ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าภาพเจ้าสาววิ่งหลบแรงระเบิดคือหนึ่งในภาพจำของเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ในเมืองเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน
ฉากหลังที่เห็นไม่ต่างจากภาพพื้นหลังสำหรับพรีเวดดิ้งยอดฮิต แต่สถานที่ที่เจ้าสาวคนดังกล่าวมาถ่ายรูปในเช้าวันแต่งงานของเธอนั้น มีความสำคัญไม่น้อยในแนวคิดการพัฒนาเมือง
มันคือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในชื่อไซฟีวิลเลจ (Saifi Village) ที่ออกแบบภายใต้แนวคิด ‘หมู่บ้านในเมือง’ (urban village)
ลองค้นวิกิพีเดียคำว่า Urban Village จะพบภาพหมู่บ้านไซฟีแห่งนี้เป็นภาพหลักของเนื้อหาเลยทีเดียว
จากซากปรักหักพังของสงคราม สู่โครงการหมู่บ้านในเมือง
อธิบายง่ายๆ ไซฟีวิลเลจก็คือโครงการแบบมิกซ์ยูสระดับบนในเมืองเบรุต ไม่ไกลจากท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางเหตุการณ์ระเบิด เป็นโครงการที่สร้างขึ้นในพื้นที่ที่เคยถูกทำลายแทบราบคาบเพราะสงคราม ก่อนที่บริษัทเอกชน Solidere จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใหม่ โดยใช้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular architecture) มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ เห็นได้จากอาคารสะท้อนยุคอาณานิคมแบบฝรั่งเศส กับถนนที่ปูด้วยหิน โดยโครงการนี้เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวฝรั่งเศสและสถาปนิกชื่อดังชาวเลบานอน
ไม่น่าแปลกใจที่มันจะเป็นโครงการเด่นดัง และเป็นฉากหลังชั้นดีให้กับภาพพรีเวดดิ้งมากมาย
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ สิ่งที่เราสนใจก็คือการที่ไซฟีวิลเลจแห่งนี้เป็นโครงการที่สะท้อนแนวคิดเรื่องหมู่บ้านในเมือง ซึ่งหากอธิบายตรงตัวก็คือการสร้างหมู่บ้านขึ้นในเมือง โดยหมู่บ้านนี้นอกจากที่พักอาศัย ยังประกอบด้วยฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่หมู่บ้านหนึ่งพึงจะมี ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าร้านอาหาร หรือสถานให้บริการในทุกด้านที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต เปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ มันก็น่าจะเป็นการนำสองสิ่งที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันมารวมไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ หมู่บ้านจัดสรร กับ โครงการมิกซ์ยูส
พูดใหม่ก็คือ การเปลี่ยนโครงการมิกซ์ยูสกลางเมืองที่เรามักคุ้นเคยมันในรูปแบบอาคารสูง ให้เป็นแนวราบคล้ายๆ หมู่บ้านจัดสรร โดยมีแรงบันดาลใจมาจากหมู่บ้านในชนบท ที่มีองคาพยพสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับไซฟีวิลเลจ นอกจากอาคารอพาร์ตเมนต์ ทาวน์เฮาส์ ร้านค้า สนามเด็กเล่น และสวนสาธารณะแล้ว ยังมีตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่างเฟอร์รารีอยู่ในนั้น ทั้งยังเป็นที่ตั้งของหอศิลป์มากกว่าหนึ่งแห่ง และโชว์รูมดีไซเนอร์ชื่อดังของเลบานอนอีกหลายราย
จากการออกแบบข้าวของในบ้าน สู่การออกแบบหมู่บ้านขึ้นใหม่
ในทางผังเมือง คำว่าหมู่บ้านในเมืองจะใช้เรียกโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีระดับความหนาแน่นปานกลาง ซึ่งมีการจัดผังแบบผสมผสานการใช้งาน เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่สาธารณะและการเดินเท้า
ไซฟีวิลเลจอาจไม่ใช่โครงการหมู่บ้านในเมืองที่เราคุ้นหู แต่หากพูดถึงโครงการ The Urban Village Project ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง SPACE10 บริษัทวิจัยและออกแบบของอิเกีย กับ EFFEKT Architects บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมจากเมืองโคเปนเฮเกน ในการสร้างต้นแบบโครงการที่อยู่อาศัย เรื่องนี้อาจเคยผ่านตาหลายคนอยู่บ้าง หรืออย่างน้อย ความเป็นอิเกียก็ชวนให้เราทำความรู้จักโครงการนี้ไม่มากก็น้อย
จะไม่น่าสนใจได้อย่างไร เมื่ออิเกียซึ่งเป็นผู้นำด้านการออกแบบอย่างเป็นประชาธิปไตย (democratic design) จะขยับขยายจากการออกแบบข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมาเป็นการออกแบบหมู่บ้านขึ้นมาสักแห่ง แน่นอนว่ามันเป็นทั้งเรื่องของการอยู่อาศัย ย่าน และเมือง ซึ่งมันก็ควรเป็นอย่างนั้น เพราะหมู่บ้านในเมืองนั้นไม่ได้เป็นเพียงโครงการบ้านจัดสรรในเมืองอย่างที่คนไทยคุ้นเคย แต่มันคือแนวคิดที่สะท้อนกันกับลัทธิชุมชนเมืองยุคใหม่ (New Urbanism) แนวคิดในเชิงผังเมืองที่หลายคนลงความเห็นว่าควรจะเป็นอนาคตสำหรับเมืองของแต่ละคน
นั่นคือ ความพยายามในการตอบคำถามว่าการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนนั้นเป็นยังไง
โครงการทดลองของอิเกียที่ใช้ชื่อว่า The Urban Village Project นี้จึงสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงแนวคิดของการกลับมาให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยในชุมชน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการผสมผสานทุกอย่างของชีวิตเข้าด้วยกัน
สิ่งสำคัญคือการออกแบบที่อยู่อาศัย ‘ในฝัน’ นี้ให้มีราคาเข้าถึงได้ ซึ่งทำให้การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนนั้นเป็นไปได้ในเวลาเดียวกัน ลองเข้าไปดูวิธีคิดในการออกแบบโครงการนี้ได้ที่ urbanvillageproject.com
จากการออกแบบเมืองในวันเก่า สู่การออกแบบเมืองในวันใหม่
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหมู่บ้านในเมืองหรือชุมชนเมืองยุคใหม่ มันก็คือการหาทางเลือกของการพัฒนาเมืองที่พ้นไปจากการขยายตัวอันไม่สิ้นสุด และความพยายามพัฒนาเมืองเพื่อเข้าสู่ความเป็นเมืองกระชับ (compact city)
ความหมายของเมืองกระชับนั้นคือ การส่งสริมการพัฒนาเมืองที่เน้นความหนาแน่นสูงและการใช้งานแบบผสม โดยมีเครื่องมือสำคัญคือระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและยกระดับความสามารถในการเดินเท้า (รวมถึงการใช้จักรยาน) การออกแบบให้ที่ทำงาน ส่วนสันทนาการ และที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ลดการพึ่งพารถยนต์ และการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และระหว่างผู้คนกับเมือง
เมื่อพูดแบบนี้หลายคนคงนึกถึงบุคคลในตำนานอย่าง Jane Jacobs อย่างช่วยไม่ได้ แม้เจนจะไม่ใช่นักวางผังเมือง แต่หนังสือ The Death and Life of Great American Cities ที่เธอเขียนขึ้นกลับได้รับการมองว่าเป็นไม่ต่างจากคัมภีร์ไบเบิลสำหรับการวางผังเมืองยุคใหม่
นั่นเป็นเพราะข้อเรียกร้องของเธอที่มีต่อนักวางผังเมืองในทศวรรษ 1960 ในการใคร่ครวญถึงแนวทางการพัฒนาเมืองที่แยกทุกฟังก์ชั่นออกจากกัน โดยเฉพาะการแยกที่อยู่อาศัยออกจากอย่างอื่น และพึ่งพารถยนต์หนักมาก
แน่นอนว่าความคิดของเจคอบส์มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดเรื่องหมู่บ้านในเมือง รวมถึงแนวคิดเรื่องชุมชนเมืองยุคใหม่ หรือเอาจริงๆ ก็ทุกแนวคิดที่เป็นภาพกลับด้านของวัฒนธรรมพึ่งพารถยนต์ที่ถือเป็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่ล้มเหลวและสร้างความเสียหายทิ้งไว้ให้กับหลายเมือง รวมถึงการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับเมือง
แต่อย่างน้อย ในวันนี้เราก็รู้แล้วว่าหัวใจสำคัญของการอยู่อาศัยในเมืองยุคใหม่นั้นไม่ใช่แค่คำว่า ‘บ้าน’ แต่เพื่อนบ้าน ชุมชน และตัวเมืองเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
อ้างอิง