บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในความทรงจำ | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ช่วงนี้ผมเห็นบนโต๊ะของน้องๆ ในทีมหลายคนมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางอยู่

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบนโต๊ะแต่ละคนรสชาติก็แตกต่างกันไป คนที่ชอบกินเผ็ดก็รสหนึ่ง คนที่ไม่กินเผ็ดก็รสหนึ่ง แล้วแต่ว่าใครมีรสนิยมแบบไหน นิยมรสใด

แน่นอน ไม่ใช่พวกเราไม่รู้ว่าอาหารชนิดนี้คุณค่าทางสารอาหารไม่ครบถ้วน และไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่ามันก็คล้ายๆ อาหารอีกหลายประเภทที่หากบริโภคมากเกินไปก็ไม่ดี แต่บางช่วงเวลาเราก็อนุญาตให้บางสิ่งเข้ามาอยู่ในชีวิตด้วยเหตุผลสำคัญบางประการทั้งๆ ที่รู้ข้อเสียของมัน

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ดัชนีมาม่า’ ที่ใช้อธิบายว่ายอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นสามารถสะท้อนสภาวการณ์เศรษฐกิจของประเทศได้ ว่ากันว่าปีไหนเศรษฐกิจตกต่ำ ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะพุ่งขึ้นสวนทาง–ส่วนดัชนีที่ว่าจะสะท้อนได้จริงไหมสามารถพลิกอ่านได้ใน a day ฉบับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้

แต่นอกจากประเด็นเรื่องการสะท้อนภาพใหญ่ ผมคิดว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังสามารถสะท้อนภาพย่อยอย่างวิถีชีวิตในเชิงปัจเจกได้ไม่มากก็น้อย

ใครช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไร คุณภาพชีวิตดีไหม อาจสังเกตได้จากความถี่ในการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงนั้น

อย่างช่วงไหนที่น้องๆ ในทีมยุ่งเหยิง ต้องอยู่ปิดเล่มถึงดึกดื่น หรือช่วงปลายเดือนที่ตัวเลขเงินในบัญชีของแต่ละคนเริ่มเหลือน้อยหลักเต็มที ผมจะเห็นซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางอยู่ตามมุมต่างๆ ในห้องทำงานของพวกเรา อย่างเช่นช่วงเวลานี้

อาจกล่าวได้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ในชีวิตของพวกเราอยู่แล้ว ตอนที่พวกเราประชุมก่อนทำ a day ฉบับนี้น้องๆ แต่ละคนจึงขุดเรื่องเล่าเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของตัวเองมาแชร์ได้ทันที คล้ายเราแต่ละคนมีความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งนี้เป็นของตัวเอง

และเมื่อย้อนมองไปในอดีตก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางชามที่ผมคิดถึงเช่นกัน

 

ชามที่ 1–บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอี๊

ผมเติบโตมากับอี๊หรือป้าในคำไทย และที่บ้านผมเรื่องอาหารคือเรื่องใหญ่ แม้จะไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่กับเรื่องการกินอี๊จริงจังเสมอ ตอนที่ยังมีแรง ทุกเช้าอี๊จะทำอาหารด้วยตัวเองโดยซื้อวัตถุดิบอย่างดีมาปรุง

เวลาผมเตือนอี๊ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกิน อี๊จะพูดประโยคภาษาจีนแต้จิ๋วประโยคหนึ่งกับผมเสมอๆ ซึ่งแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า “กินไปเถอะ ยังไงก็ไม่เจ๊ง ดีกว่าเอาเงินไปเล่นการพนัน”

เป็นการบอกสอนแบบจีนๆ ที่ผมจำขึ้นใจ เพราะฉะนั้นเวลาอี๊ปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ผมกิน แม้มันเป็นเมนูเรียบง่าย แต่มันไม่เคยเรียบง่าย อี๊จะเติมวัตถุดิบบางอย่างเพิ่มเติมลงไปเสมอ บางทีต้นทุนต่อชามของมันอาจจะแพงกว่าอาหารตามสั่งทั่วไปเสียอีก

และเวลาผมเห็นอาหารที่อี๊ทำ ผมจะนึกถึงคำสอนของอี๊เสมอ

 

ชามที่ 2–บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของพี่ชาย

ความสุขอย่างหนึ่งตอนเด็กๆ ของผมคือการเฝ้ารอชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยามดึก และค่ำคืนไหนที่รู้ว่ามีการถ่ายทอดสด พี่ชายผมที่ช่วงเวลาหนึ่งเคยอาศัยอยู่บ้านเดียวกันจะซื้อวัตถุดิบอย่างกะหล่ำปลีและเนื้อหมูเตรียมเอาไว้สำหรับทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินกันตอนดูฟุตบอล

ทุกวันนี้ผมกับพี่ชายแยกย้ายกันอยู่คนละจังหวัด แต่เวลาดูฟุตบอลผมยังคงคิดถึงช่วงเวลานั้นที่เมนูธรรมดาๆ มันช่างพิเศษในความรู้สึก

 

ชามที่ 3–บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของญาติที่ฮ่องกง

ตอนเด็กๆ ผมเดินทางไปฮ่องกงบ่อยครั้งเพราะมีญาติอาศัยอยู่ที่นั่น ตกดึกคืนไหนเวลาหิวญาติผมจะลุกขึ้นมาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้กิน แน่นอนว่าเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติไทยที่ญาติผมซื้อเอาไว้ และแปลกดี รสชาติเดียวกันแท้ๆ แต่เมื่อกินที่ต่างแดนผมกลับรู้สึกต่างออกไปจากตอนกินที่บ้าน

ตอนที่ชิมรสชาติอันคุ้นเคยผมรู้สึกบางอย่างซึ่งไม่แน่ใจว่ามันใกล้เคียงนิยามของคำว่าคอมฟอร์ตฟู้ดมากน้อยแค่ไหน

มันอบอุ่นใจคล้ายได้เจอคนไทยในดินแดนคนแปลกหน้า

อย่างที่บอก หลายๆ คนล้วนมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในความทรงจำ และบางคนรู้สึกผูกพันกับอาหารชนิดนี้

ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อต้องเล่าเรื่องราวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พวกเราชาว a team จะนึกถึงเรื่องราวที่น่าสนใจได้อย่างหลั่งไหล พรั่งพรู

และไม่น่าประหลาดใจ เมื่อผมหรือใครๆ ที่ได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ในเล่มจะย้อนนึกถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในความทรงจำของตัวเอง

เพราะมันอยู่ในชีวิตของพวกเราอยู่แล้ว–อยู่มานานแล้ว

AUTHOR