ในอเมริกามีกลุ่มเมืองหนึ่งที่ได้รับการเรียกว่า Legacy City
ฟังดูเหมือนจะดีแต่แท้จริงแล้วคำที่เอาไว้ใช้เรียก ‘เมืองที่เคยรุ่งเรือง’ ที่ตกต่ำในช่วงการก้าวออกจากอุตสาหกรรม โดยมีผลพวงสำคัญจาก suburbanization หรือการที่วัฒนธรรมรถยนต์แบ่งบาน ทำให้ผู้คนเลือกออกไปอยู่ชานเมืองและทิ้งตัวเมืองชั้นในให้เงียบเหงาและเสื่อมโทรม
ดีทรอยต์ คลีฟแลนด์ เซนต์หลุยส์ และนิวออร์ลีนส์ คือตัวอย่างของเมืองที่ว่านี้ ดัชนีสำคัญที่บอกให้รู้ว่าเป็น Legacy City คือการลดลงของทั้งจำนวนประชากรและรายได้จากภาษีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความพยายามฟื้นฟูเมืองที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันก็มีเมืองใหญ่บางส่วนในอเมริกาที่รอดจากการเป็น Legacy City นั่นเพราะเมืองเหล่านี้รุ่งเรืองมาก่อนหน้าเมืองอื่น จนมีความเป็นเมืองหนาแน่นและพัฒนาขนส่งสาธารณะในเมืองอย่างเป็นระบบก่อนที่วัฒนธรรมรถยนต์จะแบ่งบาน
นิวยอร์ก บอสตัน ชิคาโก และซานฟรานซิสโก คือเมืองเหล่านั้น หากสังเกตให้ดีคือเมืองที่มีทั้งระดับการเดิน ความหนาแน่น อัตราการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และความเป็นเมือง สูงกว่าเมืองอื่นๆ
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีเมืองที่พยายามก้าวขึ้นมาเป็นเมืองที่มีปัจจัยที่ว่ามานี้สูงกับเขาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นลอสแอนเจลิส ไมอามี หรือเดนเวอร์ แต่ที่โดดเด่นกว่าใครคือ ‘ซีแอตเทิล’ ที่แม้จะมีระดับความหนาแน่นใกล้เคียงกับเมืองคู่แข่งทั้งหลาย แต่มีระบบขนส่งสาธารณะเป็นแต้มต่อสำคัญ
ก้าวข้ามซิลิคอนวัลเลย์
ซีแอตเทิลไม่เพียงมีทิวทัศน์งดงามและกาแฟส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วเท่านั้น แต่ความที่มีบริษัทเทคโนโลยีตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ซีแอตเทิลจึงกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของซิลิคอนวัลเลย์
การเป็นที่ตั้งของธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองครั้งใหม่สำหรับซีแอตเทิล ตามมาด้วยแอมะซอนที่เริ่มต้นธุรกิจในกลางทศวรรษ 1990 ก่อนจะสยายปีกกลายเป็นบริษัทขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การประกาศแผนการย้ายสำนักงานจากย่านเบคอนฮิลล์ไปยังเซาท์เลคยูเนียนของแอมะซอนในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ทำให้มีการคาดการณ์ตามมาว่าเมื่อแคมปัสใหม่สร้างเสร็จ แอมะซอนจะนำการจ้างงานมาสู่ย่านที่เคยเป็นเขตอุตสาหกรรมบางเบาอย่างเซาท์เลคยูเนียนมากถึง 6,000 คน
การคาดการณ์ที่ว่าน้อยกว่าความเป็นจริงไปมาก เรียกว่าประมาทแอมะซอนไปหน่อยก็คงจะได้ เพราะในความเป็นจริงแอมะซอนไม่เพียงนำการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่งเข้ามา แต่ยังมีการลงทุนมากกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐในที่อยู่อาศัยราคาประหยัด (affordable housing) และรายได้อื่นๆ ที่เซาท์เลคยูเนียนได้รับอีกด้วย
เมื่อถึงปี 2017 แอมะซอนก็มีพนักงานทำงานอยู่ในซีแอตเทิลกว่า 40,000 คน ในอาคารกว่า 40 แห่ง กินพื้นที่สำนักงานรวมกว่า 13 ล้านตารางฟุต
ปัจจุบันเรารู้กันว่าบรรยากาศของความสร้างสรรค์นั้นอยู่ในเมืองมากกว่า และบริษัทอย่างแอมะซอนก็วางตัวเป็นองค์กรในเมือง (urban enterprise) มาแต่ไหนแต่ไร Jeff Bezos เองก็เคยกล่าวไว้ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นแอมะซอนในปี 2014 ว่า การอยู่ในเมืองนั้นหมายถึงการเดินทางและการเผาผลาญพลังงานที่น้อยลง และพนักงานแอมะซอนนั้น ‘ชื่นชอบพลังงานและพลวัตของสภาพแวดล้อมแบบเมือง’
การจ้างงานหมายถึงประชากรที่เพิ่มขึ้นและความต้องการเรื่องที่อยู่อาศัย ซีแอตเทิลจึงเป็นเมืองที่มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สูงกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ความต่างสำคัญคือที่อยู่อาศัยใหม่ที่ว่านี้ไม่ได้ถูกผลักออกไปอยู่ชานเมืองแต่สร้างใหม่ในตัวเมืองเลย พูดง่ายๆ คือซีแอตเทิลทำให้ผู้คนสามารถอยู่อาศัยในเมืองได้ และเมืองได้รับการใช้งาน 24 ชั่วโมง กฎหมายการใช้ที่ดินนั่นเองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญและทำให้ซีแอตเทิลกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของซิลิคอนวัลเลย์เรื่องการดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย
ปัญหาสำคัญของซิลิคอนวัลเลย์คือความเป็นชานเมืองและกฎหมายการใช้ที่ดิน ทำให้ไม่สามารถเพิ่มความหนาแน่นเมื่อเทียบกับซีแอตเทิลที่สามารถสร้างตึกสูงในเมืองได้ รวมถึงการแก้กฎระเบียบเพื่อเพิ่มเพดานความสูงในย่านเซาท์เลคยูเนียนเพื่อเปิดรับการย้ายเข้ามาของแอมะซอน
ข้อมูลจากการเคหะของอเมริกาบอกว่า ในปี 2017 ซีแอตเทิลมีโครงการก่อสร้างแบบ multi-family units (โครงการที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่บ้านเดี่ยว) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมืองและย่านใกล้เคียง ส่วนข้อมูลจาก Seattle Times บอกว่ามีการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมืองเกือบ 20,000 คนต่อปีมาตั้งแต่ปี 2010 นั่นทำให้ซีแอตเทิลกลายเป็นเมืองใหญ่ที่เติบโตมากที่สุดของอเมริกาในทศวรรษ 2010
ความเป็นเมืองนั่นเองที่เป็นความได้เปรียบสำคัญของซีแอตเทิล เมื่อชีวิตไม่ได้มีไว้สำหรับการทำงาน 24 ชั่วโมง การเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและใช้ชีวิตจึงสำคัญไม่แพ้กัน บริษัทจะสร้างที่ทำงานอันสร้างสรรค์ให้พนักงานยังไงก็ได้ แต่จะดีกว่ามากหากเมื่อสิ้นวัน ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นยังคงแวดล้อมด้วยความมีชีวิตชีวา
ไม่นับสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ และบรรยากาศแสนสบาย การเสพวัฒนธรรมยังทำให้ซีแอตเติลถูกจัดให้เป็นเมืองน่าอยู่มาแต่ไหนแต่ไร
ซิลิคอนวัลเลย์จะยังคงเป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรมอันสำคัญ แต่หากเทียบกันด้วยความอยู่ดีมีสุขของคนทำงาน ซีแอตเทิลทำคะแนนนำไปหลายช่วงตัว
ก้าวข้ามตัวเอง
ปัจจุบันซีแอตเทิลยังคงขยายระบบขนส่งสาธารณะ แน่นอนว่ามันช่วยยกระดับความสามารถการเดินทางในเมืองให้สูงขึ้นไปอีก คำว่าระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้หมายถึงเฉพาะรถไฟใต้ดิน แต่ยังรวมไปถึงรถโดยสารประจำทางและจักรยานให้เช่า
แม้โครงการจักรยานให้เช่าของเมืองจะล้มเหลวเพราะไม่สามารถบริหารต้นทุนได้ แต่ธุรกิจเดียวกันของเอกชนเป็นไปอย่างงดงาม ซีแอตเทิลมีอัตราการใช้จักรยานให้เช่ามากถึง 9 เปอร์เซ็นต์สำหรับการเดินทางในย่านใจกลางเมือง ถือเป็นตัวเลขที่สูงลิ่วเทียบกับเมืองอื่นในประเทศ
ไม่เพียงก้าวข้ามซิลิคอนวัลเลย์ ซีแอตเทิลยังเป็นเมืองที่มักได้รับการนำไปเปรียบกับแวนคูเวอร์ เมืองต้นแบบเรื่องคุณภาพชีวิตในทวีปอเมริกาเหนือ แต่โลก (และเมือง) ไม่ใช่เรื่องหยุดนิ่ง
พร้อมกับการเติบโตของเมืองคือเสียงบ่นของชาวเมืองซีแอตเทิลเองต่ออิทธิพลของแอมะซอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่การแก้ปัญหาด้วยความพยายามเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่เพิ่มขึ้น
จากเดิมที่ซีแอตเทิลเคยต้อนรับแอมะซอน กลายเป็นต้องขับสู้กัน ในปี 2019 แอมะซอนจึงประกาศแผนการย้ายสำนักงานของพวกเขาอีกครั้ง โดยจะย้ายทีม International Operation ทั้งหมดไปยังเบลล์วิลล์ เมืองใหญ่อันดับสามของเขตนครบาลซีแอตเทิล (Seattle metropolitan area) ภายในปี 2023 หากเปรียบให้เห็นภาพก็น่าจะเหมือนย้ายจากกรุงเทพฯ ไปนนทบุรี
จะว่าไปแล้วเบลล์วิลล์ก็เหมือนเป็นจุดกำเนิดของแอมะซอน เพราะเจฟฟ์ เบโซส เริ่มต้นธุรกิจของเขาในโรงรถที่เบลล์วิลล์นี่เอง
แต่ไม่ได้หมายความว่าแอมะซอนจะทิ้งความเป็นองค์กรแห่งซีแอตเทิลไป ตรงกันข้าม ในปีนี้แอมะซอนก็เพิ่งซื้อสิทธิการตั้งชื่อสนามกีฬา KeyArena และเปลี่ยนชื่อเป็น Climate Pledge Arena ตามชื่อโครงการของแอมะซอน ที่ประกาศจะเป็นธุรกิจคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2040 ท่ามกลางกระแสกดดันว่าธุรกิจของแอมะซอนสร้างขยะมากมายจากหีบห่อบรรจุภัณฑ์
เป็นก้าวที่ยังต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นแอมะซอนหรือซีแอตเทิล ในทศวรรษใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและไม่มีอะไรเหมือนเดิม
อ้างอิง