‘อนาคตอาจไม่สนุกเท่าการรู้ประวัติศาสตร์ของเมือง’ Little Thoughts

Highlights

  • Little Thoughts คือนามปากกาของกิรญา เล็กสมบูรณ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร คิด Creative Thailand ที่ตอนนี้เธอมีงานประจำคือทำหนังสือบทความเรื่องวัฒนธรรม เมือง และโลกาภิวัตน์ ออกมากว่า 10 เล่มแล้ว
  • งานเขียนของ Little Thoughts เด่นเรื่องการหยิบเรื่องต่างๆ มารวมกันและย่อยให้อ่านง่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากนิสัยของกิรญาที่อ่านรีพอร์ตต่างประเทศเป็นนิสัย และพื้นฐานความสนใจด้านวัฒนธรรมของเมืองต่างๆ ที่สะสมมา
  • ในมุมมองของ Little Thoughts อนาคตไม่น่าสนใจเท่าการย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเมืองว่าที่มาที่ไปที่ส่งผลต่อผู้คนและกายภาพของเมืองเป็นมาอย่างไร การรู้รากจะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพอนาคตของเมืองนั้นๆ ได้
  • เมืองที่ดีควรจะตอบสนองทั้งความต้องการทางกายภาพและจิตวิทยาของคน ต้องอยู่แล้วสบายทั้งกายและใจ

ทุกวันมีคนออกเดินทางไปรู้จักสังคม วัฒนธรรม และผู้คนใหม่ๆ ยังเมืองทั่วโลก มีข่าวคราวการพัฒนาของเมืองต่างๆ ที่กำลังมุ่งสู่การเป็น smart city ควบคู่ไปกับ livable city ไปพร้อมๆ กัน หลายคนตื่นเต้นกับการเห็นว่าเมืองนั้นให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ มีนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ เราออกเดินทางไปเห็นว่าเมืองที่พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมไปทั่วทุกย่านนั้นเจ๋งยังไง

เราพอคิดออกว่าเมืองในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยรู้คือแล้วประวัติศาสตร์อะไรในอดีตที่หล่อหลอมให้เมืองเหล่านั้นเป็นอย่างในวันนี้

‘visionary city’ คือคอลัมน์ว่าด้วยเรื่องเมืองแห่งอนาคตที่อยู่ในเซกชั่น article ของ a day มาเกือบสองปี คอลัมน์นี้รับผิดชอบโดย Little Thoughts นามปากกาของ ก้อย-กิรญา เล็กสมบูรณ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร คิด Creative Thailand รุ่นบุกเบิกของ TCDC ที่ตอนนี้งานหลักของเธอคือการผลิตหนังสือว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมของเมืองต่างๆ และประเด็นโลกาภิวัตน์ที่ออกมาแล้วกว่า 10 เล่ม

ทุกครั้งที่เราอ่านงานของ Little Thoughts เรามักจะได้ชุดความรู้ใหม่ๆ ในหัวที่ขยายออกไปจากเดิม เพราะกิรญาจับเอาเรื่องป๊อปๆ อย่างงานออกแบบ อาหาร ศิลปะ มามองในเชิงเศรษฐกิจ การพัฒนาเมือง และประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เรามองเห็นที่มาที่ไปของเรื่องนั้นๆ ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญกิรญาเล่าด้วยภาษาที่ไม่ได้อ่านยาก หนังสือของ Little Thoughts เลยเหมาะจะหยิบมาอ่านยามบ่าย หรือพกติดตัวไปด้วยเวลาเราเดินทางไปเมืองไหนและอยากรู้จักเมืองนั้นให้ลึกกว่าแค่ที่ตามองเห็น

บทสนทนากับ ‘ความคิดเล็กๆ’ ต่อจากนี้น่าจะพอตอบคำถามได้ว่าเราจะรู้จักเมืองต่างๆ มากกว่าแค่สถานที่ท่องเที่ยวไปทำไม ในวันที่อนาคตอาจไม่สนุกเท่าการได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ของเมืองทำให้แต่ละเมืองมีเสน่ห์แตกต่างกันอย่างไร

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเป็นเป็ดเพราะรู้เรื่องวัฒนธรรม สังคม เมือง อย่างละนิดละหน่อย ทำไมถึงนิยามตัวเองแบบนั้น

เพราะว่าแบ็กกราวนด์เราเป็นเป็ดจริงๆ เรียนนู่นนิดนี่หน่อย ทำงานนู่นนิดนี่หน่อย ไม่ได้อยู่กับอะไรนานพอจนเชี่ยวชาญสักอย่าง แต่ว่ามันจะมีหลายๆ อย่างผสมกันอยู่ ถ้าคนในแวดวงดีไซน์ เวลาเดินไปเจออะไรก็จะดูกริด ดู visual aspect แต่เราจะคิดไปถึง economic value ความเสี่ยงอย่างอื่นด้วย เรามีความเชื่อว่าไม่มีอะไรที่มองได้แยกจากกัน ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด แต่จะเป็นมุมมองการเมืองนิดนึง เรารู้สึกว่าเวลามองอะไรต้องมองหลายมุม เอามาประมวลผลด้วยกัน

หลายมุมมองที่ว่าก็มีพื้นฐานในเชิงสังคมการเมืองเป็นหลัก ความสนใจด้านนี้เริ่มตั้งแต่ตอนไหน

เริ่มจากเด็กเลยนะ เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือพิมพ์หน้าสองคือหน้าต่างประเทศ เด็กรุ่นที่เราโตมาคงไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะสมัยนั้น ข่าวจะเป็นเรื่องเขมรแดง กัดดาฟี ลิเบีย แต่เราเป็นคนสนใจอะไรพวกนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเชิงสังคมหรือเปล่านะ เราว่าเราสนใจเรื่องวัฒนธรรมมากกว่า ตอนเรียนปริญญาตรีเราเลือกการตลาดระหว่างประเทศ หลักๆ มันจะเรียนเรื่องวัฒนธรรมซะเยอะ ที่เลือกเรียนก็เพราะอย่างนี้ด้วย เช่น ถ้าโค้กจะไปทำการตลาดในเมืองจีนต้องดูเรื่องอะไร ถ้าพูดเรื่องวัฒนธรรม เราว่าใช่ เราสนใจตรงนี้

การเขียนบทความที่ต้องอ่านข้อมูลจากต่างประเทศเยอะๆ ถือเป็นเรื่องยากหรือเปล่า

เราเป็นคนชอบอ่านรีพอร์ตเพราะเรามาจากสายการเงิน ชินอยู่แล้วกับการอ่านอะไรหนาๆ ไม่ว่าจะตอนเป็นนักวิเคราะห์อยู่ที่ธนาคารหรือตอนมาทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับ TCDC ต้องอ่านรีพอร์ตภาษาอังกฤษเยอะมากเพราะเขามี think tank ที่ดีมากเยอะมาก เราก็ไล่อ่านเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการต้องทำแผนและทำบทความ ทุกวันนี้ก็ยังอ่านรีพอร์ตเยอะเวลาจะเขียนอะไร จะไม่ค่อยอิงกับบทความเป็นชิ้นๆ หรือข่าว

ในรีพอร์ตมีข้อมูลเยอะมาก เวลาเริ่มเขียนงานสักชิ้นจะดึงข้อมูลส่วนไหนออกมาเขียน

เราเริ่มจากตัวเองเสมอ เราตั้งกฎไว้ว่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเมืองหรือวัฒนธรรม เราจะเขียนเฉพาะที่ที่เคยไปแล้วดูว่ามีอะไรมาปะทะกับเรามากที่สุด ความทรงจำที่เห็นชัดๆ จากเมืองนั้นที่เรารู้สึกกับมันจริงๆ เริ่มจากตรงนั้นแล้วค่อยรีเสิร์ชเพื่อหาเหตุผลสนับสนุนหรือซักค้านตัวเอง พอรีเสิร์ชจนรู้ที่มาที่ไปประมาณนี้ก็ไม่ยากแล้วว่าเราจะอยากได้ข้อมูลตรงไหนมาเติมเป็นเรื่องให้มันสมบูรณ์ ถ้าเราเริ่มจากคำถามว่าเมืองนี้จะเขียนเรื่องอะไรดี ทุกครั้งที่เขียนมันคงออกมาเป็นฟอร์แมตเดียวกัน เพราะเมืองก็มีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จีดีพี แต่ถ้าเขียนเรื่องเมืองแล้วดึงจากตัวเอง เราจะรู้แล้วว่าจะดึงเรื่องไหนขึ้นมา

เวลาเดินทาง คุณมองเมืองต่างๆ ด้วยสายตาแบบไหน

เราไม่พยายามมองหา แต่เดินไปสักพักมันจะรู้สึกเอง ทุกครั้งเลย อย่างบาร์เซโลนา เดินสักสองสามวันเราก็เริ่มสงสัยว่าทำไมถนนมันกว้างขนาดนี้ล่ะ ออกมานอกเมืองก็ยังกว้าง ส่วนหนึ่งคือเราชอบเดินทางคนเดียวก็ไม่ยากที่จะหาเรื่องมาเขียน

พอได้ไปเห็นเรื่องน่าสนใจจากหลายๆ เมือง เลยเป็นเหตุผลให้อยากเขียนหนังสือหรือเปล่า

เอาเข้าจริง เราออกจากงานที่ TCDC แบบไม่ทันตั้งตัวเท่าไรเพราะต้องกลับไปดูแลที่บ้าน ตอนนั้น สกิลล์เดียวที่เราพอมีอยู่คือการเขียน และช่วงก่อนลาออก เราเดินทางก็เห็นคิตตี้ในที่ต่างๆ ไปนิวยอร์กหรือยุโรปก็เห็นคิตตี้เต็มไปหมดเลย คิตตี้กับแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ เราเลยอยากเขียนหนังสือเรื่องคิตตี้ จริงๆ แล้ว Cool Japan เป็นหนังสือเรื่องคิตตี้มาก่อน แต่ทำเสร็จแล้วรู้สึกยังเบาไปเลยขยายมันออกมา ไปดูเคสอื่นๆ ด้วย

หนังสือของ Little Thoughts นอกจากจะพูดเรื่องวัฒนธรรม ยังมีอีกโซนที่พูดเรื่อง globalization อย่างเซต ความเป็นโลก ความเป็นเรา คนอ่านจะไม่ได้เยอะเท่าและไม่ได้เกิดจากการเดินทาง แต่เรามีมุมมองท่ีอยากเขียนเรื่องพวกนี้ เพราะสังคมกำลังเปลี่ยนไปสู่ความเป็นโลกหนึ่งเดียวมากขึ้น แทนที่ความเป็นท้องถิ่นอย่างตำบล หมู่บ้าน จะเลือนๆ ไป กลายเป็นว่าพิกัดมันยังอยู่ น่าสนใจจังเลย อยากลองเขียน ด้วยความเป็นคนเพ้อเจ้อมันก็มีความคิดทุกวันแหละ ถ้าความคิดไหนอยู่กับเราระยะหนึ่ง ไม่หลุดไปสักที ก็จะลองเริ่มดราฟต์ว่ามันไปได้หรือเปล่า ซนไปเรื่อยๆ

แล้วทักษะการหยิบองค์ความรู้หลายๆ ด้านมารวมกันได้มาจากตอนไหน

คงไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากตอนไหนตอนเดียวเพราะเราว่าเราเก็บมันมา เคยไปเวิร์กช็อปกับพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) มีคนถามว่าพี่จิกเขียนเพลง เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ นานไหม พี่จิกตอบว่า 40 ปี เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาเก็บมาตลอดชีวิต นี่เป็นความรู้สึกเดียวกันเลยตอนเขียน Cool Japan มันเก็บๆ ไว้ เราไม่รู้ว่าจะใช้เมื่อไหร่ ใช้ยังไง แต่เราเก็บมาในชีวิต

ความรู้สึกตอนเขียน Cool Japan แล้วเราสามารถเอาคำว่าหนี้สาธารณะมาใส่กับชื่อวงดนตรี SMAP ได้ มันทำให้เราขอบคุณที่ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าทำไมเราเป็ดจังเลย แต่เนี่ยแหละ ประมาณนี้คือเรานะ ถ้าเราพูดเรื่องดีไซน์ เราจะมีมุมทางเศรษฐกิจ ถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจ เราจะมีมุมวัฒนธรรม การผสมที่ไม่ได้ลึกแต่ผสมหลายๆ อย่างมาเป็นก้อนเดียว มันคือตัวเรา ตอนเขียนก็รู้สึกว่านี่คือตัวเรานะ

แต่ในมุมคนอ่านก็น่าจะยังรู้สึกว่าเรื่องเมือง วัฒนธรรม เป็นเรื่องไกลตัว มีวิธีไหมที่ทำให้หนังสือเรามีคนอ่านมากขึ้น

มันกลับมีคนอ่านน้อยลงไปเรื่อยๆ น่ะ (หัวเราะ) เพราะเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ อยากเก็งเหมือนกันนะว่าคนอ่านอยากรู้อะไร แต่โดยแนวของหนังสือที่เขียนมา มีคนบอกว่าหยิ่ง เราก็รู้สึกว่าต้องหัดทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนอ่านและเฟรนด์ลี่มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่เรา hold ต้นฉบับหนึ่งไว้ ยังไม่พิมพ์ เพราะมันยังตอบตรงนี้ไม่ได้ เหมือนรู้ว่าควรทำอะไรแต่ยังทำไม่ได้สักที เพราะงั้นถ้าตอบคำถามนี้ เราว่าเราสอบตกเลย

แต่ก็จะมีอีกมุมคือมีคนชอบมาบอกว่าถือหนังสือ ดัตช์แลนด์ แดนมหัศจรรย์ ไปอัมสเตอร์ดัมด้วย ซึ่งมันหนานะ ไม่ได้เบาๆ เขาก็ถ่ายรูปให้ดู ซึ่งที่เราเขียนหนังสือ เราอยากเห็นมันเป็นหนังสือเล่มที่สองแบบนี้แหละ แต่เดี๋ยวนี้อาจจะเล่มแรกก็ได้เพราะไม่ต้องซื้อไกด์บุ๊กแล้ว นอกจากไกด์ว่าต้องไปเช็กอินที่ไหนแล้ว ระหว่างนั่งเครื่อง ทำความรู้จักกับวัฒนธรรม คน สังคม ที่มาที่ไปหน่อยไหม นี่คือความฝันเลย แต่ไม่รู้ว่าที่ผ่านมามันได้บ้างไม่ได้บ้าง เล่มนี้เข้าใจว่ายอดขายเขาน้อยมาก ไม่รู้ทำเขาเจ๊งหรือเปล่า แต่ฟีดแบ็กกลับมาคือสิ่งที่เราบอกว่ามันใช่ ถ้าถามว่าเขียนหนังสือไปทำไม เขียนเรื่องวัฒนธรรมทำไม ก็เพราะอยากให้เป็นแบบนี้

งานเขียนเกี่ยวกับเมืองใน visionary city หรืออย่าง บาร์เซโลนากว้างมาก ค่อนข้างชัดว่าคุณเล่าย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของเมืองนั้นๆ เพื่อเข้าใจที่มาที่ไป ทำไมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

เราอยากขอเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น history of city มาก สำหรับเรา อนาคตคาดเดาไม่ได้ พออายุเลยเลขสี่ อนาคตมันไม่ตื่นเต้นแล้วน่ะ ถึงเราจะมีโอกาสไม่ตายเพราะเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าแล้ว แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยมีความสนใจในอนาคต โลกทุกวันนี้เราควรปล่อยให้เด็กตัดสินใจอะไรเองได้แล้ว สมมติว่าเรามีหนึ่งเสียง เด็กอยากจะไปทางไหน เราเอาเสียงนั้นให้นะ เราทั้งไม่สนใจและเราไม่ควรกำหนดอนาคตแล้ว

อนาคตเป็นทางแคบ จากนี้จะเป็นยังไง ทิศทางมันคล้ายๆ กัน เรารู้ว่าเมืองควรจะทำระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ แต่ประวัติศาสตร์คือทางกว้างเลย ขุดไปตรงไหนก็เจอเรื่องใหม่เสมอ เรื่องนี้ไม่เคยรู้ และเปลี่ยนมุมความคิดเราตลอดเวลา

อย่าง visionary city ลงนิตยสาร ต้องส่งบทความล่วงหน้าสองเดือน ถ้าจะให้เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบนโลกนี้ พรุ่งนี้มันก็สายแล้ว เราก็ตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นควรจะเขียนเชิงวิเคราะห์ เราก็ต้องรู้ที่มาที่ไปของมัน พอเขียนไปเรื่อยๆ เรายิ่งพบว่าในวันที่โลกเหมือนๆ กัน ไปเมืองไหนก็มีร้านกาแฟแบบนี้เกิดขึ้น แต่พอสำรวจที่มาที่ไป มันมีอะไรเชปให้เมืองแต่ละเมืองแตกต่างจากที่อื่นจริงๆ อีกส่วนคือเรามาจากสายการเงิน เป็นคนเชื่อในตัวเลข เชื่อในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ สมมติมีข่าวว่าเมืองนี้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเช็กเสมอแหละว่าแล้วมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือเปล่า จีดีพีเมืองนี้เป็นยังไง โตขึ้นหรือเปล่า ความเหลื่อมล้ำแย่ลงไหม การเขียนเรื่องเมืองของเราจึงมีเรื่องที่มาที่ไป แล้วก็ไล่ในส่วนตัวเลขด้วยเพื่อเช็กจริงๆ

ที่กำลังเขียนอยู่คือเวียนนา ปีนี้เป็นปีแรกที่ The Economist และ Mercer สองหน่วยงานที่จัดอันดับเมืองน่าอยู่จัดให้เป็นอันดับหนึ่งตรงกัน พอค้นไปก็พบว่าร้อยละ 60 ของคนในเมืองเขาอาศัยอยู่ใน public housing ในอพาร์ตเมนต์ที่รัฐสนับสนุนค่าเช่าซึ่งเป็นนโยบายที่มีมาตั้งแต่สมัย Interwar แล้วทำต่อมาเรื่อยๆ มันเลยไม่น่าแปลกใจ public housing ของเขาไม่เหมือนบ้านเราที่ใช้คำว่าบ้านเอื้ออาทร อาคารสงเคราะห์ ที่นั่นทุกคนเขาอยู่แบบนี้ ไม่ได้รู้สึกว่าต่ำกว่าใคร พอหาข้อมูล เราถึงเจอมายด์เซตบางอย่างที่ส่งต่อกันมาและไม่ได้ทิ้งไปกลางคันที่ให้คำตอบเรา ไม่งั้นเราก็จะวนกับคำว่าเมืองนี้น่าอยู่ก็เพราะมันปลอดภัยมากขึ้น

หรือสิงคโปร์ เราไม่ชอบสิงคโปร์เลย จัดตั้งมาก เหมือนจับฉันใส่รางรถไฟแล้วไปดูวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งเราไม่เชื่อเพราะเราไม่เห็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจีน คนมาเลเซีย คนอินเดีย มัน propaganda มาก แต่เราเชื่อเรื่องต้นไม้ไงเพราะแกปลูกมาจริงจังมาก เป็นนโยบายชาติว่าถ้าจะเริ่มสร้างเศรษฐกิจต้องปลูกต้นไม้ไปพร้อมกัน การปลูกต้นไม้คือแลนด์สเคปที่บอกว่าฉันเป็นประเทศโลกที่หนึ่งแล้วนะ ซึ่งย้อนไปสมัยก่อนเราเกิด นโยบายรัฐส่วนใหญ่ไม่คิดอะไรขนาดนั้นแน่นอน

การขุดลงไปหาที่มาที่ไปของแต่ละเมืองจึงน่าสนใจ ถ้ารากของเขามาอย่างนี้ มันก็พอดูได้ว่าเขาจะเติบโตไปยังไง

เวลาเดินทาง เคยเปรียบเทียบไหมว่าทำไมบ้านเราไม่มีอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนเมืองอื่นๆ บ้าง

สิ่งที่เราสังเกตมากกว่าคือคน ทุกครั้งที่ไปญี่ปุ่น ถ้ามองไปสิบเมตรแล้วเห็นขยะจิ๋วๆ ไม่ต้องให้ถึงเรา คนข้างหน้าจะต้องเก็บไปทิ้งแล้ว ต้องเห็นทุกครั้งและเราชอบมาก หรือไปเยอรมนี ตอนนั้นอยู่กันในปั๊มน้ำมันรอคนเข้าห้องน้ำ แล้วหลานชายเราถามว่าที่นี่เล่นล็อตโตกันยังไง เราก็ชวนไปอ่านกันว่าเขาเล่นกันยังไง หางตาเราเห็นแล้วว่ามีคนเปิดประตูเข้ามา เขาไม่ลังเลเลยนะที่จะบอกว่าเด็กห้ามเล่นล็อตโต แล้วเขาก็เดินไปเลย ซึ่งในใจเราแบบ เจ๋งว่ะ สังคมเขาเป็นอย่างนั้น คนดูแลกัน บางคนอาจจะไม่ชอบคนเยอรมันที่เขาเคร่งในกฎ ในข้อตกลงของการอยู่ร่วมกัน แต่นี่เป็นหน้าที่เขา ถึงเป็นคนอื่นก็ต้องเดินมาเตือนกัน เราก็อะเมซิ่ง ชอบอะไรแบบนี้

เมืองเป็นแบบนั้นเลยทำให้เกิดคนแบบนั้น หรือเพราะคนเป็นแบบนี้ เมืองเลยเป็นแบบนี้

(หัวเราะ) น่าจะเป็นอย่างหลังนะ เมืองเป็นยังไงเพราะคนเป็นอย่างนั้นมากกว่า อย่างกรุงเทพฯ มันก็ถูกแล้วไหม รถติดเพราะรถเยอะส่วนหนึ่ง แต่เพราะความไม่มีระเบียบวินัยนิดๆ หน่อยๆ ของคนมารวมกัน รถมันก็ติด

นี่น่าจะเป็นมายด์เซตที่เราบอกตัวเองด้วยว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เราจะบ่นอย่างเดียว

ยิ่งเดินทางมากขึ้น ได้เห็นว่าแต่ละเมืองก็มีข้อไม่ดีของมัน เราจะยิ่งไม่ชอบเมืองนั้นไหม

ชอบ ไปไหนก็ชอบ (หัวเราะ) มันก็ชีวิตจริงของเมือง ถามว่าชอบเมืองไหนที่สุด เราชอบนิวยอร์ก เพราะรู้สึกว่ามันบ้านๆ ไม่ได้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบอะไรเลย แต่สิ่งที่ไม่ชอบแน่ๆ คือไม่ชอบเมืองที่มีขยะเท่าไร เมืองมันคงมีทั้งดีและแย่แหละเนอะ เรายังไม่เคยไปแถบสแกนดิเนเวีย ถ้ามันดีทุกอย่างเลยก็คงมีเงื่อนไขที่ทำให่้เป็นอย่างนั้น เช่น จำนวนประชากรเขาน้อย การออกแบบการอยู่ร่วมกันในสังคมทำให้เขาทำแบบนั้นได้ แต่ทุกคนก็บ่นเมืองตัวเองทั้งนั้นแหละต่อให้แกเป็นเมืองที่ดีนะ ไม่มีที่ไหนที่ดีทุกอย่าง ไม่มีที่ไหนที่แย่ทุกอย่าง เราไม่เคยเจอรถไฟใต้ดิน รถไฟลอยฟ้าที่ไหนสะอาดเท่ากรุงเทพฯ อีกแล้ว ไม่เจอจริงๆ ซึ่งถ้าเขาอนุญาตให้เอาอาหารเครื่องดื่มเข้าไปก็อีกเรื่องนึง และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่มีทุกอย่างเลยจริงๆ เป็นเมืองน่าเที่ยวนะ แต่เป็นเมืองน่าอยู่ไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง

การรู้เรื่องเมืองสำคัญต่อคนเรายังไง สุดท้ายแล้วเราควรเรียนรู้และเอาอะไรมาปรับใช้จากการเห็นตัวอย่างเมืองที่พัฒนาไปมากๆ แล้วบ้าง

มันมีผลมากเนอะ เราไม่ได้แค่อาศัยอยู่ในเมือง มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเมืองเป็นพื้นที่ที่เอาตัวเราไว้ข้างบน หรือเมืองควรจะห่อหุ้มเราไว้ ซึ่งมันควรเป็นอย่างที่สอง อันที่จริงมันคือบ้านนะ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนยุคใหม่อยู่คอนโดฯ มากขึ้น สิ่งที่เป็นส่วนกลางจริงๆ คืออะไร ข้างนอกห้อง สวนสาธารณะ ถนนหนทาง ทุกสิ่งที่เราออกมาแล้วมันก็เป็นการอยู่อาศัยของเราจริงๆ มันดีมันถูกมันควรแล้วที่เราจะสนใจเรื่องเมืองมากขึ้น มีความเป็นเจ้าของมากขึ้น

เมืองควรจะตอบสนองทั้งความต้องการทางกายภาพและจิตวิทยาของคน

มันเหมือนทฤษฎีมาสโลว์เลย มันตอบทั้งที่อยู่อาศัย อากาศ ความปลอดภัย แล้วมันก็ต้องตอบด้วยว่านอกจากสบายกายแล้ว สบายใจด้วยหรือเปล่า ถ้าเราเป็นคนกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟฟ้าอาจจะสบายกายระดับนึง แต่ถ้าเรายังต้องนั่งรถเมล์ เราอยู่แล้วสบายกายหรือเปล่า ถ้าสบายกายแล้วต้องถามต่อไปด้วยว่าแล้วเราสบายใจด้วยไหม ถ้ารถติดอยู่ แล้วเห็นข้างๆ เป็นรถเมล์แล้วคนแน่นมากๆ เดือดร้อนขนาดนั้น คนอาศัยรถเมล์บ้านเราไม่เหมือนในเวียนนา ระดับนึงคือมันลำบาก ถ้าเป็นไปได้ไม่มีใครอยากทนอยู่ในนั้น ถ้าเราไม่สบายใจก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจริงๆ เมืองควรจะขจัดความทุกข์ยากของคนได้ยังไง

อย่างกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าเขา proactive มากเรื่องความสวยงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เขาค่อนข้างจะ passive เรื่องพื้นฐาน ถ้าคุณทำงานเรื่องการจัดการขยะ แล้วเป็นคน passive ถ้าไม่มีใครมาบ่นมาร้องทุกข์ คุณก็ทำเท่าเดิมทุกวัน มันก็จะเป็นอย่างที่เราเห็น เหมือนกับเราล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกอย่างมันสวยมากเลย มีโครงการเกิดขึ้นมากมาย แต่ถ้ามองริมตลิ่งจะเห็นว่ามีขยะทั้งนั้นเลยนะ เมืองอย่างกรุงเทพฯ ถ้าทำเรื่องความสวยงามลดลง ปล่อยให้เอกชนทำ เพราะเอกชนบ้านเราเก่งมาก แล้วมาทำเรื่อง fundamental ที่จะขจัดความทุกข์ยากของคนเพราะมันยังมีอยู่เยอะ

ภาพ กิรญา เล็กสมบูรณ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!