จากนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวสู่ ส.ส. : ชีวิตทะลุจักรวาลของรังสิมันต์ โรม

‘จากขุนศึกป่ารอยต่อ ถึงศักดินาตั๋วช้าง สู่นายทุนผูกขาด’ คือหัวข้อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

ต่อให้คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายเหล่านั้น แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ไม่เคยมี ส.ส.หน้าใหม่ที่ซักฟอกรัฐบาลและผู้มีอำนาจได้ ‘สะเทือนเพดานสภา ทะลุฟ้าไปจนถึงจักรวาล’ แบบนี้มาก่อน

แม้เขาจะเป็น ‘น้องใหม่’ ในวงการนักการเมืองก็จริง แต่เส้นทางการเมืองของรังสิมันต์ โรม ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ต่างจากคนไทยที่ตื่นตัวทางการเมือง ใครหลายคนจดจำเขาในฐานะ ‘นักเคลื่อนไหว’ ที่โดดเด่นเข้มแข็ง กล้าสู้กับความอยุติธรรม ไม่อ่อนข้อต่อความผิดปกติ เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งกับ คสช. จนถูกแจ้งข้อกล่าวหาไป 9 คดี และถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจ ค่ายทหาร และกรงขังเรือนจำมาแล้ว

แม้วันนี้เจ้าตัวจะยอมรับว่าลึกๆ ตัวเองเป็นคน ‘ปากกล้าขาสั่น’ มากกว่าภาพจำเหล่านั้น เพราะตั้งแต่ก้าวขาเข้าสู่ถนนการเมืองเส้นนี้ หลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขาวางแผนเอาไว้ แต่มันเกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่าสังคมนี้ต้องมีความถูกต้อง เขาจึงเอาชีวิตมาเสี่ยงกับการพูดความจริง 

ถ้าเปรียบชีวิตและเส้นทางการเมืองของโรมเป็นซีรีส์สักเรื่อง เนื้อหาในซีรีส์เรื่องนั้นอาจจะทำให้เราเห็นที่มาที่ไปว่าทำไมตัวละครนี้คิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละฉากของชีวิต เขาผ่านความรู้สึกแบบไหนในฐานะแอ็กทิวิสต์ที่เข้าไปสัมผัสกรงขังจนมาสู่การเป็นนักการเมืองชื่อดังผู้สร้างมาตรฐานใหม่และภาพจำ ส.ส.ทะลุเพดานให้สังคมไทย 

และนี่คือเหตุผลที่เราอยากชวนเขามานั่งคุยในวันนี้

ซีซั่น 0 

วงน้ำชาและการเมือง 

อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราชคือฉากแรกในชีวิตที่ทำให้เด็กชายรังสิมันต์พบเจอกับการเมือง 

บทสนทนาในบ้าน วงน้ำชาในร้านเครื่องดื่มไปจนถึงงานศพ ล้วนมีเนื้อหาการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้โรมได้สัมผัส เขาว่าคนใต้อินการเมืองมากหน่อย แต่จะเลือกฝั่งไหนก็ว่ากันอีกที และสารกระตุ้นให้เขาทำอะไรหลายอย่างในชีวิต ทั้งการเลือกเรียนมหาวิทยาลัยและเคลื่อนไหวการเมืองก็มาจากส่วนผสมสิ่งแวดล้อมที่โรมในวัยเด็กพบเจอ 

อยากให้คุณเล่าถึงบรรยากาศตอนเด็กให้ฟังหน่อย ทำไมการเป็นคนใต้ถึงทำให้คุณสนใจการเมืองได้ 

ผมว่ามันเป็นคัลเจอร์ คนใต้ชอบพูดเรื่องการเมือง ในวงน้ำชา วงไพ่ มีวงแฮงเอาต์ต่างๆ ซึ่งหลายครั้งก็จะมีบทสนทนาการเมืองในวงเหล่านี้

ผมจำได้ว่าตอนเด็กเดินไปบ้านตรงข้าม ไปกินข้าวเมาท์มอยตามประสาผู้ใหญ่ ผมตัวเล็กมากนอนหนุนตักแม่ฟังที่บ้านคุยเรื่องการเมืองว่าทักษิณขึ้นมาเป็นนายกฯ มันแย่ยังไง ทักษิณรวยผิดปกติไหม เราไม่ควรที่จะสนับสนุนคนแบบนี้ หรือพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองของคนใต้ เราต้องสนับสนุนพวกพ้อง 

ถ้าคุณไปดูหนังตะลุง คุณจะเห็นเขาล้อเลียนนายกรัฐมนตรี ยุคทักษิณโดนหนักเลย หนังตะลุงเชิดด่าเละ รอบล่าสุดที่ผมไปนครศรีธรรมราชเขาก็ล้อเลียนพลเอก ประยุทธ์เหมือนกันนะ หรืออย่างในงานศพ ปกติในสังคมภาคกลางก็อาจจะมีนักการเมืองมานั่งเป็นประธานในงานใช่ไหม แต่ถ้าคุณไปงานศพภาคใต้ คุณต้องจับไมโครโฟน แล้ว ส.ส.ก็จะพูดเรื่องการเมือง  

มันเลยทำให้ทุกจุดทุกเวลาคุณอยู่กับการเมืองตลอด ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือพิมพ์ กินน้ำชากับเพื่อน คุยเรื่องการเมือง ถ้าอยากผ่อนคลายไปดูหนังตะลุง ไปดูพรานบุญ ก็จะเจอการแซะหรือล้อเลียนการเมือง ไปจนถึงงานศพ ผมคิดว่าความเป็นการเมืองหล่อหลอมให้คนใต้คุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ เราเลยรู้สึกว่าถ้าคุณสนใจมันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ว่าถ้าคุณไม่สนใจเลยอาจจะเป็นเรื่องแปลกก็ได้ 

แต่พอผมย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนทวีธาภิเษก ที่กรุงเทพฯ กลายเป็นว่าเจอคัลเจอร์ช็อกเลย 

คัลเจอร์ช็อกยังไง

ผมกลายเป็นคนแปลกที่สนใจแต่เรื่องการเมือง เพราะเพื่อนไม่พูดเรื่องการเมืองกันเลย ผมอึดอัดมากนะ ไม่รู้จะคุยการเมืองกับใคร มันทำให้รู้สึกว่าทำไมสังคมต่างกันจังเลย คนที่นี่ชอบพูดเรื่องสิ่งบันเทิงมากกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดนะ พูดได้ แต่ทำไมไม่มีเรื่องการเมืองเลย 

แล้วเพื่อนจะรู้สึกว่าเวลาเราพูดเรื่องการเมืองดูหัวรุนแรง ดูเป็นคนแปลกแยกไปกับสังคมที่เขาอยู่ เรื่องนี้สืบต่อมากระทั่งเรียนที่ธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ เทอมแรกผมมีปัญหามาก เพราะจนถึงตอนนั้นผมก็ยังไม่มีเพื่อนพูดเรื่องการเมืองเลย 

แต่คนนอกมักมองว่าเด็กธรรมศาสตร์ต้องสนใจการเมือง

ไม่จริง ในบริบทตอนนั้นนะครับ คุณลองคิดภาพแรกที่เข้าไปมหาวิทยาลัยที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของนักศึกษายุค 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ แต่พอเปิดเรียนมาปุ๊บสิ่งแรกที่เขาทำคือรับน้อง ก็ไม่ได้ถึงระดับโซตัสเท่าที่อื่นๆ นะ แต่ก็ทำในสิ่งที่ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนเท่าไหร่ 

แล้วผมเข้ามาเรียนที่นี่เพราะเห็นว่าเป็นมหาวิทยาลัยการเมือง ทุกคนคงสนใจการเมือง แต่พอเราเริ่มเปิดปากพูด เรากลายเป็นตัวประหลาดอีกแล้ว กิจกรรมของคณะยังไม่มีอะไรการเมืองเลย เห็นหน้าแบบนี้ผมเคยไปลงชมรมร้องเพลงประสานเสียงนะครับ (หัวเราะ)

ดังนั้นความเป็นการเมืองในธรรมศาสตร์ที่ผมสัมผัสได้ในตอนนั้นมันน้อยมาก (เน้นเสียง)

ผิดหวังไหมที่มหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเรื่องการเมืองไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

แรกๆ ผิดหวังมาก ผมสับสนเลยว่าเรามาทำอะไรที่นี่วะ ทำไมไม่เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ หรือเราบ้าวะ (หัวเราะ) 

พอคุณอยู่กับความคิดแบบนี้คนเดียว มันทำให้คิดว่า เออ หรือเราผิดปกติ จริงๆ แล้วเราไม่ควรสนใจการเมือง ไปสนใจเล่นกีฬา ฟิตหุ่นให้เฟิร์มๆ ก็ได้ หรือไปเต้นลีดไหม (หัวเราะ)

ซึ่งโชคดีที่ผมไม่ต้องรอนานจนเกินไป แค่เทอมเดียวมันก็ทำให้ผมสามารถกลับมาเห็นว่ามีคนสนใจการเมืองเหมือนกัน แล้วจำนวนก็ไม่ได้น้อยจนเกินไป 

และนั่นคงเป็นประตูบานแรกที่ผมได้มีโอกาสเปิดเข้าสู่โลกของการเมือง และนักเคลื่อนไหวในแบบที่ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ 

Pro-democracy activist Rome Rangsiman (C) holds up a Thailand flag as anti-government protesters gather during a protest to demand that the military government hold a general election by November, in Bangkok, Thailand, May 22, 2018. REUTERS/Athit Perawongmetha – RC1CA4507CE0

ซีซั่น 1 

จุดเปลี่ยนของนักเรียนกฎหมายสู่นักเคลื่อนไหว

แม้จะรู้ว่าการเมืองเป็นหัวข้อที่ตัวเองติดตามและสนใจในชีวิต แต่ภาพการเป็นแอ็กทิวิสต์ไม่ใช่สิ่งที่โรมมองเห็นตัวเองบนเส้นทางตั้งแต่แรก เขาเพียงอยากหาเพื่อนคุย ร่วมถกเถียงประเด็นต่างๆ ไปด้วยกันเท่านั้น 

จนกระทั่งเดือนมกราคม ปี 2555 เกิดเหตุการณ์ระดับ ‘ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์’ เมื่อมีผู้ร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 กับคณะนิติราษฎร์กว่า 30,000 คน โดยก่อนหน้านั้นคณะนิติราษฎร์พยายามขออนุญาตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับสูงกลับปฏิเสธไม่ให้เคลื่อนไหวในรั้วสถาบัน 

และจากเหตุการณ์นี้นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ชื่อของรังสิมันต์ โรม กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแนวหน้าของนักเคลื่อนไหวในเวลาต่อมา

หลังผ่านไปหนึ่งเทอม คุณเจออะไรที่ทำให้รู้ว่าในธรรมศาสตร์ยังมีคนสนใจการเมืองอยู่

บอกก่อนว่าแม้ตอนแรกจะไม่มีใครพูดการเมืองกับผม แต่ลึกๆ ผมก็คิดนะว่าจะต้องมีกลุ่มใต้ดินสักกลุ่มในธรรมศาสตร์ที่พูดเรื่องนี้ 

จนวันหนึ่งมีการจัดกิจกรรมแต่งชุดดำ วางพวงหรีดไว้หน้าอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วย เพื่อคัดค้านเรื่องที่มหาวิทยาลัยห้ามคณะนิติราษฎร์จัดงานเกี่ยวกับการรณรงค์ 112 ในธรรมศาสตร์ วันที่เขาจะรวมตัวกัน ผมก็ใส่เสื้อสีดำด้วย แล้ววางแผนไว้ว่าจะไปตัดผม แต่ขอแวะดูสักแป๊บหนึ่งก่อน คือไม่กล้าที่จะเข้าไปเต็มตัว หรือไม่ได้คิดว่าจะไปแนะนำตัวเองเพื่อบอกว่าผมสนับสนุนนะ ผมอยากจะเข้าร่วมด้วย

แต่พอไปถึง อยู่ๆ มีคนหนึ่งหยิบป้ายขึ้นมา ซึ่งผมไม่รู้ว่าข้อความในป้ายคืออะไร แล้วเขาบอกให้ผมถือ คนคนนั้นคือก้านธูป (อภิญญา สวัสดิ์วรากร) เขาน่าจะเป็นคนยุคแรกๆ ที่โดนล่าแม่มดเรื่อง 112 หนักมาก 

ผมก็ได้รับป้ายมา ตอนนั้นแค่คิดว่าเขาคงฝากถือ ปรากฏว่าเขาสั่งให้เดิน ผมก็เอ๊ะ เดินไปไหนวะ (หัวเราะ) สักพักก็คิดว่าเอาแล้วๆ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ กลัวเสียหน้า ไม่อยากจะโชว์ว่าเขินอาย กลัว เพราะคนใต้ต้องรักศักดิ์ศรี

ตอนเริ่มเดินไปอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วย กางป้ายที่ผมถือออกมามีข้อความว่า ‘ธรรมศาสตร์ตายแล้ว’ ในใจคือชิบหายแล้ว สงสัยได้โดนรีไทร์ (หัวเราะ) แล้วก็มีคนสั่งให้ตะโกน ‘ธรรมศาสตร์ตายแล้ว’ ในใจผมคิดเลยว่า กูอะตายแล้ว (หัวเราะ)

ทำไมตอนนั้นคุณกลัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรมขนาดนี้

เพราะแม่ผมเชียร์เสื้อเหลือง ถึงแม้เราจะสนใจงานการเมือง แต่เราก็กังวลใจกับการเข้าไปในกิจกรรมนี้เต็มตัว เพราะในจุดยืนของกลุ่มคนที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มันออกไปทางโทนแดงในตอนนั้น แต่ครอบครัวผมอยู่โทนเหลือง ซึ่งผมไม่สนับสนุนทางเหลืองนะ แต่ว่าการจะเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับแดง แล้วผมจะคุยกับที่บ้านยังไง

สุดท้ายกิจกรรมนั้นมันออกสื่อหลายช่องมาก น่าจะขึ้นหน้าหนึ่งด้วย เป็นครั้งแรกในชีวิตเลย ซึ่งแน่นอน แม่ผมเห็น ไม่มีทางเหลือ แม่ก็ตำหนิด้วยประโยคเชือดเฉือนประเภทว่า ‘เครียดจะตายแล้ว อย่าทำให้แม่กังวลใจได้ไหม มีหน้าที่เรียนก็เรียน’ ประโยคคลาสสิก 

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอื่นๆ ที่เห็นว่าผมออกสื่อจากกิจกรรมนั้น มีบางคนมาทักว่า ‘เห็นนะ ออกข่าว’ ไม่รู้ว่าชื่นชมหรือด่าอยู่ในใจ แต่มันทำให้เราถอนตัวไม่ได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นไฟต์บังคับ ก็อยู่อย่างนี้แหละ หลังจากนั้นกลุ่มนี้ก็พยายามชวนไปทำกิจกรรมนู่นนี่นั่นตลอด

แล้วการไปร่วมกิจกรรมที่มีแนวคิดตรงข้ามกับที่บ้าน มันทำให้คุณเชื่อข้อมูลของพวกเขาได้ทันทีเลยเหรอ

จริงๆ ตอนผมเข้ามาปี 1 ผมก็ไม่รู้จักนิติราษฎร์ ไม่เคยไปสิงสถิตในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันแบบที่คนอื่นๆ ทำ ผมก็เสพการเมืองจากข่าวอย่างเดียว 

พอการเมืองเริ่มแรงจำได้ว่ามันมีการดีเบตกันระหว่างอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ และนิติราษฎร์ ขอเล่านิดหนึ่งว่า อาจารย์กิตติศักดิ์เป็นไอดอลผมเลย ตอนมาเรียนแรกๆ อาจารย์ทำให้ผมประทับใจมากกับประโยคที่ว่า ‘การเป็นอาจารย์คือการทำงานกับอนาคต’ จนทำให้ผมอยากเรียนแล้วมาเป็นอาจารย์

ตอนนั้นผมยังคิดเลยนะว่าฝั่งนั้นคุณจะแน่กว่าอาจารย์กิตติศักดิ์ได้ยังไง แต่ว่าพอเราดูข้อมูลการดีเบต มันมีความรู้สึกสับสนบางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเองว่าเราควรจะเลือกเชื่อใครดี คำอธิบายหลายๆ อย่างของนิติราษฎร์วางอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ซึ่งมันสมเหตุสมผลมากกว่า แต่อีกฝั่งไม่ได้เป็นแบบนั้น 

ประกอบกับเวลาเราคุยข้อมูลกับรุ่นพี่หลายๆ คน เขามีข้อมูลบางอย่างที่โต้ประเด็นเราได้ มันเริ่มทำให้เห็นน้ำหนักของอีกฝั่งหนึ่งมากขึ้น ผมเลยตัดสินใจว่าผมเลือกเชื่อว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน 

พูดได้ไหมว่าตอนนั้นคุณอยู่ในภาวะ ‘ตาสว่าง’

ผมไม่เคยนิยามตัวเองว่าตาสว่าง เพราะผมรู้สึกว่าผมไม่เคยตาบอด คือโอเค อาจจะไม่เข้าใจบางอย่างทั้งหมด และอาจจะมีความคิดบางอย่างที่ย้อนแย้งอยู่ในใจบ้าง แต่ว่าพอเราเรียนสูงขึ้น เราก็มองเห็นสถาบันเป็นตามองค์กรรัฐธรรมนูญมากขึ้น 

อีกอย่าง เรารู้ว่าคนไทยก็เคยพูดเรื่องสถาบันฯ ในบ้าน ผมมาจากครอบครัวที่คุยเรื่องการเมืองในภาคใต้ เราได้ฟังการสนทนากันในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ ทำให้เราเห็นเหรียญสองด้านมานานแล้ว ผมเลยไม่ได้รู้สึกว่าตาสว่างขนาดนั้น มันเหมือนเราอยู่ในห้องหนึ่งซึ่งมีแสงไฟแหละ แต่แค่ไฟอาจจะไม่สว่างมากพอ หรือเราอาจจะสายตาสั้น ก็แค่มีแว่นตาทำให้เห็นบางสิ่งบางอย่างชัดมากขึ้น แต่หลายๆ เรื่องที่ผมเคยตั้งคำถาม หรือเคยคิดมันก็ไม่ได้ต่างจากเดิมขนาดนั้น 

แต่โอเคอาจจะมีบางแง่ มองสถาบันศักดิ์สิทธิ์กว่านี้ แต่การที่เรามาเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เราก็มองเรื่องแบบนี้บนพื้นฐานของความเป็นคน ไม่ใช่บนพื้นฐานของความเชื่อหรือความรู้สึกว่านี่คือ God ของเรา 

แล้วจากกิจกรรมกับกลุ่มในรั้วมหาวิทยาลัย คุณกลายเป็นแนวหน้าการเคลื่อนไหวในระดับประเทศได้ยังไง

พอมีรัฐประหาร มันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ช่วงเดือนแรกของการรัฐประหารเราเองก็ไม่ได้ถึงขนาดจะต้องอยู่ในแนวหน้าอะไรขนาดนั้น แต่พอภาคการเมืองที่เราเคยเห็นตามหน้าสื่อทีวีเขาไม่สามารถขยับได้ ทุกคนถูกจับหมด วันหนึ่งคุณก็กลายเป็นแกนนำที่จะต้องมานั่งทำกิจกรรมเรียกร้องแล้วเอาประชาธิปไตยที่ถูกทหารยึดอำนาจไปกลับคืนมา 

ผมพูดจริงๆ ผมไม่พร้อมเลยนะ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เรามีกันมากที่สุดเต็มที่คือ 50 คน ไม่เคยไปสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยอื่นแต่เรามีภารกิจใหญ่โตมาก คือเอาประชาธิปไตยคืนมา มันก็เลยทำให้บางทีการเป็นแกนนำ มันอาจจะไม่ใช่เพราะเราอยากจะทำ แต่เพราะเราก็อยู่ที่เดิม แต่คนอื่นเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว แล้วมันทำให้เรากลายเป็นคนนั้นที่ถูกทุกคนจับตามอง 

ภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นับเป็นเรื่องไม่ได้ตั้งใจอีกอย่างที่ทำให้คุณต้องกลายมาเป็นแกนนำ

มันเป็นการตกกะไดพลอยโจนครั้งที่ 2 แต่จริงๆ ช่วงจัดงานครบรอบ 1 ปีรัฐประหารที่หอศิลป์ผมก็คิดไว้แล้วว่าจะเลิก

คือในกลุ่มเคลื่อนไหวของธรรมศาสตร์ เราจะวางบทบาทกันว่าแต่ละชั้นปีใครจะทำอะไรบ้าง เช่น ปี 1 เป็นเพื่อนใหม่ หลายอย่างเขายังไม่รู้ พวกปี 2 ก็จะคอยช่วยเหลือ ปี 3 ดูภาพรวม ปี 4 ติดต่อประสานงานคนนอก ฟังแล้วจะดูเหมือนแบ่งตามความอาวุโส แต่โดยการปฏิบัติไม่ได้เป็นแบบนั้น และเราทำแบบนี้เพื่อกันไม่ให้คนเรียนจบไปแล้วมาบัญชาการการทำงานของนักศึกษา

ทีนี้ผมเรียนปีสุดท้ายก็คิดว่าต้องพอ ไม่อย่างนั้นคนอื่นเขาจะไม่สามารถมีบทบาทอย่างที่ผมเป็น ตั้งใจว่าซีซั่น 2 ของโรมจะเป็นบทบาทซัพพอร์ตแอ็กทิวิสต์ ในรูปแบบทนายความสิทธิมนุษยชน เป็นทนายโรม

พอวันเกิดเหตุที่หอศิลป์ ผมสอบวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย เป็นวิชาสุดท้ายของมหาวิทยาลัย เพิ่งอ่านหนังสือมาอินๆ เลย สอบเสร็จ คุยกันว่าจะรวมตัว 15 นาทีหน้าหอศิลป์ แล้วตะโกนคำว่าอะไรก็ได้ที่เราอยากจะตะโกน เสร็จแล้วเราจะไปกินเหล้ากัน

ปรากฏไปถึงผมยืนอยู่บนสกายวอล์ก ภาพที่มองลงไปเห็นเพื่อนโดนตำรวจลากเข้าไปในหอศิลป์ บางคนเกาะไม้ที่เป็นเหมือนโครงตั้งอยู่หน้าหอศิลป์ ตำรวจก็เอามือทุบให้ออก เฮ้ย มันทำอย่างนี้ได้ยังไง

พอลงไปถึงก็ไม่รู้ว่าเลือดร้อนมาจากไหน ผมบอกเพื่อนไปว่า ‘ตามผมมาเราจะไปช่วยเพื่อนเรา’ มันเลยกลายเป็นภาพที่หลายคนเห็น 

วันนั้นผมไม่ได้อยากจะปะทะอะไรนะ แต่ตำรวจและทหารในเวลานั้นทำผิดกฎหมาย จับเพื่อนเราและทำร้ายร่างกาย เรายังไม่ทำอะไรเลยคุณจะมาสลายการชุมนุมไม่ได้ สุดท้ายผมสู้ไม่ได้ ถูกจับไปขังอยู่ สน.ปทุมวัน 12 ชม. หลังจากปล่อยตัวมาได้ 2-3 วันก็ได้รับคดีความ

เรื่องนี้เลยกลายเป็นการตกกระไดพลอยโจนครั้งที่ 3 เราจะวางมืออยู่แล้ว ซีซั่นนั้นควรจบในวันนั้น ซึ่งวันนี้อาจจะต้องเรียกว่าทนายโรม แต่มันก็เลยกลายเป็นบทบาทอีกแบบที่เปลี่ยนไป

ภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ซีซั่น 2 

อาชีพแรกของนักเรียนกฎหมายคือการเป็นนักโทษ

9 คือจำนวนคดีทั้งหมดที่โรมถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลังจากโดนคดีแรกเมื่อปี 2558 ในตัวเลขนี้ยังมีข้อหาที่ทำให้เขาต้องขึ้นศาลทหาร ฝากขังในเรือนจำเป็นเวลา 12 วัน แต่เขาก็ยังคงจัดการชุมนุมทุกปีอย่างที่ได้ติดตามภาพกันในหน้าสื่อจนชื่อ ‘รังสิมันต์ โรม’ กลายเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้คน ไม่ว่าจะในสายตาตำหนิหรือชื่นชมก็ตาม

คุณเรียนกฎหมายมา แต่ละครั้งที่ทำกิจกรรมคุณต้องคอยประเมินไหมว่าทำกิจกรรมระดับไหนถึงจะไม่ทำให้เกิดคดี

แรกๆ เราไม่คิดว่าเราจะโดนคดีอะไรอยู่แล้ว ตั้งแต่ทำกิจกรรมปี 1 เทอม 2 จะพบว่ามันไม่ผิดกฎหมาย มันทำได้อยู่นะ แล้วแต่ละกิจกรรมที่ผมทำมาคิดแล้วก็แซบอยู่ เช่น ปิดเทอมปี 1 เราจัดกิจกรรมอภิวัฒน์ซ้ำ คือผมและเพื่อนอีก 6 คน แต่งตัวเหมือนเป็นคณะราษฎร ไปเดินรณรงค์เพื่อรำลึกถึงวันที่ 24 มิถุนาฯ พอถึงหน้ากองทัพบกเราขอยืมรถถัง เนื่องจากทหารในยุคนั้นเป็นทหารที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรสามารถอภิวัฒน์ได้ วันนี้เราก็ขอเรียกร้องกองทัพบกให้มาร่วมอภิวัฒน์ด้วยกันอีกครั้ง เปรี้ยวเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้โดนคดีอะไร

แต่พอเกิดรัฐประหารมันต่างออกไป เราเริ่มกลับมาคุยกันเองกับเพื่อนๆ ว่าเรามีสิทธิโดนดำเนินคดี เราวางแผนกันว่าผมจะเป็นตัวหลัก ถ้าถูกดำเนินคดี ผมรับผิดชอบเองเพื่อที่จะได้เซฟคนอื่นให้ยังทำงานต่อได้ 

จำได้ไหมว่าตอนโดนคดีแรกๆ ความรู้สึกมันเป็นยังไง

กลัวนะ รู้สึกว่า ไอ้เหี้ย กูเพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์ สิ่งแรกที่ได้คือคดี (หัวเราะ) 

คือผมเล่าให้ฟังก่อนว่าที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะตั้งแต่มัธยมผมใช้กฎหมายป้องกันตัวเองมาโดยตลอด พูดง่ายๆ คือหัวหมอ แม่จะตีผม ผมเปิดรัฐธรรมนูญกับกฎหมายอาญา บอกแม่เลยว่าทำไม่ได้นะ แม่ตีคือการทำร้ายร่างกาย ผิดกฎหมายนะ ประกอบกับผมเติบโตมาเห็นคนในครอบครัวไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม ผมก็คิดว่าอยากจะเรียนกฎหมายเพื่อมาป้องกันตัวเองและครอบครัวจากการดำเนินคดี 

แต่เรียนจบมาเจอคดีเลย ศูนย์ทนายความฯ ก็มาช่วยดูแล ถามผมว่าจะสู้คดียังไง ผมบอกว่าจะไม่ไปรายงานตัว แต่จะไป สน.เพื่อแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ เพราะในเมื่อเราไม่ได้ผิดอะไร ทำไมเราต้องไปรายงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ชอบธรรมด้วย

ทนายก็อึ้ง ในเวลาที่ผมพูดประโยคนี้ ผมก็อึ้งตัวเองเหมือนกัน บางทีผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันถูกต้อง ถ้าเขาดำเนินคดีกับเราก็ต้องสู้เพื่อปกป้องตัวเองจากความอยุติธรรมสิ แล้วมันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผมพยายามทำเพื่อไม่ให้ความอยุติธรรมมันเกิดขึ้น

แต่ในใจลึกๆ ก็ตั้งคำถาม เราจะทำแบบนั้นได้จริงไหม รู้สึกกลัวเหมือนกัน สู้แล้วจะได้คดีเพิ่มหรือยุติ ซึ่งสุดท้ายมันได้คดีเพิ่ม ก็มีคดีที่ 2 ต่อมา เราก็ยังคิดแบบเดิม แต่เราก็ต้องสู้ต่อ กลายเป็นคดีที่ 3 ที่ 4 จนวันหนึ่งเขายกระดับเอาผมไปขังในเรือนจำ วันนั้นเป็นความรู้สึกที่ดิ่งมากเลยนะ 

Rome Rangsiman, pro-democracy activist, is escorted by police officers as he arrives at a military court in Bangkok, Thailand June 26, 2017. REUTERS/Panu Wongcha-um – RC1BE4D12AC0

มันเป็นยังไง

เล่าเหตุการณ์ตอนนั้นก่อนว่าหลังจากผมเรียนจบ ตั้งใจจะไปสอบตั๋วทนาย ผมไปจัดกิจกรรมกับกลุ่มดาวดินก็ถูกดำเนินคดี ถูกจับกุม พาไปขึ้นศาลทหาร กว่าจะพิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมาว่าให้ไปอยู่ในเรือนจำก็ตอนเที่ยงคืน ไปถึงเรือนจำอีกทีตอนตี 2 สิ่งแรกที่เราโดนคือต้องเปลื้องผ้าถูกตรวจค้น เช็กทวารหนักว่าเราซ่อนอะไรไหม

นี่คืออาชีพแรกที่ผมได้รับหลังเรียนจบ คือการเป็นนักโทษ ผมไปอาบน้ำ เขาก็ถ่ายคลิปเอาไว้หมด ไม่รู้จะมีใครแอบเอามาปล่อยตอนไหน นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เข้าใจว่ามันเป็นคดีดัง เขาก็คงจะถ่ายไว้ยืนยันว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายเรา

พอมาถึงตอนนอนรวมกับนักโทษคนอื่นๆ หัวถึงหมอน คิดกับตัวเองว่า เฮ้ย ชีวิตมันพาเรามาขนาดนี้เลยเหรอ ถามว่ากลัวไหม ผมกลัวมาก พอตื่นเช้ามาก็มีคนมาเยี่ยม ผมร้องไห้เลยนะ ไม่ใช่เพราะอยากจะออกไป แต่มันเป็นความอัดอั้นตันใจที่ทำไมกูต้องมาโดนแบบนี้วะ

วันนั้นผมไม่ยอมประกันตัวด้วย เพราะรู้สึกว่าถ้ามึงเอากูเข้ามาได้ มึงต้องเอากูออก เราจะไม่ยอมเสียเงินสักบาทเดียวเพื่อประกันตัว หน้าที่ของคุณคือ คุณต้องยอมจำนนต่อความยุติธรรมที่เราสมควรจะได้

สุดท้ายแล้วพออยู่ครบ 12 วันศาลก็ปล่อย โดยที่เราไม่ต้องประกันตัว ในมุมของเราคือชนะ พิสูจน์ให้ผู้มีอำนาจเห็นได้แล้วว่ากูไม่กลัวมึง ถ้าขังเรา คุณก็โดนประชาชนไม่พอใจ เขาประท้วงแล้วสุดท้ายคุณก็ต้องปล่อยออกอยู่ดี

การจับไปขังมันเป็นสงครามจิตวิทยาระหว่างคุณกับรัฐด้วยไหม

ใช่ เหมือนฝึกการกลั้นหายใจ ใครทนไม่ไหวก่อนก็แพ้ ตอนผมเข้าไปราชทัณฑ์ยกเลิกไม่ให้มีหนังสือพิมพ์ในเรือนจำ และถ้าเปิดทีวีแล้วมีข่าว เขาจะเปลี่ยนช่องทันที เขาพยายามทำให้รู้สึกเหมือนเราโดดเดี่ยว ถ้าเรารู้สึกว่าไม่มีใครพยายามพูดถึงเรา เดี๋ยวเราจะยอมแพ้ไปเอง 

Rangsiman Rome (C) speaks during a protest against junta delaying polls in Bangkok, Thailand January 27, 2018. REUTERS/Athit Perawongmetha – RC1D5D279080

จากการลงมือทำทั้งหมด คุณนิยามตัวเองเป็นคนแบบไหน กล้าได้กล้าเสียหรือเป็นคนพร้อมเสี่ยงไหม

ปากกล้าขาสั่นอาจจะตรงกว่า (หัวเราะ) โอเค มันก็คงมีเรื่องของอีโก้ด้วยนะ ต่อให้กลัวยังไง แต่เราจะไม่ทำให้คนอื่นๆ รู้สึกว่ากลัว เป็นคนปากหนักที่จะไม่พูดว่ากลัว แล้วก็ทำตัวหรอย (หรอย–ภาษาใต้ ในบริบทนี้หมายถึง คนเจ๋ง)

ในอีกมุมแค่คิดว่าถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ผมตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมไม่ทำ คือผมรู้สึกว่าเราจะเอาความกลัวมาบอกว่าเราไม่ทำในสิ่งที่มันถูกต้อง ผมไม่สามารถส่องกระจกมองตัวเองได้ มันอาจจะเป็นความรู้สึกตรงนี้มากกว่าจะมาบอกว่ากล้าได้กล้าเสีย เพราะผมรู้สึกว่าไม่ค่อยจะได้ เจ็บตัวซะเยอะ เสียซะเยอะ แต่แค่รู้สึกว่าเราต้องทำ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ

คุณเลยต้องทำ

ผมไม่เคยคิดว่าจะเลิกอย่างสิ้นเชิง แค่อยากเปลี่ยนบทบาทเฉยๆ จนกระทั่งครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำแบบนี้มานานมาก สุดท้ายเรียกร้องอะไรมาไม่สำเร็จสักเรื่อง

ประกอบกับช่วงนั้นผมเริ่มนึกถึงบทบาทนักการเมือง เพราะมันเริ่มมีสัญญาณว่าจะได้เลือกตั้งแล้ว คำถามคือ ผมเรียกร้องมาขนาดนี้ แต่ยังไม่มีนักการเมืองคนไหนลุกขึ้นมาเลย แล้วพอจะมีการเลือกตั้งคุณกลับมาเป็น ส.ส. มีเงินเดือนเป็นแสน คุณจะรออย่างนี้ไม่ได้ คุณต้องมาร่วมกับเราด้วย

แต่ก็ผิดหวังนั่นแหละ ไม่มีพรรคการเมืองไหนเปลี่ยนแนวทาง จนอาจารย์ปิยบุตรมาคุยกับผม ชวนเข้าร่วมพรรคอนาคตใหม่อยู่ 3 ครั้ง บอกผมว่าจะเป็นแอ็กทิวิสต์อย่างนี้ต่อไปเหรอ วันหนึ่งในห้องขัง สน.ชนะสงคราม หลังจากโดนจับข้อหาจัดชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ผมก็ตัดสินใจในวันนั้นเลยว่าซีซั่นต่อไปผมอาจจะต้องเปลี่ยนแนวทางมาสู้อยู่กับพรรคอนาคตใหม่

ซีซั่น 3 

ผู้แทนประชาชน

ชื่อรังสิมันต์ โรม กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อเขามีรายชื่ออยู่ในผู้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

แม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านลบและด้านบวกที่คนมองต่อเขา อย่างเช่น จากนักเคลื่อนไหวมาสู่นักการเมืองภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ทำให้เกิดการคลางแคลงใจว่าเขารับเงินจากใครหรือเปล่า หรือเขาหวังผลประโยชน์ใดๆ ในบทบาทนักการเมืองหรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่ง คนก็หวังว่าคู่กัด คสช.อย่างโรมจะเป็นนักการเมืองที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้บ้าง 

เราคิดว่าในระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เขาทำหน้าที่นี้มา หลายอย่างช่วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาเลือกทำให้ทุกคนรับรู้ในทางไหน

ตอนคุณมาเป็นนักการเมือง คุณวางมาตรฐานไว้ไหมว่าอยากจะเป็น ส.ส.แบบไหน

ถ้าถามว่าจะไม่เป็นแบบไหน ผมอาจจะตอบได้ง่ายกว่า (หัวเราะ) แต่ถ้าอธิบายผมอาจจะต้องพาดพิงคนอื่น พยายามไม่ทะเลาะกับทุกคนมากเกินไป 

แต่ก็เอาเป็นว่ามันมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เราหลายๆ คนนึกออก ผมก็ไม่อยากเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ไม่อยากเป็นคนที่พูดอย่างทำอย่าง ไม่อยากเป็นคนที่เข้ามาแล้วทำให้คนรู้สึกว่าผมเปลี่ยน ผมไม่สามารถรับกับตัวเองในมุมนั้นได้ แล้วผมพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าผมไม่ได้เป็นแบบนั้น 

แต่หลายครั้งเวลาคุณลุกขึ้นพูดในสภา หรือสิ่งที่คนในพรรคก้าวไกลลงมือทำไปก็มีบางเสียงวิจารณ์ว่าวิธีการแบบนี้ ‘อ่อนต่อเกมการเมืองไทย’ คุณมองประเด็นนี้ยังไง

โอเค ผมพยายามสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ว่าสิ่งที่ผมพยายามทำทั้งหมด ผมทำแบบไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับผม ผมไม่รู้ว่าจะได้เป็น ส.ส.หรือไม่ พยายามทำเหมือนทุกวันเป็นวันสุดท้าย ทำให้เต็มที่ ส่วนมันจะเกิดอะไรขึ้นก็เป็นเรื่องที่ก็ไปว่ากันอีกที

ซึ่งพอมองแบบนี้จะมีคนบอกว่า เฮ้ย คุณไม่ได้มองเกมยาว คุณไม่ได้คิดถึงการเมืองที่เป็นจริง คุณอ่อนการเมือง โอเค ผมอ่อนการเมืองก็ได้นะ เราไม่ได้มีปัญหากับการถูกมองว่าเป็นเด็กอ่อนหัด ถ้าการอ่อนหัดนั้นมันคือการซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราเชื่อ ก็ขอเป็นแบบนั้นดีกว่า แล้วเราเชื่อว่าวิธีแบบนี้แหละที่มันจะเปลี่ยนประเทศได้ 

ก็ให้ถือซะว่าวิธีการเก่าๆ เขามีเวลาในการพิสูจน์ตัวเองมานานพอแล้ว แล้วผมก็คิดว่ามันเป็นข้อสรุปแล้วแหละว่ามันไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร มันอาจจะถึงเวลาของวิธีการใหม่ๆ ที่อนาคตใหม่ รวมถึงก้าวไกลในวันนี้พยายามเสี่ยง แล้วเราเชื่อว่าถ้าวิธีการแบบนี้มันปฏิบัติในพรรคการเมืองอื่นๆ ผมว่าเราเปลี่ยนประเทศนี้ได้

วิธีการของคุณแทบจะเป็นการเอาชีวิตเข้าแลก เสี่ยงจากการถูกคุกคามด้วย คุณมองเห็นคุณค่าอะไรในการลงมือทำแบบนี้

ผมคิดว่าคุณูปการอันหนึ่งที่ผมเป็น ส.ส.แล้วมันเกิดขึ้น คือการที่เราได้ข้อมูลต่างๆ ใช้ในการตรวจสอบรัฐบาลได้จริง เช่น ตั๋วช้าง ในขณะที่ประชาชนเข้าถึงเรื่องพวกนี้ยากมาก 

หรือมากไปกว่านั้น คือผมเชื่อว่าประชาชนมีสิทธิในการชุมนุม แต่ผมก็ไม่ได้มานั่งคิดว่าประชาชนต้องออกมาเรียกร้องตลอดเวลา ถ้าเลือกได้ ผมอยากให้เราใช้กลไกตามโครงสร้างทางการเมืองที่เรามีเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งโอเค มันไม่ได้ดีไปทั้งหมด แต่เพราะผมไม่อยากโยนภาระให้ประชาชนเลย พอเราสามารถพูดแทนประชาชนได้ มันก็อาจจะดีกว่าให้พวกเขามาชุมนุมแล้วเสี่ยง ยิ่งระยะหลังกลไกมันมีปัญหา สุดท้ายเขาก็ต้องออกมา 

พอคนไปชุมนุมผมก็ไปประกันตัว หลายครั้งที่ประเด็นของผู้ชุมนุมมันถูกพูดถึงในสภา ฝ่ายรัฐบาลพูดโจมตีผู้ชุมนุมหลายอย่าง แล้วบางเรื่องเป็นเรื่องเท็จ อย่างน้อยที่สุด เราเป็นปากเป็นเสียงในส่วนเหล่านี้ได้

ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันพอไหมนะ แต่เราพยายามทำให้มันดีที่สุดที่สติปัญญาที่เรามีจะทำได้

ทุกวันนี้เวลาคุณต้องลุกขึ้นพูดอะไรที่รัฐพยายามกีดกัน หรือพูดอภิปรายกลางสภามันยังเป็นลักษณะ ‘ปากกล้าขาสั่น’ อยู่อีกไหม

มีแหละ ตอนอนาคตใหม่ ผมจะอภิปรายพลเอก ประวิตร ธนาธรถามผมว่า เอาจริงเหรอ แน่นะ อาจจะอันตราย ตอนนั้นผมก็คิดว่า อ้าวเหรอ ต้องกลัวด้วยเหรอ (หัวเราะ) คงไม่เป็นไรมั้ง แล้วก็เริ่มมานั่งคิด เออ หรือมันอาจจะอันตรายวะ (หัวเราะ)

ตอนผมจะอภิปรายเรื่องตั๋วช้างผมเก็บไปฝันเลยนะ มันกลายเป็นความ traumatic บางอย่างที่มันเกิดขึ้นกับตัวเรา

แต่อีกแง่หนึ่ง ถ้า ส.ส.กลัวแล้วยังไง ประชาชนไม่ยิ่งกว่าเหรอ คือการเป็น ส.ส.มันน่าจะปลอดภัยที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งในประเทศนี้จะปลอดภัยแล้วหรือเปล่า โอเค มันอาจจะมีการไปแจ้งความดำเนินคดีอะไรก็ว่าไป แต่ต่อให้คุณโดนขนาดนั้น มันเทียบไม่ได้กับตอนที่ประชาชนโดนดำเนินคดีเลย

แล้วบรรยากาศแบบนี้มันเกิดขึ้นเต็มไปหมด เราเข้ามาเป็นอนาคตใหม่เราก็ถูกขู่ทุกวัน โดนยุบพรรคแน่ อยู่ไม่ได้หรอก ถ้าเราเลือกที่จะเดินตามความกลัว เราไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วเรามีประโยชน์อะไรที่จะเป็น ส.ส. 

ผมโคตรเบื่อเลย มีแต่เรื่องให้กลัวเต็มไปหมด ถ้าคุณอยากเห็นสังคมนี้มีเสรีภาพ ซึ่งเรารู้ว่าสังคมนี้มันไม่มีเสรีภาพ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ คุณต้องยืนยัน คุณต้องพูด คุณต้องเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศนี้ต้องมีเสรีภาพ ทำให้ประชาชนได้เห็นว่าพูดได้ ทำได้ มันจึงเป็นที่มาของตั๋วช้าง

ซึ่งโอเค วรรคสุดท้าย ผมตอบแบบระบายความรู้สึกอัดอั้น กูก็กลัวแหละ แต่ก็ต้องพูด เพราะถ้าไม่พูด สังคมไทยก็จะอยู่ที่เดิมแน่นอน แต่ถ้าเราพูด สังคมไทยมันอาจจะเปลี่ยนก็ได้

วันที่คุณพูดเรื่องตั๋วช้างเป็นช่วงที่มีข่าวว่าจะแต่งงานด้วย หลายคนรู้สึกว่าคุณเป็น ส.ส.ที่ทำงานเพื่อประชาชนมาก ต้องเอาชีวิตส่วนตัวมาเสี่ยงกับเรื่องนี้

ตอนผมแจกซองคนเลยพูดว่า ตั๋วโรม คือผมเลื่อนการแต่งงานมา 3 ครั้งแล้ว เพราะครอบครัวไม่สะดวกด้วย แล้วก็มีเรื่องโควิด-19 พอมีการผ่อนปรน ผมก็จัดเลย ไม่เลื่อนแล้ว จะตั๋วช้างหรืออะไรก็ไม่เลื่อน ไม่มีอะไรหยุดผมได้ นอกจากจะเอาผมไปขังเท่านั้นแหละ

คือมันทำไงได้ล่ะ เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรักได้ แล้วก็อยากจะสร้างครอบครัวบ้าง ก็คิดแบบนั้น แต่พอดีงานมันก็เป็นงานของคนที่สนใจการเมืองมากหน่อย 

คุณกับการเมืองเลยเป็นเนื้อเดียวกัน

ใช่ คือภรรยาผมเขาก็เป็นแอ็กทิวิสต์เก่าอยู่แล้ว แล้วเขาก็วาดรูปสนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชน มันยิ่งทำให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วผมไม่ได้มีปัญหากับการที่มันเป็นเนื้อเดียวกัน ผมไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นเนื้อเดียวกันแบบนี้มันทำให้เรามีปัญหาครอบครัว แล้วแบบนี้เราไม่ได้จำเป็นต้องเลือกระหว่างชีวิตการเมืองหรือชีวิตของคนสองคน เพราะทั้งสองอาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน

แล้วบางทีพอชีวิตเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเจออะไรก็อาจจะโรแมนติกอีกแบบหนึ่ง ตื่นเต้นดี (หัวเราะ) อาจจะดูทีเล่นไปนิดหนึ่ง แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด ทั้งความสัมพันธ์ของผมกับอีวานน่า ไม่มีวันเบื่อแน่นอน ตอนยังคบกันอยู่ เวลาเขามาหา ผมก็ไปรับไม่ได้ เพราะถูกจับอยู่ สน. ต้องให้คนอื่นไปรับ หรือเวลาผมไปหาเขา ก็ต้องไปขอศาลทหาร กว่าจะออกประเทศได้  

มันก็เป็นชีวิตที่ทึ่งในเขาเหมือนกันนะ ที่เขาพร้อมอยู่กับผมแม้ขาผมยังก้าวไม่พ้นคุกเลย ถ้าเราคิดคอนเซปต์เดิมๆ ที่ความรักต้องอยู่กับผู้ชายผู้หญิงที่มั่นคง มีความรักที่สวยงาม มีครอบครัว มีเศรษฐกิจที่ดี มีลูกก็ส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ เจอกับรังสิมันต์ โรม 10 คดี ก็ต้องบอกว่าเขาก็จิตใจเข้มแข็ง แล้วในมุมหนึ่งก็แสดงว่าเขารักผมจริง ผมก็โชคดีกว่าหลายๆ คน

มาถึงตรงนี้แล้ว คุณก็ยังยืนยันใช่ไหมว่าแม้จะต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงหรือมีผลกระทบกับชีวิต แต่คุณก็ต้องทำมัน

ผมอาจจะกลัวความทรมานมากกว่าความตาย คือผมขออธิบายเปรียบเทียบแบบนี้ เวลาผมเห็น ส.ส.งูเห่า ผมพยายามเอาความรู้สึกเทียบเคียง แล้วผมคงไม่สามารถทำใจกับความรู้สึกแบบทรยศหักหลัง ทำผิดในสิ่งที่คุณได้สัญญา หรือเคยบอกไว้กับประชาชนเลย คือคนเราทุกคนมันมีทางเลือกเสมอแหละ แล้วถ้าคุณไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสภาพแบบนี้ คุณก็แค่เดินออกไป คนพร้อมจะเข้าใจมากกว่า 

แต่พอคุณหักหลังเขา ถ้าผมเป็นเขา ผมส่องกระจกตัวเองคงทำใจรับไม่ได้ แล้วผมคิดว่าผมกลัวความทรมานกับการอยู่กับความรู้สึกที่มันซัฟเฟอร์แบบนี้มากกว่าความตายอีก

* สัมภาษณ์ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย