ภายใต้เปลือกหนาบาง เราล้วนเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

“…ท่านต้องจำไว้ว่า ข้าน่ะเป็นมนุษย์นะ”

“มนุษย์ หมายความว่าไง”

“ปัดโธ่ ก็มีอิสระไง!”

เมื่อไล่สายตาอ่าน ซอร์บา หรือ Zorba the Greek ของ Nikos Kazantzakis สำนวนแปลของ ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ ถึงบทสนทนานี้ ผมก็นึกถึงต้นฉบับนิตยสาร a day เล่ม Gender ที่เพิ่งอ่านจบก่อนส่งโรงพิมพ์ แม้ตัวนวนิยายจะไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพโดยตรงก็ตาม

ผมนึกถึงมนุษย์ทุกคนในเล่ม และมนุษย์อีกหลายชีวิตที่เคยผ่านพบ

ทั้งมนุษย์ที่เป็นอิสระในการเลือกชีวิตของตน และมนุษย์ที่กระเสือกกระสนอยู่ในคอกรั้วที่สังคมสร้างขึ้นมากักขัง

ผมเองเติบโตในครอบครัวคนจีน และอย่างที่รู้กันว่าในอดีตคนจีนต่างอยากได้ลูกชาย

อากงอาม่าของผมมีลูก 8 คน แต่คล้ายฟ้าดินต้องการมอบบทเรียนบางประการ ลูกชาย 2 คนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก ส่วนลูกอีก 6 คนที่เหลือเป็นผู้หญิงทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือแม่ของผมซึ่งเป็นลูกสาวคนสุดท้อง อีกหนึ่งคืออี๊หรือป้า ซึ่งเลี้ยงดูผมเหมือนลูกมาตั้งแต่เด็ก

ลูกสาวแท้ๆ ทั้งหกล้วนไม่มีใครได้เรียนหนังสือ คนเดียวในบ้านที่ได้เรียนหนังสือคือลูกชายบุญธรรมที่ไปขอบ้านอื่นมาเลี้ยง

นอกจากเรื่องการศึกษายังมีอีกหลายเรื่องที่ลูกสาวก็ไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมเพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง แต่แปลกที่ในวันนั้นกลับไม่มีใครในบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรบางอย่าง ต่างก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตไปราวกับมันเป็นเรื่องปกติทั้งที่เราต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่ปกติ

“ทำไมคนจีนอยากได้ลูกชายนัก” ผมถามอี๊ในเช้าวันหนึ่งเมื่อนึกถึงเรื่องนี้

“จะได้มีคนถือกระถางธูป” อี๊ตอบเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วก่อนจะเล่าถึงธรรมเนียมจีนที่ในงานศพของบุพการี คนที่จะถือกระถางธูปในพิธีกงเต๊กต้องเป็นลูกชายเท่านั้น

“แล้วถ้าเกิดบ้านนั้นไม่มีลูกชาย มีแต่ลูกสาวทำยังไง” ผมถามด้วยความสงสัย

“บางบ้านก็ไปรับเลี้ยงเด็กผู้ชายเป็นลูก หรือไม่ก็ไปจ้างคนอื่นมาถือ” สำหรับผมคำตอบวรรคหลังของอี๊น่าเศร้าเกินไป

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บ้านคนจีนแต่ก่อนอยากได้ลูกชายเป็นเพราะต่างเกรงว่าจะไม่มีผู้สืบสกุล มองว่าลูกสาววันหนึ่งเมื่อแต่งงานก็ต้องออกจากบ้าน แล้วบั้นปลายชีวิตของตนจะไร้คนดูแล โดยลืมคิดไปว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องของเพศสภาพ แต่เป็นเรื่องหัวจิตหัวใจมนุษย์

มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง จะแต่งงานออกไปจากบ้านแล้วหรือยัง แต่มันอยู่ที่ว่าคุณเป็นมนุษย์ที่พอใช้ได้หรือเปล่า ดังที่เราเห็นไม่น้อยว่าสุดท้ายหลายๆ บ้านคนที่ดูแลพ่อแม่ในบั้นปลายก็คือลูกสาวนั่นแหละ

แนวคิดที่ว่าลูกชายลูกสาวไม่เท่ากันไม่ได้หยุดอยู่แค่รุ่นอี๊ แต่ยังถูกส่งต่อยังรุ่นถัดมา หลานสาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของผมก็ล้วนไม่ได้รับการส่งเสียให้เรียนหนังสือ สูญเสียโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิต แต่ท่ามกลางเรื่องน่าเศร้ายังมีเรื่องชวนยิ้มอยู่บ้าง เมื่อพวกเธอต่างขวนขวายด้วยตัวเองจนอ่านออกเขียนได้ และทำมาค้าขายจนชีวิตประสบความสำเร็จ

แต่เหนืออื่นใด เรื่องที่น่ายินดีที่สุดหาใช่เรื่องพวกนั้นหรอก แต่เป็นการที่พวกเธอเลือกที่จะหยุดวงจรที่มองคนไม่เท่ากันไว้ที่รุ่นของตัวเอง มองว่าสิ่งที่เธอถูกปฏิบัติมามันล้าหลังแล้วในโลกปัจจุบัน ทุกวันนี้พูดได้เต็มปากว่าแต่ละบ้านปฏิบัติต่อลูกสาวกับลูกชายอย่างเท่าเทียม หรืออย่างพี่ชายแท้ๆ ของผมที่ได้ลูกคนแรกเป็นลูกสาว เขาก็ดูยินดีและรักลูกอย่างสุดหัวใจ

หากมองประเทศที่เราอยู่ร่วมกันเหมือนบ้านหลังหนึ่ง แม้เรื่องการยอมรับเพศสภาพอันหลากหลายจะเป็นเพียงประเด็นปัญหาหนึ่ง แต่มันก็สะท้อนไปยังอีกหลายๆ ปัญหาที่มีรากมาจากการมองว่าคนเราไม่เท่ากัน ซึ่งผมคิดว่าเราต้องการจุดเปลี่ยนบางอย่าง และจุดเปลี่ยนนั้นควรเกิดขึ้นในยุคสมัยของพวกเรา

การได้อ่านประสบการณ์ต่างๆ ของผู้มีเพศสภาพหลายหลากหลายคน นอกจากทำให้ผมรับรู้ถึงความกล้าหาญของคนที่ลุกขึ้นมาสร้างจุดเปลี่ยนด้วยตัวเอง มันยังช่วยเปิดกะโหลกให้ผมรับรู้ถึงแง่งามของความหลากหลาย

ที่สำคัญมันทำให้ผมตระหนักว่าภายใต้เปลือกหนาบาง เราล้วนเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน

มนุษย์ หมายความว่าไง

ปัดโธ่ ก็มีอิสระไง!

AUTHOR