‘Kaniit.Textile’ นักออกแบบสิ่งทอที่หยิบกลิ่นอายแบบสแกนฯ ถักทอเข้ากับผ้าทอไทย

Highlights

  • คุยกับ โน๊ต–ขนิษฐา นวลตรณี เจ้าของสตูดิโอออกแบบสิ่งทออย่าง Kaniit.Textile เธอจบปริญญาโทสาขา Textile Art and Design ที่ Aalto University ประเทศฟินแลนด์ แถมปัจจุบันนี้ยังเป็นนักออกแบบสิ่งทอประจำมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
  • งานถักทอที่เธอออกแบบไม่ได้มีเพียงแค่สิ่งทอที่ทำมาจากเส้นสายที่เป็นผ้าเท่านั้น โน๊ตบอกว่าไม่ว่าจะเป็นวัสดุอะไรเธอก็เอนจอยไปกับมันได้

เวลานึกถึงคนในแวดวงดีไซเนอร์ นักออกแบบสิ่งทอ หรือ textile designer ดูเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่กึ่งๆ ระหว่างใกล้ตัวกับไกลตัว

ที่บอกว่าใกล้ตัว เพราะงานของพวกเขาคือการออกแบบแพตเทิร์นหรือลวดลายผ้า ลึกไปจนถึงคิดเทกซ์เจอร์หรือเนื้อผ้าหลากรูปแบบที่เราสวมใส่กันทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนที่บอกว่าไกลตัว ในฐานะคนที่ไม่ได้ทำงานดีไซน์ การจะหาเพื่อนสักคนที่ทำอาชีพนี้นั้นช่างหาตัวจับยากเย็นเหลือเกิน

กระทั่งคนใกล้ตัวแนะนำให้เรารู้จักกับ โน๊ต–ขนิษฐา นวลตรณี เจ้าของสตูดิโอออกแบบสิ่งทออย่าง Kaniit.Textile และนักออกแบบสิ่งทอที่ทำงานประจำอยู่ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

ลวดลายที่อยู่บนผืนผ้าทอมือดอยตุงแทบทั้งหมดรังสรรค์จากสองมือของเธอคนนี้

พอพูดถึงผ้าทอไทย หลายคนจินตนาการล่วงหน้าแล้วว่าผ้าผืนนั้นหนาเตอะและหนัก ไม่ก็ลวดลายดูไม่โดนใจคนหนุ่มสาวบ้าง แต่ถ้าได้ลองลูบๆ คลำๆ ผ้าทอมือในช็อปของดอยตุงทุกวันนี้ ด้วยไอเดียและฝีมือการพัฒนาของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ คำว่าน่าซื้อหรือน่าใช้ต้องหลุดจากปากคุณได้แน่ๆ

ก่อนที่เราจะยื่นผ้าทอผืนนุ่มๆ ให้คุณลองสัมผัส มาทำความรู้จักกับโลกของนักออกแบบสิ่งทอ ไปพร้อมกับผลงานศิลปะของหญิงสาวตรงหน้าด้วยกันดีกว่า

โน๊ตจบปริญญาตรีจากภาควิชา Industrial Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษา นิสิตทุกคนต้องเลือกวิชาออกแบบที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ในฐานะคนที่รู้ตัวว่าไม่ถนัดงานออกแบบเซรามิก อินทีเรีย และกราฟิก เธอเบนเข็มตัวเองเข้าสู่โลกของสิ่งทอโดยไร้ความกังวล

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีชื่อเสียงเรื่องการทอมาก รวมทั้งเรื่องคราฟต์อะไรแบบนี้ ตอนเรียนจบก็เลยไปสมัครงานที่นี่เพราะเราอยากเรียนรู้งานสิ่งทอให้มากขึ้น พอทำงานได้ 2 ปี เรารู้สึกว่าตัวเองอยากจะรู้ลึกลงไปอีกก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อหลักสูตร Textile Art and Design ที่ Aalto University กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

ส่วนหนึ่งที่เราตัดสินใจไปเรียนที่ฟินแลนด์ก็เพราะคุณมาริแอน คนที่เซตระบบการทอผ้าให้กับดอยตุง เขาเป็นคนฟินแลนด์ เครื่องทอผ้าที่เราใช้ก็เป็นเครื่องทอแบบเดียวกันก็เลยรู้สึกอุ่นใจขึ้นนิดหนึ่ง”

สิ่งที่เราเรียนจากที่นู่นจริงๆ อาจจะไม่ได้เอามาใช้กับผ้าทอไทยได้เลย คือการศึกษาที่นู่นเขาเน้นสอนวิธีการคิด หรือ design process ให้เรามากกว่า คุณอยากรู้เรื่องนี้ใช่ไหม ทำดิ ลองทำเลย เล่นเลย แล้วบางทีชิ้นงานมันก็เกิดจากการเออเร่อหรือการทดลองทำอะไรเล่นๆ นี่แหละ

การเรียนออกแบบที่ฟินแลนด์ทำให้โน๊ตมองเห็นความสำคัญของระบบการคิดมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ที่เฮลซิงกิ เธอทำทั้งเรียนและฝึกงานไปด้วย บวกกับความชื่นชอบในงานดีไซน์แบบสแกนดิเนเวียน คนรอบตัวหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า งานออกแบบผ้าทอไทยๆ ของโน๊ตมีกลิ่นอายของสแกนดิเนเวียนแอบซ่อนอยู่ 

งานที่เธอถนัดที่สุดคืองานที่เกี่ยวข้องกับการถักทอ

เธอยื่นใบงานขนาดกระดาษ A4 ให้เราดู สิ่งนั้นคือสื่อกลางสำหรับการคุยงานกับช่างฝีมือ มันมีทั้งตาราง รอยวาด ตัวเลข 1 2 3 4 5 ที่ดูเหมือนเป็นภาษาเฉพาะสำหรับช่างทอผ้าและคนออกแบบลายผ้า

เหตุผลที่จำนวนคนที่ทำงานเกี่ยวกับการถักทอยังมีน้อย น้อยมาก เพราะว่างานแบบนี้อาศัยความถึกสูงมากเลย เช่น เราต้องมานั่งร้อยเส้นยืนทีละเส้น มันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก ดังนั้นคนที่ไม่ได้ชอบมันจริงๆ หรือเนิร์ดจริงๆ เจอการร้อยเส้นยืนทีละ 500 เส้นอะไรแบบนี้ก็ไม่ไหวแล้ว

ระหว่างที่ฟัง เราจินตนาการไปด้วยว่าถ้าคนใจร้อนอย่างเราต้องนั่งร้อยเส้นยืนแบบนั้นบ้าง ฟันธงได้เลยว่าไม่มีทางผ่านด่านวัดใจง่ายๆ ด่านนี้ได้แน่นอน

งานของ textile designer กว้างมากนะ เหมือนเรามีกันหลายเลเวลมาก ตั้งแต่คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ material เส้นสาย แล้วก็เรื่องโครงสร้างการทอที่เป็นทั้งแพตเทิร์นและ structure แล้วก็เรื่อง surface การตกแต่งลายผ้าหรือทำ decorative บนผืนผ้าอีกทีหนึ่ง มุมหนึ่งคืออาชีพนี้มีหลายเลเวลให้เราเข้าไปเล่นได้

โน๊ตบอกเราพร้อมรอยยิ้มว่า เธอเอนจอยกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานสิ่งทอ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกใช้วัสดุ แล้วก็เรื่องการคิดแพตเทิร์นและการเล่นกับสีสันของเส้นสายต่างๆ ที่เพิ่มความสวยงามให้กับผืนผ้า

“textile designer ก็เหมือนคนทำสลัดที่หยิบส่วนผสมนั้นส่วนผสมนี้มาใส่ในจานเดียวกัน

ขณะที่บทสนทนาระหว่างเราดำเนินอยู่ โน๊ตหันกลับไปหยิบกล่องหลายกล่องที่บรรจุทั้งม้วนเส้นสาย ผ้าทอผืนใหญ่ และตัวอย่างผ้าทอผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัสลายต่างๆ ที่เธอภูมิใจนำเสนอ

และนี่คือ 5 ผลงานออกแบบที่มีความหมายกับเธอ

 

Storytelling

อันนี้เป็นงานชิ้นแรกที่เราทำและชอบมากที่สุดเลย เป็นงานออกแบบลายผ้า หรือ surface design ที่ Finlayson (แบรนด์ของแต่งบ้านสัญชาติฟินแลนด์) เลือกไปทำเป็นคอลเลกชั่นสินค้าวางขาย

ย้อนกลับไปสิบปีก่อน ช่วงที่เรียนปี 2 เราเข้าร่วมโปรเจกต์ชื่อ pattern lab เป็นโปรเจกต์ประจำปีที่ให้นักศึกษารวมกลุ่มกันทดลองเรียน ทดลองทำ surface design ทำแพตเทิร์นของตัวเองคนละ 30 ลาย แล้วพอทำออกมาปุ๊บ ก็เอางานแต่ละคนไปออกแฟร์ เจอแบรนด์ลูกค้า นัดคุยกับบริษัทต่างๆ เพื่อเอาลายผ้าไปเสนอ ถ้าเกิดลูกค้าสนใจก็ขายเลย แล้วเอาเงินที่ได้คืนทุนให้กับโรงเรียน ส่วนที่เหลือก็แบ่งกำไรกัน

โจทย์ของงานชิ้นนี้คือคำว่า storytelling เรานึกว่าของอะไรที่มันสามารถเล่าเรื่องราวได้มากที่สุด ก็เลยนึกถึงกล้องถ่ายรูปแค่นั้นเลยค่ะเธอหัวเราะ

 

Impermanence of things

พอทำโปรเจกต์กับ pattern lab จบ ก็ต่อด้วยการทำทีสิสเลย ตอนนั้นเรารู้สึกว่ายังเหลืองานอีกประเภทหนึ่งที่เรายังไม่เคยทำขึ้นมาจริงๆ เลย ซึ่งก็คืองาน installation art

เราเป็นนักเรียนไทยคนเดียวในชั้น วันแรกจำได้เลยว่าเพื่อนคนฟินน์ถามว่า เธอนับถือศาสนาพุทธหรือเปล่า เชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิดไหม เราก็ อ้าว เชื่อสิ (หัวเราะ) พอพูดไปแล้วเหมือนเขาจะไม่ค่อยเข้าใจกัน เลยอยากหยิบปรัชญาในศาสนาพุทธสักอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็นแก่นหลักในงาน 

เราสนใจคำที่ว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่ว่าจะทำออกมาเป็นงานยังไงล่ะ เลยอยากเล่นกับไอเดียที่ว่า แค่คุณขยับไปก้าวเดียว งานตรงหน้ามันเปลี่ยนรูป ภาพหรือสีที่คุณเห็นมันก็เปลี่ยนไป

หลักการมันมีแค่การขึงด้ายให้มันกลายเป็น 16 เลเยอร์ที่มีระยะห่าง แต่จริงๆ แล้วการเคลื่อนที่ที่เราเห็นมันคือการเคลื่อนที่ของสี พอแก่นยึดของเราคือความไม่แน่นอน ก็นึกต่อว่าสีอะไรที่ไม่แน่นอนบ้าง อ๋อ สีธรรมชาติไง คือสีธรรมชาติถ้าเกิดเราใส่สารอะไรที่มันเปลี่ยนความเป็นกรดเป็นด่าง สีหนึ่งสีสามารถแตกออกมาได้เป็น 20 สีได้เลย

แก่นของพุทธเองก็คือธรรมชาติ คือความเปลี่ยนแปลง เหมือนเราค่อยๆ develop ไอเดียแต่ละก้อนขึ้นมาจากการตั้งคำถาม

ก่อนหน้านี้เราไม่เคยทำสีธรรมชาติมาก่อนเลย ฤดูหนาวที่นู่นยาวนาน 8 เดือน ไม่มีใบไม้อะไรให้เก็บเลย สิ่งที่เราทำตอนซัมเมอร์คือขี่จักรยานแล้วไปเก็บเบอร์รี เด็ดใบเบิร์ช กระเทาะเปลือกไม้ริมถนน (หัวเราะ) เข้าป่าไปเก็บต้นดอกไม้ เอามาตาก เก็บเป็นของแห้ง หรือแช่ในช่องฟรีซเก็บไว้ เพื่อเอาไปทำงานตอนหน้าหนาว สุดท้ายก็ค่อยเลือกว่า 16 เลเยอร์นั้นควรเป็นสีอะไร

โปรเจกต์นี้สุ่มเสี่ยงเหมือนกันว่าจะออกมาดีหรือไม่ดี เพราะเรามีเวลาทำค่อนข้างน้อย แต่พอทุกคนเห็นแล้วก็สนใจ หลังเรียนจบก็ทิ้งไว้ที่โรงเรียน เขาเอาไปโชว์ต่อที่ Milan Design Week เราภูมิใจนะ อย่างน้อยๆ งานเราได้ไปถึงมิลาน

 

What you see is “not” what you get

จริงๆ แล้ว material ที่ไม่ใช่ผ้าเราก็ทำนะ อย่างงานนี้เป็นงานที่โชว์ใน Bangkok Design Week ปีที่แล้ว คือเรารู้สึกว่าคนที่มาเดินงานดีไซน์บางกลุ่มเป็นเด็กๆ ที่เขามาเพราะอยากถ่ายรูป เราเลยหยิบวัสดุที่รีเฟลกต์กับแสงแฟลชมาทอเป็นชิ้นงาน คล้ายกับว่าสิ่งที่เราเห็นจริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นเหมือนสิ่งที่เราคิดไว้ก็ได้ ถ้าลองถ่ายรูปแบบเปิดแฟลชดูมันจะกลายเป็นสีรุ้ง

 

AAMU

แรงบันดาลใจการทำงานส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องที่เราสนใจ หรือเรื่องที่เราชอบ อย่างเสื่ออันนี้ เราถามทางพี่ดิว PDM ไปว่าโจทย์คืออะไร คือปกติเวลาจะทำงานเราก็ต้องถามโจทย์ใช่ไหมคะ เขาบอกว่าขอแบบเท่ๆ คูลๆ (หัวเราะ) โอเค งั้นเราคิดโจทย์เองก็ได้ 

เริ่มจากการมองกลับไปว่าจริงๆ ภาพจำของ PDM คือเสื่อลายกราฟฟิกสีขาว เทา ดำ ลายเส้นคมๆ ชัดๆ แต่เราเป็นคนชอบอะไรสีสันสดใส สะท้อนแสงอะไรแบบนั้นเลย เราอยากทำเสื่อสีๆ หรือเสื่อมั่วตรงข้ามกับแบรนด์ไปเลย

จริงๆ เสื่อ AAMU เหมือนเป็นตัวอย่างชิ้นงานที่ใช้ทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างสิ่งทอเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเรารู้สึกว่าลายกราฟิกมันก๊อปปี้ได้ง่าย งั้นเราทำลายที่เกิดจากการวางโครงสร้าง วางทีละเส้นเลยละกันคนอื่นจะได้ก๊อปไม่ได้

 

Doitung/Mae Fah Luang Foundation

คอนเซปต์ของดอยตุงคือชนเผ่า งานชิ้นนี้เราเอางานปะของเผ่าอาข่ามาทำเป็นโครงสร้างผ้าทอ ลักษณะโครงสร้างแต่ละอันมันมีความเป็นพิกเซลอยู่เราเลยแตกลายไปยังไงก็ได้

โครงสร้างผ้าชิ้นนี้เป็นโครงสร้างที่บอกได้ว่าเราทำลายได้ทั้งหมดกี่แบบ มีทั้งสี่เหลี่ยม ดอกสามเหลี่ยม แบบเส้น แบบยึกยัก เป็นตัวตั้งต้นที่แตกออกมาเป็นผ้าผืนอื่นๆ

จริงๆ ผ้าของดอยตุงมีความเป็นลูกครึ่ง อย่างระบบทอของเราก็คล้ายกับเมืองนอก เราสามารถสร้างลายจากการทำโครงสร้างในกี่ได้เลย ส่วนของไทยหลักๆ คือเหมือนการเก็บลายขิด ลายตะกรอซึ่งเป็นลายดั้งเดิมโบราณเราสามารถเอาแรงบันดาลใจเรื่อง hill tribe ของชาวเขาหรือลวดลายไทยมาปรับให้เข้ากับเทคนิคของฝรั่งได้

ในการทำงานจริง เราต้องทำงานกับอาจารย์กฤษณ์ เย็นสุดใจ แฟชั่นดีไซเนอร์ที่เขาจะเอาผ้าที่เราทำไปทำเป็นแฟชั่นอีกทีหนึ่ง คล้ายกับการโยนก้อนหินใส่กัน ทางนู้นโยนคอนเซปต์มาให้เราระดับหนึ่งแล้วก็ให้เรากลับไปคิด เหมือนกับการช่วยกันต่อยอดไปเรื่อยๆ งานก็เลยออกมาเป็นประมาณนี้

อย่างเซตนี้วางคอนเซปต์ไว้ว่าอยากให้ผ้าเด่น เราก็จัดการทำลายผ้าที่ใส่กลิตเตอร์ลงไป จริงๆ แล้วผ้าทอชุมชนหรือผ้าทอของชาวบ้านจริงๆ เขาไม่ทำกัน หรืออย่างลินินเขาก็จะไม่ทำเพราะเส้นมันเล็กไป ถ้าจะทำคือเขาต้องปรับโครงสร้างการทอใหม่ซึ่งมันใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

เพราะงั้นผ้าทอของดอยตุงจะไม่เหมือนกับผ้าทออื่นๆ ถ้านึกภาพผ้าทอไทยหรือผ้าทอชาวบ้าน แน่นอน เราจะคิดว่ามันต้องเนื้อหนา ใส่แล้วร้อน แต่เรามีการ develop ในเรื่องของเนื้อผ้าเพิ่มขึ้นด้วยความรู้ของ textile”

เราทำงานกับแม่ฟ้าหลวง ได้คลุกคลีกับช่างทอ กับชาวบ้านเยอะ บางทีก็ต้องไปอยู่ที่ดอยตุง 2-3 อาทิตย์ แล้วจริงๆ ความเห็นของชาวบ้านมีผลกับงานเรานะ หรือบางทีเขาทอผิด ทำอะไรผิดมาแล้วเป็น error design ที่สวยเราก็เปิดโอกาสให้ หลายครั้งเราก็ถามเขาว่าคิดว่าดีไหมเพราะป้าที่เขาทำงานมาแล้วเขาจะรู้เรื่องเทคนิค อะไรที่ไม่ดีเราก็ต้องเชื่อเขา แต่เราก็จะมีวิธีพูดต่อว่างั้นลองให้หน่อยได้ไหม (หัวเราะ)

เราดีใจทุกครั้งที่ป้าช่างทอบอกว่าผ้าสวย เพราะเขาเป็นคนที่ไม่ได้อาร์ต ไม่ได้เรียนอะไรมาแบบเรา แต่เขารับรู้ได้ว่าสิ่งที่เราทำออกมามันสวย เรารู้สึกว่าแค่นี้พอแล้วนะสำหรับเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย