People of Vancouver : เมื่อแวนคูเวอร์ แคนาดา ยุบทางยกระดับเพื่อยกระดับชีวิตคนเมือง

Highlights

  • ในขณะที่เมืองอื่นกำลังสร้างทางยกระดับ แวนคูเวอร์กำลังจะทุบทางยกระดับ Georgia และ Dunsmuir ทิ้งเพื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อยู่อาศัย
  • เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในเมืองแห่งนี้เพราะความแข็งแรงของผู้คนที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงคนและสิ่งแวดล้อม

นี่คือเมืองในทวีปอเมริกาเหนือที่ประกอบด้วยประชากรผิวขาวไม่ถึงครึ่ง ผิวเหลืองหนึ่งในสาม ที่เหลือเป็นส่วนผสมของความหลากหลาย และเป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองน่าอยู่มาโดยตลอด ทั้งยังมีความฝันอันแรงกล้าในการก้าวขึ้นเป็นเมืองสีเขียวอันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2020

แต่จะว่าไป มันก็คงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงมากนัก เมื่อชาวเมืองของพวกเขาเป็นนักสิ่งแวดล้อมในตัวเองอยู่แล้ว ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกมาอยู่ที่นี่เพื่อใช้ชีวิตประจำวันกลางแจ้งในเมืองที่โอบล้อมด้วยทะเลและภูเขามากกว่าใช้ชีวิตคนเมืองในอาคารสำนักงานอย่างที่เราคุ้นชิน ในขณะที่หลังคาบ้านเรือนจำนวนมากได้รับการเปลี่ยนเป็นหลังคาเขียว (green roof)

ไม่นับสวนสาธารณะอย่าง Stanley Park ที่มีขนาดใหญ่กว่า Central Park ในนิวยอร์ก

ที่สำคัญ นี่คือเมืองที่ ‘คน’ แข็งแรง ไม่ว่าจะในด้านสุขภาพหรือในฐานะชาวเมือง ซึ่งในหลายครั้งมันหมายถึงการไม่ยอมจำนนกับอะไรง่ายๆ

People Power

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 สภาเมืองแวนคูเวอร์อนุมัติแผนพัฒนาเมืองซึ่งรวมถึงการทุบทางยกระดับสองสาย อันได้แก่ทางยกระดับ Georgia และทางยกระดับ Dunsmuir เพื่อเปลี่ยนมันเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยู่ดีๆ เมืองจะตัดสินใจยุบเส้นทางคมนาคมอย่างทางยกระดับ

แต่สำหรับแวนคูเวอร์ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาปฏิเสธมัน เพราะแท้จริงประวัติศาสตร์การต่อสู้กับทางยกระดับก็คือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองของพวกเขาให้เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปทศวรรษ 1960 ในยุคที่การก่อสร้างทางหลวงเพื่อขยายเมืองออกไปรอบนอกและเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ถือเป็นทิศทางการพัฒนาหลักในหลายประเทศ โดยมีผู้นำคืออเมริกา หลังประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower ลงนามกฎหมายทางหลวง (National Interstate and Defense Highways Act) ในปี 1956 

แน่นอนว่าเมืองในแคนาดาก็ไม่ต่างกันหากมองจากมุมของเมืองในการพัฒนานโยบาย แต่สิ่งที่ต่างก็คือคนของพวกเขามองเห็นว่าการเติบโตของเมืองในลักษณะนี้มีต้นทุนทางสังคมที่สูงเกินกว่าจะยอมรับได้และไม่ยอมอยู่เฉย

นั่นเพราะการตัดทางหลวงเข้าสู่ใจกลางเมือง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดในลักษณะทางยกระดับ) จะตัดขาดความเชื่อมโยงของพื้นที่และชุมชนออกจากกันด้วย โชคดีที่พวกเขาเห็นตัวอย่างจากเมืองในอเมริกาที่พัฒนาไปในทิศทางนี้ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเมืองชายฝั่งแปซิฟิกด้วยกันอย่างซีแอตเทิลและลอสแอนเจลิส (ซีแอตเทิลก็กำลังยกเลิกทางยกระดับริมน้ำเช่นกันเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพของเมือง)

กลับมาที่แวนคูเวอร์ จุดแตกหักก็คือการประกาศแผนการสร้างเครือข่ายถนนเพื่อฟื้นฟูเมืองชั้นในในปี 1967 ซึ่งหากเกิดขึ้น แวนคูเวอร์จะเปลี่ยนภาพจากย่านต่างๆ อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เป็นเครือข่ายทางยกระดับกระจายกันอยู่ทั่วเมือง

ไม่ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ แวนคูเวอร์เติบโตอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่นานหลังจากนั้นจำนวนประชากรก็พุ่งเลยหลักล้าน เมื่อวัฒนธรรมรถยนต์เฟื่องฟู ธุรกิจและผู้คนก็ย้ายออกจากใจกลางเมือง ย่านที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนจน

แม้ถนนจะทำให้คนย้ายออกจากเมือง แต่สำหรับนักพัฒนาเมือง เครือข่ายถนนที่สมบูรณ์ก็คือสิ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันอีกครั้ง โดยเฉพาะการเชื่อมเมืองชั้นในเข้ากับเมืองชั้นนอก และที่สำคัญคือเข้ากับเครือข่ายทางหลวงของประเทศที่เรียกว่า Trans-Canada Highway ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในขณะนั้น ทางยกระดับ Georgia และ Dunsmuir ที่ทางสภาเมืองตัดสินใจทุบทิ้งในปี 2018 ก็คือถนนสองสายแรกในการเชื่อมเมืองชั้นในเข้ากับเครือข่ายทางหลวงแคนาดานั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่แวนคูเวอร์นั้นมีการค้าเชื่อมโยงกับฮ่องกง เครือข่ายทางหลวงแคนาดาจึงหมายถึงโอกาสในการเชื่อมต่อจากแปซิฟิกสู่แอตแลนติก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จากเอเชียตะวันออกสู่ยุโรป

แต่การปรับปรุงเมืองในสเกลใหญ่ซึ่งหมายถึงโครงการก่อสร้างถนนจำนวนมาก ย่อมทำให้ชุมชนและย่านที่อยู่กันมาแต่เดิมจะถูกทำลาย สำหรับแวนคูเวอร์ มันรวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของย่านไชน่าทาวน์

Chinese Power

ย้อนกลับไปในปี 1885 ย่านไชน่าทาวน์ของแวนคูเวอร์ถือกำเนิดขึ้น หนึ่งปีก่อนที่เมืองแวนคูเวอร์จะได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ

ประวัติศาสตร์เมืองแวนคูเวอร์เริ่มขึ้นจากปรากฏการณ์ตื่นทอง (Gold Rush) ในทวีปอเมริกาเหนือ ก่อนหน้านั้นพื้นที่ตรงที่เป็นเมืองแวนคูเวอร์ปัจจุบันก็คือป่าสมบูรณ์

แวนคูเวอร์จึงถือเป็นเมืองที่ใหม่มากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่เมืองอื่นของโลก หรือหากเทียบกันเองในเขตบริติชโคลัมเบียทางตะวันตกของแคนาดาก็ยังจัดว่าอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีอายุน้อยที่สุด

ไม่ต่างจากเมืองอย่างแซนแฟรนซิสโก ปรากฏการณ์ตื่นทองคือเครื่องดึงดูดนักแสวงโชคจากทั่วโลกให้เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวยุโรปมากหน้าหลายตา และชาวจีนที่ส่วนใหญ่เข้ามาเป็นแรงงานชั้นดีสำหรับงานอันตราย จนมีคำกล่าวว่าทุกหนึ่งไมล์ของทางรถไฟในแถบนั้นมีต้นทุนเป็นชาวจีนหนึ่งชีวิต

จึงไม่แปลกที่ชาวจีนจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนผู้สร้างบ้านแปงเมืองแวนคูเวอร์ขึ้นมา ไชน่าทาวน์ในแวนคูเวอร์จึงไม่ใช่ย่านเพียงหนึ่งย่าน แต่มันอัดแน่นด้วยประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้

เมื่อพื้นที่กำลังจะถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นถนน ชาวจีนซึ่งเป็นลมหายใจสำคัญของเมืองจึงลุกขึ้นมาปกป้องทุกอย่างของพวกเขา

ทันทีหลังเมืองประกาศแผนการใหญ่ ชาวจีนหลายร้อยคนจึงถือป้ายข้อความต่อต้านทางหลวง ร้องเพลง และเดินขบวนประท้วงทั่วย่านไชน่าทาวน์ ทุกวันนี้เราสามารถดูภาพการต่อต้านทางหลวงนี้ได้ทางยูทูบ

การประท้วงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ชาวจีนที่กระจายกันอยู่ทั่วเมืองจากหลายสาขาอาชีพก็มาเดินขบวนด้วยกัน ในเวลานั้นแวนคูเวอร์มีทั้งชาวจีนที่เป็นนักวิชาการ นักวิชาชีพ นักธุรกิจ ไปจนถึงนักเรียนเต็มไปหมด

หลังการต่อสู้อยู่หลายเดือน ในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จ แต่มันไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จในการปกป้องชุมชนของพวกเขาด้วยการหยุดโครงการก่อสร้างในเมืองชั้นใน แต่ยังหมายถึงการออกแบบเมืองในแบบที่ชาวเมืองอยากให้เป็น

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า การปล่อยให้แผนการสร้างทางหลวงพังทลายคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างให้แวนคูเวอร์เป็นอย่างทุกวันนี้

พร้อมกับการขับไล่หน่วยงานที่รับผิดชอบผังเมืองเก่า แวนคูเวอร์เริ่มต้นใหม่ด้วยการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างเมืองกับผู้คน นับแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แผนพัฒนาเมืองจะมีตัวแทนจากชุมชนร่วมพิจารณาด้วย

นั่นรวมถึงการตัดสินใจกันพื้นที่สีเขียวหลายส่วนเพื่อเป็นพื้นที่สงวนไว้สำหรับต้านทานการพัฒนาที่มากเกินไป พื้นที่หลายแห่งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในวันนี้ก็เป็นผลมาจากชัยชนะในวันนั้น

ในปัจจุบัน แวนคูเวอร์จึงเป็นเมืองที่ไม่ขาดพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังเป็นมิตรต่อการเดินเท้าและจักรยาน แน่นอนว่าพวกเขาเป็นเมืองใหญ่เพียงเมืองเดียวในอเมริกาเหนือที่ไม่มีทางหลวงในเมืองชั้นใน 

กระนั้นแวนคูเวอร์ก็ยังมีเรื่องให้ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะในฐานะเมืองที่มีปัญหาราคาที่อยู่อาศัยอันเป็นปัญหาสำคัญของหลายเมืองในแคนาดา ส่วนทางยกระดับสองสายที่จะถูกทุบทิ้งนั้นยังไม่แน่ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรในอนาคต เมื่อมีเสียงกังวลว่ามันจะกลายเป็นคอนโดสูงบดบังวิวภูเขา

แต่ตราบใดที่ชาวเมืองแข็งแรงเหมือนอย่างที่คนรุ่นก่อนเป็น พวกเขาก็คงไม่ปล่อยให้มันออกมาย่ำแย่เกินเยียวยา

 

อ้างอิง

How did Vancouver get so green?, Grist.org

Story of cities #38: Vancouver dumps its freeway plan for a more beautiful future, The Guardian

The Green City Index, Economist Intelligence Unit

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Louis Sketcher

นักวาดภาพที่มีพื้นฐานจากวิชาสถาปัตย์ฯ ทำให้มีความสนใจมากมายในศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเมือง