ก่อนจะถาม กูเกิลดูก่อนไหม?
ในยุคนี้ ไม่มีคำด่าไหนเจ็บเท่าการถูกบอกว่า “อย่าทำตัวเหมือนไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้”
คนรุ่นเราเป็นต้นมาเติบโตและชินชากับการมีกูเกิลเป็นที่ปรึกษาปัญหา ช่วยทำการบ้าน หาสิ่งของและบริการที่ต้องการ ตอบคำถามชีวิตที่เปลี่ยนไปตามวัย เมื่อไหร่ที่เราสงสัยสิ่งใดในชีวิตขึ้นมา งงว่าคนอื่นกำลังคุยกันเรื่องอะไร มีคนพูดถึงดาราที่เราไม่รู้จัก มีประเด็นที่เราไม่คุ้นเคย หรือเมื่อทำอะไรไม่เป็น อาจมีคนบอกเราว่า “เฮ้ยแก ลองกูเกิลดูก่อนไหม?”
คนรุ่นก่อนหน้าอาจแซวว่าถ้าพวกแกโดนตัดเน็ตคงจะสิ้นชีวิต ไม่สามารถฟังก์ชั่นได้ พวกเราต่างหาข้อมูลในกูเกิลมาเติมเต็มความสงสัยได้ในทันทีโดยไม่ต้องไปห้องสมุด ไม่ต้องกลับบ้านมาถามแม่ หรือรอถามครูอีกต่อไป คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ดำรงชีวิตอยู่กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมาค่อนชีวิตเป็นปกติ จนสิ่งใดไม่มีในกูเกิลก็เหมือนไม่มีอยู่จริง เพราะกูเกิลมีแทบทุกสิ่งที่เราต้องการและผลการค้นหาก็มากมายเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้
กูเกิลกลายเป็นบริการพื้นฐานสำหรับทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นคำกริยาแพร่หลายตั้งแต่เมื่อไหร่?
ในปี 1998 คนที่ใช้กูเกิลเป็นคำกริยาครั้งแรกคือ Larry page ผู้ก่อตั้งกูเกิลเอง ในประโยค “Have fun and keep googling! – ขอให้สนุกและจงกูเกิลกันต่อไป!”
ต่อมาในปี 2002 คำว่ากูเกิลในฐานะคำกริยาไปโผล่อยู่ในหนังซีรีส์แวมไพร์วัยรุ่น Buffy the Vampire Slayer โดยตัวละครหนึ่งถามตัวละครอีกตัวว่า “นี่ได้ลองกูเกิลเธอดูหรือยัง?”
และในปี 2006 กูเกิลมีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายจนถูกบรรจุเป็นคำศัพท์ใน Oxford English Dictionary
วันนี้ เราจึงชวนคุยถึงศัพท์คำว่า ‘ungoogleable’ อันแปลว่า ‘ไม่สามารถสืบค้นหาได้ด้วยกูเกิล ไม่มีผลลัพธ์ หรือไม่มีคำตอบ’
แล้วเรายังเหลือสิ่งใดที่ค้นหาไม่ได้ในกูเกิล?
ในปี 2016 วิศวกรกูเกิลคนหนึ่งประเมินว่าฐานข้อมูลเสิร์ชเอนจินของกูเกิลมีขนาด 100 petabyte หรือประมาณฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 1TB จำนวน 100,000 อัน แล้วมนุษย์ยังจะเหลืออะไรอีกที่เสิร์ชไม่พบในกูเกิล
ปี 2013 คำว่า ogooglebar (หรือ ungoogleable ในภาษาอังกฤษ) ถูกบัญญัติเป็นคำศัพท์ใหม่ในภาษาสวีเดน ก่อนถูก Google เรียกร้องให้ถอนออกด้วยเหตุผลทางลิขสิทธิ์เพื่อปกป้องเครื่องหมายการค้า โดยทาง Language Council of Sweden ต้องถอนคำว่า ungoogleable ออกไปจากลิสต์คำใหม่ จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า ใครกันแน่คือผู้ตัดสินใจว่าคำไหนควรมีอยู่ในภาษาใด สภาแห่งภาษา บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของชื่อ หรือว่าผู้ใช้
มีการประเมินว่าสิ่งที่เราค้นพบด้วยกูเกิลนั้นเป็นเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของโลกอินเทอร์เน็ตทั้งมวล สิ่งที่ยังซ่อนอาจมีสัดส่วนถึง 70-90 เปอร์เซ็นต์ ถูกเรียกว่า deep web ซึ่งเป็นดินแดนลับแลอันตรายของคนเล่นอินเทอร์เน็ต หากสืบค้นลงไปลึกพอ เราอาจจะพบด้านมืดของอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บค้ายาเสพติด บริการทำพาสปอร์ตปลอม วิธีทำระเบิดเองที่บ้าน (สำหรับก่อการร้าย) หนังโป๊ที่ผิดกฎหมาย หรือกระทั่งการค้ามนุษย์ เพราะกูเกิลนั้นมี regulation system ที่เกือบจะสมบูรณ์
ไม่ใช่ทุกคนอยากถูกค้นพบในกูเกิล
การถูกค้นหาไม่พบด้วยกูเกิลอาจเป็นทั้งโชคดีและโชคร้าย
ในยุคที่สิ่งใดเสิร์ชค้นไม่พบ สิ่งนั้นเสมือนไม่มีอยู่จริง หากคุณเป็นธุรกิจ คุณอาจต้องสละเวลาและเงินเพื่อทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับต้นๆ ของการค้นหา การถูกพบในอินเทอร์เน็ตโดยง่ายนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจและรายได้ หากคุณจะสมัครงานก็อยากให้ผู้ว่าจ้างเสิร์ชเจอแต่ด้านดีๆ ด้านที่มีความสามารถของเรา
เราอยู่ในโลกที่บริษัทสืบค้นคนที่เข้ามาสมัครงานก่อนรับเข้ามาทำงานเพื่อเช็กประวัติ นักเรียนแอบลองเช็กชื่อเพื่อนร่วมชั้นที่กำลังจะได้เจอกันในชั้นปีที่ 1 เราอาจลองเสิร์ชชื่อแฟนเก่า หรือหาเพื่อนประถมที่สูญหายเมื่อสงสัยว่าเขาเป็นอย่างไรในตอนนี้ ทุกครั้งที่มีคนมีชื่อเสียงตาย ชาวบ้านแอบไปเสิร์ชว่าเขาคือใคร ทำอะไรมาบ้าง หลายคนอาจเคยลองเอาชื่อจริงตัวเองเสิร์ชดู อาจเจออดีตที่ตัวเราเองก็ลืมไป
เพราะอินเทอร์เน็ตมีความทรงจำอันยืนยาว มีคนมากมายอยากลบตัวเองออกจากเสิร์ชแต่ทำไม่ได้ การไม่ถูกค้นพบในกูเกิลถูกโยงไปสู่ประเด็นสิทธิ์แห่งการถูกลืมและสลายหายไปจากอินเทอร์เน็ต มีเหยื่อที่ถูกคุกคามจากอดีตของตัวเองที่ยังปรากฏติดตรึงอยู่ในเน็ต ประวัติ ข่าว อาชีพเก่า หรือคดีความในอดีตที่สืบค้นได้ บางคนที่มีภาพลับโผล่อยู่ในเน็ตที่ถูกส่งออกไปแล้วไม่มีวันได้คืนกลับมา อาจทำร้ายชีวิตปัจจุบันได้เพียงถูกแค่กดเสิร์ช อดีตที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตตามมาหลอกหลอนเราได้เสมอ
เราแทบทุกคนมีซากร่องรอยของตัวตนที่ถูกสืบค้นได้ด้วยเสิร์ชเอ็นจิน ตัวตนเราที่อยู่ในกูเกิลนั้นแทบควบคุมไม่ได้ ทำไมหากเราอยากจะสูญหายโดยสมบูรณ์แต่ทำได้เพียงรอให้ข้อมูลเราหายไปตามอายุขัยของเอกสาร หรือโดเมนเว็บไซต์หมดอายุขัยไปเอง การถูกค้นหาไม่พบก็อาจเป็นการรักษาเสน่ห์ของบางสิ่งในชีวิตจริง เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวที่ควบคุมได้ เมื่อบน Cloud ยังมีหลักฐานของการมีอยู่ของเราไว้เหนือการควบคุมของเรา
การมีชื่อที่กลางและโหลมากๆ เช่น John Smith, Anna Jones อาจทำให้เราไม่มีสิทธิ์ถูกพบได้โดยง่ายในอินเทอร์เน็ต เพราะมีจำนวนข้อมูลซํ้ามีมากเกินไปจนไม่สามารถระบุสาวมาถึงเราได้ คนอาจจะอยากหารูปชมพู่ที่เป็นผลไม้ แต่กลับได้ภาพชมพู่ อารยา มามากมายไม่มีที่สิ้นสุด
วงดนตรีที่มีชื่อคลาสสิกจบในคำเดียวเท่ๆ อย่าง Kiss, Queen, Nirvana หรือ Oasis อาจถูกใช้ไปหมดแล้ว วงดนตรีอินดี้ยุคใหม่ถูกแนะนำให้ตั้งชื่อวงให้จดจำได้ง่าย และสะดวกที่จะให้แฟนคลับค้นหาได้ง่าย แต่คนบางคนก็ไม่อยากจะถูกจดจำและค้นพบได้ง่าย มีบางวงก็ไม่สนใจไกด์ไลน์การตั้งชื่อวง จนเกิดวงชื่ออ่านไม่ออก ซับซ้อนด้วยสัญลักษณ์อย่าง หรือกลางมากจนหาไม่พบอย่าง -isq, l _ / \ – l _ / \, The ███████, 00110100 01010100 หรือ ⣎⡇ꉺლ༽இ•̛)ྀ◞ ༎ຶ ༽ৣৢ؞ৢ؞ؖ ꉺლ วงเหล่านี้มีอยู่จริง และเกือบทั้งหมดนี้เสิร์ชพบด้วยกูเกิลอยู่ดี
กูเกิลอาจตอบคำถามสำคัญของชีวิตเราไม่ได้
เราอาจรู้สึกว่าความรู้ของทั้งโลกอยู่ที่ปลายนิ้วและฝ่ามือของเรา แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะลองเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดอะไร
เราลองตั้งคำถามไปในกลุ่มเพื่อนว่า “มีอะไรที่กูเกิลไม่ได้หลงเหลืออยู่บ้าง?”
มีคนจำนวนหนึ่งตอบเราว่า ‘อนาคต’ กูเกิลทำนายอนาคตเราไม่ได้ เราไม่สามารถค้นหาได้ว่าใครจะชนะเลือกตั้งปี ’62 นี้ นี่เองทำให้การเลือกตั้งอเมริกาที่ได้ทรัมป์ยังเป็นที่เหนือคาดของสื่อทุกเจ้า เราไม่สามารถกูเกิลได้เลยว่าประเทศของเราจะดำเนินไปทางใด และควรใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป
ในซีรีส์ตลก Please Like Me จากประเทศออสเตรเลีย แม่ของพระเอกฆ่าตัวตาย เขาปรารภกับนักบำบัดว่า “ผมลองกูเกิลว่า ทำไมแม่ถึงฆ่าตัวเอง และมันบอกได้แค่ว่าทำไมแม่คนอื่นถึงฆ่าตัวเอง และมันพยายามขายแม่แบบใหม่ให้กับผม” กล่าวคือ กูเกิลนั้นไม่สามารถรู้จักคนที่เป็นที่รักของเราได้ดีกว่าเรา กูเกิลไม่ได้รู้จักแม่ของเขาเหมือนที่เขารู้จัก และทำได้เพียงหยิบข้อมูลในฐานข้อมูลมาอธิบายเท่านั้น
กูเกิลไม่รู้จักคุณยายของเราที่ตายไปแล้ว ท่านเป็นคนรุ่นเก่าผู้ไม่มีอีเมลหรือเฟซบุ๊ก และไม่ได้ตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายแบบผิดธรรมชาติจนต้องไปปรากฏอยู่ในข่าว ไม่ได้เป็นคนดัง ทุกครั้งที่เราคิดถึงยาย เราจะต้องไปค้นหาภาพยายในฮาร์ดดิสก์อันเก่าหรือในอัลบั้มรูปเก่า ยายเราไม่ได้มีตัวตนอยู่ในอินเทอร์เน็ตมากกว่าความทรงจำอันละเอียดกว่าในหัวเรา หรือภาพยายที่เราเองได้อัพโหลดไปรำลึกไม่กี่ภาพ
มนุษยชาติอาจพยายามหาคำตอบและความหมายของชีวิตด้วยการเสิร์ชกูเกิล เราอาจจะลองเสิร์ชคำถามประเภทที่ว่า เราจะตายเมื่อไหร่ ลูกน้อยของเราเป็นอัจฉริยะไหม แฟนของเราเขานอกใจหรือเปล่า แน่นอนว่าเราไม่เคยได้คำตอบที่กระชับและตรงกับชีวิตเรา เพราะกูเกิลจะแสดงผลออกมาได้แค่คำตอบหรือสิ่งที่คนเคยอัพโหลดเข้าไปเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นลิสต์บทความจากงานวิจัย ฮาวทู วิธีการสังเกต ประสบการณ์ของเราไม่ได้ใหม่ เคยมีคนประสบมาแล้วทั้งนั้น
เราอาจเสิร์ชหาคำทำนายอนาคตตามราศี หาแนวโน้ม เทรนด์ หรือคำบอกเล่าของผู้รู้ เราอาจหาคำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่คำตอบของชีวิตเราแต่เป็นคำตอบของชีวิตคนอื่น
วัยรุ่นหรือคนที่เด็กกว่าเราอาจนึกถึงโลกที่ไม่มีกูเกิลไม่ออก ย้อนกลับในวันที่โทรศัพท์มือถือยังมีไว้เพียงโทรและส่งข้อความ ความทรงจำนั้นสำหรับเราแสนเลือนราง เราอยู่กับกูเกิลมาเกินครึ่งชีวิตจนชินชากับการมีข้อมูลรวมกันทั้งโลกในฝ่ามือ จนเราเผลอคิดไปว่า เรารู้และเข้าใจทุกสิ่งหมดแล้ว
เราต้องเตือนตัวเองเราไม่ได้ฉลาดและรอบรู้ เราแค่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แค่นั้นเอง และคำถามสำคัญของชีวิตหลายๆ อย่างก็ยังไม่มีคำตอบเหมือนเดิม
อ้างอิง
JUST GOOGLE IT: A SHORT HISTORY OF A NEWFOUND VERB
Who, What, Why: What is ‘ungoogleable’?