ปลูกฝังเด็กไทยให้ใช้เงินเป็น จากวิชาจัดการเงินที่ไม่มีในตำราเรียนโดย UOB

“เอาเงินค่าขนมไป อย่าใช้หมดนะเหลือเก็บแล้ว เอามาหยอดกระปุกบ้างนะ”

ประโยคสุดคลาสสิกที่แค่ได้อ่าน ก็ได้ยินถึงเสียงผู้ปกครองของตัวเองลอยมา พร้อมกับภาพกระปุกเก็บเงินเซรามิกคู่ใจในวัยเยาว์ ที่ใครจะไปคิดว่าทุกวันนี้เราแทบจะไม่ต้องจับเงินสดกันแล้ว ทุกบาททุกสตางค์กำลังลอยอยู่ในอากาศ สามารถเพิ่มขึ้นและลดลงได้เพียงแค่ปลายนิ้วเดียว

และความง่ายนี้เอง บางครั้งมันก็ทำให้เราไม่ทันได้ไตร่ตรองมากนักในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ใครหลายๆ คน ประสบกับปัญหาการเงินเดือนชนเดือน หมุนเงินไม่ทัน หรือแม้กระทั่งหนี้บัตรเครดิต ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการ ‘ขาดวินัยทางการเงิน’ เรื่องใกล้ตัวที่มักโดนมองข้ามประหนึ่งเส้นผมบังภูเขานี้  เป็นต้นตอสาเหตุของเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่สะสมมายาวนาน อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียและเป็นลำดับที่ 12 ของโลกในปี 2566

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก นั้นเกิดมาจาก ‘การขาดความรู้เรื่องการเงิน’ ในการวางแผนจัดการและบริหารเงินอย่างยั่งยืน เนื่องด้วยความรู้เรื่องการเงินไม่ได้สอนในห้องเรียนอย่างจริงจังและเข้าถึงความรู้ได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งความเป็นจริงแล้วความรู้เรื่องการเงินเป็นสิ่งใกล้ตัวทุกคนมาโดยตลอด ตั้งแต่การรับรายได้ การใช้จ่ายต่างๆ หรือ การออมเงิน ต่างเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของทุกคน

จากผลสำรวจของเด็กไทยในวันเด็กปี 2567 พบว่าวิชา ‘การเงินและการลงทุน’ ได้กลายเป็นวิชาที่เด็กมีความสนใจอยากเรียนมากที่สุดมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนได้เกือบ 40% เลยทีเดียว นี่จึงเป็นการตอกย้ำว่าเด็กไทยจำนวนมากนั้นยังคง ‘ขาดความรู้เรื่องการเงิน’ มันคงจะดีไม่ใช่น้อยถ้าพวกเราทุกคนเข้าใจเรื่องการเงินของตัวเองและสามารถวางแผนการใช้เงินอย่างเหมาะสม เมื่อพูดถึงเรื่องการวางแผนทางการเงิน คงไม่มีใครเชี่ยวชาญได้เท่าคนทำงานเรื่องการเงินโดยตรงกับสัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการและกรรมการผู้จัดการ ที่ปรึกษา สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่จะมาให้ความรู้เรื่องเงินให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากว่าที่คิด

Financial Literacy = ความรู้เรื่องการเงิน

ก่อนจะพูดถึงเทคนิคการวางแผนเรื่องเงิน เราชวนมาทำความรู้จักเรื่องการเงินอย่างการเก็บเงิน การอดออม ต่างเป็นสิ่งที่เราทุกคนได้ยินมาตั้งแต่เด็กและอยู่กับเรามาโดยตลอด เพียงแต่เรียกเป็นภาษาทางการว่า ‘Financial Literacy’ ด้วยคำศัพท์ที่ดูยากและซับซ้อนนี้เอง จึงอาจทำให้ใครหลายคนตั้งกำแพงขึ้นมา และมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก

“ไม่รู้ยุคหลังนี่ขนาดไหน แต่ยุคผมไม่เคยมีการสอนเรื่องการเงินเลย มันเลยกลายเป็นเรื่องไกลตัว กลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เขาดูแลกัน เด็กๆ ไม่ต้องสนใจ มันเลยเป็นคำศัพท์ที่มันดูซับซ้อนดูยาก ซึ่งจริงๆ แล้วมันคืออะไรที่อยู่กับตัวเรามาตลอด ซึ่งปัจจุบันปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยได้ฝังรากลึกซับซ้อนและขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

“ซึ่งการที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ระดับด้วยกัน คือระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นก็มีภาครัฐมีมาตรการต่างๆ เช่นแบงก์ชาติที่ได้ออกมาตรการต่างๆ ร่วมกับสถาบันการเงินในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนพร้อมกับการพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนในระยะยาวนั้น การแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และหนึ่งในการแก้ไขด้วยการแก้ที่รากปัญหา เป็นการตัดไฟจากต้นลม ซึ่งก็คือการเริ่มปลูกฝังความรู้เรื่องการเงินตั้งแต่เด็ก”

“เรามองว่าเยาวชนเป็นรากฐานจริงๆ มันเป็นตัวเชื่อมตรงกลางที่สำคัญ เพราะเขาบรรลุนิติภาวะในระดับที่รู้เรื่องแล้ว ขณะเดียวกันเขาเริ่มมีการเชื่อมต่อกับสังคมแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้างตรงนี้ได้ดี มันก็จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนได้ดีในอนาคต แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่ไปเลยเนี่ย มันก็มีทั้งคนที่รับรู้และคนที่ยังไม่รับรู้ แรงผลักดันอาจจะไม่ชัดเจนเท่าเยาวชนในการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะฉะนั้นเราจึงอยากปลูกฝังความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการการอยู่กับการวางแผนการเงินที่เป็นเรื่องชีวิตประจำวันตั้งแต่เยาวชน เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินในระยะยาว”

Money 101: Teen Edition โครงการที่สอนวัยรุ่นให้เก่งการเงิน

เพราะอยากให้เยาวชนเข้าถึงความรู้เรื่องการเงินสะดวกมากขึ้น ทาง UOB จึงมองว่าควรส่งเสริมเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนจริงจัง โดยเริ่มต้นจากโครงการ ‘UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน’ ร่วมกับโครงการร้อยพลังการศึกษา ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ในรูปแบบหลักสูตรดิจิทัลพร้อมสื่อการสอนและคู่มือใช้งาน สำหรับโรงเรียนในเครือข่ายร้อยพลังการศึกษา กลุ่มนี้เป็นโรงเรียนที่ยังขาดโอกาสและต้องการการสนับสนุนทางการศึกษา ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย   

“โครงการนี้เรามุ่งสร้างทักษะความรู้และภูมิคุ้มกันด้านการเงินให้กับนักเรียนทั่วประเทศ สร้างความเข้าใจให้เด็กว่าความรู้ทางการเงินคืออะไร มีความสำคัญยังไง และวินัยทางการเงินคืออะไร เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กที่ขาดโอกาสลงให้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ เหตุผลที่โครงการนี้ไม่เกิดขึ้นในโรงเรียนเอกชนก็เพราะเรามองว่าทางโรงเรียนนั้นมีความพร้อมและมีหลักสูตรเฉพาะของเขาอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มที่ขาดโอกาส เขาต้องอยู่กับหลักสูตรของกระทรวงเป็นหลัก ทำให้โครงการเราเป็นหลักสูตรเสริมที่โรงเรียนจะจัดให้ได้ เราเลยมองว่ากลุ่มนี้เหมาะสมต่อการสนับสนุนมากที่สุด”

หลักสูตรความรู้เรื่องการเงินของโครงการ ‘UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน’ เริ่มต้นจากการสร้างความคิดหรือทัศนคติเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เยาวชนต้องรู้คุณค่าของเงิน รู้จักเลือกใช้จ่ายในเรื่องที่เป็นประโยชน์ รู้จักการแยกแยะระหว่าง Need & Want ในโลกวัตถุนิยมในปัจจุบัน และรู้จักตั้งเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเริ่มต้นการวางแผนทางการเงินอย่างถูกวิธี

รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการบริหารเงินที่สำคัญ ตั้งแต่แหล่งที่มาของรายได้ การรู้จักหาเงินก่อนที่จะใช้เงิน  การออมเพื่อเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาว การตัดสินใจว่าควรใช้จ่ายกับอะไรที่จำเป็นมากน้อยขนาดไหน การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย รวมถึงกรณีที่จำเป็นต้องเป็นหนี้ หนี้ที่ดีกับหนี้ที่ไม่ดีต่างกันอย่างไร

นอกจากนี้ยังพูดถึงหลักการคำนวน ‘ดอกเบี้ย’ ซึ่งมีทั้งฝั่งที่เป็นบวกและเป็นลบ ดอกเบี้ยที่เป็นบวกก็คือดอกเบี้ยที่ช่วยให้เงินงอกเงย ได้แก่ ดอกเบี้ยจากการออม การลงทุน และดอกเบี้ยที่เป็นลบ ได้แก่ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้เวลากู้ยืมเงิน หากเยาวชนเข้าใจหลักการพื้นฐานเหล่านี้แล้ว พวกเขาจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่วันนี้จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ระหว่างสัญชัยอธิบายหลักสูตรเรื่องการเงินที่คิดครอบคลุมมาอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็เจอกับอุปสรรคทางการศึกษาต่างๆ ที่ต้องรับมือ “ความท้าทายในการทำสิ่งนี้คือ ความไม่พร้อมและไม่เพียงพอของอุปกรณ์ของทางโรงเรียน ซึ่งเรื่องการเข้าถึงการศึกษาเนี่ยถือว่าสำคัญที่สุดเลย บางทีเด็กอยากได้แต่เราไปถึงเขาไม่ได้ อันนี้เป็นอุปสรรคที่ต้องรีบแก้ไขทันที นอกจากนี้เราเองอยากให้หลักสูตรนี้ถูกบรรจุอยู่ในระบบโดยตรงเลย  เพราะเมื่อมันไม่ใช่หลักสูตรหลัก ทางคุณครูเองก็จะมีภาระงานที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องบริหารเวลามาให้ความรู้ในเรื่องนี้ แต่หากได้อยู่ในหลักสูตรกลางเลย ก็จะช่วยลดภาระตรงนี้ลงได้ ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจได้มากขึ้น เพราะมีการสอบวัดผลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

“แม้ว่าโครงการอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ 100% ของจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการก็ตาม มีหยุดเรียนไปบ้าง เรียนแล้วไม่ได้เอาไปใช้ต่อบ้าง แต่ส่วนใหญ่นั้นพวกเขาสนใจและเรียนแล้วใช้ได้จริง เท่านี้เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ก็มีนักเรียนร่วมโครงการมากกว่า 3,000 คน และมีการพูดกันปากต่อปากจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ความสนใจของโครงการก็ขยายเพิ่มมากขึ้นไปอีก”

ยกตัวอย่างความคิดเห็นของนักเรียนที่ร่วมโครงการปีที่ 1 จากนักเรียนและคุณครู จากโรงเรียนบ้านตลิ่งชัน จังหวัดสุโขทัย ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 400 กิโลเมตรน้องๆ เล่าว่า

“ทุกวันนี้ ได้เงินมาโรงเรียนวันละ 20 บาท หนูก็รวบรวมเงินบางส่วนไปซื้อขนมมาขายเพื่อน เพื่อหารายได้เสริม พอได้เรียน วิชาการเงินแล้ว ทำให้ได้แนวทางในการวางแผนการทำงบการเงินของตัวเองได้ และวางแผนเก็บออมเพื่อเรียนต่อ” ความคิดเห็นของน้องเอม นักเรียนชั้น ม. 3 เมื่อได้เรียนหลักสูตรดังกล่าว

“ระหว่างที่ได้นั่งฟังบทเรียนไปพร้อมๆ นักเรียน ผมมองว่า เนื้อหาเรื่องการออมเงิน 6 กระปุก สำคัญมาก ไม่เคยได้ยินมาก่อน และคิดว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้เลยทั้งในส่วนของนักเรียนและตัวคุณครู แบ่งเป็น กระปุกสำหรับการใช้จ่าย กระปุกการวางแผนเกษียณ กระปุกให้รางวัลตัวเอง กระปุกการศึกษา กระปุกการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน และกระปุกแบ่งปันหรือบริจาค” คมสันต์ ครูที่ได้เรียนและเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

การวางแผนเงินออมก่อนใช้ VS ใช้ก่อนออม

เมื่ออธิบายเรื่องหลักสูตรทางการเงินอย่างครบถ้วน เราถามกลับในมุมมองความคิดเห็นของสัญชัยที่ทำงานด้านการเงินมายาวนาน คิดว่าการวางแผนทางการเงินขั้นตอนไหนสำคัญที่สุดระหว่าง การเก็บเงิน การใช้เงิน หรือการเก็บออมเงิน

สัญชัยตอบอย่ามั่นใจว่า “ผมว่ามันเป็นทั้งกระบวนการทั้งหมดนะครับ อย่างแรกเลย เราต้องรู้ก่อนว่า เราจะหารายได้จากไหน รายได้มันมาจากทางไหนนะครับ มันเหมือนเราเป็นเด็ก พ่อแม่ให้เงินมานี่คือรายได้แล้วนะ พอเรารู้แล้วว่า เรามีรายได้มาจากไหน ถัดมาคือต้องรู้วิธีการใช้ ใช้อย่างไรที่เหมาะสมกับตัว ใช้เกินตัวไหม แล้วอีกอันหนึ่งที่เน้นมากๆ เลยคือการเก็บออม มันมีเทคนิคว่า บางคนเขาบอกให้ออมก่อนใช้ บางคนบอกใช้แล้วเหลือออมใช่ไหม

“ผมว่ามันได้ทั้ง 2 วิธีนะมันอยู่ที่กระบวนการว่าเราถนัดแบบไหน ชำนาญแบบไหน บางคนออมก่อนแล้วก็พยายามประหยัดให้ได้อยู่ในเงินที่มีอยู่ ถ้าได้วิธีนี้เลย มันค่อนข้างเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากๆ และมันช่วยพิสูจน์ด้วยว่า คุณเก็บเงินได้ประสบความสำเร็จ เพราะหนึ่งคุณมีวินัย คุณตัดเลยรายได้ที่คุณได้มาออมก้อนหนึ่งไว้ก่อนแล้วอย่าไปแตะ แล้วพยายามใช้ให้ได้ภายในจำนวนนี้นะครับ”

“อีกวิธีหนึ่งคือใช้แล้วเหลือออมก็ไม่ได้บอกว่า 100% ไม่ถูกหรอกนะครับ เพราะว่าคุณรู้อยู่ว่าคุณต้องออมเดือนนี้สักกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของคุณ แต่คุณใช้ก่อนเท่าที่จำเป็น ถ้าคุณมีวินัยจริงๆ คุณก็จะออมได้เท่าที่คุณบอก แล้วความกดดันมันน้อยกว่าตรงที่บอกว่าโอเคนะที่เดือนนี้จะออมเท่านี้ ถ้าไม่เท่านี้ก็ไปชดเชยเดือนหน้าได้ แต่วิธีที่หักเงินไว้เลยอันนี้คือต้องเข้มงวดมากๆ

“เพราะฉะนั้นถามว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน ผมคิดว่า ถ้าเราเข้าใจกระบวนการทั้งหมด เรามีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่า หลังจากได้เงินนั้นมาแล้ว เราจะต้องบริหารยังไงเพื่อให้อยู่ได้ในรายได้ที่มีอยู่ มันก็จะเป็นการสร้างความมั่งคั่งเรื่องการเงินที่ค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เราเห็นผลตอบแทนของมัน           “พอเรามีความมั่งคั่งทางการเงินระดับหนึ่งแล้ว เราก็สอนต่อให้เรียนรู้ว่า เอาไปลงทุนอย่างไร ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยหรือทำอย่างไรกับมันต่อไปในอนาคต มันก็จะมีการสร้างเพิ่มพูนรายได้ตรงนี้ และเป็นการสร้างวินัยไปในตัวด้วย”

จ่ายเกินตัว นิสัยเสียที่ไม่ควรมีในการเก็บเงิน

ในทางกลับกันอะไรคือนิสัยเสียที่เราอาจไม่รู้ตัว ที่ทำให้วางแผนทางการเงินไม่ประสบความสำเร็จ เราถามสัญชัยต่อเมื่อรู้ถึงทักษะที่ดีในการวางแผนทางการเงิน เขาทำหน้านึกสักพักก่อนตอบมาว่า ‘การจ่ายเกินตัว’ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินหรือการใช้โปรดักต์การเงินเหมาะสมกับตัวเอง

“จริงๆ แล้วจากการวิเคราะห์พฤติกรรมนะครับ ส่วนหนึ่งไม่ใช่ส่วนใหญ่คือเรื่องเกินตัว มันเป็นปัจจัยทางสังคมด้วย ถ้าคุณมีความรู้เรื่องการเงิน Financial Literacy มีการเรียนรู้ที่เข้าใจ คุณก็จะรู้กำลังซื้อของตัวเอง (Purchasing Power) ว่ามากน้อยได้ขนาดไหน คุณต้องบริหารเงินของคุณอย่างไร หนี้ที่มีมาแล้วค่อยไปจ่ายอย่างไร แต่ก็มีกลุ่มผู้บริโภคบางคนที่แบบไม่ได้ของมันต้องมีก็มีนะ หรือมีโฆษณาโปรดักต์ทางการเงินเข้ามาก็ไปใช้ก่อน แล้วก็มาบริหารเงินโดยการหมุนเครดิตการ์ด 5 ใบหมุนกันไปเป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้น่ากังวลนะครับ ว่าคุณจะบริหารเงินอย่างไรต่อ

“แต่บางคนก็เก่งสามารถหมุนเงินต่อได้ เพราะเขารู้ว่าเขายังมีแหล่งเงินหรือว่ามีรายได้ทางไหนบ้าง หรือในบางโปรแกรมเช่น การผ่อนจ่ายชำระ (Pay Later) พวกที่บอกว่าจ่าย 8% แล้วจากเดิม 5% บางทีการจ่ายบางส่วนดอกเบี้ยโดยรวมคำนวณแล้วอาจจะดีกว่าไปกู้นอกระบบ งั้นใช้วิธีนี้ เขาก็ยังมีเงินสดในการเอามาใช้จ่ายที่จำเป็น เป็นไปตามแผนทางการเงินของตน โดยที่ไม่เกินตัวแล้วก็เอ็นจอยกับการได้พอยต์ พอได้พอยต์มาเอาไปทบกับอย่างอื่นแล้ว มันสามารถลดราคาอย่างอื่นต่อได้ ถ้าเขารู้วิธีการบริหารอย่างนี้แล้ว แบบนี้ไม่ได้เรียกว่าใช้เกินตัว ผมว่าอันนี้เป็นประโยชน์ ข้อสำคัญคือรู้วินัยการใช้เงินตรงนี้สำคัญที่สุด”

ทักษะการเงินที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมีคือ ‘ความยั่งยืน’

เราชวนถามต่อในยุคที่ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้หลากหลายและมีช่องทางมากมายในการเข้าหาองค์ความรู้ต่างๆ หากถามว่าเด็กยุคนี้ควรมีทักษะไหนที่สำคัญในเรื่องการเงิน ไม่ใช่แค่เรื่องการมีวินัยเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมี ‘ความยั่งยืนทางการเงินด้วย’ นั่นคือการรู้จักบริหารเงินทั้งระบบ ตั้งแต่การรู้ที่มาของรายได้ การใช้จ่าย การเก็บออมและต่อยอดเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งตัวแปรสำคัญในการสร้างกระบวนการบริหารเงินที่ดีก็มาจากการมีความรู้เรื่องการเงินที่ดีนั่นเอง

“เราทุกคนทราบกันดีว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นยุค Digital ที่มี AI เข้ามา เราสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องท่องจำ ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งผมคิดว่า เทรนด์อันหนึ่งที่เรากำลังปลูกฝังกันอยู่และเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นคือเรื่องความยั่งยืน

“ความยั่งยืนนี่ต้องปลูกฝังให้เข้าใจก่อนว่าอะไรที่เรียกว่าความยั่งยืน Green Economy ต่างๆ มันมีในหลาย มุมมองมาก อย่างเรื่องเล็กๆ เช่นแยกขยะนี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเราก็เห็นได้มากขึ้นผ่านทางโซเชียลมิเดีย ตรงนี้เองก็มีส่วนช่วยสร้างการรับรู้และ มีการแชร์ต่อๆ กันในเรื่องพวกนี้ คนก็เริ่มซึมซับเข้าไปแล้วก็เริ่มทำกันเอง

“เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือเราต้องเริ่มปลูกความเข้าใจในเรื่องของความยั่งยืนจะในรูปแบบที่ย่อยง่ายก่อนเป็นอันดับแรก เช่นเดียวกับอย่างการทำเรื่องหลักสูตรเรื่องการเงินที่เป็นสิ่งใกล้ตัวพวกเขาให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะหากเอาข้อมูลก้อนใหญ่ๆ หนักๆ โยนลงมาเด็กก็ไม่เข้าใจอีก

“เมื่อเด็กได้รับการปลูกฝังในเรื่องความยั่งยืนที่ถูกต้องแล้ว เขาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแงมุมต่างๆในชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเอง สังคม โลก และเราอาจกล่าวได้ว่าส่งผลดีต่อมนุษยชาติเลยทีเดียว”

ความยั่งยืนในมุมของธนาคาร UOB

ในมิติของธนาคารไม่ได้โฟกัสเพียงแค่การให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืนให้แก่ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังใส่ใจเรื่องความยั่งยืนในองค์กรด้วยเช่นกัน สัญชัยขยายความต่อว่า ธนาคาร UOB แบ่งเรื่องความยั่งยืนทั้งหมด 4 ด้านได้แก่

          1. ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน : สนับสนุนเชิงเศรษฐกิจในเชิงความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นของชุมชนและสังคม ผนวกกับประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและหลักธรรมาภิบาล เพื่อเป็นแนวทางในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ

          2. ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง : สร้างระบบธนาคารที่ใช้งานได้ง่าย ปลอดภัย และครอบคลุมความต้องการของลูกค้า มี Fair-Dealing เปิดกว้างในการเข้าถึงในแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ลูกค้าเติบโตไปพร้อมกับธนาคารอย่างยั่งยืน

          3. สร้างบุคลากรผู้ชำนาญการ : พัฒนาทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกับการมี Work-Life-Balance ที่ดี และสนับสนุนกิจกรรมอาสาเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          4. ตั้งมั่นบนพื้นฐาน รู้รับผิดชอบ : รักษามาตรฐานสูงสุดด้านธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการความเสี่ยง ผนวกหลักการด้านความยั่งยืนเข้ามาใช้ปฏิบัติเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมสนับสนุนสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นตัวอาคารของ UOB Plaza เองก็มีการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยปลุกกระตุ้นการทำงานของพนักงานให้ตื่นตัว กระตือรือร้นอยู่เสมอ

บทเรียนจากรุ่นพี่ทางการเงินอยากแชร์ถึงรุ่นน้องวัยเก็บเงิน

          คำถามสุดท้ายก่อนจบบทสนทนา สัญชัยเล่าว่าเขาได้ผ่านประสบการณ์เรื่องการเงินมากมายและวิวัฒนาการต่างๆ เรื่องการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา หากให้เขาแชร์บทเรียนเรื่องการเงินต่อเด็กรุ่นใหม่ในวัยเริ่มต้น เขาอยากจะแนะนำอะไรกับพวกเขามากที่สุด

“อย่างแรกเลยคือ วินัยทางการเงิน ขอให้เข้าใจสภาพการเงินของตัวเอง อย่างการใช้จ่ายเงินแล้วมีวินัยกับมัน อย่าเพิ่งเป็นทุกข์ว่าถ้าไม่มีรายได้ แล้วฉันจะทำอย่างไรดี หรือจะไปกู้ก่อนดีไหม อยากขอให้เข้าใจวางแผนทางเงินก่อนว่า รายได้จะมาจากไหน ค่าใช้จ่ายของเรามีอะไรบ้าง แล้วมาหาจุดตรงกลางกันดูว่าจะจัดการทางการเงินอย่างไรให้พอดีกับเรา หากถ้าจำเป็นต้องกู้จริงๆ ก็วางแผนว่าต้องกู้เท่าไหร่ แล้วจะใช้คืนได้เมื่อไหร่ ตรงนี้เป็นวินัยเบื้องต้นเลย

“และอีกอย่างหนึ่งที่จะฝากคือ กระแสสังคมทุกวันนี้มันมีประโยคที่ว่า ของมันต้องมี ซึ่งจริงๆ แล้วหากเรายังไม่พร้อม ก็ไม่ต้องมีก็ได้นะครับ  เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในสังคม มันก็มีหลากหลายเลเยอร์ คนที่อยู่ในระดับที่มีสภาพทางการเงินสามารถจ่ายได้ มันก็ช่วยทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเจริญเติบโต แต่ตัวคุณเองต้องมีวินัยในเลเวลของคุณเอง แล้วคุณก็ใช้จ่ายบนเลเวลนั้น ใช้จ่ายอยู่ในความสามารถของตัวเอง ถ้าบริหารจัดการตรงนี้ได้เนี่ย เราจะอยู่กับมันได้โดยที่ไม่ได้เป็นภาระ หรือเป็นทุกข์จนกลุ้มใจจนทำอย่างอื่นไม่ได้ มันไม่มีอะไรยากหรือซับซ้อน แค่เข้าใจว่ากระแสเงินเราเข้าเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายของเราเป็นอย่างไร แล้วเราบริหารจัดการภายใต้ความสมดุลของมัน เราก็จะแก้ปัญหาระยะยาวได้และสังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นทันที” สัญชัยกล่าวทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่