วิภู ศรีวิลาศ : ศิลปินที่ปั้นบทสนทนาด้วยดินเหนียวและความหลากหลายของมนุษย์

Highlights

  • วิภู ศรีวิลาส คือศิลปินเซรามิกไทยในออสเตรเลียผู้ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี และเคยจัดแสดงผลงานและทำเวิร์กชอปในหลายประเทศทั่วโลก
  • นอกจากผลงานของตัวเอง วิภูยังชอบชวนผู้คนมาทำงานศิลปะร่วมกัน เช่น งานชุด THAI NA TOWN – LITTLE OZ ที่เขาชวนคนไทยในออสเตรเลียมาปั้นสิ่งที่คิดถึงในเมืองไทยและนำไปจัดแสดง
  • ล่าสุด วิภูจัดนิทรรศการเดี่ยวในเมืองไทยชื่อ 'วิวาห์พระสังข์' ที่พูดถึงการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันและความรักที่ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดพรมแดน

ชั่วโมงนี้ เป็นช่วงเวลาบ่ายแก่ในเมลเบิร์น อากาศกำลังร้อนอบอ้าว ศิลปินชายวัย 50 นั่งตัวตรงอยู่หน้าโต๊ะทำงานในสตูดิโอศิลปะส่วนตัว เขาบอกเราว่ามักเดินทางจากบ้านมานั่งทำงานเงียบๆ แทบทุกวัน เพราะสตูดิโอแห่งนี้อยู่ใกล้บ้าน และเดินทางได้ในระยะไม่เกิน 15 นาที 

เขาสวมเสื้อผ้าสบายๆ นั่งระบายสีลงบนผลงานอย่างผ่อนคลาย ว่ากันตามตรงนี่ไม่ใช่ภาพของ วิภู ศรีวิลาศ ที่เราจินตนาการว่าจะได้เห็นเป็นครั้งแรก และไม่ได้คาดไว้สักนิดว่าศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะไทยและออสเตรเลียจะให้ความเป็นกันเองกับเรามากถึงขนาดนี้

วิภู ศรีวิลาศ

วิภูเป็นศิลปินที่ทำงานเซรามิกในฐานะงานศิลปะมาตั้งแต่ยุคต้นๆ ของไทย เขาย้ายไปอยู่ออสเตรเลียได้ 25 ปีและเคยจัดแสดงผลงานและทำเวิร์กชอปในหลายประเทศทั่วโลกจนเรียกว่าเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเซรามิกไทยจากงานที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมให้เข้าใกล้ความเป็นศิลปะทีละน้อย มากกว่าการปั้นดินให้มีชีวิต แต่เขายังทำหน้าที่เป็นผู้สร้างบทสนทนาและเรื่องราวระหว่างตัวเองกับผู้ชมมายาวนาน นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่หนักแน่นมากพอให้เราเรียกวิภูว่า ‘ศิลปินนักสร้างจักรวาลของมนุษย์ด้วยดินเหนียว’

หลังเว้นการจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวในไทยถึง 4 ปี ล่าสุด เมื่อปลายธันวาคม 2562 จนถึงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาวิภูมีนิทรรศการชื่อ ‘วิวาห์พระสังข์’ จัดแสดงที่ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.) ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ทางความรักที่ไม่จำกัดเพศและไร้ซึ่งพรมแดน สิ่งสำคัญคือการที่วิภูขยับขยายวัสดุจากงานเซรามิกที่เขารักและถนัด แล้วเพิ่มเติมวัตถุดิบและเทคนิคใหม่ๆ เช่น การดรอว์อิ้ง การใช้ไม้ บรอนซ์ เหล็ก และวัสดุที่หลากหลายอื่นๆ สอดแทรกแต่งเติมเพื่อสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ๆ จนเราประหลาดใจ

หลังจากที่วิภูอวดโฉมผลงานให้คนไทยได้เห็นมานานหลายสิบปี วันนี้เราขอยกพื้นที่คำตอบให้เขาได้พูดถึงเบื้องหลังชีวิตการทำงานศิลปะที่ผ่านมาด้วยตัวเอง

วิภู ศรีวิลาศ

 

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ทำไม วิภู ศรีวิลาศ ถึงเลือกทำงานเซรามิกจนทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว

เราไม่ได้เลือก เรามีความสามารถอย่างเดียวที่คิดว่าทำแล้วเป็นประโยชน์ ถ้าไม่ทำงานศิลปะก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร หรือถ้าทำงานอย่างอื่นคงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เรามีความสุขในการทำงานตรงนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปลองอย่างอื่นเพื่ออะไร (หัวเราะ)

เรามีเหตุผลที่ทำงานเซรามิกอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือทุกครั้งเมื่อเราได้ปั้นหรือสัมผัสดินจะรู้สึกเหมือนการเล่นดินน้ำมันแล้วกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง สำหรับเราดินเป็นวัสดุที่สามารถสื่อสารความหมายและจินตนาการได้ตั้งหลายอย่าง เรามีความรู้สึกว่าจากดินเพียงก้อนเดียวเราสามารถปั้นเป็นสิ่งต่างๆ ได้มากมายไม่หมดสิ้น มันมีความมหัศจรรย์ซุกซ่อนอยู่ในนั้น

อย่างที่สองคือการทำเซรามิกต้องผ่านกระบวนการเผา เราต้องเป็นคนควบคุมเตาให้ดีซึ่งสุดท้ายก็ควบคุมได้เพียงส่วนหนึ่ง สมมติสีที่เขียนเป็นสีดำพอเผาเสร็จปุ๊บกลับกลายเป็นสีน้ำเงินก็มี ดังนั้นเวลาเปิดเตาออกมาเราจะตื่นเต้นเสมอว่า เอ๊ะ งานที่เผาแล้วจะมีหน้าตาแบบไหน มันจะเสียไหม จะแตกร้าวไหม มันเหมือนเล่นการพนัน แต่แทนที่จะใช้เงินทอง เรากลับใช้เวลาและแรงงานของเราทุ่มเทไปกับมัน งานชิ้นหนึ่งกว่าจะทำเสร็จใช้เวลาตั้ง 1 อาทิตย์ซึ่งพอเสร็จเราก็ดีใจทุกครั้ง สมมติถ้าเราไปทำเพนติ้งก็จะไม่มีความตื่นเต้นแบบนี้ เพราะงานเพนติ้งพอเสร็จแล้วมันก็เสร็จ ไม่มีสิ่งที่เกินคาดเดาว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไงกันแน่

การทำงานที่เรารักก็เหมือนการพักผ่อน พอมาสตูดิโอเราไม่ได้รู้สึกว่ามาทำงาน เรามีความสุขมาก ถ้าไม่ได้ทำงานศิลปะเราจะรู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้พัก ต้องได้มานั่งปั้นหรือนั่งเขียนรูปสักอย่าง ทำไปเท่าไหรก็ไม่เบื่อ

วิภู ศรีวิลาศ

คุณทำงานปั้นและงานเซรามิกมานานมาก ทุกวันนี้พอเปิดเตาออกมา ยังตื่นเต้นกับชิ้นงานเหมือนช่วงแรกๆ อยู่ไหม

ยังตื่นเต้นและยังคงชอบทำอยู่ แต่ทำมา 20 ปีแล้ว ก็อยากลองทำผลงานแบบอื่นบ้าง ที่ออสเตรเลียจะมีศิลปินอยู่ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ emerging artists คือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานศิลปะ อาจเป็นคนอายุ 40 แต่เพิ่งเริ่มเส้นทางนี้ก็ได้ ซึ่งพอทำไปสักหน่อย คุณต้องมีตัวแทน มีแกลเลอรีเชิงพาณิชย์เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายงาน ศิลปินจึงจะเลื่อนจาก emerging artists เป็น mid-career จากนั้นจึงเลื่อนเป็นขั้นสุดเรียกว่า established artist แต่ช่วง mid-career จะกินระยะยาวนานมากกว่าจะขึ้นเป็น established artist ได้ จึงเป็นเรื่องยาก

ปีที่แล้วเรารู้สึกว่าตัวเองติดอยู่ในระดับ mid-career มานานมากแล้ว อยากขยับขยายให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา เลยติดต่อขอทุนจาก Australian Council for the Arts โดยทำให้การทำงานมีเมนเทอร์หรือที่ปรึกษาเข้ามา เราตัดสินใจเชิญอาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน มาเป็นที่ปรึกษาโปรเจกต์ สิ่งหนึ่งที่อาจารย์แนะนำคือให้ลองใช้วัตถุดิบใหม่ๆ ในการทำงาน 

การลองสิ่งใหม่ๆ เปลี่ยนความคิดเราไปมากเหมือนกัน จากที่ทำเซรามิกมา 20 ปี เราเริ่มใช้แก้ว ไม้ โลหะ บรอนซ์ และสิ่งอื่นๆ เริ่มลองใช้เทคนิค 3D printing ในการทำงาน คือลองหลายหนทางแล้วดูว่ามีแนวทางไหนที่เหมาะกับตัวเรา เราเอาสิ่งที่มีไปทำอะไรได้บ้าง อย่างในงานวิวาห์พระสังข์ที่แสดงที่กรุงเทพฯ จะมีวัสดุและงานแบบใหม่ เช่น ดรอว์อิ้งหรือประติมากรรมเพราะเราอยากเพิ่มความหลากหลายให้กับตัวเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานใหม่ๆ ต่อไป

วิภู ศรีวิลาศ

นอกจากงานเซรามิกที่คุณเชี่ยวชาญที่สุด เราเห็นว่าคุณยังทำงาน art performance ที่น่าสนใจด้วย

ใช่ 10 ปีก่อนเราเริ่มใช้ดินทำงานกับชุมชน ใช้ดินเป็นสื่อกลาง ปกติเราปั้นดินเป็นประติมากรรมหรือเป็นชิ้น พอทำเสร็จจึงเอาออกมาแสดง คนก็จะได้ดูอย่างเดียวแต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อื่น จนตอนหลังเราเริ่มรู้สึกว่าอยากทำงานที่สร้างประสบการณ์ให้กับคนมากกว่าแค่มาดูงานแล้วจบไป

เราเคยไปสัมภาษณ์คนเกาหลีที่อยู่ในออสเตรเลียว่า ‘เขาคิดถึงอะไรมากที่สุดในเกาหลี’ แล้วให้เขาปั้นสิ่งนั้นออกมาด้วยตัวเอง จากนั้นก็เอาชิ้นงานที่ได้ไปจัดแสดงที่เกาหลีใต้ให้คนเกาหลีที่อยู่ที่นั่นได้ดู และลองดูว่าคนเกาหลีที่อยู่ในบ้านเกิดของตัวเองอยู่แล้วรู้สึกเหมือนกันไหม เขาเห็นคุณค่าของสิ่งของที่เขามีอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า

ตอนที่เราไปเป็นศิลปินในพำนักที่เชียงใหม่ เราได้ไปเห็นว่าการทำถ้วยเซรามิกในโรงงานเขาทำกันเป็นเซกชั่นแบ่งหน้าที่กันชัดเจน คนที่หล่อน้ำดินก็ทำหน้าที่หล่ออย่างนั้นไปตลอด หรือคนเช็ดน้ำดินกับคนเคลือบก็จะทำหน้าที่นั้นเพียงอย่างเดียว เหมือนในกระบวนการสร้างงานถ้วยหนึ่งใบจะมีคนประจำแต่ละหน้าที่รวม 7-8 ขั้นตอน แต่ด้วยความที่ตัวเราเองเป็นศิลปิน เราทำงานเองตั้งแต่ต้นจนจบคนเดียวทั้งหมดเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราจะทำโปรเจกต์หนึ่งให้พนักงานทุกคนเริ่มต้นปั้นงานไปจนกระทั่งเคลือบงานเสร็จด้วยตัวเองและจัดเป็นนิทรรศการให้พวกเขาที่เชียงใหม่ขึ้นมา

Monsters by Hands Exhibition, Chiang Mai, Thailand

จากที่เล่ามาเหมือนคุณกำลังใช้ชิ้นงานเป็นเครื่องมือพูดคุยกับผู้คนเลย

ใช่ งานอีกชุดหนึ่งที่เราทำคล้ายกันคือ THAI NA TOWN – LITTLE OZ เป็นงานที่ไปถามคนไทยที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียว่าคิดถึงอะไรมากที่สุดในเมืองไทย เราใช้โต๊ะเล็กๆ ในร้านอาหารไทย 4-5 แห่งเป็นที่ทำกิจกรรมสอนให้เขาปั้นสิ่งที่เขาคิดถึง พองานปั้นเสร็จเรียบร้อย เราก็ถามเขาว่าคิดถึงใครมากที่สุดในไทย สุดท้ายเราก็ส่งของที่เขาปั้นไปให้คนที่เขาคิดถึงที่สุด เหมือนเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์และเรื่องราวไปด้วยกัน พอเรากลับไปกรุงเทพฯ ก็ไปทำงานนี้กับคนออสเตรเลียที่อยู่เมืองไทยว่าเขาคิดถึงอะไรในออสเตรเลียมากที่สุดและส่งกลับมาเป็นโปรเจกต์ที่นี่ นี่ก็เป็นการใช้ดินทำงาน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เป็นคนปั้นเอง 

 

ทำหน้าที่เหมือนเป็นวาทยากรให้คนบรรเลงเพลงเหมือนกันนะ

ใช่ๆ งานที่เราชอบทำมากคือการจับคนมาเจอกันแล้วสร้างโอกาสทำงานศิลปะขึ้นมา เราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยอำนวยการให้ข้อความเกิดขึ้น สนุกนะ เหมือนเราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ ตลอด เราชอบคุยกับคน การได้เห็นปฏิกิริยาของคนกับงานโดยตรงก็ดีกว่า เพราะบางทีในนิทรรศการการโต้ตอบก็ไม่เหมือนกับตอนมานั่งทำงานหรือพูดคุยด้วยกัน ถ้าเป็น performance เขาชอบหรือไม่ชอบเราก็เห็นหน้าเห็นตากันเลย แลกเปลี่ยนกันโดยตรงเดี๋ยวนั้นเลยก็ได้เพราะระยะของศิลปินกับผู้ชมใกล้กันมาก

Thai Na Town – Little Oz 2012

ทำไมถึงชอบทำงานกับคนและชุมชนมากขนาดนี้

ปกติเราจะนั่งทำงานคนเดียวที่สตูดิโอมาโดยตลอด แต่การไปทำงานกับคนอื่นเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้ออกไปเจอผู้คนมากขึ้น การเจอคนและบรรยากาศใหม่ๆ จะทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองของคนอีกหลายๆ คน ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้เพียงคนเดียว

 

ถ้านิยามคุณว่านักสร้างจักรวาลจากดินเหนียวจะได้ไหม

น่าจะได้นะ เพราะว่าเราทำงานอยู่คนเดียวในสตูดิโอทุกวัน เวลาเราอยู่ที่นี่ เราต้องสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยตัวคนเดียว บางทีเราคุยกับงานตัวเองเหมือนคนบ้าเลยก็มี แต่ถือเป็นเรื่องปกติของเรา เช่น ‘วันนี้เธอไม่ค่อยสวยเลยนะ เดี๋ยวฉันเปลี่ยนองค์ประกอบเธอใหม่ดีกว่า’ จากนั้นก็จับมันมารื้อ เอามาปั้นหรือตกแต่งเสียใหม่ มีบ้างที่เกิดบทสนทนากับงานตัวเอง แหม คุณไม่คุยกับงานเขียนตัวเองเหรอ แบบว่าอ่านแล้วไม่ค่อยดี หรือไม่รู้เรื่องเลยขอเปลี่ยนหน่อยแล้วกัน เราว่าคุณต้องเคยลบประโยคทิ้งแล้วเขียนใหม่บ้างแหละ เวลาอารมณ์และบรรยากาศมันได้เราก็คุยกับงานตัวเองนิดหนึ่ง ใช่ไหมล่ะ (หัวเราะ)

วิภู ศรีวิลาส

ประเทศออสเตรเลียหล่อหลอมหรือเปลี่ยนแปลงความเป็นศิลปินของคุณยังไง

ก่อนมาอยู่ที่ออสเตรเลีย ช่วงนั้นเราทำงานเป็นนักออกแบบกระถาง ตอนที่ย้ายมาอยู่แรกๆ เรามาเป็นนักเรียนแต่ได้เป็นศิลปินจริงๆ เมื่อตอนจบปริญญาโทที่นี่ ถามว่าความคิดเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยนนะ เพราะเมื่อก่อนเราไม่ค่อยชอบความเป็นไทยนัก ไม่ได้คิดทำงานที่บันดาลใจจากรายละเอียดแบบไทยๆ แต่พอมาอยู่ตรงนี้ รากเหง้าความเป็นวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานเราแตกต่างจากศิลปินออสเตรเลียคนอื่นๆ เป็นรากเหง้าให้งานเรามีลูกเล่น นำมาใช้กับการทำงานได้เยอะ

เมื่อก่อนเวลาทำงานอะไรเราก็ไปดูงานฝรั่งก่อนแต่ตอนนี้เรากลับไปดูงานของไทย ทั้งจิตรกรรมฝาผนัง เครื่องถ้วยโบราณหรือเครื่องถ้วยเบญจรงค์ แม้เป็นของโบราณแต่เราเอาไอเดียนั้นมาประยุกต์ทำใหม่ได้ ในปัจจุบันเราอาจเห็นว่าของพวกนี้เป็นของเก่าแก่แต่ว่าถ้าเอาเครื่องถ้วยใบนี้ไปไว้ในบริบทของอดีตมันจะเป็นของที่ร่วมสมัยมากเลย ถ้าเราเขียนวิถีชีวิตของคนยุคนี้ลงไปบนถ้วยแทน มันก็อาจจะกลายเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สามารถเอาไปต่อยอดได้อีกเยอะ

 

แสดงว่าการเป็นศิลปินที่ออสเตรเลียทำให้คุณกลับไปค้นหารากความเป็นไทยอีกครั้ง

ใช่ เหมือนเป็นการกลับไปหารากเหง้าตัวเอง ขณะเดียวกันการอยู่ที่นี่ก็เปิดโลกให้กว้างขึ้น ได้เห็นอะไรมากมาย ได้มีโอกาสเห็นงานศิลปะดีๆ หรืองานศิลปะที่แตกต่างมาก คือในไทยเมื่อ 20 ปีก่อน เราจะไปหางานเซรามิกดีๆ ดูมันไม่มี เซรามิกเมื่อก่อนนี้ผลิตออกมาเพื่อรองรับงานอุตสาหกรรมในโรงงาน คนที่จบสายนี้มาจะมีงานจำกัด เช่น เป็นดีไซเนอร์ เป็นคนทำโมเดล แต่ออกมาเป็นศิลปินน้อยมาก แต่ว่าช่วงหลังๆ 20 ปีที่ผ่านมา มีศิลปินไทยที่เรียนจบเมืองนอกกลับมาทำงานที่เมืองไทยและเปิดสตูดิโอเยอะขึ้น พื้นที่เลยกว้างขึ้นและมีงานหลากหลายขึ้น

ช่วงที่เมืองไทยมีศิลปินเซรามิกจำนวนน้อยมาก คุณช่วยเหลือกันยังไง

ช่วง 6-7 ปีก่อน เราทำเว็บไซต์ thai ceramic เพื่อช่วยโปรโมตศิลปินไทยที่ทำงานเซรามิกอาร์ต สื่อสารให้คิวเรเตอร์และนักสะสมเมืองไทยรู้ว่าในบ้านเรามีงานศิลปะเซรามิกร่วมสมัยอยู่ด้วยนะ ไม่ได้มีเฉพาะงานปั้นหม้อปากเกร็ดหรือด่านเกวียนอย่างเดียว ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยทำเว็บไซต์กันเราก็เลยทำขึ้นมาแต่ว่าตอนหลังก็ไม่จำเป็นต้องทำแล้วเพราะว่ามีศิลปินเยอะมากจนตามทำคอนเทนต์ไม่ไหว ประกอบกับตอนหลังมีเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่เขาใช้พื้นที่เองได้เต็มที่ ทุกคนสามารถทำกันเองได้ ก็เลยไม่จำเป็นต้องไปช่วยตรงนั้นแล้ว

 

ล่าสุดคุณทำงานนิทรรศการชุด วิวาห์พระสังข์ ซึ่งสะท้อน gender และความหลากทางเพศของมนุษย์ อะไรคือแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาทำ

เป็นเพราะเรากับแฟนอยู่ด้วยกันมา 20 ปีแล้ว แต่ไม่ได้แต่งงานกัน จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2018 รัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมาย equality love ให้แต่งงานระหว่างเพศเดียวกันได้เรากับแฟนเลยแต่งงานกันเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2019

ตอนแรกเราคิดว่าอยู่กันไปโดยไม่ต้องแต่งงานก็ได้ แต่การแต่งงานมีประโยชน์อยู่ เพราะถ้าไม่แต่งแล้วเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา แฟนเราจะไม่สามารถเข้ามาจัดการเรื่องการเงินเราได้เลยเพราะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในทางกฎหมายใดๆ หรือถ้าเกิดแฟนเราป่วยแล้วเราต้องตัดสินใจเรื่องการผ่าตัดและรักษาเราจะทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่เข้าเยี่ยมก็ไม่ได้ นอกจากเราจะพิสูจน์ว่าเราสองคนอยู่ด้วยกันมาแล้ว แต่ถ้าแต่งงานกันจะมีหลักฐานยืนยันให้ตัดสินใจได้ทันที บางคนอาจเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายก็ได้ อยู่ด้วยกันมาเรื่อยๆ เฉยๆ ก็ดีแล้วแต่ว่าพอมีกฎหมายรองรับขึ้นมา เราสามารถเลือกได้ไง ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่คนเรามีทางเลือกให้ใช้ 

วิภู ศรีวิลาส

พอแต่งงานเสร็จ เราต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ เลยทำงานชุดวิวาห์พระสังข์ขึ้นมาโดยหยิบเอาเรื่องราวของสังข์ทองมาเป็นตัวตั้งต้นบอกเล่าเพราะเราคิดว่ากว่าจะถึงเวลาที่พระสังข์กับนางรจนาได้แต่งงานกันทั้งคู่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันมามากมาย ต้องย้ายไปอยู่อย่างลำบากลำบนที่กระท่อมปลายนา ต่อสู้กับคนหลายฝ่าย ทั้งไปจับปลา หาเนื้อ แข่งขันตีคลี และทำอีกสารพัดอย่างด้วยความลำบากยากเย็น 

เรานำเรื่องสังข์ทองมาเปรียบเปรยกับเรื่องของการแต่งงานเพศเดียวกันว่ากว่าที่เขาจะมีความสุขตรงนี้เขาต้องฝ่าฟันกันมาหลายปีก่อนการแต่งงานเพศเดียวกันจะมาถึง เรื่องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศค่อยๆ ขยับ มีพัฒนาการทีละนิด และต้องใช้เวลาต่อสู้เป็นสิบกว่าปี จนกระทั่งประเทศออสเตรเลียสามารถผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้

วิภู ศรีวิลาส

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องสังข์ทอง คนน่าจะนึกถึงคู่รักชาย-หญิงไม่ใช่เหรอ

ใช่ แต่เราเห็นว่าความรักมันเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความรักชายหญิงหรือความรักไหนๆ ก็เป็นความรักไม่แตกต่างกัน เรามองว่าความรักมันก้าวผ่านเรื่องเพศ ก้าวผ่านพระสังข์กับนางรจนาไปเลย เพราะว่าการต่อสู้เป็นสิ่งเดียวกัน ในงานวิวาห์พระสังข์จะมีหลายองค์ประกอบในงาน ทั้งงานเปเปอร์ งานบนกำแพง งานประติมากรรม แต่ละอันมีความหมายและที่มาต่างๆ กัน แต่รวมกันแล้วเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของมนุษย์

 

ความรักมีความหมายกับชีวิตมนุษย์ยังไง

ความรักในมุมมองคนอื่นเราไม่รู้ คนบางคนเขาก็มีความสุขโดยที่ไม่ต้องมีแฟน อยู่คนเดียวก็แฮปปี้ได้ แต่สำหรับเรา การมีแฟนก็เหมือนมีเพื่อนสนิทอยู่กับตัวเองตลอดเวลา เป็นที่ปรึกษาเวลามีเรื่องเหนื่อยๆ หรือไม่สบายใจ ในขณะเดียวกันเราสามารถที่จะช่วยเหลือเขา และเป็นเพื่อนสนิทให้กับเขาด้วยเหมือนกัน ตอนเด็กๆ จะเห็นว่าเรื่องหน้าตาและปัจจัยข้างนอกเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่พออยู่ไปนานๆ เรื่องหน้าตาและเรื่องอื่น เราลืมไปหมด กลายเป็นมองว่าบุคลิกภาพหรือนิสัยเข้ากันได้ไหมมากกว่า ตรงนี้ทำให้เราคิดว่าชีวิตมีความสุขและเติมเต็มได้มากขึ้น แต่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไม่มีความรักไม่ดี เพราะในชีวิตของแต่ละคนมีทางเลือกของตัวเอง

เราจะเห็นได้เลยว่าความรักมันมีความหลากหลายและแตกต่างกันได้มากมาย แต่ไม่ว่าจะต่างกันแค่ไหน สิ่งสำคัญไม่ใช่การโฟกัสที่ตัวแปรของเรื่องเพศหรือคุณจะคบกันจำนวนกี่คน จะอยู่เป็นคู่หรือเดี่ยว เพราะความรักก็คือความรัก ถ้าอยู่ร่วมกันได้คือจบ ไม่ต้องไปคิดมากเลย

วิภู ศรีวิลาส

ลองเล่าให้ฟังได้ไหมว่างานแต่ละซีรีส์ในนิทรรศการวิวาห์พระสังข์ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องอะไร

งานจานชื่อว่า F Plait Series แต่ละชิ้นจะมีคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว F ทั้งหมด 12 ตัว แต่ละคำเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ‘คุณแต่งงานไปเพื่ออะไร’ บางคนแต่งงานเพื่อ fame บางคนแต่งงานเพื่อ finance บางคนแต่งเพราะ feeling ซึ่งฟอนต์ที่ใช้คือพวกฟอนต์พลิ้วๆ ที่คนชอบใช้บนการ์ดแต่งงาน แล้วเวลาเราคุยกันเรื่องการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน คนจะชอบพูดว่า Oh! what the fuck! เราเลยจับคำว่า fuck มาใช้ 

f ทั้งหมด 12 ตัว สื่อว่าทุกการแต่งงานล้วนมีเหตุผลเสมอ ซึ่งที่เราใช้เป็นจานเพราะว่าเวลาฝรั่งแต่งงานเขาชอบเอาจานมาเป็นของที่ระลึกแล้วก็เอาพวงมาลัยของนางรจนามาคล้องรอบๆ จาน

ชิ้นงานดรอว์อิ้งมีชื่อว่า Love Wins เป็นกระดาษเขียนด้วยสีน้ำเงินซึ่งมีพวงมาลัยบรอนซ์อยู่ด้วย งานนี้เกิดจากการที่เราประกาศถามคนในเฟซบุ๊กว่า ‘เวลาคุณบอกรักคนที่คุณรัก คุณบอกเขาว่ายังไง’ คนก็ตอบมาเยอะแยะเลย มีทั้งคู่รักเพศเดียวกันและคู่ชาย-หญิง พอเขาบอกคำที่เขาบอกรักกันแล้วมาเขียนลงกระดาษ มันบอกไม่ได้เลยว่ามาจากคู่ไหนเพราะเป็นการบอกความรู้สึกรักเหมือนกันหมด ตรงกับที่เราอยากจะบอกว่า love is love พอทำเสร็จเรากลับมาดูงานนี้ที่เมืองไทยอีกครั้ง เราก็จำและจำแนกไม่ได้แล้วว่าคู่ไหนเป็นคู่ไหน

อีกงานที่ทำเป็นเซตบรอนซ์อยู่บนฝาผนังมีทั้งหมด 10 ชิ้น เราชอบมาก เพราะบรอนซ์แต่ละชิ้นที่อยู่บนนั้นจะบันทึกเบื้องหลังเหตุการณ์และประวัติศาสตร์ทั่วโลกที่มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการที่ประเทศออสเตรเลียให้ผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน เช่น 1956 เป็นปีที่เมืองไทยบอกว่าการเป็นเกย์ไม่ผิดกฎหมาย หรือ 1969 คือปีเกิดของเราและแฟน ซึ่งเกิดการจราจลที่ Stonewall การประท้วงนั้นทำให้เกิดกระแสของการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเกย์ ซึ่งเป็นต้นเรื่องทั้งหมดที่ทำให้เกิดการแต่งงานเพศเดียวกันได้

คุณได้แต่งงานกับแฟนที่ออสเตรเลียแล้ว ยังคงมีความหวังให้กฎหมายฝั่งไทยรองรับเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันอยู่ไหม

อยากสิ ไม่ใช่แค่ฝั่งประเทศไทยด้วย แต่เราอยากให้ทั่วโลกได้มีโอกาสจริงๆ อย่างที่เราบอกว่าพอมีแล้วเรามีทางเลือก ทุกคนสามารถเลือกชีวิตให้ตัวเองได้ แต่ที่เมืองไทยเราเลือกไม่ได้ ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือไม่จดก็เลือกไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ 

มีงานชิ้นหนึ่งที่เราชอบคืองานบรอนซ์ชื่อ Two Thousand and Twenty 2019 เราปั้นเป็นรูปนางเงือกสองตัวขี่หลังยูนิคอร์นแล้วจับมือกันเพราะต้องการสื่อว่าอยากให้กฎหมายคู่รักเพศเดียวกันที่เมืองไทยเกิดขึ้นจริง ซึ่งการใช้ยูนิคอร์นเพราะมันเป็นสัตว์ที่อยู่ในเทพนิยาย ไม่สามารถเป็นเรื่องจริงได้ แทนค่าเรื่องนี้ที่เรารอให้เกิดขึ้นจริงสักวัน

 

สุดท้ายแล้วเป้าหมายของการทำงานทุกชิ้นคืออะไร

เป้าหมายที่ง่ายที่สุดคือทำงานเพื่อความสุข ทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขก่อน ถ้าเรามีความสุขคนที่อยู่รอบข้างก็จะมีความสุขไปด้วย พอพวกเขามีความสุขก็จะส่งความสุขให้คนอื่นต่อไป เราสังเกตว่างานของเราส่วนใหญ่ที่มีคนชอบ เพราะตัวเราใส่ความสุขลงไปในงาน ทำให้คนเขาสัมผัสได้ถึงความสุข นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการมีชีวิตเป็นศิลปินแล้ว

ติดตามงานของวิภูได้ที่ vipoo.com เพจเฟซบุ๊ก Vipoo Srivilasa – ART หรืออินสตาแกรม vipooart

ขอบคุณภาพจาก วิภู ศรีวิลาส

AUTHOR