ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราค่อนข้างแน่ใจว่าในไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของใครหลายคนคงมีเพื่อนๆ แชร์ภาพกราฟิก 3D ปริศนาให้เห็นผ่านตา โดยเฉพาะภาพไมโครโฟนสุนัขจ่อไปที่ลูกชมพู่ซึ่งกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืนในวันที่มีการแถลงงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสภาไล่เลี่ยกับที่มีการออกหมายจับลุงพล
แถมเมื่อเลื่อนต่อไปดูภาพอื่นๆ เราก็พบงานกราฟิกที่สะท้อนเหตุการณ์จริง (ซึ่งบางครั้งก็เหนือจริงจนเกินจะเชื่อ) ของสังคมและการเมืองไทยแบบที่ต้องอาศัยการตีความหน่อยๆ แต่พอเก็ตแล้วก็เผ็ดร้อนจนอดใจไม่ไหวต้องขอแชร์ต่อบ้าง
ผลงานเหล่านี้รวบรวมอยู่ในเพจ Uninspired by current events ที่ แก่น–สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ เพิ่งเปิดได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ โดยเริ่มจากความตั้งใจที่จะหาวิธีสื่อสารความอัดอั้นตันใจในสังคมการเมืองแบบไทยๆ ผ่านแนวทางของตัวเอง
จากเด็กหนุ่มที่ฝึกฝนการทำงานแอนิเมชั่นและ 3D ด้วยตัวเองตั้งแต่วัยมัธยม ร่ำเรียนวิชาภาษาหนังและการเล่าเรื่องจากมหาวิทยาลัย จนได้มาหยิบจับงานคอมพิวเตอร์กราฟิกและโมชั่นกราฟิกเป็นอาชีพหลังเรียนจบ ทั้งหมดคือส่วนผสมที่ลงตัวและแตกต่างที่ทำให้ผลงานของแก่นสะดุดตาเราจนต้องรีบคว้าตัวเขามานั่งคุยถึงกระบวนการคิดงานในโปรเจกต์ที่เขาบอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นแค่เพจสรุปข่าวการเมืองประจำวันเท่านั้น
เบื้องหลังไอเดียและการคิดงานของเขาเป็นยังไง ไปฟังจากปากเจ้าของเพจ Uninspired by current events กัน
Under Subconscious
“มีช่วงหนึ่งที่ผมเลิกเล่นเฟซบุ๊กเพราะการเสพข่าวในประเทศนี้มันน่าเศร้าเกินไป อ่านแล้วรู้สึกว่าเราทำอะไรกับมันไม่ได้” แก่นเล่าย้อนถึงที่มาของการเริ่มสร้างงานศิลปะส่วนตัวที่มาจากอาการหดหู่หลังติดตามสถานการณ์การเมืองไทยจนบั่นทอนกำลังใจในการใช้ชีวิต
แต่สำหรับฟรีแลนซ์อย่างเขา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ได้ออกไปเจอใคร การลบเฟซบุ๊กกลับยิ่งนำมาซึ่งความว่างและความเหงาขึ้นเป็นทวีคูณ หลังจากนั่งคิดนอนคิดว่าจะทำอะไรแก้เหงาดี แก่นเริ่มต้นทำงานศิลปะที่ใช้ทักษะของคนทำงานแอนิเมชั่นและ 3D ให้เป็นประโยชน์และแตกต่าง ด้วยความคิดเริ่มต้นว่าแค่อยากใช้ภาพเหล่านี้สื่อสารกับเพื่อนๆ เท่านั้น บวกกับการมองเห็นโอกาสในการประมูลหรือขายผลงานศิลปะในโลกออนไลน์ (non-fungible token: NFT) ที่กำลังฮิตกันในตอนนี้
“จริงๆ โจทย์ของผมไม่ได้คิดว่าจะทำเพจการเมืองเลย เราแค่คิดว่าอยากทำรูปขึ้นมาสักรูปหนึ่งทุกๆ วัน เป็นเรื่องอะไรก็ได้ แต่ด้วยความที่พอเราทำเพจสื่อสารกับคนไทย เราอยากให้คนไทยแชร์เป็นหลักก่อน ภาพส่วนใหญ่มันเลยถูก inspired มาจากเหตุการณ์บ้านเมืองเราเป็นธรรมดา ในช่วงนี้การเมืองไทยก็มีเหตุการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน จากแต่ก่อนที่เราอาจจะไม่สามารถร่วมด่ากับใครได้เพราะทุกคนก็ล้วนด่ากันจนไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว ตอนนี้เราก็มีวิธีการแสดงออกที่มันใหม่ ไม่ซ้ำกับชาวบ้านเขา (หัวเราะ)”
ถึงอย่างนั้น แก่นก็ยืนยันว่าตัวเองคงไม่ได้จำกัดแนวทางของผลงานให้เป็นแค่เรื่องการเมือง เพราะโดยส่วนตัวผลงานศิลปะที่แก่นสร้างขึ้นเป็นแค่การพาเขาหนีออกจากโลกความจริงที่น่าเหนื่อยหน่าย แต่ก็ไม่ละเลยที่จะสื่อสารประเด็นสังคมรอบตัวที่เข้ามากระทบจิตใจไปยังกลุ่มคนดูวงกว้างมากขึ้น ซึ่งหากมีคนที่เห็นแล้วเข้าใจข้อความที่อยากสื่อสารออกมาได้เช่นกันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้ว
Uncover Image Processing
หากลองไล่ดูผลงานในเพจช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่าผลงานของแก่นล้วนแต่เป็นประเด็นสังคมการเมืองร่วมสมัย นัยว่ามีข่าวนี้เกิดขึ้นปุ๊บ อีกไม่กี่ชั่วโมงเราก็จะได้เห็นภาพนั้นถูกบอกเล่าผ่านมุมมองของเขา ซึ่งเขาบอกว่าในช่วงแรกนี้ สิ่งที่จำเป็นคือการเล่าประเด็นที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลฯ แต่ละวันเพื่อให้คนรับสารเข้าใจง่ายขึ้น
“พอได้ประเด็นของวันนั้นแล้วเราก็จะคิดต่อว่าจะเล่าออกมายังไงดี ควรใช้ element ไหนมาประกอบกันในฉาก หรือใช้เซตติ้งแบบไหน ผมจะคิดให้จบประมาณหนึ่งก่อนแล้วค่อยเข้าไปหาโมเดลและขึ้นรูปในโปรแกรม เพียงแต่เราไม่อยากทำให้รูปดูจริงเกินไปเหมือนภาพถ่ายอะไรแบบนั้นเพราะโปรแกรมมันเอื้อให้เราทำอะไรกับภาพได้อยู่แล้ว ตอนแรกตั้งใจให้เซอร์เรียลกว่านี้อีก ไม่อยากใส่สัญญะที่ชัดเจนอย่างชุดนักเรียนหรือทหารอะไรเลย”
แก่นเล่าว่าเขาตั้งใจให้ภาพทุกภาพสะท้อนถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองออกมาในโลกแฟนตาซีที่เขาสร้างขึ้น แต่พองานต้องส่งออกไปถึงคนดูก็ต้องพยายามหาสมดุลที่พอดีกันว่าจุดไหนที่คนอื่นจะเข้าใจและรู้สึกร่วมกันจนอยากแชร์ต่อด้วย
แก่นยกตัวอย่างภาพ No thoughts ว่าจริงๆ แล้วข้อความที่อยากสื่อสารก็ไม่ได้ลึกล้ำซับซ้อนมากไปกว่าใครอื่น แต่เป็นเพราะมุมมองและวิธีการผลิตที่ไม่ซ้ำใครที่อาจทำให้งานดูโดดเด่นขึ้นมา “จริงๆ แล้วเมสเซจมันง่ายมากเลย เราแค่อยากพูดว่าสมองพวกมึงคิดได้แค่นี้จริงๆ เหรอ มันคือคำด่าที่หลายคนคงพูดออกมาอยู่แล้ว แต่เราทำโปรดักชั่นออกมาแล้วคงดูแฟนตาซี มีความใหม่ และ immersive มากขึ้นจากการ์ตูนการเมืองที่มีอยู่ในตอนนี้”
ถ้าให้สรุป แก่นบอกว่าขั้นตอนหลักของการทำภาพคือการถอยออกมาตัดสินใจในฐานะคนสร้างงานว่าจะเลือกใช้องค์ประกอบอะไรที่สื่อถึงซับเจกต์หรือประเด็นนั้นๆ ให้เล่าเรื่องในภาพภาพเดียว มากกว่าการประกอบร่างในโปรแกรมซึ่งใช้เวลาไม่นาน “มันเหมือนการเล่นตุ๊กตุ่นสมัยเด็กที่เราต้องเลือกของและจัดวางของให้อยู่ในตำแหน่งที่สวยงาม เห็นทุกอย่างชัด และเล่าเรื่องได้”
“อย่างภาพ Watchdog treats ก็เริ่มจากประเด็นที่ข่าวคดีน้องชมพู่มันเป็นการเบี่ยงประเด็นที่แสดงถึงความเฮละโลของสำนักข่าวไทย เราเริ่มจากการคิดว่ามันมีกิริยาอะไรที่จะเล่าถึงการรีแอกต์ของสำนักข่าวพวกนี้ได้ เลยคิดไปถึงการหลอกหมา เวลาเราโยนอะไรสักอย่างหมาก็คงวิ่งไปคาบกลับมา แล้วหมาจะสื่อถึงสำนักข่าวยังไง ใช้เป็นกล้องได้ไหมหรือไมโครโฟนดีกว่าเพราะมันก็เล่าถึงการทำข่าวแล้ว เราก็เริ่มจากอันนี้
“ต่อมาซับเจกต์หลักจะเป็นยังไง ด้วยความที่เป็นคดีน้องชมพู่มันอาจจะง่ายหน่อยเพราะเราเอาลูกชมพู่มาวางได้เลย แล้วก็มีน้องหมาสำนักข่าวมาตอมลูกชมพู่ ส่วนเซตติ้งข้างหลังซึ่งเป็นวงกลมที่ลอยอยู่บนฟ้า เผอิญวันนั้นไถเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ แล้วเราเห็นกราฟนี้เยอะมากก็เลยคิดว่าแปะไปเลย เพราะยังไงคนก็คงจำได้อยู่แล้วถ้าไทม์ไลน์คุณใกล้เคียงกับเราและน่าจะเข้าใจว่าเราสื่อถึงอะไร” แก่นเล่าถึงการทำภาพในเพจที่ตอนนี้เขาตั้งกฎให้ตัวเองว่าจะต้องทำให้ได้วันละภาพทุกวัน
แล้วถ้าวันไหนไม่มีข่าวที่น่าสนใจโดดเด่นขึ้นมาจะทำยังไง–เราถามกลับ
“มีบางภาพที่ไม่ใช่ประเด็นของวันนั้นแต่เป็นประเด็นคลาสสิกที่เราอยากทำมานานแล้ว เราก็ใช้โอกาสนี้เล่าความอัดอั้นตันใจหรือความหงุดหงิดบางอย่างของตัวเองออกมา จริงๆ โจทย์ของเพจก็ไม่ใช่การทำรูปเกี่ยวกับข่าวขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าถ้ามีข่าวออกมาแล้วเราทำภาพเกี่ยวกับเรื่องนั้นเสร็จภายใน 1-2 ชั่วโมงแล้วได้รูปที่สวยด้วยมันก็จะดูเท่ (หัวเราะ) คนก็จะตกใจว่าเฮ้ย! ทำทันได้ยังไงวะ”
Unclear Layers
หากลองเข้าไปอ่านคอมเมนต์ใต้ภาพจะเห็นความหมายที่ไม่ชัดเจน เราสนุกกับการมองหาว่ามีใครเข้าใจประเด็นที่แก่นต้องการสื่อมากน้อยแค่ไหน นี่อาจเป็นการพยายามหาบาลานซ์อย่างที่แก่นว่า
“งานของผมมันคือภาพปริศนามากกว่า คนที่อยู่ในลูปข้อมูลเดียวกัน คุยเรื่องเดียวกันอยู่ถึงจะเข้าใจ เราคิดว่าคนอาจจะสนุกตรงนี้แหละมั้งว่าตอนแรกอาจมองไม่ออกว่ามันคือรูปอะไรวะ ต้องนั่งจ้องสักพักถึงจะรู้ว่ามันพูดถึงข่าวเมื่อเช้านี้นี่หว่า มันมีเลเยอร์ความเอ๊ะมากกว่าคนอื่นนิดหนึ่ง มี secret ที่ต้องเป็นคนไทยเท่านั้นถึงจะเก็ต และตัวรูปมันก็พอจะแชร์ได้ เอาจริงมันก็สวยอะ (หัวเราะ) เป็นรูปแปลกๆ ที่แชร์ไปก็จะไม่รู้สึกผิดกับหน้าฟีดตัวเอง”
Unintentionally Political
ถึงจะฟังดูเศร้า แต่แก่นบอกเราว่า ณ ตอนนี้เขาเองไม่คาดหวังว่างานศิลปะเหล่านี้จะสามารถสร้างผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ยิ่งใหญ่ต่อสังคมได้ ส่วนหนึ่งเพราะความสงสัยว่าสภาพสังคมไทยอันน่าสิ้นหวังจะดีขึ้นได้จริงๆ เหรอ
“แต่ก่อนผมรู้สึกว่าถ้างานศิลปะของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ก็คงดีสินะ แต่ ณ ตอนนี้ที่ผมทำงานเหล่านี้อยู่ ผมไม่ได้มีความหวังเหล่านั้นเลย ผมคิดแค่ว่าอย่างน้อยที่สุดงานของเราอาจจะช่วยได้แค่บางมุม
“มีคำพูดหนึ่งของ César A. Cruz ที่ผมชอบมาก เขาบอกว่าหน้าที่ของงานศิลปะคือทำให้คนที่กำลังทุกข์อยู่สบายใจขึ้น และทำให้คนที่กำลังสบายใจอยู่เกิดความทุกข์ (Art should comfort the disturbed and disturb the comfortable.) ผมรู้สึกว่านี่คือการพยายามบาลานซ์ระหว่างความแฟนตาซีและการหลีกหนีจากความจริงไปหาโลกเซอร์เรียลที่เราสร้างขึ้นมา เหมือนเราพาคนไปเที่ยวแป๊บหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันมันก็อิงมาจากความเศร้าและความทุกข์ของโลกที่เราอยู่
“ผมไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อหวังความเปลี่ยนแปลงหรือมีธงอะไรเลย ตอนนี้รู้สึกหมดหวังจนไม่รู้จะรู้สึกยังไงแล้ว ทำได้แค่หาทางมีความสุขในความฉิบหายบ้างเท่านั้นเอง” แก่นทิ้งท้ายกับเราแล้วหัวเราะให้ แม้จะเป็นการหัวเราะที่ขมขื่นก็ตาม