เบสท์ บุษยาภา นักสิทธิมนุษยชนไทยที่คว้ารางวัลระดับโลก ผู้เชื่อว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

เบสท์ บุษยาภา นักสิทธิมนุษยชนไทยที่คว้ารางวัลระดับโลก ผู้เชื่อว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

นึกออกไหม 

เห็นภาพไหม 

เข้าใจไหม

ตลอดเวลาที่คุยกัน เบสท์–บุษยาภา ศรีสมพงษ์ เอ่ยประโยคเหล่านี้กับเราบ่อยครั้ง อาจเพราะขณะที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง เธออยากแน่ใจว่าเรากำลังเห็นภาพเดียวกันอยู่ หรืออาจเพราะเรื่องที่เธอเล่าคือหัวข้อที่เราคุ้นเคย แต่มีแง่มุมบางอย่างที่เราไม่เคยมองเห็นหรือทำความเข้าใจ

พูดคำว่าความรุนแรง ภาพในหัวของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เราเห็นความรุนแรงในข่าว สื่อบันเทิง โรงเรียน ชุมชน ใกล้ตัวที่สุดคือในบ้าน แม่ตีลูก ครูตีนักเรียน ผัวเมียตีกันก็เรื่องธรรมดา หลายคนเติบโตมากับค่านิยมแบบนั้น

แต่ถึงจะเติบโตมาด้วยค่านิยมเดียวกัน บุษยาภายืนกรานว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ 

หลายคนรู้จักบุษยาภาในฐานะนักสิทธิมนุษยชน บ้างก็รู้จักในฐานะหญิงสาวที่เคยเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความรุนแรงของคนรักเก่า ผู้ลุกขึ้นมาก่อตั้ง SHero องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่คอยให้ข้อมูล ช่วยเหลือผู้เสียหาย และปั้นนักกฎหมายรุ่นใหม่เพื่อซัพพอร์ตคดีความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) มาตั้งแต่ปี 2016 

จนถึงวันนี้ SHero ช่วยผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวไปมากกว่า 329 เคส ให้คำปรึกษาและอบรมคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งนักกฎหมาย นักกิจกรรม และผู้ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรงไปแล้วกว่า 2,725 คน

เมื่อเร็วๆ นี้ บุษยาภาก็เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Woman of the Future Awards Southeast Asia เป็นคนทำงานสายสิทธิมนุษยชนหนึ่งเดียวในสาขา Professions ที่มีสิทธิได้รางวัลสูง แต่เธอก็ออกปากกับเราว่าไม่คาดหวัง (ล่าสุดในวันที่บทความนี้เผยแพร่ เธอชนะรางวัลนี้เรียบร้อย)

อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่เราคุยเรื่องความรุนแรงกันในเดือนที่สหรัฐอเมริกายกให้เป็น National Domestic Violence Awareness Month และหากหันกลับมามองที่ประเทศไทย แม้คนรุ่นใหม่จะตระหนักเรื่องความรุนแรงมากขึ้น บุษยาภาก็ยังยืนยันว่า เส้นทางการต่อสู้ให้ปัญหาความรุนแรงหมดไปจากสังคมไทยยังอีกยาวไกล

“เพราะต้นตอของปัญหาคือวัฒนธรรมอำนาจนิยม” เธอว่าอย่างนั้น

นึกออกไหม 

เห็นภาพไหม 

เข้าใจไหม

ถ้าไม่ ถ้อยคำระหว่างเราในบรรทัดถัดไปจะเฉลยให้ฟัง

ทำไมถึงไม่คิดว่าตัวเองจะได้รางวัล Woman of the Future Awards

รางวัลนี้เป็นของอังกฤษ ซึ่งปีที่ผ่านมาคนที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นสายนักธุรกิจ แล้วตอนสัมภาษณ์เราก็เป็นตัวเองเหลือเกิน เพราะเพื่อนบอกว่า ถ้ามึงเป็นตัวเองจะดีที่สุด (หัวเราะ) ฉันก็ด่าปิตาธิปไตย เล่าปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ วิจารณ์ระบบและรัฐบาลแบบไม่เซนเซอร์ให้เขาฟัง เลยไม่คิดว่าจะได้ แค่มีคน recognize ผ่านเข้ารอบนี่ก็ดีใจแล้ว

คิดไหมว่าเราก็เก่งเหมือนกัน ทำสำเร็จไปอีกขั้นแล้ว

(นิ่งคิด) ไม่ จริงๆ รู้สึกดีใจที่เขามองว่างานของเราสำคัญ เพราะเรารู้สึกมาตลอดว่างานที่เกี่ยวกับประเด็นต่อต้านความรุนแรงหรืองานที่มันต้าน status quo (ค่านิยมที่มีอยู่ในสังคม) จะถูกด้อยค่า ไม่ค่อยมีคนไฮไลต์ประเด็นเหล่านี้เท่าไหร่ เราเลยรู้สึกว่าตรงนี้คือโอกาสหนึ่งที่เราจะได้พูดถึงงานที่ทำ พูดถึงปัญหาที่คนควรจะมอง ซึ่งไม่ใช่แค่คนในประเทศไทยด้วยซ้ำ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศหรือเลือกปฏิบัติมันก็ยังมีอยู่

ทำไมงานที่ต่อต้านค่านิยมในสังคมถึงโดนด้อยค่า

ระบบของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ราชการ สังคม ชุมชน ครอบครัว มันมาในลักษณะของอำนาจนิยม ต้องมีคนตัวเล็กๆ สยบยอม เช่น เด็กที่ต้องทำทุกอย่างตามที่ผู้ใหญ่บอก หรือในบ้าน คนเป็นเมียต้องพับผ้า เลี้ยงลูก เหมือนกับมีการเซตค่า default ของสังคม 

พอถูกเซตมาแบบนี้ทุกคนจะมีความเชื่อฝังหัว แล้วพอเห็นอะไรที่ผิดแปลกไปจากนั้น ถ้าเขาไม่ได้มีแหล่งข้อมูลพอ มี critical thinking หรือพลังภายในพอ มันจะไม่เกิดการเปิดใจรับฟัง เมื่อวัฒนธรรมเรามีความผิดปกติแบบนี้ทำให้เวลามีคนมาต้าน status quo กระแสต่อต้านเลยค่อนข้างแรง

เราเองในฐานะผู้หญิงที่ออกมาพูดเรื่องความรุนแรง ตอนไปทำงานหรือไปประชุมแลกเปลี่ยนอะไรก็ตาม เรามักเจอคนที่เขารู้สึกว่า intimidated (โดนข่ม) โดยเรา เวลาเราวิจารณ์อะไร คนที่เป็น misogynist (ผู้เกลียดชังผู้หญิง) เขาก็จะไม่ชอบ เขาไม่ฟังหรอกว่าเนื้อหาที่เราพูดคืออะไร แต่เขาจะมองว่า อีนี่เป็นผู้หญิง ทำไมพูดเยอะ ทำไมเสียงดัง ทำไมถึงมีรอยสัก ทำไมถึงไม่อยู่ในกรอบที่มึงควรจะอยู่ กล้าดียังไง เราโดนแบบนี้จนบางครั้งเราต้องสร้างกลยุทธ์ว่า ถ้าฉันไปพูดหรือทำงานที่ไหน ฉันต้องทำอะไรบ้างเพื่อสื่อสารจุดยืนได้ชัดเจน แต่ความยากคือพอโดนบ่อยๆ มันทำให้ความเชื่อเราแกว่ง บางครั้งเราเจอคำพูดเหยียดเพศ เราเอ๋อไปนิดหนึ่งเลย เพราะคนใกล้ตัวเรามองไม่ออกว่าคือการเหยียด กระทั่งว่าหลังๆ เราต้องใช้วิธีโทรปรึกษานักสิทธิสตรีที่เรานับถือว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับฉัน ฉันควรทำยังไงต่อ เพื่อให้เรากลับมาฟังเสียงตัวเองได้

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มมองเห็นอำนาจที่ไม่เท่ากันในสังคม

ตั้งแต่เด็ก สิ่งที่รับรู้ได้ชัดมากๆ คือเราไม่ชอบความอยุติธรรม เห็นอะไรที่มันไม่ยุติธรรมแล้วจะโกรธ 

บ้านเรามีลูกสามคน เราเป็นลูกสาวคนเดียว โตในค่ายทหารแต่เด็กเพราะคุณพ่อเป็นอนุศาสนาจารย์ที่ย้ายไปหลายๆ จังหวัดเพื่อไปเอาตำแหน่ง เราใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศที่เห็นคนยศนั้นยศนี้ เห็นความไม่เท่ากัน พ่อของเราไม่ได้จบนายร้อย เขาก็จะโดนเลือกปฏิบัติ 

คุณพ่อเป็นคนใจเย็น น่าจะไม่สนใจหรือไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่ในสายตาของลูกที่มองขึ้นไปก็คิดว่า เฮ้ย ทำไมคนนี้ไม่เคารพพ่อเรา เราเลยไม่ชอบคำว่าระบบศักดินา ถึงขนาดบอกพี่ชายกับน้องชายว่าอย่าเป็นทหารหรือรับราชการ 

แล้วตอนไหนที่รู้สึกอยากต่อต้าน

จริงๆ ก็ต่อต้านอะไรบางอย่างมาตั้งแต่เด็กแล้ว เช่น ระเบียบในโรงเรียนที่เรารู้สึกว่ามันงี่เง่า อย่างเรื่องทรงผมเราผิดระเบียบมาตลอด (หัวเราะ) หรือระบบศาสนาที่แต่ก่อนมันจะมีเข้าค่ายคุณธรรม จำได้เลยว่าช่วงอายุ 13-14 เคยฟังพระพูดบางอย่างแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ เราก็เดินไปเถียง คนก็จะมองว่าทำไมคนนี้ขี้เถียงจัง กลายเป็นตัวประหลาดในสายตาคนอื่น 

หรือเรื่องเพศ ช่วงมัธยมเราเคยเป็นเด็กเรียน แต่พอมีรุ่นพี่ผู้ชายมาชอบก็โดนคนหมั่นไส้ ซึ่งด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด เวลามีผู้ชายมาชอบผู้หญิง คนโดนด่าคือผู้หญิงนะ หลังจากนั้นเราเลยพยายามจะทำตัวคูล ไปเล่นกีฬา แต่งตัวเป็นผู้ชายแล้วคบผู้หญิงไปเลยจะได้ไม่โดนบูลลี่ 

มันมีความรู้สึกงงๆ มาตลอดว่า ทำไมเราถึงโดนอะไรแบบนี้ ไม่อยากเป็นผู้หญิงเลย จนโตขึ้นและได้เข้าใจเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศจริงๆ ตอนที่ตัวเองถูกแฟนเก่าทำร้ายร่างกาย เรารู้สึกว่าทำไมถึงแย่ขนาดนี้ แล้วทำไมการสู้เรื่องนี้ถึงยากจัง ทั้งๆ ที่เราเรียนกฎหมายมา มันก็ต้องคุ้มครองเราไม่ใช่เหรอ ทำไมตอนสู้คดีเราถึงได้โดนตีตราและกล่าวโทษล่ะ จุดนั้นทำให้สนใจเรื่อง gender-based violence (ความรุนแรงอันเกิดจากเหตุแห่งเพศ) แล้วก็ได้มาทำ SHero ช่วยเหลือผู้เสียหายจากคดีความรุนแรง

การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเปลี่ยนการมองโลกของคุณไปยังไงบ้าง

เรามองเห็นคำว่าสิทธิมนุษยชนในทุกอย่าง แต่ก่อนเราทำเรื่องคนไม่มีสัญชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ เด็ก ผู้หญิง ก็จะมีคนมาขอปรึกษาเราหลายๆ เรื่องในวันเดียว ซึ่งบางครั้งก็ทำพร้อมกันไม่ไหว แต่ถามว่าเรื่องสิทธิมันอยู่ในหัวเราตลอดเวลาไหม ใช่ 

อย่างล่าสุดเราไป work from home ที่เกาะเกาะหนึ่งกับแฟน เจอแรงงานข้ามชาติเยอะมาก สิ่งที่เรานั่งคุยกับแฟนคือคุณคิดว่าพวกนี้จะได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ เขาได้สิทธิอะไรบ้าง สมมติมีเอ็นจีโอมาเปิดในพื้นที่นี้ พวกนายทุนจะไม่ชอบใช่ไหม เพราะแรงงานก็จะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ

กลายเป็นว่าเราไปทุกที่ เราจะมีเลนส์ที่มองเรื่องนั้นตลอด เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่ทุกคนแม่งต้องเข้าใจ และมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว 

คิดเรื่องนี้ตลอดเวลา ไม่เหนื่อยบ้างเหรอ

เหนื่อยสิ เคยคิดเหมือนกันว่ามันจะดีไหมถ้าเรากลายเป็นคนที่อิกนอแรนต์ ไม่ใส่ใจเรื่องพวกนี้ไปเลย ชีวิตเราจะมีความสุขไหมวะ มันก็คงจะมีความสุขแหละ แต่มันก็จะไม่ใช่ตัวเราไง 

ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อย แต่เชื่อว่ามีคนอื่นที่เหนื่อยแบบนี้เยอะเหมือนกัน เรารู้สึกว่าการมองเห็นปัญหาเยอะๆ จะทำให้ปัญหาโดนแก้ ถ้าเรามองไม่เห็นปัญหาก็จะไม่มีใครแก้

SHero

ในฐานะที่เคยถูกกระทำความรุนแรงมา การทำงานกับผู้เสียหายเยอะๆ กระทบจิตใจคุณบ้างไหม

เคยทริกเกอร์ช่วงแรกๆ แบบดิ่งไปเลย แต่เป็นทริกเกอร์ในลักษณะว่าเสียใจกับผู้เสียหาย เพราะแต่ละด่านมันยากเหลือเกิน คือเราจำได้ว่าของตัวเองมันไม่ง่าย แต่พอมาเจอคนที่ไม่มีทรัพยากร ไม่มีเงินแม้แต่ค่าเดินทางไปสถานีตำรวจก็จะมีความรู้สึกแบบ เชี่ย ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย ทำไมระบบมันต้องใจร้ายขนาดนี้ 

แต่ช่วงหลังๆ เราก็พยายามสำรวจสภาพจิตใจตัวเองมากขึ้น เมื่อไหร่ที่ไม่ไหวก็จะพัก จริงๆ คนทำเคสความรุนแรงเบิร์นเอาต์บ่อยนะ เราเคยเป็นคนที่ไม่จัดสรรเวลามันก็เหนื่อย พอเหนื่อยภาพเก่าๆ ก็กลับมา ก็เลยเริ่มมาศึกษาด้าน well-being เพราะอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว อาจารย์ที่เรานับถือเคยบอกว่า การดูแลตัวเองคือยุทธศาสตร์ที่ทำให้เราสามารถทำงานได้ในระยะยาว มันไม่ใช่การเห็นแก่ตัว เรามีสิทธิดูแลตัวเองเพื่อที่จะไปช่วยคนอื่นต่อได้ 

คุณดูแลตัวเองยังไง

ควรจะออกกำลังกายแต่เราขี้เกียจ (หัวเราะ) ช่วง pause บางทีเราเลยอ่านหนังสือเพราะจะได้ไม่ต้องดูมือถือ ไม่ก็นอนเปื่อยๆ อยู่บนเตียง ดูเน็ตฟลิกซ์ ดูดิสนีย์พลัส โหลดมาให้ดูไม่เครียด 

ช่วยทำคดีความรุนแรงเป็นร้อยๆ เห็นความรุนแรงบ่อยๆ ทำให้หมดศรัทธาในเพื่อนมนุษย์บ้างไหม

มันไม่ถึงขนาด lose trust in humanity (สูญเสียความเชื่อในมนุษย์) ในทางตรงกันข้าม มันทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของคนและสังคมมากขึ้น เราคิดว่าคนเราเปลี่ยนได้เมื่อสังคมเปลี่ยน เช่น ผู้เสียหายสามารถเอาตัวเองออกมาจากความรุนแรงได้เมื่อสังคมรอบตัวซัพพอร์ตเขา ผู้กระทำจะหยุดใช้ความรุนแรงเมื่อสังคมไม่อนุญาตให้เขากระทำ

แต่บางครั้งก็มีเหมือนกันที่รู้สึกสิ้นหวัง เพราะยิ่งเราเห็นปัญหาเยอะก็ยิ่งเห็นความฉิบหายเยอะ เราก็จะเซ็ง โอ๊ย ไม่ทำแล้ว ไม่อยู่แล้วสังคมนี้ มันมีความรู้สึกนั้นเหมือนกัน ในขณะเดียวกันมันก็รู้สึกว่า ถ้าเราเห็นมาขนาดนี้แล้วก็ทำต่อเถอะ ทำให้มันเห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนดีกว่า เพราะตอนนี้เรายังมีเอเนอร์จี้ทำได้อยู่ แล้ววันหนึ่งถ้าเรารู้สึกว่าพอแล้ว มันก็อาจจะพอแล้วมั้ง

อะไรทำให้คุณอยากสู้ต่อ

บอกยากเหมือนกัน เอาจริงๆ ตอนแรกที่ทำ SHero เราแค่เขียนโปรเจกต์ สร้างเฟซบุ๊ก มันทำก๊อกแก๊กมาก แต่อยู่ดีๆ ก็มีคนมาสัมภาษณ์ ให้ความสนใจ มีผู้เสียหายมาอ่านโพสต์ของเรา มานั่งฟังบรรยายแล้วเขารู้สึก empower หรือช่วยใครสักคนหนึ่งได้ เหมือนกับว่าเรากำลังค่อยๆ มีเครือข่ายของคนที่แคร์เรื่องนี้แล้วไม่นิ่งเฉยและไปช่วยคนอื่น

เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันอิมแพกต์ วิธีการทำมันเวิร์กนะ แล้วก็อยากทำต่อ แต่ถ้าสมมติว่า เวลาผ่านไป 10 ปี 15 ปี หรือแม้กระทั่ง 5 ปีข้างหน้า แล้วเราเห็นว่ามีคนขึ้นมาทำบางอย่างทดแทนแล้ว ระบบดีขึ้นแล้ว SHero ไม่จำเป็นต้องทำเยอะเท่าตอนนี้ แค่สแตนด์บายหรือจะหายไปเลย เราก็โอเค แต่ตอนนี้มันยังไม่จบ ยังต้องเดินไปอีก

เคยมีผู้ถูกกระทำเดินมาขอบคุณไหม

มี ส่วนใหญ่ก็จะขอบคุณทุกครั้งที่เราช่วยเขาไปในแต่ละสเตป แต่ที่ไม่ขอบคุณก็มีเหมือนกัน ซึ่งไม่เป็นไรเพราะเราก็รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้รับอยู่แล้ว

อย่างเคยมี survivor ที่มาฟังเรื่องที่เราพูดหรือเห็นสิ่งที่เราเขียนไว้ในเว็บไซต์ เขาเขียนมาขอบคุณว่า เรื่องของเราทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว บางคนเดินมากอด บอกว่าเขาก็เป็นหนึ่งในผู้เสียหายเหมือนกัน เราก็ดีใจที่ได้มองเห็นกัน พอเราบอกว่า I’ve been there too. (ฉันเคยผ่านเรื่องนี้มาเหมือนกัน) มันทำให้คนที่รู้สึกว่าต้องอยู่ในเงามืดหรือต้องเงียบกล้าออกมาขอความช่วยเหลือมากขึ้น

SHero

เท่าที่คลุกคลีกับ SHero มาหลายปี คิดว่ารากของปัญหาความรุนแรงในไทยคืออะไร

ปิตาธิปไตย ระบบเพศแบบ binary และวัฒนธรรมอำนาจนิยม 

ในสังคม บุคคลแต่ละอัตลักษณ์ทางเพศมีอภิสิทธิ์ไม่เท่ากัน ผู้หญิงและ LGBTQIAN+ จะถูกทำให้เป็นอัตลักษณ์ชายขอบในสังคมปิตาฯ ในขณะที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า เขาสามารถจะกระทำการบางอย่างได้แล้วถูก justify (รับรอง) โดยระบบ ถึงทุกวันนี้จะมีโซเชียลมีเดียทำให้หลายคนได้รับรู้ว่าความผิดปกติมันมีอยู่ แต่ในระบบสังคมและระบบรัฐ ปัญหาบางอย่างถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ

ยกตัวอย่างคดีโจ้ถุงดำ เห็นได้ชัดเลยว่าคนในสังคมไม่โอเค แต่ด้วยความที่ระบบตำรวจมันทั้งอำนาจนิยมและมีความเข้มข้นของปิตาธิปไตย มีหลายคนมากที่ออกมาพูดว่าเรื่องแบบนี้มันปกติ การซ้อมทรมานเป็นเรื่องที่ ‘ลูกผู้ชาย’ เขาทำกัน (เน้นเสียง) ปัญหาคือไอ้สิ่งเหล่านี้มันฝังลึกจนระบบมันหล่อหลอมมาเรื่อยๆ ผ่านสถาบันต่างๆ ซึ่งเริ่มมาจากบรรทัดฐานและวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยนในสังคมไทย จนทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียอย่างนั้น

ในมุมมองคุณ อะไรคือสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับความรุนแรง

เราว่าคนส่วนใหญ่มองไม่ออกเรื่องอำนาจที่ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ คนจะชอบมองว่าถ้าเป็นคดีข่มขืนคนที่ทำต้องหื่นกาม แล้วพอผู้กระทำเป็นคนที่ไม่ได้ดูหื่นกาม คนก็จะงง แต่ความจริงคือการที่คนคนหนึ่งจะมาคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศอีกคน มันไม่ใช่แค่เรื่องของความหื่นกามอย่างเดียว มันมากับเรื่องการควบคุม การใช้อำนาจเหนือกว่า การอยากทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกต่ำต้อย มันคือความอยากใช้ชีวิตเหนือคนอื่น คือการกดขี่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องท้าทายอำนาจพวกนั้น สิ่งที่ทำได้คือการยืนอยู่ข้างผู้เสียหาย คุณต้องไป empower คนที่ถูกเหยียบอยู่ให้ขึ้นมา อีกอย่างคือคนยังติดกับภาพ perfect victim ในหนังที่ผู้เสียหายจะต้องมีแผลเต็มตัว แล้วถ้ามีผู้ถูกกระทำมาแจ้งความและไม่ได้มีแผลเยอะ คนก็จะคิดว่าไม่เป็นไรหรอก แต่ความจริงบางแผลเรามองไม่เห็น เป็นแผลฟกช้ำ ไหนจะบาดแผลใจที่รักษายากกว่าแผลกาย

SHero

เราเคยไปสอนเยาวชนหรือนักศึกษามหา’ลัยที่เป็นวัยรุ่น เขาก็จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง gender analysis พอเราบอกว่าในสังคมผู้ชายมีพริวิเลจมากกว่านะ เขาก็จะงงและโกรธ มาบอกว่าผู้ชายมีพริวิเลจได้ยังไง เราก็ต้องอธิบายว่า คำว่าพริวิเลจไม่ใช่สิ่งไม่ดี พริวิเลจไม่ผิด แต่การไม่ยอมรับว่าตัวเองมีพริวิเลจน่ะผิด เวลาเราถูก ปัญหาพวกนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่ระดับปัจเจก เราพูดถึงระดับโครงสร้าง ปิตาธิปไตยมันทำร้ายทุกคนนะ ทำร้ายผู้ชายด้วย ไม่ได้บอกว่า masculinity (ความเป็นชาย) ไม่ดี แต่ toxic masculinity (ความเป็นชายที่เป็นพิษ) น่ะมีปัญหา ทำไมแค่นี้แยกไม่ออก ทำไมเปราะบางเหลือเกิน 

หรือเวลาเราพูดเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ก็ต้องมีคนลุกขึ้นมา อ้าว แล้วผู้ชายล่ะ แต่เวลาเราพูดถึงปัญหาที่เกิดกับผู้ชายก็จะเงียบ หรือตอนบอกว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า gender-based violence นะ ก็จะมีผู้ชายมาบอกว่าผมเป็นลูกผู้ชาย ไม่ทำร้ายผู้หญิงครับ เราก็โอ๊ย ตายละ เมื่อไหร่จะก้าวผ่านกรอบเพศพวกนี้สักที เพราะ gender norm (บรรทัดฐานทางเพศ) หรือ gender stereotype (การเหมารวมทางเพศ) พวกนี้แหละคือรากของ gender-based violence ซึ่งมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน 

เราพยายามจะบอกว่า ไอ้กรอบเพศที่มีอยู่นี่คือเหตุผลว่า ทำไมผู้ชายบางคนถึงรู้สึกว่ามีสิทธิไปคุกคามคนอื่นได้ หรือการที่ผู้หญิงบางคนต้องรู้สึกตัวเล็ก ไม่กล้าแสดงออก ก็เพราะเขาถูกหลอมมาแบบนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชวนทำมากที่สุดคือการเช็กพริวิเลจของตัวเอง

ต้องโดนแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง

จริงๆ การกระทำความรุนแรงมีหลายเลเวล แน่นอนว่าการทำร้ายร่างกายก็คือความรุนแรง แต่มันจะมีความรุนแรงทางจิตใจซึ่งกฎหมายประเทศไทยก็นับว่าผิดเหมือนกัน อย่างเคสความรุนแรงในครอบครัว แรกๆ ผู้ใช้ความรุนแรงมักดูเป็นคนดี ประเสริฐแทบทุกคน หลังจากนั้นอาจห้ามไปเจอเพื่อน ตัด support system ของอีกฝ่าย ต่อมาจะเริ่มควบคุมชีวิต ห้ามทำงานนะ มาอยู่บ้านเลี้ยงลูกดีกว่า ต้องใส่เสื้อผ้ายังไง ซึ่งจะเป็นอะไรที่เล็กๆ มากจนผู้เสียหายมองไม่ค่อยออก กว่าจะรู้ตัวคือสูญเสียความเป็นตัวเองไปแล้ว ทุกการตัดสินใจในชีวิตต้องให้ผู้กระทำเลือกหมดเลย มันก็ถือว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัว แต่ศาลบางที่ยังไม่เข้าใจและตัดสินให้ไม่เป็นเพราะเขาขาดความเข้าใจเรื่องนี้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นความรุนแรงมันไม่ใช่แค่การกระทำโหดร้ายทารุณ แต่มันคือการควบคุม (coercive control)

เวลาสื่อลงข่าวความรุนแรงในครอบครัว หลายคนมักมองว่าโดนขนาดนั้นแล้วทำไมถึงทน จริงๆ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้เสียหายออกมาจากวงจรความรุนแรงไม่ได้ 

วงจรความรุนแรงจะมี 3 ระยะ คือระยะที่ทะเลาะกันแรงๆ ระยะต่อมาคือเงียบ แล้วก็ระยะฮันนีมูน หลังจากผู้กระทำใช้ความรุนแรง เขาก็จะทำดีกับผู้เสียหายเพื่อให้ได้โอกาสอีกครั้ง 

ภาพที่เราเห็นบ่อยๆ ในเคสความรุนแรงในครอบครัวคือการอ้อนวอนกันกลางศาล กลับมาเถอะ ฟังพี่เถอะ แต่พอกลับบ้านมาเป็นอีกคนหนึ่งเลย มึงฟ้องคนอื่นใช่ไหม แล้วพอผู้หญิงไปก็จะขอโทษใหม่ สังเกตดีๆ ผู้กระทำจะไม่ร้ายตลอดเพราะแฟนที่ควรจะอยู่ใต้เขาจะหนีไปเลย สิ่งที่เขาต้องการคือคนคนหนึ่งที่เชื่อฟังเขาแล้วยอมให้ควบคุมได้ เหมือนการเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ใต้อำนาจ

อีกอย่างคือรัฐพยายามสร้างวัฒนธรรมแบบ family centric ต้องให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกัน เวลามีเคสความรุนแรงที่ไม่ว่าจะไปถึงสถานีตำรวจหรือศาลเขาก็จะให้ไกล่เกลี่ย เราก็ต้องอธิบายตลอดว่า คำว่าไกล่เกลี่ยคือการบาลานซ์ เหมือนนักธุรกิจที่มีอำนาจพอๆ กันแล้วมาหา win-win situation แต่ความรุนแรงในครอบครัวอำนาจมันไม่เท่ากัน คุณจะหา win-win situation ได้ยังไง แล้วแน่นอนว่ายิ่งผู้เสียหายกำลังรู้สึกเปราะบาง เขายอมอยู่แล้ว เพราะเขารู้สึกว่ามาแจ้งความแล้วก็ไม่มีใครฟังเขาเลย เขาโทษตัวเองมาตลอดเพราะผู้กระทำบอกว่าเป็นความผิดของเขา ยิ่งมาเจอเจ้าหน้าที่ที่ควรจะช่วยเขาบอกว่าเธอต้องนึกถึงครอบครัว เขาก็คิดสิว่ากูต้องทนใช่ไหม เขาก็จะทน แต่พอผู้หญิงคนหนึ่งทนจนตาย ทนจนฆ่าแฟน สังคมก็จะบอกว่าอีนี่ชั่ว แต่คุณไม่เคยรู้เลยว่าการจะก้าวออกมามันยากแค่ไหน มีสถิติบอกว่าผู้หญิงที่โดนฆ่าตายเคยแจ้งความอย่างน้อย 8 ครั้ง บางคนทนมา 10-20 ปี จนวันหนึ่งแทงสามีตาย ไม่ว่าจะจงใจหรือพลาดก็ตาม เขากลายเป็นคนที่ต้องติดคุก 25 ปี 

SHero

เพราะฉะนั้นการเอาตัวเองออกมามันไม่เคยง่าย คิดดูสิขนาดตอนที่เราโดนแฟนเก่าทำร้ายร่างกาย เรารู้กฎหมายด้วยซ้ำ แต่พอเราโดนกระทำ กฎหมายกลับไม่ใช่สิ่งแรกที่เรานึกถึง เรากลับกลัวว่าความสัมพันธ์จะล้มเหลว คิดว่าปรับตัวแล้วเขาจะเปลี่ยน ซึ่งมันไม่จริง สุดท้ายแล้วความรุนแรงจะหยุดลงได้ไม่เกี่ยวกับผู้เสียหายเลย มันจะหยุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้กระทำล้วนๆ แต่เราถูกทำให้ติดกับดักความคิดว่ามันคือความผิดของมึงเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้กระทำเท่านั้นที่สร้างมันขึ้นมา แต่คนใกล้ตัว เจ้าหน้าที่ สื่อ สังคมช่วยกันสร้าง 

อย่างเวลาผู้เสียหายออกมาบอกว่าออกมาไม่ได้ คนก็จะด่าว่าทำไมมึงโง่วะ แต่เวลาเขาไปขอคำปรึกษาจากเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าอย่าแจ้งความเลย สงสารเขา มึงไปทำอะไรเขาหรือเปล่า ไปโรงพยาบาลบอกว่าจะเบิกค่ารักษาฟรีของ OSCC (One Stop Crisis Center หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม) โรงพยาบาลก็ถามว่า OSCC คืออะไร ไม่รู้จัก ไปสถานีตำรวจก็ให้ไกล่เกลี่ย ไปวัดพระก็บอกว่าเป็นเวรกรรมของชาติที่แล้ว ยิ่งเดินเข้าไปประตูที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจ สมมติว่าผู้หญิงคนนี้ถูกสั่งไม่ให้ทำงานมาหลายปีเพื่อให้เลี้ยงลูก เขาจะไปเริ่มต้นหางานใหม่ได้ยังไง แล้วพอยื่นขอสิทธิเลี้ยงดูลูก ศาลก็ถามว่ามีเงินไหม มีอาชีพไหม อ๋อไม่มี งั้นเอาลูกให้ผัวแล้วกัน เขาก็ไม่เลิกสิ นี่มันคือ systemic barrier คือทุกคนกำลังทำงานร่วมกันเป็นระบบเพื่อผลักคนนี้กลับเข้าไปในวงจรความรุนแรง 

เขาไม่ได้ทนอยู่เว้ย เขาพยายามออกมาแล้ว แต่ทุกคนตบเขาเข้าไป

ในทางกลับกัน มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้กระทำยังก่อความรุนแรงซ้ำๆ

ยกตัวอย่างแฟนเก่าเรา มันเคยมีเหตุการณ์ที่เขาใช้ความรุนแรงกับเราที่บ้านเขา พอแม่เขากลับมาเห็นเรานั่งร้องไห้ แม่เขาก็พาเราไปเดินคุย คุยกับเราว่ารู้ไหมว่าแฟนเก่าเราโตมายังไง เขาน่าสงสารนะ พ่อเขาก็ดุเขานะ แต่เขาไม่ใช่คนแบบนี้หรอก ที่แฟนโมโหเราบ่อยๆ เพราะเขาเครียด ยูต้องยิ้มบ่อยๆ อย่าไปทำให้เขาเครียดสิ ตอนนั้นเราก็เบลอไปเลย จำได้เลยว่ากลับมาไทยแล้วก็ทำกับข้าวเอาใจเขาทุกวัน ฝึกยิ้มหน้ากระจก ทำตัวน่ารักกับแฟน 

พอเราหลุดออกจากวงจรนั้นมาได้ เราเขียนกลับไปหาแม่เขาเลยนะว่า ยูรู้ไหม ที่เขาเป็นแบบนี้ก็เพราะยูให้ท้ายเขานะ สาเหตุหนึ่งที่ผู้กระทำทำได้เพราะคนรอบตัวอนุญาตให้เขาทำ 

หรือจากเคสอื่นๆ ก็เห็นได้ชัดว่าระบบสังคมทำให้ผู้กระทำตัวพอง ลองนึกภาพตามนะ ไปศาล ศาลบอกว่า อ๋อ ไกล่เกลี่ยได้ไม่มีโทษ ไปบอกเพื่อน เพื่อนบอกว่าปกติแหละความรุนแรงในครอบครัว บริษัทที่จ้างงานเขาอยู่ นายจ้างไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไปถึงระบบศาสนา อ๋อ ใช้ความรุนแรงมาเหรอ มาบวชสักเดือนไหม ไม่ต้องไปติดค้งติดคุก อยู่กับพระหายเลย เปิดทีวีดู สื่อบอกว่าผู้ชายใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าผู้กระทำคนนี้ก็จะคิดว่า I can do it. นี่หว่า มันชัดมากเลยนะ เขาใช้ความรุนแรงต่อได้เพราะว่าทุกคนแม่งอนุญาตเขาหมดเลย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำคือเปลี่ยน norm ว่าไม่อนุญาตแล้วนะเว้ย เมื่อไหร่ที่ศาลบอกว่าใช้ความรุนแรงไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจไม่รองรับ ระบบศาสนาบอกว่าความรุนแรงคือบาปของผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้เสียหาย ระบบเลิกโทษเหยื่อแต่หันไป blame ผู้กระทำ เขาก็จะหยุด

SHero

แล้วในมุมคนนอก ถ้าเราพบเห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น เราจะช่วยผู้เสียหายได้ยังไง

ถ้าเป็นเพื่อนก็พูดได้ว่าฉันรออยู่ตรงนี้นะ มีอะไรก็มาบอก ไม่ตัดสิน ให้ผู้เสียหายรู้ว่ามีคนอยู่ข้างๆ หรือบางทีก็อาจจะแนะนำว่าลองโทรสายด่วนไหม ถ้าเป็นเพื่อนบ้านหรืออยู่คอนโดที่เราอาจไม่ได้รู้จักผู้เสียหายขนาดนั้น บางทีอาจใช้วิธีแนะนำให้ชุมชนติดใบปลิวสายด่วน หรือลองจัดเซสชั่นสนทนาชวนคุยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวหรือความสัมพันธ์ที่ดี ให้ผู้ถูกกระทำรู้ว่า There’s someone looking out for me. (มีคนที่คอยดูแลฉันอยู่)

แต่ถ้าเป็นอะไรที่ฉุกเฉินจริงๆ อาจโทรเรียกตำรวจมาช่วย หรือบางครั้งถ้าอยากให้ความรุนแรงนั้นหยุดลงชั่วคราวอาจใช้วิธีกดกริ่ง เอาผลไม้มาให้ค่ะ ทำเป็นอินโนเซนส์ว่ากูไม่ได้เสือกนะ แต่มันคือการ interrupt (รบกวน) ให้ความรุนแรงชะงัก บอกเป็นนัยๆ ว่าฉันรู้นะว่าเกิดอะไรขึ้น 

ในภาพกว้างกว่านั้น เราจะสร้างสังคมที่เป็น support system ให้กับผู้เสียหายได้ยังไง

เราจะพูดเสมอว่า แค่การเริ่มต้นบทสนทนาเรื่องนี้ก็เป็นจุดสตาร์ทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะมันคือสัญญาณว่าคนเริ่มตกตะกอนถึงปัญหาและทางแก้ แต่ก่อนจะแก้ปัญหาเราต้องสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องก่อน แล้วค่อยไปถึงการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับผู้เสียหายเองหรือระดับสังคม

สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้เสียหายออกมาพูด คำว่าออกมาพูดอาจไม่ใช่การให้ไปพูดในที่สาธารณะ แต่คือการที่เขากล้าเล่าให้คนคนหนึ่งฟัง เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเป็นคนรอบตัวที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาก่อน รับฟังโดยไม่ตัดสิน ให้เวลาและทำให้เขารู้ว่าคุณมีทางเลือกที่จะออกมานะ คุณมีอำนาจในการเลือกนะ แค่นี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้เสียหายต้องการมากๆ แล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone