ไม้กฤษณา : จากไม้หอมราคาแพงสู่ยากฤษณากลั่นตรากิเลนที่สร้างชื่อให้ตระกูลโอสถานุเคราะห์

ไม้กฤษณา : จากไม้หอมราคาแพงสู่ยากฤษณากลั่นตรากิเลนที่สร้างชื่อให้ตระกูลโอสถานุเคราะห์

ไม่นานมานี้เราได้รับภารกิจเป็นภัณฑารักษ์ จัดหาและคัดสรรข้อมูลของนิทรรศการใน ‘ร้านขายยาเต็กเฮงหยู’ ที่กลับมาเปิดกิจการในอีกพื้นที่ประวัติศาสตร์อย่าง ล้ง 1919 ทำให้เราต้องค้นคว้าข้อมูลว่าด้วยยาสมุนไพร อีกทั้งความเป็นมาของชาวจีนโพ้นทะเลที่นำสูตรยาจากแผ่นดินใหญ่มาเผยแพร่ในเมืองไทย

ค้นไปค้นมาก็ไปเจอขุมทรัพย์เข้าจนได้

ซึ่งขุมทรัพย์ที่ว่านี้ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือเครื่องเงินเครื่องทอง แต่เป็นไม้กฤษณา (沉香木) ที่มีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละหลายหมื่นบาท!

ไม้กฤษณา พิพิธภัณฑ์

ไม้ในสกุลกฤษณา (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Thymelaeaceae Genus: Aquilaria) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูง 18-21 เมตรขึ้นไป มีปรากฏอยู่ทั่วโลกประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย 

ตามจารึกแล้ว ไม้กฤษณาเป็นไม้ที่ถูกกล่าวถึงนับแต่ครั้งพุทธกาล ในฐานะของที่มีค่าหายาก ราคาแพงดั่งทองคำ เป็นหนึ่งในเครื่องหอมธรรมชาติสี่อย่างที่เรียกว่า จตุรชาติสุคนธ์ (กฤษณา กะลำพัก จันทน์ และดอกไม้) ในประเทศไทย ไม้กฤษณาเป็นสินค้าต้องห้ามของประชาชนทั่วไปเพราะมีกฎหมายให้ค้าขายได้เฉพาะกษัตริย์มาตั้งแต่โบราณ ต้นกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม้กฤษณาถูกใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการและเป็นสินค้าส่งออกไปเมืองจีนด้วย

ลักษณะของพรรณไม้ในสกุลนี้ ปกติจะมีเนื้อไม้สีขาว แต่เมื่อเกิดบาดแผล ต้นไม้จะหลั่งน้ำมันสีดำออกมา (บ้างเรียกว่า ‘เกิดกฤษณา’) ก่อให้เกิดเป็นไม้สีดำมีกลิ่นหอม เมื่อเป็นลักษณะนี้แล้วจึงเรียกกันว่าไม้กฤษณา อย่างไรก็ดี ไม้กฤษณาโดยทั่วไปที่ขึ้นตามธรรมชาติจะใช้เวลาถึง 20-30 ปี ถึงจะมีกลิ่นหอมตามมาตรฐาน ในปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยโดยการฉีดสารเร่งความหอมที่เหมาะกับการทำน้ำหอม โดยจะใช้เวลาปลูกเพื่อใช้งานได้ภายใน 6-8 ปี ผลผลิตที่สามารถนำมาใช้ได้นั้นมีตั้งแต่ราก แก่นไม้ ผลกฤษณา ใบและดอกกฤษณา แต่สิ่งที่ขายได้ราคามากที่สุดคือน้ำมันที่สกัดได้จากตัวไม้ ถือเป็นหนึ่งในน้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพงที่สุดในโลก (4-5 แสนบาทต่อลิตร!)  โดยเราจะสามารถตรวจสอบคุณภาพได้โดยการทิ้งท่อนไม้ลงในน้ำ ถ้าท่อนไม้จมน้ำจะถือว่ามีคุณภาพดีเลิศ เกรด 1 มักมีเนื้อไม้มีสีดำเข้มและกลิ่นหอมมาก ถ้าท่อนไม้เริ่มลอยปริ่มน้ำ ชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำเงินเข้ม ถือเป็นไม้กฤษณาคุณภาพรองลงมา ส่วนถ้าท่อนไม้ลอยน้ำ เป็นไม้กฤษณาคุณภาพต่ำนั่นเอง  

ไม้กฤษณานั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์มากมายในหลายวัฒนธรรม เช่น ชาวอาหรับนิยมนำมาใช้จุดในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้ประทินผิว ชาวมุสลิมใช้ในฐานะไม้มงคลในพิธีกรรมทางศาสนา ชาวฮินดูใช้ผงไม้บดโรยบนเสื้อผ้าหรือร่างกายเพื่อกำจัดหมัดและเหา ส่วนชาวจีนชื่อว่าไม้กฤษณามีสรรพคุณมากมาย ทั้งบำรุงธาตุ ขับลม ช่วยแก้คลื่นไส้อาเจียน หอบหืด แก้ไข้ บำรุงตับ ปอด ท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาโรคในลำไส้ โรคกระเพาะอาหาร

ไม้กฤษณา พิพิธภัณฑ์

ในนิทรรศการของร้านขายยาเต็กเฮงหยู เราจะเห็นว่าไม้กฤษณาได้ถูกนำมาใช้เป็นพระเอกในกรรมวิธีการผลิต ‘ยากฤษณากลั่นตรากิเลน’ เคียงข้างกับสมุนไพรอีก 12 ชนิด โดยสูตรยานี้มีที่มาจากนายแป๊ะ แซ่ลิ้ม ชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เขาเคยเช่าตึกแถว 1 คูหาย่านสำเพ็งเพื่อเปิดเป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ด ตั้งชื่อร้านว่า เต็กเฮงหยู และที่ร้านแห่งนี้เอง เขาได้เลือกหยิบสูตรยาของบรรพบุรุษชาวจีนมาผลิตขายใต้ยี่ห้อ ‘ตรากิเลน’ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สัตว์มงคลของจีนด้วย

โดยกรรมวิธีผลิตยากฤษณากลั่นตรากิเลนนั้นเริ่มจากการนำส่วนผสมสมุนไพรมาบดให้ได้ขนาดที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปชั่ง ล้าง และนำไปหมักในแอลกอฮอล์เพื่อให้ตัวน้ำมันละลายออกมาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน ก่อนที่จะนำมาบรรจุขวดขายตามหลักสุขอนามัย (ว่ากันว่า ยากฤษณาเวอร์ชั่นปัจจุบันนี้ก็ยังใช้สูตรเดิม ทำให้มีแอลกอฮอล์ในยาสูงถึง 54 เปอร์เซ็นต์)

ไม้กฤษณา พิพิธภัณฑ์

สรรพคุณแก้ท้องร่วงของยากฤษณากลั่นได้เป็นที่รู้จักขจรขจายกว้างขวางเมื่อกองเสือป่าหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้นำไปใช้ขณะเกิดโรคท้องร่วงรุนแรงระบาดระหว่างซ้อมรบที่ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2455  โดยเสือป่าที่รับประทานยากฤษณากลั่นทุกคนหายจากโรคท้องร่วงเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อความทราบถึงรัชกาลที่ 6  พระองค์จึงทรงแนะนำให้ทหารและเสือป่าใช้ในกิจการ และทรงกล่าวถึงยานี้ไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ กันป่วย อีกด้วย อีกทั้งยังทรงแต่งตั้งนายแป๊ะให้เป็นมหาดเล็ก และต่อมาพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า ‘โอสถานุเคราะห์’ นำมาสู่ชื่อเสียงและความสำเร็จของห้าง ‘โอสถสภา’ ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ ด้วยมูลค่าไม้กฤษณาที่มีราคาสูงสวนกับเวลาเพาะปลูกที่นาน จำนวนไม้หอมชนิดนี้ในป่าจึงเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง ถึงขนาดที่ต้องมีการกำหนดให้ไม้กฤษณาและผลิตภัณฑ์เป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 หรือพืชใกล้สูญพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช ปี 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส ดังนั้นการทำการค้าระหว่างประเทศจะต้องขอหนังสืออนุญาตจากสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรทุกครั้ง ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนไม้ที่ปลูกกับไซเตสไว้ครั้งแรกจำนวน 7,404,452 ต้น ปัจจุบันมีการปลูกทั่วประเทศประมาณ 15 ล้านต้น แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาดที่ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้เกิดขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้หอมจากป่าสงวนอย่างผิดกฎหมาย เกิดกรณีปะทะกันกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตป่าสงวนของหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ จันทบุรี นครนายก ฯลฯ หลายๆ ครั้งก็รุนแรงขนาดที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายด้วย

ไม้กฤษณา พิพิธภัณฑ์

เราขอแนะนำว่า ถ้าใครสนใจอยากเรียนรู้ว่าไม้กฤษณานั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องไปบุกป่าสงวน คุณสามารถไปที่ล้ง 1919 เข้าชมนิทรรศการว่าด้วยยากฤษณากลั่นตรากิเลนของ ร้านขายยาเต็กเฮงหยู (อยู่ใต้ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว) ได้ทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใครใจกล้าก็สามารถลองซื้อยากฤษณากลั่นของเขามาลองชิมดูด้วยนะ ขอบอกเลยว่าเราลองใช้แล้ว ดีจริงอะไรจริง!

AUTHOR