รู้มั้ยว่าคนเกาหลีใต้รักการอ่านมาก ในแง่ปริมาณ ประเทศเกาหลีใต้เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของตลาดหนังสือโลก จากสถิติ สำนักพิมพ์เกาหลีหลายแห่งซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศสม่ำเสมอ พร้อมทำหน้าที่คัดหนังสือของตัวเองป้อนเข้าสู่ตลาดนานาชาติ ร้านหนังสือในโซลก็มีแพร่หลายจนคิดเป็นค่าเฉลี่ยได้ 9 ร้านต่อประชากรในเมือง 100,000 คน แน่นอน ตัวเลขพวกนี้มาจากนิสัยรักการอ่านของคนในชาติ
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกาหลีใต้มีรากการอ่านแข็งแรง เพราะหน่วยงานภาครัฐมียุทธศาสตร์สนับสนุนภาคเอกชนจริงจัง การเกื้อกูลนี้ทำให้แวดวงสิ่งพิมพ์แดนกิมจิก้าวหน้า ความน่าสนใจคือ Paju Book City เมืองหลวงหนังสือแห่งชาติที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2001 มีการพัฒนาต่อเนื่องและเห็นผลได้ชัด ปัจจุบันพาจูจึงเป็นทั้งหน่วยของการผลิตและการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านสิ่งพิมพ์ระดับโลก
เรามีโอกาสได้คุยกับ เบิ้ม-กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล นักออกแบบแห่ง Wrongdesign ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบหนังสือหลายเล่ม เขาเป็นตัวแทนจากไทยเข้าร่วมงาน Asian Publishers Fellowship Program in Seoul ในปี 2015 กรมัยพลมาแบ่งปันให้เราฟังว่าพาจูกำลังขับเคลื่อนวงการหนังสือในบ้านตัวเองด้วยวิธีการใดบ้าง
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ดินแดนที่รวมสำนักพิมพ์จากเกาหลีใต้กว่า 200 แห่ง รวมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญกว่าหมื่นคน ที่นี่มีบริการภาคธุรกิจสิ่งพิมพ์ครบครันในที่เดียว เต็มไปด้วยร้านหนังสือ ห้องสมุด และผู้คนน่าสนใจ ที่สำคัญนี่เป็นโมเดลหลักที่ไม่เพียงพัฒนาวงการสิ่งพิมพ์เกาหลีใต้ แต่ช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับวงการสิ่งพิมพ์โลกด้วย
เมืองเล็กเพื่อคนทำงานสิ่งพิมพ์
ไม่ใช่เพียงฝันลมๆ ของนักเขียนหรือสำนักพิมพ์แพสชันแรง เพราะเมืองพาจูเป็นโครงการร่วมลงทุนที่รัฐบาลจับมือกับสำนักพิมพ์ใหญ่ของเกาหลี เพื่อสร้างปัจจัยสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เอื้อต่อการตั้งสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด งานสายส่ง พื้นที่จัดกิจกรรมของเมือง และโรงเรียนสอนทักษะสำหรับคนที่ต้องการทำงานหนังสือด้านต่างๆ โดยไม่ลืมออกแบบสิ่งแวดล้อมและสถาปัตยกรรมให้สวยงามและเป็นมิตรต่อผู้คน
พาจูเป็นเมืองที่เดินทางจากโซลได้ในเวลา 1 ชั่วโมง ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกวางแผนให้รวมบุคลากรด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในเกาหลีใต้ไว้ในพื้นที่เดียว เมื่อคนทำงานหนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่และระบบงานการพิมพ์ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน การทำงานของพนักงานจึงง่ายเพราะเรา ‘เดิน’ ไปตรวจสีหรือดูงานที่แท่นพิมพ์ได้รวดเร็วในเวลาไม่กี่นาที โมเดลการรวมทุกหน่วยเข้าด้วยกันแบบนี้ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจคล่องตัว งานจากสำนักพิมพ์พร้อมตีพิมพ์และป้อนสายส่งสู่ร้านหนังสือทันใจ พาจูจึงประสบความสำเร็จและเป็นโมเดลที่ต่างประเทศเดินทางมาศึกษางานบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาดำเนินการได้จริงและนำไปเป็นแบบแผนการทำงานในที่อื่นๆ ต่อได้ ถึงเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่น่าจะมีองค์ประกอบอะไรทำให้กลายเป็นเมืองที่สมบูรณ์ได้ แต่เพราะคนในเมืองช่วยกันขับเคลื่อน ทุกสิ่งจึงเป็นไปได้ในที่สุด
โรงเรียนสร้างบุคลากรผลิตหนังสือ
นอกจากเมืองพาจูจะมีสายพานการผลิตที่พร้อม สมาคมผู้จัดพิมพ์ Bookcity Culture Foundation ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้ ยังจัดการเรียนการสอนประจำปีในหลักสูตร Paju Editor School รวมถึงโรงเรียนเล็กๆ และสถาบันนอกระบบไม่สังกัดมหาลัยที่ให้ความรู้ด้านงานสิ่งพิมพ์และงานออกแบบครบวงจร
การเรียนการสอนเป็นแนวคิดที่ทันสมัยและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่างจากการเรียนในคณะวารสารศาสตร์ที่หลักสูตรปรับปรุงช้า การจัดการสอนในเมืองพาจูใช้คนทำงานจริงจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มาถ่ายทอดวิชา ทั้งบรรณาธิการ นักเขียน อาร์ตไดเรกเตอร์ หรือผู้บริหารด้านการตลาด โดยที่คนเรียนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเรียนเพราะรัฐมีงบประมาณสนับสนุน จึงดึงดูดให้คนเข้ามาเรียนมากขึ้น
ข้อดีของการจัดการสอนแบบนี้คือดึงนักเรียนที่มีศักยภาพในชั้นเรียนเข้าสู่สำนักพิมพ์โดยตรง ไม่ต้องรอภาครัฐป้อนนักศึกษาที่ใช้เวลาเรียนในระบบนาน และยังเห็นแววและฝีมือด้านการทำงานในชั้นเรียนกันมาก่อน จึงถือเป็นการลดความเสี่ยงที่จะได้บุคลากรซึ่งไม่ตรงความต้องการ นอกจากการถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมจากการทำงานสายตรงมานาน สิ่งสำคัญคือความสุขของผู้เรียนที่หาจากที่อื่นไม่ได้ แถมยังมีการเชิญวิทยากรหมุนเวียนที่เชี่ยวชาญจากภายนอกอย่างนักวาดภาพประกอบและนักจัดนิทรรศการเข้ามาให้ความรู้อย่างไม่ขาดสายด้วย
หน้าด่านให้ความรู้
ด้วยปัจจัยที่เมืองพาจูตั้งอยู่ติดกับชายแดนประเทศเกาหลีเหนือจึงเดินทางถึงกันได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง สภาพภูมิศาสตร์ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติที่มองการณ์ไกลว่าหากในอนาคตประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมชาติกัน รัฐบาลตั้งใจใช้เมืองพาจูเป็นหน้าด่านให้ความรู้กับคนเกาหลีเหนือที่ถูกแช่แข็งข้อมูล ไม่ให้เกิด culture shock ก่อนไปพบกับความเจริญของประเทศเกาหลีใต้ ไม่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ของสังคม แต่ยังเป็นการฟูมฟักรากวัฒนธรรมความรู้อย่างยั่งยืนของคนเกาหลีใต้ด้วย
จัดมอบรางวัลให้บุคลากรฝีมือดีในเอเชีย
เมื่อเมืองพาจูพร้อมเป็นศูนย์กลางเมืองหนังสือที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก หน่วยงานภายในของเมืองจึงจัดตั้งรางวัลของตัวเองขึ้นมาเพื่อมอบให้บุคลากรด้านสิ่งพิมพ์ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักออกแบบหนังสือ บรรณาธิการ และสำนักพิมพ์ ที่อุทิศตัวให้กับการพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์และวัฒนธรรมในเอเชีย ซึ่งรางวัลเหล่านี้เป็นทั้งการให้กำลังใจและทำให้วงการสิ่งพิมพ์ในภาพรวมพัฒนามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
ศูนย์กลางการประชุมของผู้จัดพิมพ์
ด้วยองค์ความรู้ที่พร้อม เมืองพาจูจึงผลักดันการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมตัวหนังสือให้กับภูมิภาคผ่านการจัดงานสัมมนาประจำปีตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาอย่าง Asian Publishers Fellowship Program in Seoul นอกจากแลกเปลี่ยนความรู้ ยังสร้างเครือข่ายสำนักพิมพ์นานาชาติระดับชาติให้ขยายวงกว้าง โดยชักชวนให้ประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ศรีลังกา นิวซีแลนด์ อินเดีย และจากเกาหลีใต้เอง ส่งตัวแทนมารับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมการประชุมประเทศละ 1 คน ส่วนประเทศเกาหลี 3 คน ซึ่งทุกคนจะเตรียมการนำเสนอรายงาน แชร์ชุดความรู้ โดยสมาคมฯ สนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินและค่าที่พักให้
หากมองดีๆ เราจะพบว่าการที่ตัวแทนแต่ละประเทศเดินทางไปสัมมนาเป็นเรื่องสะดวกต่อการอัปเดตและเก็บข้อมูลวงการหนังสือประเทศอื่นมาเรียนรู้พัฒนาเกาหลีเอง แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นคือการโปรโมตธุรกิจหนังสือของชาติ ให้เกิดการซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ต่อ ฉะนั้นทั้งคนที่จัดงานและผู้เข้าร่วมจึงต่างได้ประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย
เมืองท่องเที่ยวของหนอนหนังสือ
นอกจากเป็นเมืองผลิตหนังสือและเป็นเมืองให้ความรู้คน พาจูยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับหนอนหนังสือตัวยงหรือคนที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายจากเมืองโซล ที่มีทั้งห้องสมุดบรรจุหนังสือที่น่าอ่านจากทั่วโลกมากมาย รวมถึงหนังสือเก่าล้ำค่าเนื้อหาดีที่คนในประเทศและนักเขียนรุ่นใหญ่ของชาติบริจาคให้ห้องสมุดสาธารณะในเมือง มีสถานที่หย่อนใจอย่างคาเฟ่ แกลเลอรี และแหล่งช้อปปิ้งราคาสบายกระเป๋า เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนเข้ามาในเมือง
ความน่าอิจฉาอีกอย่างคือในแต่ละปีจะมีเทศกาลหนังสือ booksori ที่จะมีผู้มาเยือนมากถึง 450,000 คน คุณ Sang Lee ผู้ริเริ่มทำเทศกาลนี้เคยกล่าวไว้ว่าเขาต้องการยืดอายุหนังสือ รวมถึงรวบรวมคนที่มีความรู้มาไว้ในที่เดียวกันและปลูกฝังให้เด็กเกาหลีใต้รักการอ่านกันมากขึ้น จะเรียกว่าประสบความสำเร็จก็ไม่ผิด เพราะปัจจุบันพาจูมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นข้อพิสูจน์ว่าหนังสือที่ใครหลายคนมองว่ากำลังจะตาย สามารถดึงดูดคนที่โหยหามันให้เข้ามาเยือนได้ไม่หยุดหย่อน
พาจู อนาคตที่ไม่หยุดก้าว
การเกิดขึ้นของพาจูไม่ได้ยังประโยชน์ให้ชาวเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงให้วงการหนังสือโลก ในปี 2012 เมืองได้รับรางวัล Best Technology ด้านวัฒนธรรมจากเวที Sheikh Zayed Book Awards จากเทศกาลหนังสือนานาชาติเมืองอาบูดาบี
ดูเหมือนว่านวัตกรรมสื่อของเมืองพาจูจะไม่หยุดแค่งานอุตสาหกรรมหนังสือ เพราะนี่เป็นเพียงก้าวแรกที่รัฐและเอกชนริเริ่มสร้างเมืองด้วยสิ่งพิมพ์ ในมิติที่ 2 พาจูกำลังวางแผนนำบริษัทภาพยนตร์ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับสายภาพยนตร์และการผลิตสื่อโทรทัศน์กว่า 30 แห่งเข้ามาในเมือง เพื่อตั้งใจให้กลายเป็นพื้นที่แห่งข้อมูลข่าวสาร และฐานคอนเทนต์ที่เข้มแข็งเหล่านี้เองที่จะเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมเกาหลีให้พร้อมส่งออกและแทรกซึมไปยังทุกชาติ ไม่ต่างไปจากกระแส K-Pop และ K-Series ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในทศวรรษก่อนหน้า
ภาพ hallyusg.com, stephenjournal.wordpress.com, daewhakang.com และ ศุภกานต์ วงษ์แก้ว