เรื่องรักบนลายกระเบื้อง : ความสัมพันธ์ของหญิงพื้นเมืองและหนุ่มชาวดัตช์ในสมัยอยุธยา

เรื่องรักบนลายกระเบื้อง : ความสัมพันธ์ของหญิงพื้นเมืองและหนุ่มชาวดัตช์ในสมัยอยุธยา

เรื่องความรักมักสอดแทรกอยู่เสมอในงานพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะในรั้ววังเจ้านาย ไปจนถึงใต้ชายคาชาวบ้านทุกชนชั้น บอกได้เลยว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ถือเป็นอีกแรงผลักดันสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ส่วนวาระนี้ที่จะต้องเลือกของหนึ่งชิ้นมาเล่าเรื่องให้เข้ากับธีมเดือนแห่งความรัก ก็จะขอเลือกของแปลกๆ เพื่อเล่าถึงความรักแปลกๆ ในอดีตกันบ้าง ซึ่งของชิ้นนี้เราได้ไปเจอมาในพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี่เอง

ถ้าพูดถึงอยุธยาแล้ว นอกจากอุทยานประวัติศาสตร์และวัดวาทั้งหลาย บางคนอาจนึกถึงพิพิธภัณฑ์อย่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา หรือไม่ก็หมู่บ้านญี่ปุ่น แต่วันนี้เราขอนำเสนออีกมิวเซียมที่จัดแสดงจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของอดีตอันรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าของกรุงศรีอยุธยา นั่นก็คือ ‘บ้านฮอลันดา’ หรือบางคนรู้จักในชื่อ ‘หมู่บ้านชาววิลันดา’ ตั้งอยู่ริมน้ำถัดมาจากวัดพนัญเชิงแค่ 300 เมตร แถมมีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199)

ถ้าใครเคยดูละคร บุพเพสันนิวาส จะทราบว่า ในยุคนั้นมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขายและปักหลักอยู่มากมายหลายชนชาติ ทั้งญี่ปุ่น โปรตุเกส แขกมัวร์ จีน รวมไปถึงชาวฮอลันดา จากฮอลแลนด์ (หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ชาวดัตช์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์) ด้วย โดยแต่ละเชื้อชาติล้วนมีชุมชนของตนเอง ส่วนมากอยู่ทางใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อย่างฮอลันดานั้นได้รับพระราชทานที่ดินและพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างสถานีการค้าขึ้นบนเนื้อที่ 8 ไร่ ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการสร้างตัวอาคารและหมู่บ้านล้อมรอบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2173 โดย Nicolas Gervaise มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส เคยเขียนบรรยายไว้ว่า ที่อยู่ของชาวฮอลันดาบนชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหมู่บ้านที่สวยงามและใหญ่โตที่สุดในราชอาณาจักร

เสียดายว่านอกจากคำบอกเล่าและจดหมายเหตุแล้ว นักโบราณคดีไม่มีหลักฐานรูปภาพของตึกสถานีการค้าและชุมชนนี้หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่พอจะขุดเจอระหว่างการสำรวจโดยกรมศิลปากร คือรากฐานแนวอิฐของอาคาร แนวการวางท่อระบายน้ำ และวัตถุมีค่าต่างๆ เช่น เครื่องเคลือบจีน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องยาสูบดัตช์ และเหรียญเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเพื่อการค้าขายจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ทั้งสิ้น

แม้จะไม่เหลือตัวตึก แต่ของชิ้นหนึ่งที่ขุดเจอก็บ่งบอกถึงบริษัทที่เคยทำการอยู่ในอาคารนั้นได้อย่างดี วัตถุที่เรากำลังพูดถึงคือเครื่องถ้วยเดลฟต์ ซึ่งเป็นเครื่องเคลือบสีขาว-ฟ้า อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเดลฟต์ (Delft Blue) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เขียนลายโลโก้สัญลักษณ์ตัวอักษร VOC ไขว้กันเอาไว้ ซึ่งอักษรย่อนี้มาจากชื่อเต็มของ บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ Verenigde Oost-Indische Compagnie ที่ค้าขายและมีสัมพันธ์กับสยามบนที่ดินผืนนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2147 ไปจนถึงช่วงเสียกรุง พ.ศ. 2308 นับเป็นเวลายาวนานกว่า 160 ปี และเนื่องจากตัวละครสำคัญของเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริษัทนี้ จึงต้องขออธิบายเพิ่มเติมต่อกันอีกสักนิดว่าพวกเขาเป็นใคร แล้วมาทำอะไรกันในสยามด้วย

บริษัท VOC ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2145 เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทการค้าสมัยใหม่ในยุคนั้นที่เข้ามาดำเนินกิจการในเอเชีย รัฐบาลดัตช์ให้อำนาจแก่ VOC ในการทำการค้า การสร้างป้อมปราการ การควบคุมกองกำลังทหาร การแต่งตั้งผู้ว่าการ การทำสงคราม และการเจรจาสนธิสัญญาต่างๆ ในนามของรัฐบาล ครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่แหลมกู๊ดโฮปจรดญี่ปุ่น VOC ถือได้ว่าเป็นบริษัทคู่ค้าชาวตะวันตกที่สำคัญรายหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม โดย VOC ซื้อดีบุก (เอาไปทำลังใส่ชา), หนังกวาง (ญี่ปุ่นเอาไปทำชุดซามูไร), หนังปลากระเบน (ญี่ปุ่นใช้ในการทำด้ามดาบ), ไม้ฝาง (ทำสีย้อมผ้า) ข้าว และสินค้าอื่นๆ อีกมายมายจากสยาม และยังได้สิทธิ์ผูกขาดในการค้าขายหนังสัตว์ให้ญี่ปุ่น ทำให้ VOC สามารถสร้างกำไรมหาศาล นอกจากการเป็นผู้ส่งออกแล้ว ดัตช์ยังนำเข้าสินค้ามีค่า แปลกใหม่ และสวยงาม มาสู่สยามอีกด้วย เช่น ผ้าพิมพ์ลายจากอินเดีย เงินจากญี่ปุ่น กล้องส่องทางไกล เครื่องแก้ว ฯลฯ

นอกจากค้าขายและจัดสรรเสบียงแก่เรือขนส่งแล้ว อีกหนึ่งในหน้าที่ของสถานีการค้านี้คือการเขียนบันทึกและจดหมายส่งกลับไปที่ยุโรป ซึ่งบันทึกเหล่านี้มีความสำคัญจนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของยูเนสโก (Memory of the World Resources) เพราะนอกจากจะทำให้โลกตะวันตกได้รู้เรื่องเกี่ยวกับสยามแล้ว ยังช่วยให้นักประวัติศาสตร์ไทยสามารถปะติดปะต่อเหตุการณ์และวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากในบันทึกมิได้มีเพียงแค่ข้อมูลทางการค้าเท่านั้น แต่ยังบันทึกเรื่องราวทางการทูต ประวัติศาสตร์ และสังคมในราชอาณาจักรสยามเอาไว้ด้วย สิ่งนี้ทำให้เราทราบว่าชาวดัตช์นั้นมีส่วนร่วมกับชุมชนสยามและมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับราชสำนัก ขนาดที่หัวหน้าสถานีการค้า VOC หลายๆ คนได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์จากพระมหากษัตริย์ไทย อีกทั้งยังได้รับเชิญในพระราชพิธีต่างๆ เช่น การรับคณะทูตต่างประเทศ งานกฐินพระราชทาน งานพระราชเพลิงศพ

แน่นอนว่า การทูตที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศนั้นย่อมต้องมีคนภายในช่วยเหลือ หนึ่งในนั้นคือนางเอกของเรา แม่ค้าชาวมอญ ชื่อ ออสุต พะโค ผู้แหกกฎหมายสยามข้อที่ว่า ห้ามหญิงพื้นเมือง (ไทย มอญ และ ลาว) อยู่กินกับชาวต่างชาติที่มีความเชื่อนอกลู่นอกทาง (มิจฉาทิฐิ) แต่แม่นางออสุตนั้นกลับอยู่กินกับหัวหน้าสถานีการค้า ชื่อ Jeremias van Vliet จนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน มิหนำซ้ำนางยังเป็นคนช่วยสามีเจรจาค้าขายกับราชสำนักโดยอาศัยความรู้ภาษาไทยและเส้นสายในวังของเธอ นอกจากนี้ด้วยสถานะภรรยาของหัวหน้าสถานีการค้า นางออสุตยังสามารถผูกขาดการขายเสบียงอาหารให้กับลูกจ้างของบริษัท VOC ด้วย

ต่อมาไม่นานเรื่องยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อนายเยเรเมียส หมดวาระจากตำแหน่งและต้องการที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด นางออสุตได้ตัดสินใจอยู่กินกับหัวหน้าสถานี VOC คนใหม่ นั่นคือ Jan van Muijden แถมยังผิดใจกับคนรักเก่าเรื่องอนาคตของลูกสาวของตน โดยนายเยเรเมียสต้องการให้ลูกได้รับการเลี้ยงดูแบบคริสเตียน ห่างไกลจากวิถีนอกรีตของสยาม ส่วนออสุตก็ต้องการเก็บลูกไว้กับตัว ว่ากันว่าเธอพยายามใช้เส้นสายขัดขวาง จนในที่สุดลูกสาวก็ไม่ได้ไปอยู่กับเยเรเมียส และไม่ได้ไปโตในวิถีคริสเตียนที่เมืองปัตตาเวีย (เมืองขึ้นใหญ่ของดัตช์ที่อินโดนีเซีย) ตามบันทึกแล้วจะเห็นว่า ราชสำนักสยามมักจะปฏิเสธให้เด็กเลือดผสมเดินทางติดตามบิดาของตนออกนอกราชอาณาจักร เพราะกลัวจะเสียความลับของสยามแก่ชาวต่างชาติ แถมในช่วงที่ทำศึกกับพม่า ราชสำนักยังมีแผนที่จะจับเด็กเลือดผสมไว้เป็นตัวประกันเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวดัตช์หนีเอาตัวรอดออกไปด้วย สุดท้ายแล้ว ชาว VOC ตัดสินใจแอบหนีขึ้นเรือออกไปกลางดึกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2308 ทิ้งไว้เพียงลูกจ้างชาวพื้นเมืองและตัวตึกของสถานีการค้า ซึ่งทั้งหมดถูกถูกเผาเหลือเพียงเถ้าถ่านในเวลาต่อมา

ตัดภาพมาใน พ.ศ. 2547 สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์และเจ้าฟ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเนื่องในวโรกาสครบรอบ 400 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงสัมพันธ์อันดีและความเป็นมิตรอันยาวนานระหว่างสองราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์พระราชทานเงินทุนเพื่อศึกษาและก่อสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา บนพื้นที่สถานีการค้าเก่าให้เป็นของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และประชาชนชาวไทยด้วย

แม้ว่าเรื่องของ ‘ออสุต’ อาจจะจบไม่สวยเหมือน ‘ออเจ้า’ แต่ก็มีความน่าสนใจในฐานะส่วนสำคัญหนึ่งของความรักความสัมพันธ์ตลอด 400 ปี ของทั้งสองประเทศเหมือนกันนะ เอาเป็นว่าถ้าใครแวะไปอยุธยา ก็อย่าลืมแวะไปดูเครื่องถ้วยของ VOC ที่เราพูดถึง ที่นี่นอกจากจะมีนิทรรศการแล้ว ก็ยังมีกาแฟดัตช์ที่เข้มข้นไม่แพ้กัน แถมมีวิวริมแม่น้ำที่สุดโรแมนติก น่าควงแขนคนพิเศษไปฟินด้วยกันอย่างยิ่ง

AUTHOR