‘Cheugy’ ศัพท์วัยรุ่นยุค TikTok ที่อยากบอกว่ารสนิยมแบบเจนวายนั้นตกยุคไปแล้ว

ช่วงปลายเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา สถิติผู้ใช้ TikTok ทั่วโลกแบบสม่ำเสมอรายเดือน (Active Monthly User) เพิ่งทะยานเข้าสู่หลักพันล้านและยังเติบโตพุ่งแรงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นๆ เริ่มชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram หรือ Twitter ช่องทางและวิธีการใช้แพลตฟอร์มที่ต่างไปก็สามารถอธิบายช่องว่างระหว่างวัยเหล่านี้ได้ดีทีเดียว

ช่วงต้นปี 2021 จู่ๆ ก็มีคำหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาใน TikTok คำนั้นคือคำว่า ‘Cheugy’  ซึ่งเป็นคำที่ชาววัยรุ่น Gen Z ใช้นิยามคนรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกว่าชาวมิลเลนเนียล (ที่เริ่มเก่าแล้ว) เพื่อตอกย้ำและเสียดสีว่าค่านิยมของแบบเจนวายดูไม่คูล ไม่เท่ อีกต่อไปแล้วในสายตาวัยรุ่น TikTok คำนี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความต่างระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เริ่มไม่ใหม่กับกลุ่มวัยรุ่นที่ใหม่กว่า

‘Cheugy’ คำที่แสดงออกถึงความแก่ในรสนิยมแบบมิลเลนเนียล

ตามที่ Dictionary.com บัญญัติไว้ คำว่า Cheugy  adj. (อ่านว่า ชูว-กี) เป็นคำสแลงภาษาอังกฤษของวัยรุ่นอเมริกัน มีความหมายว่า ใครหรืออะไรก็ตามที่ ‘ไม่คูล’ ไม่ว่าจะตามเทรนด์ไม่ทัน ตามเทรนด์ที่ตกยุคไปแล้ว หรือว่าพยายามมากเกินไปที่จะดูทันสมัย หรือคนบางคนที่ยังคงตามเทรนด์ที่เคยฮิตเมื่อสมัยเขาหรือเธอยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น แต่ตอนนี้ได้ตกยุคไปเสียแล้ว

คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘basic’ หรือ ‘normie’ มักใช้ในบริบทของการประชดเสียดสี คำนี้กลายเป็นคำฮิตในช่วงปี 2021 เพื่อขยายความต่างและความไม่ลงรอยกันระหว่างคนเจน Z กับเจน Y ที่มีค่านิยมต่างกันไป

Cheugy เกิดขึ้นโดยวัยรุ่นเพื่อวัยรุ่น และฮิตขึ้นมาในแพลตฟอร์มรุ่นใหม่อย่าง TikTok ใช้ในสถานการณ์เมื่อเวลาผู้ใหญ่หรือคนที่โตกว่า (โดยเฉพาะคนเจนวาย) พยายามทำอะไรที่อยากดูทันสมัย ตามเทรนด์ แต่จริงๆ แล้วฝืน ดูพยายามมากไป หรือแอบช้าไปเสียแล้วสำหรับวัยรุ่นที่ไวกว่า คำนี้เกิดมาเพื่อย้ำเตือนคนเจนวายว่าพวกเขาน่ะไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไปแล้วนะ

สื่อข่าวอย่าง New York Times สรุปว่า คำนี้เริ่มเกิดขึ้นโดย Gaby Rasson ในปี 2013 โดยเกิดจากการที่เธอพยายามหาคำสักคำมาใช้เพื่ออธิบายกลุ่มคนที่พยายามตามกระแสและดูอินเทรนด์มากเกินไปจนดูกลายเป็นไม่คูลไปเสีย คำนี้ก็เพิ่งมาเป็นที่สนใจในช่วงต้นปี 2021 เมื่อมีผู้ใช้ TikTok ชื่อ Hallie Cain อธิบายคำนี้กับชาวเน็ต คำนี้ก็ได้ทะยานสู่กระแสและความสนใจของชาวเน็ตจนแฮชแท็ก #cheugy นั้นฮิตจนถูกใช้ไปมากมายและมียอดชมมากกว่า 238 ล้านวิวใน TikTok ซึ่งองค์ประกอบและลุคแอนด์ฟีลแบบชูวกีนั้นมีอะไรบ้างเดี๋ยวสาธยายในหัวข้อถัดไป

องค์ประกอบแห่งความ Cheugy มีอะไรที่ดูไม่เข้าท่าบ้างในสายตาของวัยรุ่น Gen Z อเมริกัน

หลายบทความที่รายงานถึงคำนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คำว่า Cheugy นั้นเป็นคำที่ให้คำจำกัดความยากมาก แต่พอเห็นภาพแล้วจะเก็ตทันที คำว่า Cheugy กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามระหว่างวัยของคนยุคเจนเนอเรชั่น Z (เกิดปี 1996-2015) และคนยุคเจนเนอเรชั่น Y (เกิดปี 1981-1995)

แต่เนื่องจากคำนี้เป็นคำฮิตในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน ตัวอย่างภาพแทนรสนิยมแบบชูวกี อาจจะแตกต่างกับบริบทไทย เช่น แนวคิดแบบ Live, Laugh, Love หรือสไตล์การตกแต่งข้าวของเครื่องใช้แบบสไตล์ #GirlBoss (นิยามของผู้หญิงที่มีความมุ่งมั่นสู้เพื่อความฝัน)

อินสตาแกรมแอ็กเคานต์ cheuglife รวบรวมภาพและมู้ดโทนที่ถูกป้ายว่าเป็นรสนิยมแบบชูวกี มาไว้ที่เดียวกัน มีผู้ติดตามมากถึง 56.1k ทีเดียว โดยคำอธิบาย Cheug คือคนยังตามเทรนด์ที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ซึ่งรสนิยมปัจจุบันอาจจะเป็นที่นิยมในสมัยที่คนเหล่านี้ยังอยู่ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ฟังดูเจ็บแสบและใจร้ายเอาเสียมาก

Cheugy

ตัวอย่างสิ่งของ ไอคอนป๊อปปูลาร์คัลเจอร์ หรือแบรนด์แฟชั่นที่ดูจะเชยและล้าสมัยไปแล้วสำหรับวัยรุ่นชาวเจน Z เช่น

  • การแต่งรูปด้วย VSCO
  • แพลตฟอร์ม Pinterest
  • รองเท้ายี่ห้อ Ugg
  • ตัวการ์ตูนมินเนียนสีเหลือง
  • ป้ายตัวอักษรคำว่า Live, Love, Laugh
  • แนวคิดค่านิยมแบบ #Girlboss
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีลายเป็นตัวอักษรเขียนมือ เช่น แก้วกาแฟลายมือเป็นคำต่างๆ
  • โปสเตอร์ติดห้องสไตล์คำคมสร้างแรงบันดาลใจ

ค่านิยมของชาว Gen Z คือความแตกต่างหลากหลาย พวกเขาโตมากับการเสพสิ่งต่างๆ กระจัดกระจาย ย่อมจะรู้สึกไม่สอดคล้องกับภาพ aesthetics ที่ดูกลางๆ ไม่ตื่นเต้นหวือหวา การทำตามเทรนด์ การเลืกทางอยู่ในกรอบ ดูเบสิกกลางๆ จึงดูตกยุคไปแล้วสำหรับพวกเขา

Cheugy
Cheugy

นอกไปเรื่องรสนิยมแต่งตัว ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คำคำนี้วิจารณ์ไปถึง คำที่คนแก่ใช้ (คำฮิตที่เชยแล้ว แต่คิดว่าทันสมัย) หรือพฤติกรรมบางอย่างบนโซเชียลมีเดียบางอย่าง เช่น ติด #hashtag เยอะๆ, การโพสต์เฟซบุ๊กยาวๆ, การใช้อีโมจิเยอะเกินไปในข้อความ เกณฑ์เหล่านี้ 

แม้เราจะเข้าใจยาก ชวนงงว่าอ้าว มันผิดตรงไหน อย่าลืมว่าขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่เก็ตพฤติกรรมวัยรุ่นหลายๆ อย่าง เช่น การมีแอ็กหลุมจำนวนมาก, การลงรูปแล้วก็ชอบลบทิ้งในอินสตาแกรม ฯลฯ

ความซับซ้อนของคำคำนี้ คือไม่ได้มีกฎที่ตายตัวแต่อย่างใดว่าอะไรตกยุค และอะไรยังรับได้อยู่ และคงจะแตกต่างไปอีกในแต่ละวัฒนธรรมและประเทศ มีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเลยสักนิดว่าชูวกีคึออะไรกันแน่ ทำไมต้องมาแขวะและแซวรสนิยมความชอบของคนอื่นด้วยว่าตกยุคไปเสียแล้ว คำนี้ใช้ในการแปะป้ายว่าใครอินและใครเอาต์  หรือมองว่าเป็นการบูลลี่คนที่รสนิยมต่างไปหรือไม่ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ยิ่งพอสำรวจความเห็นแตกต่างหลากหลายมาก แน่นอนว่า ไม่มีฉันทามติเกี่ยวกับคำนี้เท่าไหร่ เพราะต่างคนตีความต่างไป มีทั้งคนเห็นด้วยใช่เลย คำนี้แหละแทนใจได้ดีมาก และคนที่มองว่าคำนี้สร้างดราม่าโดยไร้สาระไม่มีเหตุ เช่น มีคน Gen Z ที่ไม่เคยใช้หรือไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน ก็ออกตัวแย้งว่า สงสัยบคน Gen Y นั่นแหละที่มโนคำนี้ Cheugy แล้วก็เป็นเดือดเป็นร้อนเองรึเปล่า บ้างก็ว่าคำนี้ก็ไม่ได้ใช้ด่าคนวัยไหนเลยเป็นพิเศษ มีแต่ชาว Gen Y ที่มโนไปเองว่าตัวเองโดนล้อเลียนแล้วเอาไปเขียนเป็นตุเป็นตะ (เช่นที่ผู้เขียนกำลังทำอยู่นี้เอง) หรือกระทั่งคำนี้ได้สร้างความแตกแยกหรือความขัดแย้งระหว่างรุ่นโดยไม่จำเป็น ฯลฯ

แน่นอนว่าหากใครพบว่าตัวคือกลุ่มที่ชื่นชอบสิ่งของแนวนี้ แต่งตัวโทนนี้ หรือโตมาโดยมองว่าตัวอย่างที่ยกมาก็ไม่มีอะไรผิดแปลก อยากจะใช้ต่อไป ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องไปปรับหรือเปลี่ยนตัวเอง ทิ้งของ เสียเงินเสียทองซื้อของใหม่เพื่อพิสูจน์ตัวเองกับใครว่าเรายังไม่แก่ แค่รับรู้ว่ามีวัยรุ่นบางคนมองว่าของที่เราชอบมันแก่แล้ว ไม่คูลแล้ว มันจะเป็นไรไป 

บางคนก็โต้แย้งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นไปตามวัย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยทำงานและวัยผู้ใหญ่ รสนิยมต่างๆ ของเราเริ่มนิ่งและอยู่ตัว คนที่เริ่มแก่ก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกระแสใหม่ๆ และถ้าหากมีความสุขที่จะเชยก็ไม่ได้เดือดร้อนใคร และไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนกับการยอมรับว่าเรา ‘แก่’ สักหน่อย

ไม่ว่าวัยรุ่นในยุคใดก็ล้วนมีจิตใจขบถต่อต้านคนรุ่นก่อนหน้าเป็นธรรมดา

ย้อนไปเมษายนปี 1972 Joyce Maynard วัยรุ่นสาววัย 18 ปี ได้เขียนเรียงความ ‘คนอายุ 18 ปีเหลียวหลังมองชีวิตที่ผ่านมา’ (An 18-Year-Old Looks Back On Life) เพื่อเขียนบันทึกถึงชีวิตของเธอและคนในรุ่นราวคราวเดียวของเธอเอาไว้ เธอขึ้นต้นเรียงความว่า  ‘ไม่ว่าคุณจะเกิดในเจเนอเรชั่นไหน คุณย่อมคิดว่ายุคสมัยของคุณนั้นช่างนั้นพิเศษ’ ในเรียงความเธอเล่าชีวิตคนในวัยเดียวกัน เห็นสังคมและค่านิยมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เธอฟุบหลับไปบนเครื่องพิมพ์ดีด ฝันเห็นตัวเองไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ ในโลก อึดอัดรำคาญใจกับปัญหาที่คนรุ่นก่อนหน้าทิ้งไว้ให้ การสรุปเหมารวมคนรุ่นราวคราวเดียวกันว่าเหมือนกันไปหมดนั้นช่างอันตรายและอาจลดทอนรายละเอียดไปเสียหมด

วัยรุ่นในทุกยุคต่างเฝ้ามองและพร้อมจะรื้อถอน เย้ยหยัน ทำลายค่านิยมของคนรุ่นก่อนหน้า และคนในทุกยุคก็มีความท้าทายที่ต่างกันไป

หนังสือ Because Internet: Understanding the New Rules of Language โดยนักภาษาศาสตร์ Gretchen McCulloch เจาะรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงของภาษาบนโลกอินเทอร์เน็ต เล่าว่า ภาษานั้นเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลามาตั้งแต่ไหนแต่ไร แค่การเก็บข้อมูลในยุคอินเทอร์เน็ตนั้นช่วยบันทึกข้อมูลและเป็นพยานหลักฐานให้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับการสื่อสารกันเองแบบภาษาพูด คนทำงานคนละอาชีพ คนต่างวัยนั้นล้วนมีคำถนัดใช้ต่างกันในกลุ่ม 

วัยรุ่นไม่ว่าจะในสมัยไหน ก็คือวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงและเป็นช่วงต่อจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ วัยรุ่นในทุกยุคล้วนหลบหลีกผู้ใหญ่ที่คอยสอดส่อง พวกเขาจึงคอยสร้างวิธีการช่องทาง สร้างประโยค คำใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่หรือคนนอกกลุ่มไม่เก็ต เพื่อให้คนในเข้าใจกันและทำให้คนนอกกลุ่มฉงนเป็นอย่างมาก ผลคือตามมาด้วยคำใหม่ๆ ให้ตื่นเต้นและน่าติดตาม ชูวกีอาจเป็นเสียงตอบโต้กลับจากคน Gen Z ที่ตัดพ้อว่า ก็ผู้ใหญ่ต่างหากที่ชอบเหมารวมว่าพวกเขาตื้นเขิน ไม่ฉลาด หรือเสพติดอินเทอร์เน็ต

ปรากฏการณ์นี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นธรรมดา แค่อินเทอร์เน็ตนั้นก็ช่วยจดบันทึกและช่วยเป็นสื่อขยายให้คำเกิดใหม่ๆ เผยแพร่ต่อไปได้รวดเร็ว ซึ่ง Dana Boyd นักวิชาการด้านโซเชียลมีเดีย เขียนสรุปไว้ว่า ‘วัยรุ่นไม่ได้เสพติดอินเทอร์เน็ต พวกเขาเสพติดกันและกันต่างหาก’ ดังนั้นหากคำสักคำนี้จะใช้กันคนแก่ออกไปจากกลุ่มก็ไม่เห็นจะเป็นไร ไม่มีอะไรต้องเดือดร้อน และในวันหน้าก็คงมีคำใหม่ๆ คำที่เคยฮิตก็จะกลายเป็นคำเก่าๆ ที่อดีตวัยรุ่นยังใช้ติดปากต่อเนื่องกันไป

พอมานึกดูแล้ว วัยรุ่นเจน Z เติบโตมาในโลกที่วุ่นวาย มีปัญหามากมายที่เขาต้องรับมาจากคนรุ่นก่อนหน้า ผ่านประสบการณ์เรียนหนังสือออนไลน์ในช่วงโควิด พวกเขาเห็นโลกผ่านการได้รับข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีและความไวที่ต่างไปจากยุคก่อน มีความสนใจอันหลากหลายและกระจัดกระจาย 

ผู้เขียนเป็นคนวัยมิลเลนเนียลคนหนึ่ง เติบโตมากับถ้อยคำพร่ำบอกว่าเราคือคนรุ่นใหม่ พอรู้ถึงการมีอยู่ของคำนี้ก็แอบซึม ระลึกว่า เราไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไป เพราะมีคนรุ่นใหม่กว่าเราโผล่ขึ้นมา และผลิบานอย่างท้าทาย พวกเขามาพร้อมกับสายตาและมุมมองที่สดใหม่ มีการแสดงออก มุมมอง รสนิยมที่ต่างไป เราคงต้องปล่อยให้วัยรุ่นสร้างคำจำกัดความเพื่อกลุ่มของตัวเอง นี่คือความหลากหลายที่น่าเรียนรู้และน่าสนใจมากๆ 

แม้คำว่า cheugy จะดูเป็นคำร้ายๆ มองโลกในแง่ลบ ขี้เหยียด คำประชด เสียดสี ขำขันล้อเลียนคนเริ่มแก่อย่างใจร้ายว่า ‘ยุคสมัยของพวกเธอน่ะจบลงไปเสียแล้วนะ’  แต่พอมานึกดูก็คงเหมือนกับคนรุ่นเราที่เคยป่าวประกาศกับคนรุ่นก่อนหน้าเราว่าพวกเขาน่ะตามไม่ทันแล้วนะ

คำว่า Cheugy เป็นหนึ่งปรากฏการณ์เล็กๆ บนอินเทอร์เน็ต ที่ชวนให้เราฉงนและสงสัย แต่ก็ช่วยสะท้อนและขยายมุมมองของวัยรุ่นยุคใหม่ที่มีต่อสิ่งที่เขาว่าตกยุคและไม่อินแล้ว การได้รู้จักคำนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เอะใจ รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิม

อ้างอิง

AUTHOR