คุณจะแปลกใจไหม หากเราจะบอกว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชนแห่งแรกในเกาะอังกฤษตั้งอยู่ในโรงพยาบาล
ฟังไม่ผิดหรอก Foundling Hospital ไม่ใช่แค่องค์กรการกุศลเพื่อเด็กแห่งแรก แต่ยังเป็นองค์กรสุดสร้างสรรค์ที่ริเริ่มอะไรอย่างแรกขึ้นอีกมากมายในอังกฤษ วันนี้เราเลยมาที่ Foundling Museum เพื่อเรียนรู้ความคิดที่อยู่เบื้องหลังโรงพยาบาลแห่งนี้
ตอนแรกเราคิดว่าพิพิธภัณ์ฑ์เกี่ยวกับเด็กกำพร้าคงเต็มไปด้วยเรื่องบีบหัวใจหรือเรื่องสยองขวัญ แต่กลายเป็นว่าที่นี่มีหลายแง่มุมน่าสนใจอย่างคาดไม่ถึงเลย
ก่อนจะเล่าว่าศิลปะเกี่ยวอะไรกับเด็กๆ เราขอเล่าถึงที่มาของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้กันก่อน
ย้อนเวลากลับไปลอนดอนในช่วงปี 1700 ที่เศรษฐกิจบ้านเมืองกำลังเฟื่องฟู จำนวนคนรวยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในด้านมืดอีกมุม กรุงลอนดอนก็เป็นสลัมที่เต็มไปด้วยคนจน คนติดเหล้า การพนัน และยาเสพติด ทำให้ในช่วงนั้นมีแม่จำนวนมากที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือไม่มีเงินเลี้ยงลูก เด็กมากมายจึงถูกทิ้งให้มีชีวิตตามลำพังบนท้องถนน (นึกถึงฟีลลิ่งแบบ Oliver Twist น่ะ)
เจ้าของธุรกิจต่อเรือผู้มั่งคั่งนามว่า Thomas Coram จึงอยากเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เขาเลยตั้ง Foundling Hospital ขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กกำพร้าเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีประโยชน์กับสังคม โดยเปิดให้แม่ที่ไม่ต้องการเด็กนำทารกมาบริจาคได้ที่โรงพยาบาล โดยมีข้อแม้ว่าเด็กต้องเปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่เพื่อตัดขาดความเป็นแม่ลูกอย่างสมบูรณ์ มีเพียงสิ่งเดียวที่ใช้ยืนยันความสัมพันธ์กับครอบครัวเดิมคือ Billet ซึ่งเป็นสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเด็ก เผื่อวันหนึ่งญาติกลับมารับจะได้ตามตัวกันได้ถูก
Billet เป็นได้ตั้งแต่เศษผ้า เหรียญ เครื่องประดับ หรือของใช้ชิ้นเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน พอมาถึงยุคนี้พวกมันเลยกลายเป็นเครื่องบันทึกชีวิตคนในยุคนั้นได้อย่างดีเลย
ในมิวเซียมมีแสดงบิลเลตชี้นแปลกๆ และน่าสนใจมากมาย ชิ้นที่เราคิดว่าหรูหราที่สุดคือกล้องสำหรับดูโอเปร่า ถ้ารวยขนาดนั้นทำไมถึงเอาลูกมาทิ้งล่ะคะ ส่วนชิ้นที่เราเห็นแล้วสะเทือนใจที่สุดคือเปลือกเฮเซลนัตที่โดนเจาะรู คิดดูว่าแม่ต้องจนแค่ไหนถึงเลือกใช้สิ่งนี้เป็นของประจำตัวลูกนะ
นอกจากบิลเลต ที่นี่ยังจัดแสดงชุดเครื่องแบบของเด็กๆ ในยุควิกตอเรีย บรรยากาศห้องนอน อาหาร และความทรงจำของผู้ใหญ่ ที่เคยมีชีวิตอยู่ที่นี่สมัยเด็ก
นิทรรศการตัดอารมณ์เศร้าของเราด้วยความท้าทายครั้งใหญ่ของโรงพยาบาล เมื่อหลายปีต่อมาหลังก่อตั้ง องค์กรการกุศลก็เริ่มผุดขึ้นในลอนดอนเป็นดอกเห็ด William Hogarth ศิลปินรุ่นเก๋าในยุคนั้นที่เป็นหนึ่งในทีมบริหารโรงพยาบาลเลยปิ๊งไอเดียชวนศิลปินดังมาสร้างงานที่ได้แรงบันดาลใจจากเด็กๆ แล้วเปิดแสดงเป็นแกลเลอรี่ เพื่อนำค่าเข้าชมและเงินจากการขายภาพมาเป็นรายได้เสริมให้โรงพยาบาล
งานนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะได้เงิน ศิลปินยังได้หน้าและได้โปรโมตตัวเองด้วย
ศิลปินที่มาแจมมีทั้งนักดนตรี นักร้อง ช่างฝีมือ นักวาด นักเขียน เช่นศิลปินดังในยุคนั้นอย่าง Joseph Highmore จนเวลาผ่านไปแนวคิดของโฮการ์ธได้ถูกหยิบกลับมาใช้อีกครั้งด้วยคุณ Caro Howell ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนปัจจุบัน เราจึงจะได้เห็นงานศิลปินร่วมสมัยอย่างงานของลุง Quentin Blake นักวาดภาพประกอบคนโปรดของเรามาร่วมด้วย
และที่กรี๊ดสุดคือ Jacqueline Wilson นักเขียนเจ้าของวรรณกรรมเยาวชนที่เราตามอ่านทุกเล่มก็เคยมาทำงานให้ที่นี่ด้วย คุณป้ามาเขียนหนังสือชื่อ Hatty Feather เรื่องราวของเด็กสาวกำพร้าที่อยู่ที่นี่ในยุควิกตอเรีย หนังสือเล่มนี้ดังมากจนมีภาคต่ออีก 3 เล่ม และกลายเป็นซีรีส์ในทีวีด้วย คงไม่ต้องเล่าต่อว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักและเรียกเงินบริจาคเพิ่มได้เท่าไหร่
นอกจากศิลปินคนดัง ตอนนี้ที่มิวเซียมมีจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหลายชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเด็กๆ เช่นงานที่ชวนน้องใน Thomas Coram Nursery มาเล่าความรู้สึกตอนที่มีผู้ใหญ่ใจดีส่งเข้านอน แล้วอัดเป็นคลิปเสียงเปิดในนิทรรศการ พร้อมให้น้องๆ วาดรูปพวกเขาเหล่านั้นบนตะเกียงกระดาษแล้วแขวนไว้ให้เหมือนกล่องกำลังล่องลอยในอากาศ
ยังมีงานอีก 2 ชิ้นที่ช่างทำปฏิกิริยากับหัวใจได้ดีเหลือเกิน ชิ้นแรกคืองานที่ชวนเด็กกำพร้าในโรงพยาบาล Great Ormond Street Hospital มาเล่าเรื่องราวของผู้คนในโรงพยาบาลที่ช่วยเยียวยาพวกเขา แล้วพิมพ์เป็นข้อความสั้นๆ ลงบนพลาสเตอร์ เช่นคำว่า I cry and he held me, Daddy hugs me asleep, stranger sat with me. และ She said don’t be scared.
ส่วนอีกชิ้นก็ให้เด็กๆ จินตนาการถึงยาที่มีสรรพคุณวิเศษ เช่นยาที่ทำให้บินได้ ยาที่ทำให้ได้กลับบ้านวันนี้ หรือยาที่ทำให้พวกเขาได้วิ่งและเต้นรำ (ในฉลากเขียนว่าตัวยาทำจากเสือดาว จอร์จเพื่อนสนิท พี่สาว มัมมี่ และน้ำหอม!)
เพื่อนฉันคนหนึ่งเคยบอกว่า Art is not for everyone. เพราะงานศิลป์บางชิ้นแอบสแตรกต์เกิ๊น มันเลยไม่สื่อสารกับคนดู ซึ่งฉันเห็นด้วยกับเธอสุดๆ เพียงแต่คิดว่าถ้าเราเรียนศิลปะเพื่อฝึกวิธีเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ เรื่องราวนั้นอาจน่าสนใจจนเข้าถึงจิตใจคนได้ และมันอาจช่วยให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นสะพานให้คนต่างถิ่นอย่างเราเต็มใจรับฟังและเข้าใจโลกของเด็กๆ มากขึ้นก็ได้
‘ศิลปะมันมีพลังขนาดนั้นเชียวล่ะ’ The Foundling Museum บอกฉันแบบนี้
The Foundling Museum
address: 40 Brunswick Square, Bloomsbury, London, WC1N 1AZ, UK
hours: วันพุธถึงเสาร์ 10:00 – 17:00 น., วันอาทิตย์ 11:00 – 17:00 (ปิดวันจันทร์)
how to get there: นั่งรถไฟใต้ดินมาขึ้นที่สถานี Russell Square เดินต่อมาราว 4 นาที มิวเซียมอยู่ติด Brunswick Square Gardens
ใครอยากส่งเรื่องสถานที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย