง–ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ มติชน และหนึ่งในผู้อาวุโสในเล่ม สรุปสัจธรรมที่ค้นพบระหว่างที่เราสนทนากัน

อีกสิ่งที่ชีวิตของผู้อาวุโสทุกคนในเล่มบอกผมก็คือไม่มีความทุกข์ใจใดอยู่กับเราไปตลอด หลักฐานยืนยันคือแทบทุกคนเล่าถึงเหตุการณ์เลวร้ายหรือความผิดพลาดในอดีตด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย ในขณะที่บางคนเล่ามันด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ วันเวลาทำให้เรื่องเศร้ากลายเป็นเรื่องที่เล่ากันขำขัน

ถึงที่สุด บางทีความหมายของการต่อสู้ในชีวิตที่ว่าไปอาจไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่หรือซับซ้อน นอกจากการประคับประคองชีวิตอยู่รอเวลาที่เรื่องเศร้าของเราเปลี่ยนเป็นเรื่องเล่าธรรมดาแค่นั้นเอง

AUTHOR