มนุษย์เรายังกลับตัวทันไหมในวันที่โลกใกล้พัง | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ปลายฤดูหนาวราว 4-5 ปีก่อนผมโดยสารรถตู้ไป ‘แดรี่โฮม’ ร้านอาหารและโรงงานผลิตนมออร์แกนิกที่ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ จังหวัดสระบุรี เพื่อสัมภาษณ์ พฤฒิ เกิดชูชื่น หรือที่ผมเรียกเขาว่า ‘พี่พฤฒิ’ ด้วยความเคารพ

ระหว่างกำลังทำ a day ฉบับ World-Life Balance ผมจึงย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ในวันนั้นอีกครั้ง ด้วยนั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ผมได้เข้าใจคำว่า sustain อย่างลงลึก

วันนั้นเราพูดคุยกันถึงสิ่งที่เขาทำมาตลอด ทั้งเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและวิถีออร์แกนิกที่เขาทำตั้งแต่คำคำนี้ยังเป็นสิ่งใหม่ในบ้านเรา

ย้อนกลับไปตอนนั้นเขาคือผู้ผลิตนมออร์แกนิกเพียงรายเดียวในประเทศไทย

ไม่โดดเดี่ยวเลย–เขาย้ำคำนี้แม้ขณะนั้นเพื่อนร่วมทางยังน้อย และต้องเผชิญแรงเสียดทานทั้งในมุมของธุรกิจและความเข้าใจของผู้บริโภคในบ้านเรา

“การทำออร์แกนิกจะต้องเหนื่อยมากขึ้น ต้องออกแรงมากขึ้น ต้องใช้สติปัญญามากขึ้น ต้องใส่ใจมากขึ้น ต้องทำเกษตรที่ประณีตขึ้น เรียกร้องคุณสมบัติมากกว่าการทำฟาร์มแบบคอมเมอร์เชียล อันนั้นคุณมีโทรศัพท์เครื่องเดียวคุณก็เลี้ยงวัวได้แล้ว ทุกอย่างโทรศัพท์สั่งหมด

“สิ่งที่ดีมันทำยาก ต้องตั้งใจทำ ไม่มีทางที่อยู่เฉยๆ แล้วจะลุกไปทำได้ มันเหนื่อยนะ คุณต้องผลักดัน ต้องสู้ มีแรงต้านตลอดเวลา แรงต้านที่ลำบากที่สุดคือแรงต้านจากตัวเอง ความคุ้นเคย ของเก่ามันก็สบายดีอยู่แล้ว ง่ายดีอยู่แล้ว ทำทำไม คนเราทุกคนรักสบาย นี่คือปัญหาใหญ่” วันนั้นเขาบอกผมแบบนี้

น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขาทำอะไรบ้างเพื่อให้โรงงานผลิตนมลดผลกระทบต่อโลก เนื่องจากเขาทำโดยไม่ได้ตั้งใจป่าวประกาศ

เขาเปลี่ยนถ้วยโยเกิร์ตให้เป็นถ้วยพลาสติกชีวภาพทั้งหมด ทำฉลาก carbon footprint ในผลิตภัณฑ์ทุกตัวเพื่อให้รู้ว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ทำ water footprint เพื่อที่จะได้รู้ว่าการทำนม 1 ลิตรต้องสิ้นเปลืองน้ำทั้งกระบวนการเท่าไหร่ ทำบ่อสำหรับเก็บน้ำฝน สามารถประหยัดน้ำประปาได้ 3-4 เดือน รวมถึงผลิตความร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (solar thermal) เพื่อนำไปใช้ในการพาสเจอไรซ์นม–ย้ำอีกทีว่านี่คือเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

ยอมรับตามตรงว่าตอนที่คุยกันผมไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เขาพูดมากนัก หลายประโยคเพิ่งมาตระหนักเอาในวันนี้ที่สถานการณ์ของโลกกำลังเข้าสู่วิกฤตเต็มที

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมปรากฏชัด ไม่ว่าจะแสดงออกผ่านตัวเลขอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จำนวนสัตว์ทะเลที่ลดลง ระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลง หรือสภาวะอากาศที่แปรปรวน

หลายคนที่ตามติดเรื่องราวผลกระทบที่ผมมีโอกาสได้สนทนาล้วนยืนยันตรงกันว่าพวกเรามาถึงจุดที่เปราะบาง สุ่มเสี่ยง และถ้ามนุษย์เราไม่เปลี่ยนพฤติกรรมแน่นอนว่าจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่อาจจินตนาการได้

ไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นใครหลายคนลุกขึ้นมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงเต็มที

สุนทรพจน์ของ Greta Thunberg เด็กหญิงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 15 ปี สั่นสะเทือนโลกทั้งใบและหัวใจใครหลายคน การที่เธอได้รับการยกย่องเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสาร Time ก็สะท้อนบางอย่างที่สำคัญ

“มนุษย์เรายังกลับตัวทันไหม” วันนั้นผมถามชายผู้เชื่อในวิถียั่งยืน

“ทัน แต่ต้องกลับหลังหันเลยนะ” เขาบอกผมด้วยรอยยิ้มแม้จะคุยกันในประเด็นที่น่าวิตก

“จริงๆ แล้วอดีตเป็นเรื่องขมขื่น ผมไม่เคยชวนใครเดินถอยหลัง สิ่งที่เรามีอยู่วันนี้มันดีกว่าโลกวันเมื่อวานเยอะ ผมไม่ได้มองว่าเราต้องกลับไปขี่ม้า ถากดินด้วยจอบ เราเลยจุดนั้นมาเยอะแล้ว เรามีสติปัญญา เรามีความรู้ มีความสามารถ เราเดินไปข้างหน้าได้ และเดินไปอย่างดีด้วย แต่เราต้องใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูก

“วันที่เราเริ่มทำเกษตรแบบเคมีย้อนไปไม่ถึง 50 ปีเองนะ แต่ทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บเต็มไปหมด เราเป็นมะเร็งกันอุตลุดเลย คนหนุ่มคนสาวเป็นมะเร็งกันเพิ่มขึ้น เพราะอะไร เคมีที่คุณได้รับเข้าไปตั้งแต่เด็กไง แล้วทางรอดของเราคืออะไร ก็ต้องถอยกลับไปดูว่าเมื่อก่อนเราอยู่กันมายังไง

“มันเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างเองด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยความโลภ ความเห็นแก่ตัว ไม่มองการณ์ไกล ถ้าคุณมองไกลๆ คุณจะมองเห็นปัญหาเหล่านี้ แล้ววิธีการใช้ชีวิต วิธีการทำธุรกิจ และวิธีการบริโภคของคุณมันจะเปลี่ยน”

แล้วเมื่อผมได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ใน a day ฉบับนี้ก่อนที่มันจะตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มก็ช่วยฉายภาพให้เห็นถึง ‘วิธีการใช้ชีวิต วิธีการทำธุรกิจ และวิธีการบริโภค’ ที่อาจเปลี่ยนไปชัดขึ้น

ไม่ว่าจะเรียกวิธีการเหล่านี้ว่าทางเลือกหรือทางรอดก็ตามที

และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อเราเอง อย่างที่ชายผู้เชื่อในวิถียั่งยืนว่าเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนตอนเราพบกัน

“ในฐานะที่ผมเป็นทั้งผู้บริโภค เป็นทั้งผู้ผลิต เป็นทั้งเกษตรกรเองด้วย ผมคิดว่าเราต้องมองถึงผลลัพธ์ว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร มันดีต่อโลกใช่ไหม แต่จริงๆ ผมไม่อยากใช้คำว่าดีต่อโลก ความจริงมันดีต่อเรามากกว่า

“เพราะว่าโลกไม่สนใจเราหรอก”

AUTHOR