เราอาจต้องประคับประคองเมล็ดพันธุ์ในใจไม่ให้เปลี่ยนไประหว่างทาง | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

“เมื่อพูดถึงไต้หวันคิดถึงอะไร”

ฟาน น้องนักออกแบบภาพประกอบในทีมที่กำลังมีผลงานหนังสือเล่มใหม่ชื่อ London Book Sanctuary โยนคำถามนี้ขึ้นมากลางห้องในบ่ายวันหนึ่ง

ในขณะที่น้องๆ หลายคนในห้องตอบออกมาได้ทันที บางคนมีมากกว่าหนึ่งคำตอบ ผมกลับคิดไม่ออกหาคำตอบไม่ได้ ด้วยในชีวิตไม่เคยไปเยือนไต้หวันมาก่อน เท่าที่เคยได้ยินข้อมูลส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องเล่าของเพื่อนฝูงและข่าวสารตามสื่อต่างๆ

จนเกือบจะยอมแพ้ ในซอกมุมหนึ่งของความทรงจำผมก็พบกับ Jimmy Liao และวง F4 แต่คาดคะเนจากอายุเฉลี่ยของคนในห้องแล้วเกรงว่าหากตอบชื่อหลังเสียงแอร์จะดังหลังคำตอบ ผมจึงพูดชื่อแรกออกไป–เป็นอันรอดตัว

และจากความทรงจำอันจำกัด ผมก็รู้จักแง่มุมต่างๆ ในไต้หวันเพิ่มขึ้นจากการอ่านต้นฉบับนิตยสารที่พวกเราทำ โดยเฉพาะเจาะจงลงไปที่ไทเป

ยิ่งอ่านยิ่งมีเรื่องให้คิดถึง

“ที่นั่นใครชอบอะไร เชื่ออะไร ก็ทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สิ่งที่ตัวเองชอบ สร้างพื้นที่ของตัวเอง” น้องในทีมที่บินไปไทเปเพื่อเก็บข้อมูลตั้งข้อสังเกตด้วยเห็นว่าอาจจะเป็นเมสเซจสำคัญของเล่ม

เมื่อได้ยินผมทั้งเห็นด้วยและเห็นเสริม

ใช่–ผมเห็นด้วย เรื่องราวต่างๆ ในเล่มนี้ยืนยันว่า หากเรามองมนุษย์คล้ายเมล็ดพันธุ์ ไทเปก็เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ชัดเจนว่าตัวเองอยากฝังตัวในพื้นที่แบบไหน เติบโตอย่างไร

ส่วนที่เห็นเสริม ผมคิดว่าคงไม่ใช่แค่ที่นั่นหรอก ทุกเมืองรวมถึงประเทศไทยก็ล้วนมีเมล็ดพันธุ์เช่นนี้ มากบ้างน้อยบ้างอาจต่างกันไป แต่มี

อาจเป็นเรื่องโชคดีของผมและเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ด้วยหน้าที่การงานได้พัดพาให้เราไปพบเจอกับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น เราได้ยินได้ฟังกลุ่มคนที่พยายามขับเคลื่อนวงการที่ตัวเองอยู่อาศัยชนิดเอาชีวิตเข้าแลก

เอาชีวิตเข้าแลกในความหมายที่ว่า ไม่ว่าสิ่งที่ทำอยู่จะมีความสำเร็จรออยู่ที่ปลายทางไหม หรืออาจเป็นความพ่ายแพ้ที่รออยู่ก็ได้ พวกเขาก็พร้อมฝากชีวิตไว้กับสิ่งนั้น

หากแต่อย่างที่รู้กัน สิ่งที่ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามหาใช่อาศัยเพียงเมล็ด แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมาก ดินดีหรือไม่ แสงแดดหรือฝนพอเหมาะหรือเปล่า ซึ่งในไทเปเอง เมื่อเมล็ดพันธุ์ดีบรรจบพบเจอกับดินอุดมสมบูรณ์อย่างโครงสร้างต่างๆ ในประเทศที่ส่งเสริมเกื้อกูล มันจึงออกดอกออกผลให้ผู้คนได้เก็บเกี่ยว

และนั่นอาจเป็นสิ่งที่แตกต่างจากบ้านเรา

เล่าถึงตรงนี้ผมคิดถึงใครบางคนที่ด้วยวิชาชีพทำให้เราได้พบกัน

ครั้งหนึ่งผมเคยคุยกับพี่ต้อง–ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล แห่งสำนักพิมพ์สมมติ หนึ่งในเมล็ดพันธุ์สำคัญที่ขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมในบ้านเรา วันนั้นเขาเล่าว่าแต่ก่อนเขาเคยเชื่อว่าการทำหนังสือที่ดีจะเปลี่ยนสังคมได้ แต่เมื่อเจอความจริงในบ้านเราเข้ามาปะทะทำให้เขามองสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม

“การไปคาดหวังว่าเราจะเปลี่ยนบางอย่างด้วยสิ่งเล็กๆ ที่ทำมันยากมาก เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่โครงสร้างมันบิดเบี้ยวไปหมด ถ้าพูดง่ายๆ คือมันไม่มีโครงสร้างอะไรสักอย่างในสังคม ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ครัวเรือน ชุมชน มันไม่มีเลย ระบบมาแบบไหน โครงสร้างมาแบบไหน ถ้าคุณทำสิ่งเล็กๆ แล้วคาดหวังว่าจะเปลี่ยน ผลลัพธ์มันก็ไม่มีความหมาย ถ้าจะเปลี่ยนคุณต้องถอนรากถอนโคนถึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งพอพูดแบบนี้ก็เท่ากับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่มีใครถอนรากถอนโคนอะไรสักอย่างได้”

อีกครั้งหนึ่ง ตอนทำ a day เล่ม Working Culture ผมเดินทางไปยังสำนักงาน WAY คุยกับพี่คม–อธิคม คุณาวุฒิ อีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์สำคัญในวงการสื่อบ้านเรา ซึ่งวันนั้นบรรณาธิการผู้นี้ก็พูดในประเด็นคล้ายกัน

“ตอนทำ WAY แรกๆ เราเพิ่งอายุสามสิบกลางๆ ก็ไปขอต้นฉบับพี่เสก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) เขาก็ถามว่า ‘คุณทำหนังสือเล่มนี้ทำไม’ เราก็บอกไปว่า ‘ผมอยากเปลี่ยนสังคมครับพี่เสก’ เรารู้สึกว่าตอนนั้นเราอ่อนหัดในการตอบคำถามมาก เพราะเราก็ตอบไปซื่อๆ เรายังไม่ถูกเคี่ยวกรำจนเข้าใจอะไรบางอย่าง ตอนนี้ถ้าถามว่าเราจะเปลี่ยนอะไรได้ไหม เราไม่กล้าพูดคำนั้น แต่สิ่งที่เราทำก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เราไม่เคยบอกว่าจะต้องปลง ต้องแพ้ แล้วก็อยู่ไปอย่างซังกะตาย”

จากสิ่งที่ได้ฟังมันทั้งมีความหวังและชวนเศร้าใจ เรามีความหวังเมื่อเห็นเมล็ดพันธุ์ที่แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่รู้ว่าสู้ไปอาจเหนื่อยเปล่าก็ยังมุ่งมั่นทำสิ่งที่เชื่อ แต่ก็น่าเศร้าที่ดินในบ้านเราไม่ได้เอื้อให้ดอกผลงอกงามอย่างที่ควรจะเป็น–บางครั้งมันให้ผลตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ

“ถ้าไม่พูดว่าทำเพื่อเปลี่ยนอะไร แล้วทุกวันนี้ทำเพื่ออะไร” วันนั้นผมถามบรรณาธิการตรงหน้าด้วยสงสัยว่าในบ้านเมืองที่ใครหลายคนผิดหวังกับโครงสร้างของประเทศ เมล็ดพันธุ์อย่างเขาดีลกับดินที่อยู่อย่างไร

“ถ้าพูดแบบจิ๊กโก๋กวนตีน เราก็จะบอกว่าก็ทำเพื่อไม่ให้มันมาเปลี่ยนเรา ไม่ให้สิ่งแวดล้อมภายนอกมาเปลี่ยนเรา กูเปลี่ยนมึงไม่ได้ มึงก็เปลี่ยนกูไม่ได้”

อาจเป็นเช่นนั้น ต้องเป็นแบบนั้น ระหว่างที่เรากำลังเฝ้าฝันถึงดินที่ดีกว่าเดิม เราอาจต้องประคับประคองเมล็ดพันธุ์ในใจไม่ให้มันแปรเปลี่ยนไประหว่างทาง

AUTHOR