เมื่อปฏิทินผลัดเปลี่ยนมาถึงช่วงเวลาสิ้นปี สิ่งหนึ่งที่เรามักทำกัน คือ ออกเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศตามที่ปักหมุดไว้ บางคนจองตั๋วล่วงหน้าตั้งแต่ครึ่งปีด้วยซ้ำ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยความรู้สึกคล้ายกับอีกหลายคนที่อยากให้รางวัลตัวเองด้วยการเดินทางช่วงปลายปีไปยัง ‘ที่ชอบๆ’
นอกจากความตื่นเต้น สิ่งหนึ่งที่ต้องมาพร้อมกับการออกเดินทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การใช้เงิน เริ่มตั้งแต่ด่านแรกอย่างการจองตั๋ว จองที่พัก ก่อนจะไปถึงสนามจริงเมื่อเริ่มเดินทางแล้ว ที่จะต้องเสียเงินให้กับร้านที่ลิสต์ไว้ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านช็อปปิง หรือสถานที่ที่ต้องไป
ยังไม่นับ ‘ค่า’ ต่างๆ อีกจิปาถะ ซึ่งแต่ละคนก็คงมีความสะดวก สบายใจ หรือเงื่อนไขความพร้อมทางการเงินที่ต่างกัน บางคนพร้อมเปย์แบบไม่หวั่นหลังจบทริป แต่บางคนก็เป็นนักเดินทางกระเป๋าเบา ที่พร้อมควักให้กับสิ่งที่ต้องการจริงๆ เท่านั้น
แต่เคยเป็นกันไหม ที่ถึงแม้เราจะแพลนล่วงหน้าไว้แล้ว แต่พอถึงเวลาจริง เรามักรู้สึก ‘ผิด’ เมื่อต้องเสียเงินไปกับค่าต่างๆ ในระหว่างการเดินทาง หรือความรู้สึกอยาก ‘ประหยัด’ ดันโผล่ขึ้นมา
น่าแปลกที่การใช้เงินที่หามาได้อย่างยากลำบากไปกับสิ่งที่เราอยากทำและตื่นเต้นที่จะได้ทำ กลับกลายเป็นความรู้สึกแย่เมื่อเห็นจำนวนเงินมากน้อยเริ่มทยอยออกจากตัวไปทีละรอบๆ แม้ว่าเราจะมีความสุขอยู่ก็ตาม
การอุตส่าห์กาปฏิทินลางานที่ควรเป็นประสบการณ์น่าจดจำและน่าพึงพอใจ กลับทำให้เรารู้สึกผิดและวิตกกังวล เป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไรดี?
จัดการ ‘งบ’ สำหรับการท่องเที่ยวให้ละเอียด
ราเชล ครูซ (Rachel Cruze) นักเขียน พิธีกร และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เคยพูดถึงการจัดการ ‘งบ’ สำหรับช่วงเวลาวันหยุดไว้ว่า ‘ยิ่งมีรายละเอียดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี’ ซึ่งหมายถึงว่า ในทริปนั้น เราจะใช้จ่ายค่าเดินทาง ที่พัก อาหารการกิน ของช้อป เท่าไหร่ หรืออาจรวมไปถึงค่าประกันต่างๆ ที่ต้องจ่ายไป เช่น ค่าเช่ารถ
นอกจากนั้นแล้ว ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่เราอยู่ที่นั่นด้วย รวมถึงทุกสิ่งที่เป็น ‘ของจำเป็น’ ที่ต้องซื้อสำหรับการเดินทาง พูดง่ายๆ คือวางแผนนั่นล่ะ เพราะเหตุผลสำคัญที่มักทำให้เรารู้สึกผิดเกี่ยวกับการใช้เงินคือ ‘กลัว’ ว่าจริงๆ แล้วเงินที่ใช้จ่ายไปนั้น ควรจะไปลงกับสิ่งที่ดีกว่าหรือสำคัญกว่าการท่องเที่ยว ซึ่งความรู้สึกนี้มักเกิดจากการขาดการวางแผนและจัดการงบนั่นเอง
อีกอย่างคือการพิจารณาลิสต์สถานที่ที่จะไปว่า ที่ไหน ‘ต้อง’ ไป หรือที่ไหนสามารถตัดออกได้ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน ‘ก้อนใหญ่’ ของเราล่วงหน้าได้
ออมเงินล่วงหน้าไว้เลยสิ
วิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็ยากในเวลาเดียวกัน คือการเก็บเงินไว้สำหรับการเดินทางที่จะมาถึง เพราะระยะเวลาระหว่างนั้น เราก็อาจมีเหตุจำเป็นให้ต้องใช้จ่ายอยู่ตลอด แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การเก็บเงินแบบเฉพาะเจาะจงไว้สำหรับการท่องเที่ยวไปเลย โดยการกันเงินไว้เล็กน้อยในแต่ละเดือน สิ่งนี้อาจต้องทำควบคู่ไปกับการวางแผนล่วงหน้าว่า เราจะเดินทางในช่วงเวลาไหน เดือนไหน เมื่อตั้งงบได้แล้วว่าเมื่อถึงวันเดินทางจะต้องมีงบเท่าไหร่ ก็เอาหารด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนกว่าจะถึงวันเดินทางและเริ่มเก็บกันเลย
ความจริงแล้ว เมื่อเราเริ่มเก็บเงิน สิ่งที่จะตามมาอีกข้อคือ การตรวจสอบรายจ่ายในช่วงแต่ละเดือนเพื่อค้นหาค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและสามารถลดได้ สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถเก็บเงินบางส่วนเพิ่มได้มากขึ้น
ค้นหาสิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการเดินทางแบบเนียนๆ
เริ่มจากการเลือกจุดหมายปลายทางที่เราปักไว้ ถ้าบางสถานที่มันเกินเอื้อมไปก็ลองเปลี่ยนมาเป็นที่อื่นที่เราสามารถจัดการงบการเดินทางให้เป็นจริงได้ เช่น อยากไปดูฟุตบอลที่ยุโรปเหลือเกิน แต่ไอ้เราก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังขนาดนั้น เงินเดือนก็น้อยนิด ลองเปลี่ยนกลับมามองแถบอาเซียนหรือเอเชียเราดูก็ได้ มีหลายที่น่าสนใจเลย
เมื่อรู้แล้วว่าจุดหมายคือที่ไหน ลองพิจารณาระยะเวลาในการเดินทางดูก็จะช่วยคุมงบไม่ให้บานปลายได้ เช่น จะไปกี่วัน ถ้าเป็นการเดินทางระยะสั้นก็อาจไม่มีปัญหานัก แต่ถ้าต้องการเดินทางนานขึ้นหน่อย ก็ลองกลับไปที่การเลือกจุดหมายปลายทางที่ค่าใช้จ่ายสามารถลดลงได้ รวมถึงหาที่พักราคาประหยัด ไปจนถึงวางแผนเรื่องอาหารการกินที่บางมื้ออาจกินง่ายหน่อย หรือทำอาหารกินเองไปเลยก็ดีเหมือนกัน
นอกจากนี้ อีกเทคนิคที่คนเดินทางชอบใช้คือการเลือกวันเวลาในการจองตั๋วเครื่องบิน ที่มักเป็นวันกลางสัปดาห์ ซึ่งจะตามมาด้วยการจองที่พักที่อาจได้ราคาถูกลง เนื่องจากช่วงกลางสัปดาห์ ราคาห้องพักมักถูกลง รวมถึงบางสถานที่จะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมที่ถูกกว่าช่วงสุดสัปดาห์ แต่วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่มีความยืดหยุ่นในการเดินทางมากกว่า
อีกข้อคือการ ‘จอง’ บางอย่างล่วงหน้า เช่น สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง สิ่งนี้จะทำให้เรารู้ชัดเจนว่างบประมาณของเราลงไปที่ไหนแล้วบ้าง และสามารถตัดออกจากเงินเก็บได้เท่าไหร่ ยังไม่นับบางสถานที่ที่เราสามารถเข้าฟรีได้ด้วย
ใครๆ ก็อยากให้รางวัลตัวเองที่ทำงานหนักมาตลอดปี ซึ่งการเดินทางออกจากจุดเดิมๆ ไปพบพานสิ่งใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ รับประสบการณ์ใหม่ๆ เจอผู้คนใหม่ๆ ต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม จะช่วยให้เราได้ชาร์จแบตตัวเองอีกครั้ง และสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเพลิดเพลินกับช่วง ‘วันหยุดสุดขีด’ ของเราโดยไม่ต้องรู้สึกแย่ คือการวางแผนการเดินทางให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายนี่เอง
เอาล่ะ ปลายปีนี้มีแพลนหรือยัง? เก็บเงินไปได้เท่าไหร่แล้ว?