ทัศนคติที่มีต่อความตายอาจทำให้เราเข้าใจความหมายของการมีชีวิต | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

3

“จะอยู่ดูไหม วันนี้จะมีพิธีฝังพอดี”

ระหว่างเรากำลังเดินกันอยู่ในบริเวณสุสาน พี่นง–ทนงศักดิ์ ตุลยธำรง ผู้นำทางซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ชุมชนมัสยิดฮารูณ ชุมชนของคนไทยเชื้อสายอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม ถามผมและน้องในทีมเมื่อรู้ว่าพวกเราสนใจเรื่องการทำพิธีหลังความตายของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายอินเดีย

เท่าที่ฟังจากรายละเอียดผมพบว่ามันไม่ต่างจากพิธีของชาวมุสลิมทั่วไป เป็นพิธีการที่เรียบง่าย ไม่ฟูมฟาย หลังจากเสียชีวิตญาติมิตรของผู้ตายจะดำเนินการฝังให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ระหว่างฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายอินเดียผสมความเชื่อทางศาสนา ผมพยายามสังเกตบรรยากาศโดยรอบของพื้นที่ที่เราเดินอยู่ ต้นไม้ไม่ทราบชื่อนานาพันธุ์เติบโตให้ร่มเงาตลอดทางเดิน

ว่ากันตามตรงบรรยากาศโดยรวมของสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างต่างจากภาพสุสานแบบที่ผมคุ้นตามาทั้งชีวิต ไม่มีแผ่นหินขนาดใหญ่ที่มีชื่อกำกับ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นสัญลักษณ์ของการระลึกถึง

หากผู้นำทางไม่บอกคงยากจะเดาออกว่านี่เป็นพื้นที่หลังความตาย

2

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว

ไม่ได้พบเจอประสบการณ์เสี่ยงภัยอะไร แค่ได้ข่าวว่าใครหลายคนที่รู้จักในชีวิตต้องจากไปก่อนวันอันควร ทั้งคนที่เคยผูกพันกันในบางช่วงเวลาและคนที่เคยเห็นผ่านตาแต่ไม่เคยสนทนากันสักครั้ง ทั้งผ่านคำบอกเล่าและที่ผ่านตาในหน้าฟีดเฟซบุ๊ก

ล่าสุดผมเพิ่งทราบข่าวการจากไปของพี่นก–ไพเราะ เลิศวิราม บรรณาธิการอันเป็นที่รักและเคารพของใครหลายคนในวงการ ผมรู้จักพี่นกเมื่อครั้งฝึกงานที่นิตยสาร Positioning เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ภาพที่ผมจดจำเกี่ยวกับพี่นกได้มีเพียงไม่กี่ภาพ แต่ละภาพล้วนผูกโยงกับงาน ไม่ว่าเป็นตอนที่นั่งตรวจงานอยู่ที่โต๊ะ เดินมาอธิบายงานกับน้องๆ ในกอง หรือตอนที่บอกสอนงานเด็กฝึกงานอย่างพวกผม

หลายสิ่งพี่นกสอนผ่านคำพูด แต่บางสิ่งพี่นกสอนผ่านการทำ สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากพี่นกคือเรื่องของการทำงานหนักและความซื่อสัตย์ต่อผู้อ่าน ต่อวิชาชีพ ไม่แปลกที่วันที่พี่นกจากไปใครหลายคนจะคิดถึงสิ่งที่พี่เขาทำ

ถัดมาไม่กี่วันหลังจากรู้ข่าวร้ายของพี่นก ระหว่างนั่งกินข้าว อี๊หรือป้าของผมก็เล่าว่าลูกสาวเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวปากซอยเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคร้าย และไม่กี่วันก่อนผมก็ทราบว่าพี่ที่เป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊กเพิ่งสูญเสียบุพการีเช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้รู้จักส่วนตัวแต่ก็อดรู้สึกใจหายไปด้วยไม่ได้

กับวันเกิดเราพอรู้และตระเตรียมการเฉลิมฉลองเอาไว้ แต่กับวันตายใครเล่าจะบอกได้ รู้ตัวอีกทีคนรักของบางคนก็จากไปโดยไม่ทันเตรียมใจ

1

ผมนึกถึงเมื่อหลายปีก่อนตอนที่ไปเจอพี่ต้อ–บินหลา สันกาลาคีรี แล้วเขาเล่าถึงสิ่งที่พญาอินทรีแห่งสวนอักษรอย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเล่าไว้

“แกบอกว่าวันหนึ่งงูเลื้อยผ่านหน้าแก แล้วแกก็เลยนึกถึงความตาย แกบอกว่าความตายกับงูมันเหมือนกัน เวลางูมันเลื้อยอยู่ เราไม่รู้หรอกว่ามันยาวเท่าไหร่ มันขดไปขดมา เหมือนความตาย มันอยู่ใกล้เรามาก แต่ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะมาถึงเมื่อไหร่ รู้แต่ว่ามันใกล้แล้ว ตายเมื่อไหร่เราถึงรู้”

ด้วยความตระหนักถึงความไม่แน่นอนของลมหายใจ สิ่งหนึ่งที่ผมทำสม่ำเสมอเวลาไปสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในช่วงหลังจึงเป็นการชวนคุยเรื่องความตาย ซึ่งใครบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่มงคล แต่ผมกลับไม่คิดเช่นนั้น ตรงกันข้าม การรับรู้ถึงทัศนคติที่มีต่อความตายอาจทำให้เราเข้าใจความหมายของการมีชีวิต

วันที่คุยกับพี่ต้อที่สงขลาผมก็ชวนคุยในประเด็นนี้ และมีบางถ้อยคำของพี่เขาที่ผมนึกถึงเสมอยามนึกถึงความตายและความหมายของการมีชีวิต

“ผมรู้สึกว่าชีวิตผมอาจจะสั้นกว่าคนอื่น แต่มันไม่ใช่เรื่องว่าที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตผิดหรือถูก ผมก็แค่ตระหนักว่าผมอาจจะมีชีวิตอยู่แค่ 60 ปี มันทำให้เรารู้ว่าเรามีอายุน้อย ต้องทำงาน อายุที่เหลือของผมอาจจะน้อยกว่าคนอื่น แต่น้อยก็เพียงพอ ถ้าเรารู้ ตระหนักว่าเรามีแค่นี้

“เราไม่รู้หรอก ต่อให้เราทำตัวดีขนาดไหนวันหนึ่งก็อาจโดนรถชน เป็นมะเร็ง คือมันมีหลายปัจจัยที่จะเข้ามากระทบกระเทือน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำไปคือการถลุงชีวิต แต่ผมก็ถลุงเพื่อทำให้เกิดชิ้นงาน เราจะถนอมชีวิตทำไม ถ้าถนอมแล้วไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมาเลย ถ้าเรามีชีวิตอยู่แค่นี้แต่มีงานออกมา แค่นี้ก็เพียงพอ”

ด้วยทัศนคติแบบที่เขาว่า ทำให้ในครั้งหนึ่งพี่ต้อตัดสินใจชุบชีวิตนิตยสาร Writer ขึ้นมาทั้งที่รู้ว่านิตยสารวรรณกรรมในบ้านเราอยู่ยากแค่ไหน และไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ สุดท้ายนิตยสารหัวนี้ก็จำต้องปิดตัว

“ผมรู้สึกว่า 4-5 ปีในการทำ Writer เป็น 4-5 ปีที่มีความหมายกับชีวิตผมมาก มีความฝันหลายอย่างที่ผมยังทำไม่ได้ แต่มันช่วยไม่ได้ที่ผมทำไม่หมด ผมมีฝีมือแค่นี้ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำ ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า มันเกิดมาอย่างมีคุณค่า

“ผมพูดตลอดว่าหนังสือเกิดมาเพื่อจะต้องตาย การตายเป็นเรื่องธรรมดาและวันหนึ่งหนังสือก็จะพบกับเรื่องธรรมดา เหมือนชีวิต วันหนึ่งต้องตาย สิ่งสำคัญคือทำยังไงให้ชีวิตมีคุณค่า วันที่ Writer ตายจากไป คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอาลัยและคิดถึง โหยหามัน เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่ามันมีความหมาย

“ชีวิตที่เกิดมามีความหมายเป็นชีวิตที่น่าดีใจนะ” พี่ต้อบอกผมด้วยแววตาที่ยืนยันว่าคิดเช่นนี้จริงๆ

วันนั้นแม้เราจะพูดคุยกันเรื่องความตาย แต่ผมกลับพบว่ามันไม่ได้เจือความเศร้าแต่อย่างใด มันกลับรู้สึกอิ่มใจด้วยซ้ำ

0

ตอนที่อยู่ในบริเวณสุสานในชุมชนมัสยิดฮารูณผมเกิดสงสัยว่า ในเมื่อแต่ละหลุมไม่มีแผ่นหินขนาดใหญ่ที่มีชื่อกำกับว่าหลุมใดเป็นที่ฝังร่างใคร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าญาติมิตรหรือคนรักของเราอยู่ตรงไหน

“เราก็จำเอาจากต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้” พี่นงผู้นำทางตอบสิ่งที่ผมสงสัยในใจ

ผมคิดตามแล้วก็นึกชื่นชมในใจถึงวิธีจดจำผู้ตายของคนในพื้นที่ และผมคิดว่าบางทีในชีวิตเราก็อาจไม่ต่างกัน

กับบางคนเราก็จำเอาจากต้นไม้ที่เขาปลูกเอาไว้


จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์
บรรณาธิการบริหาร
E-mail: [email protected]
facebook: jirabell

AUTHOR