คุณภาพคือสิ่งสำคัญ และออนไลน์ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย – จับตามองทางรอดของนิตยสารทั่วโลกในงาน MODMAG2017

“When magazines got busted, it is a good thing.
If you are not good enough or interesting anymore.
It is good to do something else”

คำถามแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจถูกเปิดขึ้นในช่วง Panel Discussion บ่ายวันที่ 2 พฤศจิกายนในงาน MODMAG 2017 ใครสักคนพูดคำตอบนี้หลังจากที่ Jeremy Leslie ถามขึ้น คงจะเป็นใครสักคนในกลุ่มนี้ อย่าง Bertie & Char จากนิตยสาร Mushpit, Danielle Pender จากนิตยสารผู้หญิงสุดเท่ Riposte, John L. Walters จาก Eye Magazine, Matt Phare จาก Shortlistและ Stylist และท้ายสุด Paul Gorman ผู้แต่ง The Story of The Face ช่างเป็นคำตอบที่สอดคล้องกับช่วง Panel Discussion ของ Takahiro Kinoshita เจ้าพ่อนิตยสารป๊อบแดนปลาดิบ Popeyeนตอนเช้าว่า

“Good magazine must survive in any situation; good or bad.”
– Takahiro Kinoshita, Popeye Magazine –

MODMAG ปีนี้มีแต่เรื่องจี้ใจดำ ทำไมกลุ่มนิตยสารอิสระถึงได้อหังการ์เช่นนี้ บทสรุปง่ายๆ ที่ Owen Pitchard จาก It’s Nice That บอกว่านิตยสารเป็นสิ่งที่ถูกบีบโดยเวลาและเงินทอง เพราะฉะนั้นเราไม่มีเวลาเพื่อทิ้งเงินมากมายให้ไหลลงแม่น้ำ เวลาและเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำนิตยสารควรระลึกไว้เสมอ การทำนิตยสารต้องเอาผู้อ่านเป็นตัวตั้ง และต้องให้แน่ใจว่าเราสามารถสร้างเนื้อหาคุณภาพที่ดีที่สุดให้แก่ผู้อ่านได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ

สิ่งที่ทำให้ออนไลน์ต่างจากสิ่งพิมพ์อธิบายได้หลากมิติ รูปแบบของสื่อทำให้เราอาจจะอ่านเรื่องตลกในออนไลน์ กดคลิกผ่านๆ ในข้อมูลหลากหลาย แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์ เราสามารถหยุดคนอ่านให้อยู่กับเราได้ ข้อมูลและเนื้อเรื่องที่ดีคือคำตอบว่าทำไมคนถึงต้องอ่านสิ่งที่ทำออกมา

กลับมาที่คนคุ้นเคยอย่าง Takahiro Kinoshita เขาบอกว่าตอนที่เข้ามารับงานเป็น Editor-in-Chief ของ Popeye ในปี 2010 เรียกได้ว่าเป็นยุคตกต่ำที่สุด จำนวนขายเหลือไม่ถึงสองหมื่นเล่มต่อเดือน และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่ช้าก็เร็ว Popeye อาจจะกลายเป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งของนิตยสารญี่ปุ่นคือ “เราเคยมีนิตยสารป๊อปๆ ที่ชื่อ Popeye” เขาจึงคิดและทำการบ้านอย่างหนัก ในที่สุดคำตอบคือกลับไปสู่จุดเริ่มต้น (“Back to where we started”) นั่นจึงเป็นที่มาของ Popeye อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และมียอดจำหน่ายกลับมาที่หนึ่งแสนเล่มต่อเดือน

ทาคาฮิโระคนเดิมยังบอกว่าทุกวันนี้เรามีนิตยสารที่น่าเบื่อ และไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่มากมาย อย่างในประเทศญี่ปุ่น นิตยสารกว่า 4,500 ปก มีที่ทำเรื่องเดียวกันอย่างนิตยสารเบสบอลอยู่ 4 ปก มีนิตยสารที่ไม่น่าเชื่ออย่างนิตยสารเกี่ยวกับการนอนข้างถนน เพราะภาพการนอนข้างถนนของเหล่าคนทำงานในญี่ปุ่นเป็นเรื่องแสนจะธรรมดามีให้เห็นอยู่มากมาย นิตยสารเกี่ยวกับเห็ด นิตยสารเกี่ยวกับเขื่อนซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเขื่อนเพียงหนึ่งแห่งต่อหนึ่งฉบับ ทาคาฮิโระบอกว่ามันน่าเบื่อมาก และไม่ได้สร้างคุณค่าที่แท้ให้เกิดขึ้นต่อคนอ่านสักเท่าไหร่ ส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่านิตยสารเหล่านี้น่าจะทยอยปิดตัวลงในไม่ช้า ในบทสรุป ทาคาฮิโระบอกว่าเหตุผลที่นิตยสารปิดตัวลงมาจากสองข้อ หนึ่ง นิตยสารนั้นน่าสนใจน้อยลง และสอง เรามีร้านหนังสือน้อยเกินไป

ในงานเดียวกัน Anja Aronowsky Cronberg จากนิตยสารแฟชั่นสัญชาติอังกฤษ Vestoj ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย Anja บอกว่านิตยสารแฟชั่นทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ไม่มีการสำรวจวิจัยที่น่าเชื่อถือที่ให้คำตอบกับเราได้ว่า Why We Wear? When We Wear? ทำไมต้องเป็นสีเขียว เพราะอะไร ใครบอก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ Anja บอกว่าเราต้องสามารถตั้งคำถามกลับไปได้ว่า “ทำไม” เพราะ…

“Everything shall be questioned, nothing is holy”
– Anja Aronowsky Cronberg, Vetoj Magazine –

Anja ถามว่าถ้านิตยสารแฟชั่นมีโฆษณา แล้วคุณจะรักษามาตรฐานในการวิเคราะห์วิจารณ์แฟชั่นจากห้องเสื้อต่างๆ ได้อย่างยุติธรรม หรือกระทั่งสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวเองได้หรือ เพราะฉะนั้นในทัศนคติของเธอ นิตยสารแฟชั่นไม่ควรมีโฆษณา และควรอยู่ได้ด้วยคุณภาพ และแน่นอนว่า Vestoj เป็นนิตยสารแฟชั่นที่ไม่มีโฆษณา

อีกหนึ่งหัวข้อที่พูดถึงกันมากคือ Business Model ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ และแน่นอนว่า The Economist ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่ดี The Economist ไม่เคยให้อะไรฟรี การเข้าถึงเนื้อหาคุณภาพเยี่ยมต้องแลกมาด้วยเงิน คุณต้องยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงสิ่งที่หาที่อื่นไม่ได้ และ The Economist ยังคงใช้โมเดลทั้งพรินต์และดิจิทัลแบบคู่ขนาน สื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังอยู่ได้ไม่มีใครยืนได้เพียงการใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีในสื่อออนไลน์เพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน สื่อที่พึ่งพาดิจิทัลเพียงอย่างเดียว หรือหวังยอดแบบจับเสือมือเปล่าจากออนไลน์กลับตกที่นั่งลำบาก บทวิเคราะห์ล่าสุดเรื่อง Is Digital Dying? ของ Voice.Media พบว่าเจ้าแห่งข้อมูลอย่าง BuzzFeed และ Vice มียอดรายได้ที่พลาดเป้าไปอย่างมาก นั่นเพราะการประเมินรูปแบบธุรกิจที่ไม่รอบด้านและโอเวอร์เรตเกินไป การพึ่งพาออนไลน์เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่อยู่รอดได้

แน่นอนว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากโฆษณาออนไลน์นั้นเติบโตอย่างชัดเจน แต่รายได้เหล่านั้นส่วนใหญ่ไปที่ไหนถ้าไม่ใช่เฟซบุ๊กและกูเกิล โดย 67 เปอร์เซ็นต์ของค่าโฆษณาออนไลน์ถูกจ่ายไปให้ 2 เจ้าใหญ่นี้ ดังนั้นจำนวนที่เหลือเพียงน้อยนิดได้ถูกกระจายไปให้เจ้าอื่นนิดๆ หน่อยๆ Kath Viner Editor-in-chief ของ Guardian บอกว่าโลกออนไลน์ทุกวันนี้พังเพราะ 2 เจ้านี้แหละที่กินเค้กก้อนใหญ่ของค่าโฆษณาไปทั้งหมด แต่จริงๆ จะไปโทษทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิลก็ไม่ได้ เพราะเจ้าอื่นๆ ต่างหากที่ต้องมากับโมเดลธุรกิจที่พร้อมรบให้ดีกว่านี้ และบทสรุปที่ดีก็กลับมาที่ว่าให้ไปดูสิว่า The Economist ทำยังไง

พฤศจิกายนเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยหัวเรื่องใหม่ๆ ให้คิด งานปิดท้ายเดือนอย่าง Stack Award ที่ให้รางวัลแก่นิตยสารอิสระ (Independent Magazine) ก็ประกาศผลออกมา ผลคือบางเล่มไม่เกินความคาดหมาย แต่บางเล่ม อาทิ MacGuffin ที่ได้ถึง 2 รางวัล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คนทำนิตยสารเชื่อและพูดถึงเสมอในเรื่องของ Long-form Journalism นั้นมีตัวตนอยู่จริงและสามารถทำให้ดีได้ หรือนิตยสารดีไซน์อย่าง Eye ที่ได้รับรางวัลเพราะปกที่โด่งดัง

สิ่งที่เหมือนกันของนิตยสารเหล่านี้คือคุณภาพ มีทีมงานที่พร้อมค้นหาและเอาคนอ่านเป็นที่ตั้งเพื่อนำไปสู่มาตรฐาน แน่นอนว่างานคุณภาพไม่ได้มาจากการก็อปปี้แปลข่าว หรือเรื่องราวที่ผ่านการอีดิตผ่านแล้ว เปรียบประหนึ่งเป็น Second Hands Editorial สิ่งนั้นย่อมไม่ทำให้เกิดความยั่งยืนและก้าวออกไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง


The Stack Award 2017

Magazine of The Year : Buffalo Zine
Editor of the Year : MacGuffin Magazine
Art Director of the Year : MacGuffin Magazine
Cover of the Year : EyeBest
Use of Photography : Four & Sons
Best Use of Illustration : Weapons of Reason
Best Original Fiction : Hardvard Design Magazine
Best Original Non-Fiction: Rouleur

AUTHOR