วิธีการคิดงานสถาปัตยกรรมที่ไร้กาลเวลาของ วสุ วิรัชศิลป์ ผู้ก่อตั้ง VaSLab

Highlights

  • วสุ วิรัชศิลป์ คือสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง VaSLab ที่ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายประเภท
  • ตัวอย่างผลงานของ VaSLab เช่นดีไซน์โฮเทล Casa de La Flora เขาหลัก, Mason Pattaya และ โชว์รูม Honda Big Wing
  • จุดเด่นของงานออกแบบ VaSLab คือเป็นงานที่ timeless ดูคลาสสิกเหนือกาลเวลา โดยวสุพัฒนาแนวคิดและได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากศิลปะหลายแขนง
  • ความ timeless ในงานสถาปัตยกรรมที่วสุออกแบบนั้นมีองค์ประกอบสำคัญๆ อยู่ที่การใช้สีโมโนโทน การเลือกวัสดุที่ไม่ปรุงแต่งมาก และการเล่นกับสัดส่วนที่มีระบบกริดเป็นพื้นฐาน
  • ด้วยผลงานอันโดดเด่นและสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ วสุได้รับเกียรติให้สวมใส่นาฬิกา G-Shock Limited Edition รุ่น Full Metal GRID ซึ่งมีเพียง 50 เรือนในประเทศไทย และเปิดตัวครั้งแรกในงาน Siam Paragon Watch Expo 2020

ต่อให้เราไม่ได้เปิดกูเกิลแมปส์ เราก็คงระบุพิกัดที่อยู่ของ วสุ วิรัชศิลป์ ได้ไม่ยากเท่าไหร่นัก

เพราะทันทีที่รู้ตัวว่าใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง อาคารคอนกรีตเหลี่ยม บล็อก เส้นชัดฟอร์มจัด ดูลงตัวทั้งๆ ที่ไม่สมมาตร ก็แสดงตัวอย่างโดดเด่นทว่ากลมกลืนอยู่ในซอยปุณณวิถี ราวกับว่าเราเห็นลายเซ็นของ VaSLab ประดับอยู่บนอาคารหลังนี้

VaSLab (Vertere Architecture Studio Laboratory) คือสตูดิโอสถาปนิกที่วสุเป็นผู้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2003 สตูดิโอแห่งนี้ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายทั้งที่อยู่อาศัยและโรงแรมอย่าง Casa de La Flora เขาหลัก และอาคารประเภทอื่นๆ อย่าง Honda BigWing ผลงานของเขาคว้ารางวัลมาแล้วนักต่อนัก

งานของ VaSLab เรียบแต่เก๋ เล่นกับสัดส่วน พื้นที่ และวัสดุได้อย่างน่าสนใจ และที่สำคัญ มันไม่ง่ายที่จะเดาอายุของผลงาน VaSLab เพราะหัวใจการออกแบบที่วสุยึดถือคือ timeless หรือการอยู่เหนือกาลเวลา

เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราชวนวสุเล่าถึงแรงบันดาลใจ พื้นฐานงานสถาปัตยกรรม และวิธีคิดงานในแบบฉบับของเขา

 

คุณมักบอกว่าแพสชั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนงานของคุณ พอทำ VaSLab มา 17 ปีแล้ว แพสชั่นยังจำเป็นกับการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมของคุณอยู่ไหม

จำเป็นแน่นอน เพราะถ้าเราไม่มีแพสชั่นมันจะขับเคลื่อนตัวเองยาก คือถ้าเราทำโดยไม่มี มันจะทำแค่ให้จบไปวันๆ ทุกอาชีพถ้ามีแพสชั่น มันจะไดรฟ์ชีวิตได้ดี เพราะการทำงานเป็นค่อนของชีวิตเลย เราทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ที่เหลือคือนอนพักผ่อน ถ้าเรามีความสุขกับการทำงาน ชีวิต มายด์เซตต่างๆ ก็จะมีความสุขด้วย

งานสถาปัตย์กว่าจะสร้างเสร็จหนึ่งชิ้น ถ้าเป็นบ้านก็อาจจะนานถึงสามปี ถ้าเป็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ ก็มีถึงห้าปีเจ็ดปี หลังจากนั้นอยู่อีก 20-30 ปีเป็นอย่างน้อย ถ้าออกแบบสถาปัตยกรรมที่ timeless ได้ก็จะดี ผมเชื่อว่าสถาปัตย์ที่ timeless ต้องขับเคลื่อนด้วยแพสชั่นแน่นอน มันไม่มีทางออกแบบมั่วๆ ซั่วๆ แล้วจะอยู่ไปตลอดได้ มันต้องใช้การอุทิศตน การอุทิศตนมันมาจากความรัก ถ้ารักอะไรต้องอุทิศตนและเวลาให้กับตรงนั้น ทุกคนอาจไม่ได้มีทางเลือกแบบนั้น แต่ถ้าได้เลือกน่าจะเป็นคนที่มีความสุขคนหนึ่ง

 

งานจะ timeless หรือไม่ดูจากอะไร

ผมศึกษางานที่ timeless จากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะยุคโมเดิร์นและยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สถาปนิกที่ผมชอบคือ Le Corbusier ทุกคนที่ไปปารีสหรือเมืองที่มีงานเขาก็ต้องไปดู คิดดูงานมันตั้งแต่ 1920-1930 แล้ว แต่คนยังไปดูเลย ผมก็เลยวิเคราะห์ว่าทำไม

งานที่ timeless มันมักจะมีพื้นที่ว่าง (space) และสัดส่วน (proportion) ที่ดี มีประวัติศาสตร์ ทำไมมันถึงสร้างขึ้นและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ และ aesthetic คือความงาม ซึ่งความงามมันขึ้นอยู่กับคน ผมชอบอันนี้ คุณชอบอันนั้น ความชอบของแต่ละคนอาจแตกต่างมาก แต่ผมคิดว่ามันมีค่าเฉลี่ยความสวยงามบางอย่างที่บอกได้ว่าองค์ประกอบนี้มันสวย ซึ่งพอพูดถึงเรื่องสัดส่วนของงาน มันก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องกริด

 

แล้วคุณหยิบองค์ประกอบอะไรมาใช้ในการสร้างงานที่ timeless

หลักๆ เป็นเรื่องสีและวัสดุ วัสดุที่ใช้จะเป็น timeless material หรือ สัจจะวัสดุอย่างกระจก ไม้ เหล็ก คอนกรีต แบบไม่ต้องแต่งเติมสี ส่วนตัวผมคิดว่างานสีสันมันอยู่ได้ไม่นาน แต่บางงานก็เข้าใจว่าจำเป็นต้องมีบ้าง อย่างเช่นองค์กรบางแห่งมันอาจต้องมีสีประจำของเขาอยู่ร่วมในงานออกแบบอาคารด้วย 

ถ้ามีการใช้สีในกระบวนการออกแบบ สีที่ผมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นโมโนโทน อย่างสีดำและสีขาว โดยผมใช้สีดำแทน space (พื้นที่ว่าง) ส่วนสีขาวแทน solid (ส่วนที่ทึบ / ตัน) ส่วนตัวเวลาออกแบบมักมีเรื่อง mass and void (พื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่ทึบ) มาเกี่ยวข้องตลอด บางทีก็ไม่ได้คิดล่วงหน้า แต่พอสเกตช์ออกมาแล้วมันมีเรื่องนี้ออกมาด้วยเสมอ มันเป็นสูตรสำเร็จบางอย่างในตัวเรา สำหรับผมมันเป็นสัดส่วนว่าด้วยความงามบางอย่าง

 

ระบบกริดจำเป็นแค่ไหนในงานสถาปัตยกรรม

ผมว่าจำเป็นมาก กริดเป็นอันดับแรกของการเขียนแบบสถาปัตย์ คือเวลาสเกตช์มันไม่ต้องมีกริด ผมเขียนอะไรก็ได้ เช่นเอาสี่เหลี่ยมมาชนกัน แต่ถ้าจะบอกว่ามันกี่เมตร มันต้องมีสเกล ถ้าไม่มีไม้บรรทัดเราต้องมองกริด จะยืดจะหดงานกริดมันก็ขยายตาม เรารู้ว่าสัดส่วนของสี่เหลี่ยมตรงนี้ เราให้ค่ามันได้เป็น 1 เซนติเมตร 10 เมตร 100 เมตร คนที่ทำงานบ่อยๆ จะมีกริดอยู่ในหัวด้วย มันจะเห็น invisible grid ไปเลย

ความสำคัญคือ เวลาเราเขียนแบบ โดยเฉพาะเวลาต้องสื่อสารแบบกับวิศวกรและผู้รับเหมาในการสร้างงาน ถ้าไม่มีกริดมันสร้างไม่ได้ มันต้องวางพิกัด แม้งานผมไม่ได้เหลี่ยมตรงทุกงาน แต่มันก็มาจากกริด แล้วฟอร์มมันก็บิดไปจากกริดอยู่ดี ทุกอย่างเป็น grid work อยู่ดี

 

ช่วยยกตัวอย่างงานของคุณที่ใช้ระบบกริดในการออกแบบหน่อย

งาน Mason Pattaya เป็นดีไซน์โฮเทลที่ไซต์อยู่ที่พัทยา งานนี้วางกริดตั้งแต่แรกเพื่อใช้จัดวางตำแหน่งวิลล่าแต่ละหลังและคลับเฮาส์ ไซต์นี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30 ไร่ ตัวพื้นที่เป็นสโลป 15 เมตร ด้านล่างเป็นชายหาดส่วนตัวที่มีโขดหินเยอะ เล่นน้ำได้แต่หินเยอะและวิวสวย มีหมู่บ้านชาวประมงอยู่ด้านซ้าย และด้านขวาไกลๆ เป็นเมืองพัทยา มันค่อนข้างสงบ ตัวไซต์เป็นภูเขาหิน 

แต่ละพูลวิลล่าจะมีส่วนที่เป็นห้องนอนและห้องนั่งเล่นแยกกัน โดย Beachfront Grand Pool Villa จะมีบันไดเชื่อมทั้งสองอาคารเข้าหากัน ระบบกริดในส่วนนี้ก็ต้องเป๊ะมาก เพราะห้องนอนต้องการวางเตียงคิงไซส์ได้ โดยที่มีที่เหลือสำหรับทางเดินที่กว้างด้วย แต่ด้วยความที่ไซต์เป็นเขาหิน กริดจึงวางตรงมากไม่ได้เลยบิดนิดหน่อย และเพื่อให้ดูเป็นงานคราฟต์ เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ในงานนี้เรายังเอาบริบทท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบด้วย เราค้นพบว่าในชลบุรีมีเรื่องชุมชนหินอ่างศิลา เราเลยไปคุยกับชุมชนว่าสนใจทำงานกับเราไหม คอนเซปต์ของเราคือ Stone Mason (ช่างหิน) เราเลยคราฟต์งานสถาปัตยกรรมให้เหมือนหินที่ถูกแกะสลัก และใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น

 

งานของคุณแต่ละชิ้นมีลักษณะร่วมค่อนข้างชัด เห็นเส้น เห็นฟอร์มเด่น แต่ไม่สมมาตร คุณได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไรอีกไหม

ผมชอบงานศิลปะ สิ่งที่ขับเคลื่อนงานผมคือศิลปะทุกแขนง ทั้งภาพวาด ประติมากรรม หนังสือ เพลง การหล่อหลอมที่เราเรียนมา และการท่องเที่ยว ทุกอย่างเราสะสมและสร้างมันขึ้นมา

นอกจาก modernism แล้ว ยังมี deconstructionism ที่ผมได้รับอิทธิพลสมัยเรียนมหาวิทยาลัย มันอยู่ในยุค postmodernism ที่มองว่าทุกอย่างไม่ต้องมีศูนย์กลาง (centralized) คนคิดเรื่องนี้คือ Jacques Derrida ที่เชื่อว่าทุกอย่าง decentralise ได้ ระบบของสิ่งต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียว คำนำ เนื้อความ สรุป มันอาจกระเด้งไปกระเด้งมาได้ หนังก็เล่าย้อนกลับได้ สถาปัตยกรรมยุคหนึ่งก็เป็นแบบนั้น มีอาคารที่ดูเหมือนจะไม่สมมาตร มีเส้นเฉียง ไม่น่าสร้างได้ คือหลายคนมองว่าเป็นแฟชั่นแต่ผมมองว่ามันตื่นเต้น ผมสนใจเรื่องนี้จนทำให้ผมเบนเข็มไปอยู่ที่นิวยอร์กแทน ผมเปิดหนังสือเรื่อง deconstruction เยอะมาก มันคิดนอกกรอบเยอะ ผมชอบงานที่ไม่ได้สมมาตร อาจมีเส้นสายที่มาจากสัดส่วนที่คิดว่ามันสวย

 

ศิลปะกับสถาปัตยกรรมมีพื้นฐานร่วมกันไหม

วิธีการคิดน่าจะคล้ายๆ กัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันคือสัญชาตญาณในการออกแบบ ผมเคยถามศิลปินดังคนหนึ่งว่า คิดอะไรตอนเพนต์ เขาบอกว่าไม่คิดไรเลย ไม่ต้องพูดถึงยุค Dada คือนอกกรอบมาก Marcel Duchamp เอาโถปัสสาวะผู้ชายมาตะแคง แล้วเซ็นด้านข้าง บอกว่า นี่คือ fountain เขาคือเจ้าของวลีที่ว่าของทุกอย่างในชีวิตประจำวันเป็นศิลปะได้ แนวคิดพวกนี้ผมว่าทำให้สถาปัตยกรรมไม่มีที่สิ้นสุด สถาปัตยกรรมก็มาจากงานศิลปะ คนเราคิดอะไรมันก็เชื่อมโยงกับแนวคิดจากนักปรัชญา จากการเมือง จากสังคม

 

งานสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันและอนาคตจะยังคงความ timeless อยู่ไหม

หากพูดถึงงานสถาปัตยกรรมที่พูดถึงกันเยอะในช่วงนี้ เช่น สถาปัตยกรรมช่วงหลังโควิด-19 มันจะว่าด้วยการออกแบบพื้นที่ การจัดสรรพื้นที่มากกว่า มันมีเรื่องให้คิดเยอะมาก ทั้งบ้าน คอนโด จะมีหน้าตาแบบไหน ปกติ developer จะต้องการห้องเยอะที่สุด แต่ปัจจุบันทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว คนเริ่มไม่อยากอยู่ด้วยกันเยอะแล้ว สถาปนิกเลยต้องหาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้น ฟังก์ชั่นของพื้นที่มันเปลี่ยนไปตามการใช้งานของยุคสมัย

แต่พอพูดถึงเรื่อง timeless มันเป็นเรื่องของหน้าตาและภาพลักษณ์มากกว่า ซึ่งงานสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการในยุคปัจจุบัน ก็ทำให้ timeless ได้เช่นกัน

 

ความสวยงามเปลี่ยนไปบ้างไหมในสายตาของคุณ

ผมว่าเปลี่ยน สมัยเรียนก่อนที่ผมจะมาชอบงาน deconstruction ผมเคยชอบงานของ Robert A. M. Stern ซึ่งแต่ก่อนถือว่ารุ่นเก่า แต่ผมชอบสัดส่วนงานเขา มาถึงตอนนี้ผมชอบดูภาษาใหม่ๆ ในการออกแบบ ชอบมองไปที่วัสดุและเทกซ์เจอร์ ผมชอบอะไรที่เรียบง่ายมากขึ้นและหันมาใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ส่วนความงามที่เราเคยเห็นก็เปลี่ยนตาม แต่หัวใจหลักของการมองยังไม่เปลี่ยน ตัวผมเองก็ยังชอบสีโมโนโทน ชอบใส่แต่เสื้อผ้าสีดำ

 

คุณมองก้าวต่อไปกับ VaSLab อย่างไร

เราทำงานแบบทำทุกวันให้ดีที่สุด เราขออยู่แบบมั่นคงไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเคยคิดว่าบริษัทจะใหญ่แค่ไหนดี แต่ใหญ่ไปคุณภาพชีวิตอาจไม่ค่อยดี ถ้าใหญ่ต้องมีหุ้นส่วนซึ่งก็พูดยาก ผมไม่ได้หวงงานแต่ก็กลัวว่าสิ่งที่เราเชื่อมั่นมาตลอดจะถูกดึงไปทางอื่นหรือเปล่า

เราคิดว่าจะมีพนักงานมากที่สุด 30 คน ตอนนี้มี 20 กว่าคนก็เริ่มคิดว่าเยอะแล้ว พอเป็นหัวหน้าออฟฟิศและมีครอบครัวเราแบกอะไรบางอย่าง แต่เราต้องขับเคลื่อนทุกคนด้วยความเชื่อมั่น และเป็นคนนำทาง แต่ในภาพรวมคือบริษัทยิ่งใหญ่ภาระยิ่งเยอะ ถ้าเรายังบริหารคนเดียวเราก็เริ่มไม่อยากดีลกับเรื่องพวกนี้ บางคนอาจเลือกไม่ได้ก็เข้าใจ แต่สำหรับเรา เราก็เลือกที่จะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ และรักษามันไว้

 


Timeless Black

“ผมเลือกใส่แต่เสื้อผ้าสีดำมาตลอด สีดำให้ความรู้สึกสงบ ตอนที่เร่ิมใส่สีดำใหม่ๆ ผมมองว่ามันเท่ดี แต่ปัจจุบันกลายเป็นความชินไปแล้ว ตู้เสื้อผ้าผมมีแต่สีดำ สีดำคือความเรียบง่าย ใส่สีดำแล้วออกจากบ้านได้เลย เร็ว ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ

“พอแต่งสีดำ จะใส่แอ็กเซสซอรีอะไรก็เข้ากันได้ง่ายหมด นาฬิกาของผมส่วนมากก็สีขาว-ดำหมดเลย” 

เช่นนาฬิกาที่ใส่ในวันนี้อย่าง G-Shock GMW-B5000CS Full Metal “GRID” นาฬิกา limited edition ของ Casio มาพร้อมกับโครงสร้างสเตนเลสสตีล แนว luxury เต็มรูปแบบผสมผสานกับรูปลักษณ์หน้าปัดทรงเหลี่ยมต้นฉบับของนาฬิกา G-SHOCK ที่สืบทอดตำนานมาจากนาฬิการุ่นแรกในปี 1983 คงไว้ซึ่ง Timeless Design

  • นอกจากความเป็นลิมิเต็ดแล้ว รุ่นนี้ยังได้รับชื่อเล่นว่า “GRID” ที่มาของชื่อนี้คือการออกแบบพร้อมสลักหน้าปัด ตัวเรือนและสายด้วยการยิงเลเซอร์เป็นเส้น Grid Lines 
  • ลายเส้น GRID ใช้เทคนิคการยิงเลเซอร์ที่ประณีตเพื่อให้ทุกเส้นมีความตรงและต่อเนื่องกันในทุกสัดส่วนของเรือนเวลาแบบ Seamless 
  • แรงบันดาลใจของ Full Metal “GRID” ได้มาจาก Grid Lines ที่เป็นพื้นฐานของงานออกแบบในทุกแขนง 
  • Full Metal “GRID” ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีและฟังก์ชั่นการใช้งานที่ล้ำสมัยไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ การเชื่อมต่อกับเสารับสัญญาณวิทยุที่ทำให้เปลี่ยนเวลาได้อัตโนมัติ การเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนผ่านบลูทูธ และกันน้ำได้ลึกถึง 200 เมตร
  • GRID กำลังเปิดตัวครั้งแรกในงาน Siam Paragon Watch Expo 2020 ที่จัดถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 และมีเพียง 60 เรือนในประเทศไทยเท่านั้น
  • ด้วยผลงานอันโดดเด่นและสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ วสุได้รับเกียรติให้สวมใส่นาฬิกา G-Shock Limited Edition รุ่น Full Metal GRID ซึ่งมีเพียง 50 เรือนในประเทศไทย และเปิดตัวครั้งแรกในงาน Siam Paragon Watch Expo 2020

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน