สำหรับคนที่ติดตามฟุตบอลมานานและเติบโตขึ้นในยุคที่หนังสือพิมพ์อย่าง สยามกีฬา สตาร์ ซอคเก้อร์ ยังเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารยักษ์ใหญ่ให้ได้ติดตามเกมลูกหนังและเชียร์ทีมในดวงใจ เชื่อว่าน่าจะรู้จักคอลัมนิสต์ที่ชื่อ “มาเฟียรี่” จากคอลัมน์ “คุยกันวันหยุด” ที่ชวนผู้อ่านคุยเรื่องทั่วๆ ไปในแง่มุมต่างๆ กันเป็นอย่างดี
มากไปกว่านั้น “มาเฟียรี่” หรือ อุไร ปทุมมาวัฒนา ยังเป็นนักข่าวกีฬาระดับต้นของสยามสปอร์ตที่อยู่กับองค์กรนี้มากว่าสามทศวรรษ เป็นหนึ่งในคนที่ทำให้สื่อกีฬาของไทยอย่างเครือสยามสปอร์ตได้ยืนหยัดเคียงข้างสื่อกีฬายักษ์ใหญ่ของโลก ผ่านทัวร์นาเมนต์แล้วทัวร์นาเมนต์เล่า งานเขียนชิ้นแล้วชิ้นเล่า จนทำให้เธอได้กลายเป็นหนึ่งโหวตเตอร์ของ บัลลงดอร์ เป็นคนไทยคนแรกและ (ยัง) เป็นคนเดียวมาจนทุกวันนี้
แต่ใดๆ ในโลกล้วนต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง สื่อสิ่งพิมพ์อย่าง “สตาร์ ซอคเก้อร์ รายวัน” ขวัญใจนักดูบอลทั่วประเทศ หรือแม้แต่สิ่งพิมพ์อื่นๆ ในเครือสยามสปอร์ตฯ ก็เช่นกัน ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งกาลเวลาได้
เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน หนังสือพิมพ์ยอดตกถ้วนหน้า คนเริ่มละทิ้ง “สื่อกระดาษ” ทุกหัว องค์กรสื่อก็ต้องปรับตัวรับแรงกระแทกครั้งใหม่ อุไร ก็ไม่อาจต้านทานกระแสนั้น เธอจึงเป็นหนึ่งในนักข่าวรุ่นใหญ่ที่บริษัทขอให้ออกก่อนกำหนดหรือ “early retire” เพื่อปรับองค์กรให้ “เพรียว” ขึ้น
สามสิบกว่าปีแห่งการทำงานในฐานะนักข่าว “สยามสปอร์ตฯ” ของเธอจึงกำลังจะจบลงในปีนี้ (พร้อมออปชั่นฟรีแลนซ์พ่วงในอีกหนึ่งปีข้างหน้า)
วันนี้เราคุยกับ “มาเฟียรี่” ถึงทุกเรื่องที่ผ่านมาและอนาคตที่รออยู่ของเธอ
สรุปว่าตอนนี้สถานะการทำงานของคุณเป็นอย่างไร
เป็นคนตกงานที่ยุ่งฉิบหายเลย (หัวเราะ) จริงๆ มีงานใหม่แล้วนะคะ แต่ยังไม่อยากจะพูด เดี๋ยวรอหลังปีใหม่ค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้สถานะคือไม่ได้เป็นพนักงานของสยามสปอร์ตตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพียงแต่ว่านายขอให้เขียนลงในสตาร์ ซอคเก้อร์ อีกสักประมาณปีหนึ่งในฐานะฟรีแลนซ์ ตอนนี้ก็เขียนคอลัมน์ “ตอกไข่ใส่สตั๊ด” อยู่สัปดาห์ละสองครั้ง เวิลด์ ซอคเก้อร์ แล้วก็คอลัมน์ “คุยกันวันหยุด” ก็ยังเขียนอยู่
ขออนุญาตถามตรงๆ ว่าคุณโดน early retire หรือเปล่า
ก็คือโดน early retire นั่นแหละค่ะ แต่ดิฉันขอใช้คำของคุณซูม ไทยรัฐ (สมชาย กรุสวนสมบัติ คอลัมนิสต์ระดับตำนานของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ-ผู้เขียน) ซึ่งตัวแกเองก็ early retire มาหลายปีแล้ว อายุ 80 แล้วด้วย แกบอกว่าพวกเราที่เป็นสื่อกระดาษเนี่ยก็รอวันนี้ รอวันที่รู้ว่าตัวเองโดน early retire หรือ volunteer early retire ก็แล้วแต่ เพื่อที่จะได้แพลนอนาคตต่อไปได้ ทีนี้พอโดน early retire เจ้านายก็ให้ดิฉันเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ของสยามสปอร์ต แต่ก็ไม่ใช่เราคนเดียวที่โดนนะคะ มีรุ่นพี่อีกหลายคน รุ่นพี่ที่มาด้วยกันจากสมัยโรงพิมพ์ที่คลองเตย ก็กลายเป็นฟรีแลนซ์กันไป เขียนให้อีกปีนึง หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับหนังสือพิมพ์เองแล้วว่ามันจะยังมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อไหร่
ในฐานะที่เป็นนักข่าวที่อยู่ในวงการมานาน เห็นการถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ คุณเตรียมใจเจอสิ่งเหล่านี้ไว้บ้างหรือเปล่า
พร้อมตลอดค่ะ แล้วก็บอกลูกน้องให้พร้อมเสมอ ถ้าใครที่อ่านคอลัมน์ “คุยกันวันหยุด” ของดิฉันมาตลอด ก็จะรู้ว่าดิฉันเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในแวดวงสื่อโลกมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ Newsweek ยังมีการเปลี่ยนแปลงแปลว่ามันส่งสัญญาณมานานแล้วนะคะ ซึ่งเราก็ไม่ได้เพิ่งมาคิดว่าจะต้องลดหน้า หรือว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงในปีนี้ เพราะเราก็ขยับมานานแล้ว อย่างเว็บไซต์สยามสปอร์ต เราก็เป็นสื่อเจ้าแรกที่ทำก่อนใคร มีช่วงหนึ่งที่ดิฉันต้องปลีกตัวจากแผนกต่างประเทศขึ้นไปทำที่ศูนย์ข่าวเพื่อป้อนเข้าเว็บไซต์ จริงๆ เราปรับตัวมานานแล้ว เราปรับมาตลอด แต่ในฐานะคนทำสื่อกระดาษด้วยกันก็จะทราบว่าสถานการณ์ปีนี้มันหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึง “โควิด-19” มันก็เป็นสถานการณ์หนึ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจกันมาก่อน เพราะอยู่ๆ คนออกจากบ้านไม่ได้ ร้านค้าขายส่งต่างๆ ก็วุ่นวายไปหมด
กล่าวเฉพาะเจาะจงไปที่เครือสยามสปอร์ตฯ สัญญาณนี้มันเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่
เราเริ่มปรับโครงสร้างในบริษัทมา 6-7 ปีแล้ว ลดจำนวนคนลงเรื่อยๆ ถ้าโดนให้ออกก็ได้ค่าตอบแทน แต่ถ้าลาออกเองก็จะไม่ได้เงินชดเชย ก็จะบอกเด็กๆ ไว้ตั้งแต่ที่เริ่มมีการ lay off ล็อตแรกว่าให้หางานใหม่ด่วนก่อนที่จะถึงวันที่ต้องโดนจิ้มให้ออก หรืออยากอยู่เพื่อโดนจิ้มก็ได้ เพียงแต่มันจะเซ็ง เพราะในอารมณ์คนที่รอวันโดนจิ้ม รอเงินชดเชย ความรู้สึกมันไม่โอเค แต่ก็จะบอกว่าพวกมึงห้ามไปตายเอาดาบหน้าเด็ดขาด
ทำไมบอกอย่างนั้น
เพราะดาบหน้ามีคนตายนอนกองอยู่เยอะแล้ว คนอาชีพอย่างเราๆ เงินมันไม่ได้สูง พวกทำทีวีก็เหมือนกัน ได้ออกจอแล้ว เป็นที่รู้จักก็จริง แต่เงินเดือนไม่ได้สูงอย่างที่คนอื่นคิด เราก็จะบอกว่าเงินไม่กี่แสนเนี่ย มันอยู่ไม่ได้ทั้งชีวิตหรอก เงินล้านยังอยู่ไม่ได้เลยทุกวันนี้ ก็ต้องให้ทุกคนเตรียมตัว เพราะว่าทุกคนมีครอบครัว ผ่อนรถผ่อนบ้าน มันก็ต้องคิดเผื่อ ไอ้ประเภทที่ตื่นขึ้นมา มาโรงพิมพ์ วิจารณ์บอลเสร็จ เขียนเกม แปลข่าว กลับบ้าน สบายๆ ไม่มีแล้ว
หนังสือพิมพ์จะเอาตัวไม่รอดแล้ว
หนังสือพิมพ์รายวันมันจะอยู่ไม่ได้แล้ว มันอยู่ได้เพราะมีคนอ่าน แต่คนเดี๋ยวนี้แทบไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว คุณจำได้ไหม เมื่อเร็วๆ นี้ไทยรัฐเขาขายหน้าโฆษณาบนปกหน้าปกหลัง wrap หนังสือพิมพ์เลย ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเกิดขึ้น เป็นสัญญาณที่เราเห็นแล้วก็รู้ได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น วันนี้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงมาก ไม่ต้องพูดถึง E-Book หรือ E-Papers เพราะเราเคยทำแล้วก็โดนก๊อปทุกหน้าเลย ไม่ค่อยยอมเสียเงินอ่าน พอทำแล้วก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเป็นต่างประเทศมันยังขายได้นะ แล้วยอดมันโตขึ้นด้วย สื่อกีฬารายวันของเมืองนอกเขาก็ปรับตัว อย่าง ลา กัตเซตตา (La Gazzetta dello Sport หนังสือพิมพ์กีฬารายวันยักษ์ใหญ่ของอิตาลี-ผู้เขียน) นี่ก็ปรับมาหลายปีแล้ว ปรับจากกระดาษสีชมพูอันเป็นเอกลักษณ์มาเป็นกระดาษขาวดำ ลดสีเพื่อลดต้นทุน หรืออย่าง เลกิ๊ป (L’Équipe) หนังสือพิมพ์กีฬาเจ้าใหญ่ของฝรั่งเศสเขาก็ปรับจากขนาด broadsheet ลดมาเป็น tabloid ก็เป็นการลดกระดาษ ลดต้นทุน เรารู้ได้จากการเห็นหนังสือพิมพ์ในวงการเปลี่ยนไป โดยที่เราไม่ต้องถามว่าปรับทำไมหรือเปลี่ยนทำไมด้วยช้ำ
พอมาถึงเราก็เลยไม่เซอร์ไพรส์
ไม่เซอร์ไพรส์ ถ้าจะเซอร์ไพรส์ คงเซอร์ไพรส์ในความปัจจุบันทันด่วนมากกว่า แต่ตัวเองไม่ใช่คนแรกที่โดนแบบนี้ คือเขาตัดกันด้วยตัวเลข ซึ่งเราก็เข้าใจคนที่ตัดสินใจ ทำงานมาถึงป่านนี้ก็ไม่ได้มีอะไรให้อยากโกรธเคืองกันหรอก
ขออนุญาตถามตอนที่ทราบเรื่องนี้จากเจ้านาย รู้สึกยังไง
ก็บอกว่าแล้วแต่พี่วิ (ระวิ โหลทอง ผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด) ยังไงก็ได้ แล้วแต่พี่วิเลย (หัวเราะ) ไม่รู้จะตอบอะไร เพราะชีวิตพวกเราก็แล้วแต่พี่วิ หมายถึงว่าชีวิตการทำงานนะคะ “แล้วแต่พี่วิ” ด้วยความที่เราโตมากับเขาเนอะ เราก็คงอยู่ตามที่คุณระวิเขาอยากจะให้เราอยู่ช่วยงานตรงนี้ค่ะ
ใจหายไหม
ไม่เชิง เพราะว่าความไม่แน่นอนมันเกิดขึ้นตลอด
ตอนนี้ยังต้องเข้าออฟฟิศอยู่หรือเปล่า
ตอนนี้ก็ยังเข้าไปเขียนงานอยู่เป็นบางวัน นั่งเขียนงานจากบ้านทุกวันก็เบื่อ ก็ไปเปลี่ยนบรรยากาศแล้วก็ไปทยอยเก็บของบ้าง หนังสือมันเยอะ ต้องทยอยเก็บ แล้วมันยังมีทรัพย์สมบัติที่หอบมาจากคลองเตย สตาร์ ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์เข้าเล่มไว้ตั้งแต่คลองเตย
รวมอายุการทำงานของคุณสามสิบปีใช่ไหม
สามสิบเอ็ดกว่าๆ เราเข้ามาปี 2533 ปีฟุตบอลโลก 1990 ค่ะ
ตอนนั้นคิดไหมว่าเราจะอยู่ได้ยาวนานถึงสามทศวรรษ
เอ่อ ไม่ได้คิดนะว่าจะอยู่นานเท่าไหร่ ก็อยู่ไปเพราะว่าเรารักทางนี้ เพื่อนที่จบอักษรฯ จุฬาฯ มาด้วยกัน ตอนนั้นเขาก็จะสตาร์ทเงินเดือนกันที่หลักหมื่น แล้วเราก็ยังสตาร์ทสี่พันอยู่ (หัวเราะ) เราก็อยู่ไป เพราะตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำงานแบบ nine to five (เข้าเก้าโมงเช้า กลับห้าโมงเย็น หมายถึงทำงานเป็นเวลาแน่นอนเป็นกิจวัตร-ผู้เขียน)
ก็เลยได้ทำงานทั้งวันทั้งคืนเลยคราวนี้
(หัวเราะ) ก็ไม่เชิง คือที่ไม่ทำงาน nine to five เพราะว่ามันเป็นปีฟุตบอลโลก แล้วเราก็คิดว่าเราจะดูบอลโลกก่อน เดี๋ยวตื่นไปทำงานไม่ทัน ตอนนั้นอิตาลีเตะเสร็จ บ้านเราก็จะตีสี่ตีห้า ตื่นไปทำงานไม่ทันแน่ๆ ขนาดตื่นไปเรียนยังลำบากเลย แล้วพอดีที่นี่เขาเปิดรับคนที่มาแปลภาษาอื่นๆ คือ อิตาลี แต่เราได้ฝรั่งเศส เราก็เลยมาทำงานไปด้วยแล้วก็ดูบอลไปด้วย ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องอยู่ยืดยาวหรือจะทำอาชีพนี้ตลอดไป ก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็กลายมาเป็นอย่างนี้ค่ะ
การเป็นนักข่าวฟุตบอลผู้หญิงของสตาร์ ซอคเก้อร์ ในช่วงนั้นมันยากลำบากไหม
อยู่ในออฟฟิศยังไม่รู้สึกถึงความยากลำบาก ความยากลำบากในยุคนั้นอยู่ที่ตอนไปทำข่าวทัวร์นาเมนต์แรกๆ มากกว่า อย่างตอนไปฟุตบอลโลก 2002 เนี่ย…ขนาดว่าจัดในเอเชียแล้วนะ เราประจำที่เกาหลีใต้ ก็ยังถูกนักข่าวสเปนที่เด็กกว่าเราถามว่า “อ้อ เป็นผู้หญิงมาทำงานนี้เหรอ? เอ่อ…ชอบฟุตบอลเหรอ?” เราก็บอกว่า “เอ้า ไม่ชอบแล้วจะทำทำไม” สุดท้ายแล้วหัวหน้าเขาซึ่งทุกวันนี้คือเป็นผู้อำนวยการของ มุนโด้ เดปอร์ติโบ (Mundo Deportivo หนังสือพิมพ์กีฬารายวันของสเปน-ผู้เขียน) เขาต้องบอกหมอนั่นว่าคุณเพิ่งมา เงียบไปก่อน อีนี่ไปทำข่าวแรลลีที่แอฟริกามาก่อนมึงเรียนจบซะอีก (หัวเราะ) มันก็จะมีเรื่องแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายตาที่มองเรามากกว่า คำถามตรงๆ มีน้อย
จำได้ว่าคุณเป็นคอลัมนิสต์คนแรกๆ ที่บุกเบิกการนำเสนอเรื่องราวของลีกเอิงฝรั่งเศส
ค่ะ ให้เราทุกคนอ่านชื่อลำบากไปด้วยกัน (หัวเราะ) เพราะก่อนหน้านี้ทุกคนอ่านเป็นภาษาอังกฤษ เรากับ โมนาลิซ่า คอลัมนิสต์อีกคนช่วยกันเขียนเรื่องลีกเอิงแล้วก็สะกดคำอ่านเป็นภาษาฝรั่งเศส ตอนนั้นปี 1992-1994 เราอยู่ที่ฝรั่งเศส เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย สมัยนั้นยังเป็นการทำงานด้วยพิมพ์ดีด เราพิมพ์เสร็จก็ส่งแฟกซ์ที่เป็นต้นฉบับมาที่ไทย เสาร์อาทิตย์ก็ออกไปดูบอล เป็นวิธีการแบบแอนะล็อกมาก
นักข่าวสมัยนี้คงไม่รู้จักเครื่องแฟกซ์แล้ว
(หัวเราะ) ตอนนั้นเขียนเรื่อง ราอูล กอนซาเลซ เราเขียนเป็นคนแรก เขาเพิ่งเริ่มแจ้งเกิดที่ เรอัล มาดริด แล้วแจ๊คกี้ (อดิสรณ์ พึ่งยา) ซึ่งเป็นคนปิดเล่มสตาร์ ซอคเก้อร์ รายวัน โทรมาบอกว่าทั้งประเทศไม่มีรูป ราอูล กอนซาเลซ เลยพี่ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง มันเป็นหนังสือพิมพ์จะตัดแล้วแฟกซ์ไปเหรอ มันก็ไม่ได้ อีเมลตอนนั้นก็ยังไม่มี เอามือถือถ่ายรูปเหรอ ตอนนั้นอีเมลยังไม่มีเลย ก็เลยบอกว่าเอารูป (เรอัล) มาดริด อะไรก็ได้ลงไปก่อน มันหาไม่ได้น่ะ ให้ทำยังไง
เทคโนโลยีตอนนั้นได้เท่านั้น
เหมือนตอนบอลโลก 1990 น่ะ เราเตรียมรูปคู่เปิดสนาม แคเมอรูนกับอาร์เจนตินา เราเตรียมรูปไว้เต็มเลย รูปนักเตะอาร์เจนตินามีเพียบเลย เพราะว่าชนะแน่ๆ เป็นแชมป์เก่า ปรากฏว่าคนยิงประตูเดียวในเกมนั้นคือ ฟร็องซัวส์ โอมัม-บียิก (Francois Omam-Biyik) นักเตะแคมเมอรูน
แล้วทำไง
เรามีรูปเห็นหน้าที่เป็นบัตรประชาชนอยู่รูปเดียว ทั้งโรงพิมพ์มีรูปนี้รูปเดียว ก็ลงรูปบัตรประชาชนไป (หัวเราะ) ทำเท่าที่มีน่ะ ช่วยอะไรไม่ได้ ถึงบอกว่ายุคนี้ source มันมหาศาลมาก ถ้าเรามีเทคโนโลยียุคนี้นะ จะบรรเจิดกว่านี้มาก
ช่วงนั้นเราได้ตั๋วเพื่อดูบอลยังไง ใช้สิทธิ์สยามสปอร์ตเหรอ
ค่ะ เพราะเราไปในนามสยามสปอร์ต มีป้ายพนักงานอยู่แล้ว
ได้ตระเวนทั่วฝรั่งเศสไหม
ตอนนั้นยัง เพราะงบประมาณจำกัด แต่มีครั้งนึงที่เราได้เดินทางไกลหน่อย คือไปมิวนิกเพื่อดูนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีกส์ ครั้งแรกหลังจากเปลี่ยนชื่อจากยูโรเปี้ยน คัพ ระหว่าง มาร์กเซย์ กับ มิลาน เรานั่งรถทัวร์ไป ดูบอลจบแล้วกลับเลย ก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่ง ตอนนั้นกับยูฟ่าเรายังไม่ได้เริ่มติดต่อเลยนะ ก่อนหน้านั้นก็มีทางสมาคมฟุตบอลที่เขาจัดการเรื่องตั๋วอะไรพวกนี้ให้บ้าง แต่พอฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ เราเริ่มจัดการขอลงทะเบียนตั๋วเพื่อเข้าไปดูบอลทำข่าวเองบ้าง เพราะตอนนั้นชื่อของสยามสปอร์ตเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสายตาองค์กรอย่างฟีฟ่าหรือยูฟ่า
ยกระดับการทำงานของนักข่าวกีฬาในเมืองไทย พูดอย่างนั้นได้ไหม
อืม…ถามว่ายกระดับไหมก็ไม่เชิงหรอกค่ะ เรียกว่ารู้ว่าต้องทำอะไรดีกว่า เพื่อให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น
ตอนที่อยู่ในฝรั่งเศสมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม ทั้งการเป็นนักข่าวกีฬาผู้หญิง การเป็นคนเอเชีย หรือแม้แต่การเรียนไปทำงานไปด้วย
เป็นบางคนมากกว่า เพราะคนฝรั่งเศสที่มันนึกว่าคนไทยยังขี่ช้างอยู่ก็ยังมีนะ (หัวเราะ) หรืออีกอย่างก็ พอเราบอกว่าไทยแลนด์ มันก็ถามว่า “ไต้หวันเหรอ?” เราถึงบอกว่าที่ผ่านมาเรารักฝรั่งเศสจากที่เราเรียนมา เราอินกับมัน วัฒนธรรมของมัน ความเจริญของมัน แต่เราไม่ได้รักคนฝรั่งเศส ยกเว้นนักฟุตบอล อันนี้เราชื่นชอบเพราะความเป็นนักฟุตบอล เป็นนักกีฬา แต่ถ้าโดยทัศนคติเราไม่ค่อยปลื้ม มันก็อย่างนี้แหละ มันก็ถามอะไรแรงๆ หรือเรื่องอาชีพโสเภณีอะไรอย่างนี้ ถามแบบกว้างๆ ว่า “เป็นกันหมดเหรอ?” “บ้าเหรอ ประเทศอะไรผู้หญิงจะเป็นหมด” คือความที่เรามีชื่อเสียงในทางนั้น นี่คือสมัยนู้นเลยนะ แต่สมัยนี้เชื่อว่าดีขึ้น แต่ยังไม่หมดไปหรอก เขายังเชื่อว่าเราต้องด้อยกว่า
ในตอนนั้นสื่ออย่างสยามสปอร์ตเริ่มเป็นที่รู้จักของฟีฟ่าหรือยูฟ่า หรือแม้แต่สื่อกีฬานานาชาติ กว่าจะถึงจุดนั้นมันยากเย็นสำหรับคุณไหม
ไม่ได้รู้สึกว่ามันยากเย็นนะ เราก็แค่ keep contact รักษาความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ เวลามีทัวร์นาเมนต์ในยุโรปก็มีน้องที่ประจำการอยู่ที่อังกฤษเขาไปนะ คือมันเป็นเรื่องของความสม่ำเสมอ คุณต้องติดต่อเขาสม่ำเสมอ ไม่ใช่คุณจะไปขอตั๋วแชมเปียนส์ ลีกส์ นัดชิงนัดเดียว แล้วระหว่างทัวร์นาเมนต์หรือซีซันคุณไม่ได้ไปทำข่าวเลย แบบนี้มันก็ยาก เขาก็จะให้คนที่มีการลงทะเบียน คนที่มีการติดต่อกันเป็นประจำ อย่างเครือสยามสปอร์ตนี่พอเรามีหลายหัว ทุกอย่างก็พุ่งกลับมาที่เรา เขาก็จะปรับเราเป็น corporate user เป็นคน manage account ว่าเราอยากสมัครใครในหัวไหน ซึ่งอันนี้ดิฉันเองก็ยังทำให้เจ้านายอยู่นะคะ ถ้าเกิดว่ามี assignment มาว่าจะให้ใครไปทัวร์นาเมนต์อะไร ดิฉันยังต้องทำให้อยู่
พูดง่ายๆ ก็คือ connection หลักของสยามสปอร์ตกับต่างประเทศในยุคหนึ่งคือคุณ
ค่ะ เพราะเวลาเปลี่ยนคนติดต่อมันยุ่งยาก ต้องรอ approve ต้องส่งผลงานไปใหม่ ทุกวันนี้ถ้าเกิดคนที่จะเปิด account กับฟีฟ่าใหม่ ต้องมีผลงาน มีคอลัมน์ เห็นหน้าเห็นตามีอะไรอย่างนี้ แต่ว่าเขาก็อัพเดตนะ อย่างยูฟ่าเขาก็จะปรับว่าเราต้องส่งผลงานใหม่ๆ ให้เขา ต่อให้เขาอ่านภาษาไทยไม่ออกก็จะต้องส่งคอลัมน์ที่ lay-out เป็นไฟล์ pdf ไปให้เขา ที่ดูรู้ว่าเป็นเรื่องปัจจุบันไปด้วย
การได้ติดต่อหรือการมีคอนเนกชันกับสื่อ กับยูฟ่าหรือฟีฟ่าก็ดี ทำให้สยามสปอร์ตเป็นที่รู้จักในสื่อกีฬาทั่วโลกมากยิ่งขึ้น และก็ทำให้ตัวคุณเองมีส่วนเข้าไปเป็นหนึ่งสื่อมวลชนที่มีสิทธิ์โหวตเรื่องรางวัลบัลลงดอร์ (ballon d’or รางวัลลูกบอลทองคำ) ด้วย มันเริ่มต้นได้อย่างไร
ปี 2010 เขาควบรวมรางวัลนี้เข้ากับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกแห่งปี (FIFA World Player of the Year award) เป็นฟีฟ่า บัลลงดอร์ แล้วก็ก่อนหน้านั้นสักสองปีเขาปรับรางวัลจากนักเตะยอดเยี่ยมยุโรปเป็นนักเตะยอดเยี่ยมของโลก เมื่อก่อนให้แค่ในสื่อยุโรปเขาโหวตกันอยู่ ต่อมาก็เริ่มมีการปรับว่าเขาอยากให้มันเป็นทั่วโลกจริงๆ อยากให้กรรมการและผู้สื่อข่าวทั่วโลกได้มีส่วนร่วมในการโหวต มีนักข่าวญี่ปุ่นรู้จักกันชื่อคุณทามูระได้ติดต่อพูดคุยกับหนังสือพิมพ์ เลกิ๊ป กับ ฟร้องซ์ ฟุตบอล เพื่อหาผู้สื่อข่าวจากประเทศต่างๆ มาร่วมโหวต คุณทามูระเขาก็ถามเราว่าสนใจไหม เดี๋ยวให้ทีมงานทางฟร้องซ์ ฟุตบอล เขาติดต่อ หลังจากนั้นทางฟร้องซ์ ฟุตบอล ก็ติดต่อมา ขอดูโปรไฟล์หน่อยว่าทำอะไร ที่ไหน มี reference ไหม เพื่อยืนยันว่าเราเป็นผู้สื่อข่าวเฉพาะทางนี้จริงๆ เราก็ส่งไปให้เขาพิจารณา รวมถึงป้ายที่ไปทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เขาก็ตอบรับมาว่าให้เราร่วมโหวตด้วยค่ะ
เป็นนักข่าวไทยคนแรกและเป็นคนเดียวที่ได้เข้าร่วมใช่ไหม
คนเดียว แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่ตัวแทนประเทศไทยนะ แต่ละประเทศก็จะมีหนึ่งสื่อ แล้วแต่บางสื่อ ยิ่งต่างประเทศบางคนทำให้หลายสื่อ ก็แล้วแต่ว่าเขาจะลงว่าเขาเป็นอะไร เราก็ลงในนามของสยามสปอร์ต
ความรู้สึกเป็นยังไง เหมือนคุณได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
เรารู้สึกดีใจในนามองค์กร ไม่ได้รู้สึกดีใจในนามชื่อเราเอง เพราะว่าแต่ละครั้งที่พอโหวตเสร็จแล้วประกาศผลทางแมกกาซีนของเขา มันจะมีชื่อของคนโหวตและต้นสังกัดอยู่ในวารสารของเขา ได้มีชื่อสยามสปอร์ต สตาร์ ซอคเก้อร์ สู่สายตาชาวโลก ซึ่งบางคนที่เขาไม่รู้จักเราก็ได้รู้จัก ตอนที่แจ้งเจ้านายว่าทางฟร้องซ์ ฟุตบอล เขาเชิญมา แล้ว approve โปรไฟล์การทำงานแล้วนะ เจ้านายก็ดีใจ เราบอกว่าไม่ต้องดีใจมาก เพราะว่าไม่ได้ไปแย่งชิงค่ะ เขาเชิญมา
แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสยามสปอร์ตก็เป็นสื่อไทยเจ้าเดียวที่ได้เข้าร่วมในการคัดเลือกนี้และคุณก็เป็นหนึ่งเดียวขององค์กร ในฐานะคนไทยมันก็ภาคภูมิใจได้แหละ คิดว่าอย่างนั้นไหม
ไม่ได้คิดว่าภาคภูมิใจ คิดว่าเขาคงยอมรับเรา ใช้ว่าเป็นที่รู้จักดีกว่า เพราะยังมีอีกหลายเจ้าที่เรายัง keep contact กันจนปัจจุบัน แต่กับพวกเกรียนคีย์บอร์ดนี่ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แบบ “อีนี่เป็นใคร!!” อะไรอย่างนี้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราไม่เปิดเพจส่วนตัว เพราะเรารับความเห็นพล่อยๆ ของใครสักคนที่ไม่รู้ภูมิหลัง หรือไม่รู้การทำงาน และไม่ได้เก่งในทางนี้ไปกว่าเราไม่ได้ ก็เพียงแค่ดูฟุตบอลแล้วคุณด่าๆ ไปแบบนี้ไม่ได้
นามปากกา “มาเฟียรี่” นี่มาได้ยังไง
เพื่อนตั้งให้ เพื่อนที่อักษรฯ จุฬาฯ เขาแต่งกลอน แต่งโคลงแปะบอร์ดเล่นๆ แล้วมีเพื่อนคนนึงเขียนถึงแก๊งเรา แบบทะโมนๆ หน่อย เพราะอักษรฯ จะมีแต่ผู้หญิงเรียบร้อยเยอะ เขาก็เขียนว่า “เปรียบพวกเราคล้ายดั่งมาเฟียรีนา” ก็เป็นมาเฟียนี่แหละ แต่เติม “รี่” เข้าไปให้มีความเป็นผู้หญิง พอตอนที่มาทำงาน แปลงานชิ้นแรกเสร็จแล้วพี่โย่งบอกว่าให้เอาลงพรุ่งนี้เลย ให้คิดนามปากกา เราก็เลยคุยกับเพื่อนสนิทที่เรียนมาด้วยกันเนี่ย “เอาไงดีวะ เขาให้คิดนามปากกา แล้วยังคิดไม่ได้” พี่ที่รับเราเข้ามาทำงานเขาบ้าหนังจีน แล้วงานชิ้นแรกเขาลงนามปากกาให้เราว่า “บุปผาพิรุณ” เรารับไม่ได้ จะบ้าตาย (หัวเราะ) คือให้มีความเป็นผู้หญิง มีความเป็นดอกไม้ แต่เราบอกเพื่อน “เนี่ย กูรับไม่ได้แล้ว กูรับไม่ได้แล้ว มึงช่วยคิดหน่อย” “เอางี้แล้วกัน มาเฟียรี่” โอเค ใช้ไปก่อน ใจอยากได้ชื่อไทยมากกว่า ไม่ได้อยากได้ชื่ออะไรที่มันดูกระแดะ แต่ว่าโอเค อันนี้มันไกด์อยู่ว่าเป็นผู้หญิง มันไกด์ตรง “รี่” ว่าเป็นผู้หญิง
เลยเป็นมาเฟียรี่มาจนทุกวันนี้
แต่กับการเขียนคอลัมน์คนก็จะคิดว่าเป็นทอมอยู่แล้ว คือเมื่อก่อนใครเรียกเราก็ “ครับผม ครับพี่” อะไรอย่างนี้ เวลาเราเขียนคอลัมน์เหมือนคุยกับคนอ่าน ไม่สามารถใช้คำว่าดิฉันน่ะ เป็นโรคอะไรก็ไม่รู้ ถ้าเป็นฝรั่งเขียนด้วยคำว่า I (ไอ) ก็ไม่มีปัญหา คุณไม่จำเป็นต้องรู้เพศของคนเขียนก็ได้ แต่พอคุณรู้เพศขึ้นมา จะมีปัญหาขึ้นมาทันทีว่าอันนี้ผู้หญิงเขียนนี่นา เขียนเรื่องฟุตบอลน่ะ แล้วเขียนสไตล์คุยกันซะมาก เพราะวันธรรมดาเราไม่ได้เขียนเป็นสกู๊ป เราไม่ได้เป็นเรื่องแปล เราไม่ได้ต้องมาคุณ ผม ฉัน เขา เธอ อะไรอย่างนี้ เรื่องแปลเราก็แปลไป พอเขียนใน “คุยกันวันหยุด” เรารู้สึกว่าติดกับการที่เราคุยกับคนอื่นในบริษัทซึ่งเป็นผู้ชายทั้งนั้นน่ะ “ครับพี่” “ครับผม” “ได้ครับพี่” อะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่ามันสะดวกใจกว่าในการใช้… “ดิฉันว่านะคะ บอลคู่นี้มันจะ…” คือมันไม่เข้ากับคาแรกเตอร์ของหนังสือ กับอาชีพ กับกีฬาที่เรากำลังเขียนถึงอยู่ จะใช้ว่า “ตัวเอง เค้า” มันก็ไม่ได้ไงคุณ ผู้หญิงมีให้เลือกแค่นี้แหละ อ้อมี “ผู้เขียน” อีกคำหนึ่ง ซึ่งมันก็มีระยะห่างขึ้นมาอีก
คอลัมน์ “คุยกันวันหยุด” ซึ่งมันจะมาวันอาทิตย์ โทนมันก็จะเหมือนกับการพูดคุยทั่วไป บางทีก็เป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลเลย เรื่องสังคม เรื่องทั่วๆ ไปบ้าง นี่เป็นความตั้งใจของคุณหรือเปล่า
เขียนเรื่องทั่วไปค่ะ แล้วก็เป็นประเด็นในสุดสัปดาห์นั้น สมมติวันนี้วันศุกร์ พรุ่งนี้จะเขียนอะไรยังไม่รู้เลย เพราะต้องตื่นนอนวันเสาร์แล้วค่อยนึกว่าอยากจะเขียนถึงอะไรก่อน
ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องฟุตบอล
ไม่ ระยะหลังปีกว่ามานี้ดิฉันเขียนเรื่องโควิดในมุมมองต่างๆ โควิดนี่น่าจะเขียนคนแรกของประเทศเลย เพราะว่าเขียนช่วงปีใหม่ต่อ 2019 เข้า 2020 เนื่องจากอยู่แต่กับข่าวต่างประเทศ เราก็เห็นว่ามันมาแล้ว แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นโควิดในมุมต่างๆ ในมุมฟุตบอล สังคม กีฬา ผู้คน แล้วก็มีสลับบ้าง อย่างเมสซี่ย้ายทีมแล้ว เรายังคิดว่ามีเรื่องที่เขียนได้อีกจากกลางสัปดาห์ เราก็เขียนในแง่มุมอื่นในวันเสาร์ ในแง่มุมการใช้ชีวิต ถ้าอย่างช่วงนี้ก็ยังเป็นโควิดบวกกับฟุตบอล แต่เป็นโควิดในแง่ที่เราต้องการให้ผู้อ่านของเรารู้ก่อนที่เขาจะอ่านภาษาไทยจากการแปลของแต่ละสำนักข่าว บางทีจะแปลช้ากว่าเรา เราก็อ่านหลายๆ ภาษา ก็จะเอามารวมๆ ให้ ยกตัวอย่างเช่นระลอก 4-5 มาอีกแล้วนะ เนเธอร์แลนด์ปิดสนามอีกแล้วนะ อาทิตย์นี้ปิดอีกแล้วสามสัปดาห์ เรื่องแบบนี้ไม่มีคนพูดถึงไง แล้วก็พยายามจะให้คนไทยรู้ว่าอย่างโมเดอร์นามันมีปัญหาอะไร ไม่ได้มีปัญหาแต่ปลายทางอย่างเดียว แต่มีปัญหาที่ต้นทางด้วย แต่เราจะไม่บอกทั้งหมด คุณที่สนใจ ไปหาอ่านเพิ่มเอานะ ข่าวนี้มันยาว ลิงก์มันยาว มันถกเถียงกันยาว เรื่องคนฉีด คนไม่ฉีด แล้วเราก็พยายามจะเข้าเรื่องฟุตบอลให้ เพื่อไม่ให้หลุดกรอบจนเกินไป
เพราะมันก็ยังเป็นนิตยสารฟุตบอลอยู่ดี
ใช่ บางคนอาจจะไม่อยากอ่านเรื่องนอกสนาม แต่ส่วนใหญ่คนชอบให้เขียนเรื่องอื่นมากกว่า เขาจะมองว่าทั้งเล่มมันฟุตบอลเยอะไปหมดแล้ว แล้วดิฉันเขียนโลกสวยไม่เป็นด้วย เขียนผดุงคุณธรรมก็ทำไม่เป็น ถ้าเกิดว่าเขียนแล้วต้องด่าแน่นอนอะไรอย่างนี้
หลายครั้งที่อ่านก็จะกึ่งๆ บ่นการบ้านการเมืองไปถึงบางช่วงอาจจะวิพากษ์วิจารณ์เลยด้วย
ถ้าสมัยก่อนนะ แต่พอมีเรื่องเสื้อนี่ไม่บ่นค่ะ ไม่พูดถึงเลยดีกว่าเพราะว่ามันเปราะบางเกินไป ถ้าเกิดครั้งหนึ่งคุณไปแตะเรื่องพวกนี้ มันเอาทั้งองค์กรของคุณไปอยู่ในนั้นด้วย ยิ่งโดยเฉพาะมีเว็บไซต์ มีเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาของบริษัท เอาแค่เรื่องนายกสมาคมฟุตบอลเนี่ยแหละ หลังจากนั้นมันก็ตีกันเละไปหมด แม้ว่าตัวละครจะเฟดตัวเองไปแล้ว แต่คนก็ยังมีภาพจำอยู่ ก็ยังมาด่า ด่าเรื่องเมื่อชาติที่แล้วกันอยู่ เราไม่อยากให้เจอเรื่องแบบนั้นทั้งกับตัวเองและกับองค์กรของเรา
ความที่ยังมีองค์กร มันมีข้อจำกัดของมันอยู่ใช่ไหม ว่าเราจะแตะเรื่องไหน ไม่แตะเรื่องไหน
ใช่ๆ เราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ เหมือนที่เราไม่เปิดเพจ เราเลือกที่จะสบายใจขึ้นนิดหนึ่งดีกว่า เพราะมันทนไม่ได้จริงๆ ขนาดเป็นเฟซบุ๊กตัวเอง มันก็จะมีคนหนึ่งที่มันเข้ามาให้เรารู้สึกว่า “กูต้องโทรหาทนายอีกแล้ว” มันด่าเราหยาบคาย มันเมา…เรารู้เลย พฤติกรรมแบบนี้เนี่ย ถ้ามาคอมเมนต์ตีสี่ถึงตีห้าแล้วเดี๋ยวมันต้องลบ เพราะมันเมา อันนี้เรารู้ พิมพ์ผิดพิมพ์ถูก ด่าหยาบๆ คายๆ โดยที่ไม่เป็นคู่กรณีกันมาก่อน เป็นแค่คนกดติดตาม เพราะดิฉันจะจำ ใครที่มาคอมเมนต์นี่ค่อนข้างจำว่าใครเชียร์ทีมอะไรด้วย พยายามจำ เพื่อที่เราจะได้คุยกันแบบต่อเนื่องได้ แล้วคุยกันดีๆ ด้วย
ทำไมดูฟุตบอลทำให้เราต้องทะเลาะกันขนาดนั้น
ฟุตบอลไม่ได้ทำให้เราทะเลาะกันหรอก นิสัยคนมากกว่า เรียกว่าเป็นฟุตบอลไม่ได้ การเมืองหรือนิสัยคนทำให้ทุกคนลากไปทะเลาะกันได้ทุกเรื่อง อันนี้มันเป็นทุกหัวข้อ ไม่ใช่เฉพาะฟุตบอล แต่ทีนี้พอเห็นต่างขึ้นมา ด้วยความที่โลกนี้มีโซเชียลมีเดีย ใครก็เป็นสื่อและเราก็ระบายความรู้สึกตัวเองได้ มันก็เลยวุ่นวายขึ้น ถ้าเกิดว่าต้องมีการกำราบ กำจัด หรือทำให้แพลตฟอร์มมันสะอาดขึ้น แบบที่นักฟุตบอลผิวสีกำลังพยายามเรียกร้องกันอยู่ แต่นี่มันห้ามความคิดคนอื่นไม่ได้ เราจึงต้องปิดช่องทางให้มันเข้าถึงเราได้น้อยหน่อย (หัวเราะ)
ถ้าการเมืองพอเข้าใจ แต่ความขัดแย้งกันในแง่ของฟุตบอล ทำไมเราถึงมองเป็นสีสันไม่ได้ ทำไมมันถึงเลยเถิดได้ขนาดนั้น
อยู่ที่ภาษาของเขาไงคะ เพราะว่าถ้าเราคุยกันดีๆ ก็โอเค มีคนที่คุยกันดีๆ เยอะแยะไป เฟซบุ๊กส่วนตัวเองมีแฟนแมนฯ ยูฯ เยอะมาก แต่ก็ไม่มีใครมา “หมาแดง” “เป็ดแดง” อะไรอยู่ในเฟซบุ๊กของดิฉัน เพราะถ้าครั้งหนึ่งเราไม่เรียกพวกเขาว่าเป็นหมาแดง คุณก็อย่ามาเรียกเราว่าเป็นเป็ดแดง เราสกรีนตรงนี้ แต่ถ้าเป็นเพจ พวกเขาอยากตบตีกันก็ต้องทำใจ ภาษามันก็สะท้อนตัวตนของคนคนนั้นอย่างที่โบราณว่านั่นแหละ
ดูเหมือนคุณท็อกซิกกับมัน
ไม่เชิง เพราะอันไหนที่มันท็อกซิก ตอนนี้เราสามารถเดาได้จากเทรนด์ทวิตเตอร์นะ เวลามันขึ้น Trending เราก็เดาได้ว่าถ้าเราคุ้ยเข้าไปแล้วเราจะเจออะไร ถ้ายังอารมณ์ไม่ดีก็ยังไม่พร้อมเข้าไป เรารู้อยู่แล้วว่ามันท็อกซิกทุกแพลตฟอร์ม แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่าทวิตเตอร์มันท็อกซิกกว่าในแง่ที่การยืนยันตัวตนว่าใครเป็นใครที่มาเปิดแอ็กเคานท์ มันน้อยกว่าเฟซบุ๊ก
แล้วมันก็รวดเร็ว รุนแรง
ใช่ มันจะรุนแรง ด่าใครก็ได้ อย่างนี้คุณด่าใครก็ได้แต่พอคุณโดนแตะทีหนึ่ง ก็อย่ามาบูลลี่คนที่เขาชอบ กระทั่งเรื่องดาราเกาหลี เป็นแบบนี้หมด เพราะฉะนั้นถึงต้องระวังว่าเราไม่อยากให้ใครมาว่าอะไรเราที่เราชอบ หรือตัวเรา ที่เราเคารพ เราก็อย่าไปว่าคนอื่นแบบนั้น เบื้องต้นสำหรับตัวเองนะคะ เหมือนที่บอกว่าไม่เรียกแมนฯ ยูฯ เป็นหมาแดง ไม่เคยสักครั้ง เพราะถ้าเราไม่อยากให้ใครมาเรียกลิเวอร์พูลเป็นเป็ดแดง เราก็ไม่ควรเริ่ม
ถามเรื่องภูมิทัศน์สื่อของสื่อในปัจจุบัน สิบปีหลัง มันค่อยๆ ถดถอยลงมาตามลำดับ ขณะเดียวกันสื่อออนไลน์ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เราจะสังเกตได้ว่ามันก็มีสื่อออนไลน์ทางฟุตบอล ทางเพจกีฬา เว็บไซต์กีฬาต่างๆ มากขึ้น มองกระแสตรงนี้อย่างไร
ถึงจุดหนึ่ง เราก็ว่ามันไม่มีอะไรจะอยู่ยั้งยืนยง อาจจะมีบางสิ่งมาทดแทน แต่ตอนนี้เรายังมองไม่ออกเพราะเขาก็ซื้อไว้หมดแล้ว และเขาพยายามคิดเผื่ออนาคต คนไทยอยู่กับเฟซบุ๊กเยอะ แล้วเว็บไซต์ที่มีเรื่องหลากหลายให้เขาได้อ่าน ได้รู้ จริงๆ เขาอาจจะไม่ค่อยเข้า ตอนนี้เราเข้าใจว่าเขาอยู่กับโซเชียลมีเดียมากกว่าเว็บไซต์ เพราะเว็บไซต์มันคือออนไลน์ที่ไม่ได้เน้นว่าต้องมาแสดงคอมเมนต์ตบตีกัน มันก็คงไปได้ถึงจุดหนึ่งแล้วก็ลงมา เหมือนเพจน่ะ ใครบอกว่าออกจากงานแล้วไปเปิดเพจสิ เพจฟุตบอลมีเป็นล้าน การจะทำให้คนมาติดตามเพจคุณ โอเค ดีจริงไม่พอ ต้องมีสปอนเซอร์สนับสนุน ถ้าเกิดจะทำเพื่อทำมาหากิน แล้วทีนี้ในวงการนี้มีสักกี่เจ้าที่จะลงแอด ถ้าไม่ใช่แอดสีเทา พูดง่ายๆ เพราะว่าโดยแบ็กอัพของวงการ ขนาดว่าเป็นในต่างประเทศก็คือสีเทาๆ แต่มันถูกกฎหมายทางนู้น แต่ไม่ถูกในบ้านเรา
พอสื่อออนไลน์มันเยอะขึ้น เพจฟุตบอลมันเยอะขึ้นอย่างที่คุณบอก ในขณะเดียวกันมันถามหาความรับผิดชอบในฐานะสื่อมวลชนมากขึ้นด้วย ในฐานะที่เราอยู่ในวงการสื่อมานาน คุณคิดว่าการเกิดขึ้นโดยง่ายดายของสื่อใหม่เหล่านี้มีคุณภาพและความรับผิดชอบแค่ไหน
จะใช้คำว่าบางคนก็ไม่ได้นะ ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อ คนมีสมาร์ทโฟน มีโซเชียลมีเดีย ทุกคนเป็นสื่อได้ บางคนเปิดเพจเล่าเรื่องกีฬา หลายครั้งที่เราอ่านแล้วมันอึดอัด มันหงุดหงิดโดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริง แล้วก็ข้อมูลที่คิดเอาเองอะไรแบบนี้
เมื่อเร็วๆ นี้มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเรื่องร้านสตาร์ ซอคเก้อร์สาขาสุดท้าย ในฐานะที่ติดตามมานาน ขออนุญาตพูดตรงๆ ว่ามันเหมือนกับยุครุ่งเรืองของสตาร์ ซอคเก้อร์ กำลังจะผ่านไป คุณรู้สึกแบบนั้นไหม
ในความรู้สึกจริงคือผ่านไปแล้วต่างหาก บางคนถ้าไม่มีเรื่องนี้ในวันปิดร้านเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คนก็ไม่รู้ว่าร้านสตาร์ ซอคเก้อร์ยังเหลืออยู่อีกหนึ่งสาขา โดยเฉพาะพวกที่เดินเซ็นทรัลลาดพร้าวบ่อยๆ คนไปสาขาพันธุ์ทิพย์กับเซ็นทรัลลาดพร้าวเยอะ คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายังเหลืออยู่อีกสาขาหนึ่ง (ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์) เผอิญหมดสัญญาพอดี แล้วทุกวันนี้คนเข้าไปดูแต่ไม่ซื้อแล้ว เดี๋ยวไปสั่งออนไลน์เอา มีกลุ่มแฟนบอลขายกันเองเยอะแยะ ถ้าทุนทรัพย์ไม่ถึงก็ซื้อก็อปเกรดเอเอาอะไรอย่างนี้ คือมันเปลี่ยนไปทุกอย่าง ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนทุกอย่างในยุคสมัยของเรา มันก็ไม่มีประโยชน์ในการต่อสัญญาเช่าหรืออะไรออกไปอีก แล้วด้วยตัวธุรกิจนี้เมื่อก่อนมันมีการเช่าเทป ทีมข่าวที่อังกฤษต้องอัดเทปส่งมาเพื่อให้คนมาเช่าวิดีโอไฮไลทต์ฟุตบอล เกมฟุตบอลไปดู ไอ้ตรงนี้มันหายไปเป็นชาติแล้ว ธุรกิจตรงนี้มันก็จะไปต่อไม่ได้
คุณคิดว่าจะไปทำอะไรต่อ
คงอยู่ในวงการนี้แหละ เพียงแต่ว่าจะเราเปลี่ยนไปทางไหน เพราะว่าเอาจริงๆ ได้งานตั้งแต่อาทิตย์แรกที่ออกแล้ว แต่ว่าสิ่งแรกที่เลือกปฏิเสธก็คืองานหนังสือ ออกพ็อกเก็ตบุ๊ก มีสำนักพิพม์ติดต่อมาให้เราเขียนเรื่องราวของเรา ประสบการณ์ของเรา แต่เราขอปฏิเสธ
ทำไมล่ะ
เพราะว่าดิฉันไม่สามารถทำสิ่งพิมพ์ให้ที่อื่นนอกจากสยามสปอร์ตได้ ไม่มีใครมาบังคับ แต่ว่ามันเป็นเรื่องสมควร ถ้าดิฉันอยากจะเขียนขึ้นมาวันไหน ก็ต้องเอากลับไปให้สยามสปอร์ตพิมพ์ ไม่ว่าค่าตอบแทนมันจะถูกแพงกว่ากันแค่ไหนก็แล้วแต่
รู้สึกอย่างไรที่จะไม่ต้องแบกอะไรไว้หนักๆ เหมือนเดิมแล้ว
ในอีกหนึ่งปีข้างหน้ามากกว่าที่จะบอกได้ว่าจะเบาหรือไม่เบา เพราะว่าออกแล้วก็จริง แต่รับปากเขาว่าจะเขียนให้เป็นฟรีแลนซ์อีกปีหนึ่ง แต่เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าถึงตอนนั้น หนังสือพิมพ์จะอยู่ได้หรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องเดาไม่ได้ เพียงแต่ว่าก็ตีกรอบไว้ประมาณหนึ่งปี
มองย้อนกลับไป อะไรคือสิ่งที่รู้สึกว่ามันมีคุณค่ากับชีวิตการทำงานมากว่าสามสิบกว่าปี
การที่เราเขียนงานแล้วมีคนอ่าน แล้วมีฟีดแบ็กกลับมา ชอบ พอใจ เราคิดว่าโอเคแล้วแหละ ส่วนการที่เรื่องบัลลงดอร์หรือการที่ได้รู้จักสื่อ เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศที่เป็นตัวจริงในวงการนี้ มันเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น มันอยู่ในตัวเรา แต่ไอ้การที่คนอื่นยอมรับงานของเรา ชื่นชมเรา คนอ่านด้วยกันที่เขามาคอมเมนต์ คนอื่นเขาเห็น อันนี้เราก็โอเค ก็รู้สึกว่าภูมิใจ แล้วอีกอันหนึ่งก็คือทำให้สยามสปอร์ตได้มีส่วนร่วมในการโหวต ได้มีชื่ออยู่ให้สื่อต่างชาติด้วยกันได้รู้จักในนามว่ามือหนึ่งของกีฬาของบ้านเราคือสยามสปอร์ต
นี่ใช่สิ่งที่เคยคิดไว้ตอนจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แล้วมาแปลข่าวชิ้นแรกให้พี่โย่งไหม คิดไหมว่ามันจะพาคุณมาไกลได้ขนาดนี้
ไม่ได้คิด เราเชื่อว่าคนทำงานวันแรกไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น พอทำไปสักพักหนึ่ง รายได้จะเป็นตัวบอกว่าจะต้องคิดอะไรต่อหรือเปล่า
หลังจากที่ early retire แล้ว ฟุตบอลจะสนุกเหมือนเดิมสำหรับคุณไหม
ปกติ บางวันที่ไม่ได้ส่งคอลัมน์ก็ดี ตื่นมาแล้วไม่ต้องรีบ ดิฉันอยู่กับเดดไลน์มาตลอดชีวิต เพราะว่าอย่างดิฉันมันเป็นรายวัน แล้วหนังสือพิมพ์มันต้องปิดเร็วขึ้นเรื่อยๆ น่ะ ทุกวันนี้สามทุ่มก็ปิดแล้ว จากที่เราถอยมาจากหกโมงเช้า ถอยขึ้นมาเป็นตีสี่ ตีสอง เที่ยงคืน สี่ทุ่ม สามทุ่ม ตอนนี้กรอบต่างจังหวัดสามทุ่มต้องปิดแล้ว เพราะเราต้องไปพร้อมกับหนังสือพิมพ์ของเจ้าอื่น เพื่อลดต้นทุน ตอนนี้ทำให้รู้สึกคลายตัวนิดหนึ่ง แม้ยังไม่ชัดเจน เพราะว่าตอนนี้เราต้องส่งต้นฉบับสี่ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้มันเหลือวันพฤหัส ศุกร์ เอาเวลาให้ตัวเองนิดหนึ่ง เพราะเดี๋ยวเสาร์-อาทิตย์ก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งแล้ว ต้องไปดูแม่ ก็รู้สึกว่ามันเบาขึ้น
ส่วนบอลสนุกขึ้นไหม ไม่เชิง ด้วยความที่เราเคยเขียนทุกวัน บางเรื่องมีเรื่องแปลมาอย่างนี้ กว่าจะถึงอาทิตย์หน้าที่ปลายสัปดาห์เราเว้นวรรคไป เรื่องนี้มันอาจจะเอาต์ไปแล้ว อาจจะไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ทันสมัย บางทีเราก็เสียดาย บางเรื่องเราก็ยังไม่ได้เอามาใช้งานให้มันเต็มที่ แต่ว่าตอนนี้ก็เลยย้ายไปลงสตาร์ ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เพราะว่าถ้าเป็นสกู๊ปที่เขาเรียกว่าเรื่องแห้ง มันก็โอเค แล้วเรื่องที่เราคิดว่ามันน่าอ่าน น่าแปล ก็เอาไปลงรายสัปดาห์
ทำสื่อสิ่งพิมพ์รายวันเป็นงานที่หนักมาก ยิ่งว่าด้วยคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นคนละซีกโลกกับเรา ซึ่งมันก็ทำให้นอนผิดเวลามาตลอด การทำแบบนั้นมาสามทศวรรษ การทำงานหนัก นอนกินผิดเวลา มันเอาอะไรไปจากคุณบ้าง
มันเอาสังคมอื่นของเราไปทั้งหมด เราก็เหลือสังคมแค่คนในโรงพิมพ์ เสร็จแล้วตีห้าหกโมงไปกินข้าว กินก๊งกันก่อนเข้านอน นานๆ เข้าเราก็จะห่างกับเพื่อนไปเรื่อยๆ เพื่อนในชีวิตจริง เพื่อนเรียน ครอบครัว ก็ต้องหาวันที่มันลงตัว เป็นอาชีพที่เหมือนนักข่าวทีวี วันหยุดนักขัตฤกษ์ไม่มี เทศกาลไม่มี ยิ่งเป็นหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ออกทุกวันห้ามหยุด ฝรั่งมันยังมีวันหยุดนะ คริสมาสต์มันไม่ออกดื้อๆ ปีใหม่มันก็ไม่ออก วันดีคืนดีเดี๋ยวมันประท้วงสหภาพแรงงานมันก็ไม่ออกดื้อๆ อีก ของเราไม่ได้เลย ไม่มีใครเคยประท้วงอะไรทั้งสิ้น จะวันอะไรก็ต้องออก มันทำให้รู้สึกว่าวันที่เราหยุด พักผ่อนสบายๆ มากกว่าที่มันไม่ค่อยมี โดยเฉพาะระยะหลังที่คนก็เหลือน้อยอย่างนี้ เราลา ต่อให้เราลาเราก็ส่งคอลัมน์เข้ามา แต่ตัวเราไม่ได้มาตอกบัตร เพราะงานนี้มันเป็นความรับผิดชอบของเรา ถ้าเราลาไปน้องมันต้องหาเรื่องมาใส่ ซึ่งหาคนมาเขียนแทนได้ยาก จนกระทั่งโลกมีโซเชียลมีเดีย มีไลน์ มีเฟซบุ๊ก มันก็ทำให้เราใกล้ชิดเพื่อนเก่ามากขึ้น เราเลยไม่รู้สึกว่าที่ผ่านมามันจะมีช่องว่างที่คิดว่าการทำงานมันทำให้เราไม่มีตรงนี้ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเคยไปไหน ทำอะไรมา ยิ่งพอเพื่อนเรียนอักษรฯ ไม่รู้จักหรอก เพื่อนสนิทเราไม่ดูกีฬาเลย มันยังไม่รู้เลยว่าเราพูดเรื่องอะไรเลยแต่ละวัน แต่ว่าถามว่าเราเสียพวกเขาไปไหม โดยกาลเวลากลายเป็นว่าทำให้ไม่เสียนะ เนื่องจากสื่อออนไลน์เข้ามาทำให้มันต่อกันติดมากขึ้น แต่ระหว่างทางเนี่ย เราเสียสังคมแวดล้อมที่เราเคยอยู่ไปเพราะว่าทำงานคนละเวลา ถึงเวลาทัวร์นาเมนต์ เราไม่อยู่เป็นเดือนๆ เพื่อนเขาก็นัดเจอกันหรือครอบครัวไปเที่ยวกัน เราก็ไม่ได้อยู่ แต่เป็นสิ่งที่เราเลือก ไม่ได้มีอะไรมาให้เรารู้สึกเสียดาย
ไม่ suffer ใช่ไหม
ไม่ จะ suffer แค่เฉพาะตอนนี้แหละ พอเหมือนว่านอนได้น้อยลง แล้วก็ยังติดเวลาเดิมอยู่ ซึ่งก็คงจะเป็นแบบนี้ไปเพราะว่าต่อให้เราเลิกเขียนหนังสือก็ยังต้องดูบอล ดูกีฬา เทนนิสต่างประเทศ รายการใหญ่ก็ยังเป็นกลางคืนของบ้านเราอยู่ เรายังมีความสุขกับการดูกีฬา ดูฟุตบอล มันก็เลยไม่รู้สึก suffer อะไร