‘ยากแต่ต้องทำให้ได้’ คุยเรื่อง Zero Waste กับ คุณสมเจตนา ภาสกานนท์

เรื่องนี้ขึ้นต้นด้วยความยาก…

ยากทั้งเป้าหมายและวิธีการในการนำพาองค์กรขนาดใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ C.P. Group ที่วันนี้มีธุรกิจทั้งหมด 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 14 กลุ่มธุรกิจ ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ มีพนักงานในเครือกว่า 4 แสนคน ให้เป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

เป้าหมายที่ทั้งยากและท้าทายแบบนี้ เราเชื่อว่าคนทำงานต้องมีวิธีคิดและวิธีการทำตามเป้าหมายที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ไม่น้อย

บ่ายที่ครึ้มฝน ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ย่านพระโขนง เรามีนัดพูดคุยกับ คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ว่าด้วยหลายประเด็นที่เขาและทีมงานด้านความยั่งยืนทุ่มเททำงานมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“ฝากอันนี้ไว้ให้อ่านนะครับ” เขายื่นหนังสือเล่มหนากว่า 257 หน้าให้เราพร้อมรอยยิ้ม บนปกหนังสือเล่มสีเขียวเข้มนั้นมีชื่อว่า

เพื่อพรุ่งนี้ ที่ดีกว่า

Making Today a Better Tomorrow

เครือเจริญโภคภัณฑ์ รายงานความยั่งยืนประจำปี 2565

เห็นแล้วไม่แปลกใจว่าทำไมรายงานความยั่งยืนของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถึงได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับที่ 2 ด้าน Best Carbon Disclosure Report โดย Corporate Register (ประจำปี 2564) รวมถึงสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ได้จัดอันดับให้ รายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฉบับปี 2564 และปี 2565 อยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรก (Top 10 Performers) ร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอื่น ๆ

หลายประเด็นเราเชื่อว่าต้องอ่าน และแน่นอนอีกหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ต้องคุย และเราคิดว่าบทสนทนานี้ไม่ได้ยากเกินทำความเข้าใจ และเผลอๆ คุณอาจจะได้เรียนรู้อีกหลายเรื่องที่ไม่เข้าใจ

1

“ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนในเครือของเรามีทั้งหมด 3 ด้านหลัก ก็คือด้าน Heart หรือ Living Right ซึ่งประกอบไปด้วย การกำกับดูแลกิจการ เรื่องสิทธิมนุษยชน การศึกษา การพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล และความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล ด้าน Health หรือ Living Well ก็มีเรื่องสุขภาพและสุขภาวะที่ดี คุณค่าและการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม เรื่องความมั่นคงทางอาหาร นวัตกรรม และการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย

“Home หรือ Living Together ตรงนี้เน้นเรื่องของการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เรื่องน้ำ การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการเรื่องห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ โดยภายใต้ 3 ด้านหลักจะมีประเด็นสำคัญรวม 15 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อจะมีเป้าหมายภายในปี 2573 และดัชนีชี้วัด หรือ Key Performance Indicators (KPIs) ย่อยๆ อีก 131 รายการ โดยเราจะสำรวจความคิดเห็นของ Stakeholder ทุกปีว่าเรื่องเหล่านี้ยังสำคัญมากน้อยแค่ไหน และเครือฯ ทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีเพียงใด ซึ่งกลุ่มบริษัทในเครือฯ ก็จะทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน อยู่ที่ว่าบริษัทไหนเน้นในเรื่องอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจของแต่ละองค์กร”

แต่ในบรรดาเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนทั้ง 15 ข้อนั้น คุณสมเจตนา หรือคุณเจต ของทีมงาน บอกว่าประเด็นที่ต้องทบทวนและท้าทายที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง Climate Resilience ที่โยงไปถึงเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เรื่อง Zero Waste ที่ถือเป็นเรื่องที่เขามักจะเน้นย้ำในทุกครั้งเมื่อมีโอกาสได้สื่อสาร

“เป้าเรื่อง Climate เป็นเป้าที่เราตั้งใจจะมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral และเป็น Net Zero ให้ได้ตามแนวทางสากล ที่นำโดยองค์การสหประชาชาติและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ความยากจึงหมายความว่า ในระหว่างที่ธุรกิจเราต้องเติบโตขึ้น มีการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พลังงานต่างๆ ก็เพิ่มตามไปด้วย แต่จะให้รายได้เราโตอย่างเดียวโดยไม่รับผิดชอบต่อสังคมเราก็ทำไม่ได้ จึงต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงมา ซึ่งเราตั้งใจว่าจะต้องลดลงให้ได้ 4.2% ต่อปี นับจากนี้”

2

“ตอนนี้ในเครือฯ ของเรามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของเครือฯ เองประมาณ 6 ล้านตัน หรือที่เรียกว่า Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมขององค์กรโดยตรง) กับ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร) แต่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมใน Value Chain เช่น การจัดหาวัตถุดิบ การขนส่งต้นน้ำและปลายน้ำอีกกว่า 67 ล้านตัน หรืออยู่ใน Scope 3 ซึ่งนั่นคือส่วนที่ยากที่สุดที่เราต้องไปลดด้วยเหมือนกัน

“และเราตั้งเป้าว่าใน Scope นี้เราต้องลดให้ได้ปีละ 2.5% ถึงจะลดได้ตามเป้าจริงๆ ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งการทำงานร่วมกันกับคู่ค้า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการใช้ธรรมชาติมาช่วย เช่น การกักเก็บคาร์บอนจากการปลูกต้นไม้หรือฟื้นฟูป่า เป็นต้น ซึ่งถ้าดูจากแนวโน้ม 3-4 ปีที่ผ่านมา เราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกในเครือเราได้อย่างเห็นได้ชัด แม้ธุรกิจเราจะเติบโตขึ้นก็ตาม โดยตอนนี้ เราคำนวณได้ว่า ในทุก 1 ล้านบาทของรายได้จากธุรกิจในเครือของเราจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 2 ตัน เราก็ต้องคิดแนวทางในการลดเพิ่มเติมอีก

“ถ้าถามว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ต้องบอกว่าบางเรื่องมันไม่ต้องใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขั้นสูง แต่เป็นการปรับกระบวนการ ก็มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก เช่น ถ้าดูตั้งแต่ต้นน้ำ วัตถุดิบที่เราซื้อเข้ามา เช่น ข้าว ที่เรามีกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมมือทำงานหรือ Contract Farmer ก็ใช้วิธีการปลูกแบบสลับเปียกและแห้งเพื่อลดก๊าซมีเทนจากการปลูกข้าว รวมทั้งการนำ Waste หรือขยะเหลือทิ้งจากธุรกิจต่างๆ ในเครือมาทำกระบวนการแบบ Circular Economy เช่น เรามีโรงปุ๋ยอินทรีย์ ใช้มูลของไก่จากฟาร์มมาเป็นวัตถุดิบหลักชนิดหนึ่ง แล้วก็มีวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรในพื้นที่ข้างเคียงมาผสม มีกระบวนการผลิตในโรงงานที่ช่วยลดของเสียเหล่านั้นให้เหลือน้อยที่สุด

“หรืออย่างฟาร์มปศุสัตว์ของซีพีเอฟก็มีระบบผลิตไบโอแก๊ส ที่ทำให้เราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอก และยังมีการขยายผลถ่ายทอด Know-how ให้เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา นอกจากไบโอแก๊สแล้ว แน่นอนก็ต้องมีเรื่องของ Solar Rooftop หรือ Floating Solar เข้ามาช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของธุรกิจต่างๆ ในเครือด้วย”

3

ในมุมของผู้บริโภค เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ทางเครือซีพี ได้พัฒนานวัตกรรมมากมายที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาขึ้นเองและร่วมกับคู่ค้า ทั้งเรื่องอาหารสัตว์ พลังงานไฟฟ้า ไปจนถึง Packaging หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในเครือ ภายใต้แนวคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนให้มากที่สุดทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า 

“ในด้านการเกษตร สูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ซีพีเอฟก็มีการวิจัยพัฒนาสูตรอาหารสุกรที่ทำให้ลดปริมาณไนโตรเจนในมูลสุกรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระหว่างการเลี้ยงไปด้วย ส่วนในด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ถ้าพูดถึงสิ่งที่มองเห็นชัดๆ ก่อน ตอนนี้หลายคนคงสังเกตเห็นว่าที่โลตัสสาขาใหญ่ๆ หรือมีพื้นที่เพียงพอ เราจะมี EV Charging Station หรือสถานีชาร์จรถ EV เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“โดยส่วนใหญ่ไฟฟ้าของเราจะเป็นไฟฟ้าที่เกิดจาก Renewable Energy ของเราเองเลย เพราะไม่ได้ใช้ไฟจากการไฟฟ้าฯ หรือสายส่งไฟฟ้าที่เราเห็นทั่วไป แต่เราเอาไฟจาก Solar Rooftop ของโลตัส โดยปัจจุบันเราจะมีจุดที่วางแผงโซลาร์เกือบจะทุกสาขาที่มีขนาดใหญ่ เพื่อจะเอาไฟเหล่านั้นมาเลี้ยงตรงสถานีชาร์จไฟตลอดทั้งวัน ดังนั้นคนที่มาชาร์จไฟที่นี่ จะถือว่าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ นี่คือสิ่งที่คนมองเห็นชัดเจนก่อน

“ส่วนสิ่งที่คนอาจจะมองไม่เห็น ก็คือเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในแมคโครและโลตัส นั่นคือเราออกแบบและเปลี่ยน Packaging ใหม่ เป็นแบบที่ใช้เม็ดพลาสติกลดลง แต่มีความแข็งแรงเท่าเดิม การเปลี่ยนให้พลาสติกบางลง ทำให้ความต้องการใช้ Virgin Plastic หรือเม็ดพลาสติกใหม่ลดลง ตัวนี้แหละครับที่ทำให้เราลดปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติก ลดปริมาณ Packaging ลดการปล่อยคาร์บอน ตอนนี้เราทำเฉพาะแบรนด์ในเครือเราก่อน คือเฉพาะในแมคโคร โลตัส จากนั้นเราจะไปจับมือกับซัพพลายเออร์ที่เราเอาของมาขาย ไปเชิญชวนให้เขามาลดพลาสติกและเปลี่ยน Packaging ด้วย แน่นอนว่า วันนี้การเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกแบบใหม่อาจจะยังแพงอยู่ แต่ถ้าอนาคตเราทำงานร่วมกันได้ ทำให้การผลิตมีสเกลใหญ่ขึ้น เราเชื่อว่าราคามันจะดีขึ้น พวกนี้แหละคือประเด็นเรื่อง Sustainable Packaging ที่เราทำอยู่

“เป้าหมายเรื่องนี้ เราตั้งเป้า 100% เลยว่าจะทำให้เป็นพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือเป็นแบบย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันเราทำให้ธุรกิจในเครือเราใช้ Packaging แบบนี้ได้กว่า 90% แล้ว แต่ยังต้องทำมากกว่านี้”

4

มาถึงเรื่อง Zero Waste ที่ถือว่าทางเครือซีพี ทุ่มเทอย่างจริงจังและมีแผนการทำงานที่น่าทึ่ง โดยคุณสมเจตนาบอกว่า เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องจัดการสารพัดเรื่อง ทั้ง Zero Food Waste และ Zero Waste to Landfill (ขยะที่ไปหลุมฝังกลบต้องเป็นศูนย์) และ Sustainable Packaging

“เรื่อง Packaging นี่ผมคิดว่าพวกเราทำได้ค่อนข้างดี ที่เราเน้นเรื่อง Packaging เพราะมันมีผลไปหมดทั้งการทำให้อาหารเก็บได้นาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกหลังการบริโภค แต่สองเรื่องแรกที่พูดถึงแม้ว่าปีล่าสุดเราสามารถลดปริมาณ Food Waste และ Waste to Landfill ได้ แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ถามว่าความท้าทายอยู่ตรงไหน? ความจริงในเครือฯ เรามีการสร้าง Waste ออกมาทั้งหมดประมาณปีละ 1 ล้านตันเลยนะครับ เราถึงต้องพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากของเสียเหล่านี้ ซึ่งเราสามารถหาวิธีนำไปใช้ประโยชน์ได้กว่า 90% ที่เหลืออีกประมาณ 10% หรือ 1 แสนตัน ยังต้องถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ และประมาณ 50% ของที่เหลืออยู่นี้เป็น Food Waste

“Food Waste ส่วนใหญ่ มาจากธุรกิจรีเทลในเครือฯ ของเราเอง และเป็นปัญหาอย่างนี้กับคนทำธุรกิจรีเทลทั่วโลก และนี่คือก้อนใหญ่ที่เราต้องแก้ ซึ่งปลายทางขยะพวกนี้มันก็ยังไปที่หลุมฝังกลบอยู่ แต่เราก็พอจะมีวิธีการในการจัดการอยู่หลายๆ อย่าง ทั้งบริจาคผ่านมูลนิธิที่ทำงานร่วมกัน ถ้าอาหารไม่เหมาะกับคนบริโภค ก็จะไปเป็นอาหารสัตว์ ไปทำปุ๋ย ซึ่งเราทำงานร่วมกับหลายองค์กรเพื่อนำ Waste เหล่านี้ไปทำประโยชน์ให้มากที่สุด อย่างที่บอกว่านี่คือความท้าทายของรีเทลทั่วโลกเหมือนกันหมด เพราะถ้าไม่อยากให้เหลือมาก ก็ต้องผลิตให้น้อยลง แต่ถ้าน้อยไปก็จะมีความเสี่ยงของขาดและกระทบต่อรายได้ มันก็ยากต่อการสร้างความสมดุล แต่ถามว่าเราพยายามไหม เราพยายามอยู่ครับ แต่มันต้องเกี่ยวข้องกับการวางแผนการผลิตให้ดีทั้งกับฝ่ายของซัพพลายเออร์ หรือแม้แต่เกษตรกร รวมทั้งระบบการขนส่งที่มีผลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ไม่เพียงแต่ในองค์กร แต่เครือฯ ซีพี ยังต้องการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของการทิ้งขยะ แยกขยะ เพราะนี่คือต้นทางของการรีไซเคิล และที่สำคัญเส้นทางทั้งหมดนั้นก็วนกลับมาเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนอีก เพราะลดการผลิตของใหม่ไปได้จำนวนมาก

“ตอนนี้ เราเริ่มจัดพื้นที่ตามแมคโครและโลตัสเป็นจุดรวบรวมขยะที่สามารถนำกับมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย แม้จะยังมีไม่มาก แต่เราก็มีความตั้งใจจะมีส่วนร่วมกับลูกค้า และเราคิดว่าขยะเหล่านี้ยังมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระดาษลัง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขวดน้ำ เราจะตั้งจุดรับขยะไว้ 4 ถัง สำหรับขยะ 4 ประเภท ตอนนี้เราทำ 50 กว่าจุดในกรุงเทพแล้ว ตั้งใจว่าถ้าลูกค้าเอาขยะมาทิ้งก็เอามาแลกแต้ม แลกไข่ แลกคะแนนได้ ตรงนี้แหละครับที่เราทำให้เขาเห็นว่าขยะที่บ้านเขาก็มีคุณค่า มันจะนำกลับไปใช้ใหม่ได้ในอนาคต ไม่ต้องมีการผลิตซ้ำ

“แล้วที่สำคัญเราไม่ได้เอาขยะไปขายต่อ แต่เรานำกลับไปให้พาร์ตเนอร์เราที่เขาต้องใช้วัสดุเหล่านี้ในการผลิต เพราะเขาแข็งแกร่งในธุรกิจนี้อยู่แล้ว เช่น กลุ่ม SCG เป็นต้น พอเขาผลิตพลาสติกรีไซเคิลออกมาแล้ว เราก็ไปซื้อคืนกลับมาใช้ คือเราใช้พลาสติกรีไซเคิลจากพลาสติกที่เราเอาไปให้เขาอีกทีนั่นเอง ทุกอย่างมันก็จะวนเป็นลูปแบบนี้”

5

ภายนอกอาคารเวลานี้ ฟ้าเริ่มครึ้มฝน แต่คนในห้องยังพุดคุยเรื่องของความยั่งยืนกันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อย คุณสมเจตนาเล่าให้ฟังว่า

“ความยากในการทำงานด้านพัฒนาความยั่งยืนคือ การทำให้ความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจ ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากการมีข้อมูล ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถวัดได้ด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จากนั้นจึงนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งปัจจุบันเรามีเป้าหมายที่ท้าทายมากๆ ร่วมกันคือ Net Zero ทำให้เราต้องปรับ Mindset ในการวิเคราะห์ปัญหาและหาโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และที่สำคัญมากคือการมีจิตสำนึกร่วมกันของพนักงานทุกฝ่าย

“ถามว่าแล้วเราจะช่วยกันสร้างจิตสำนึกยังไงให้พนักงานทุกฝ่าย ทุกคนไปด้วยกันหมด ผมว่าเรื่องนี้เราพูดกันตลอดเวลา และผู้นำขององค์กรนำโดยซีอีโอของเครือมีบทบาทสำคัญในการย้ำถึงความสำคัญทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างสม่ำเสมอ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องความยั่งยืน ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องใหม่ อย่างปีนี้เราได้รับการรับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ โดย Science Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งครอบคลุมถึงการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของเครือทั้ง Scope 1, 2 และ 3 ตามมาตรฐานสากลที่เพิ่งออกมา เราก็ต้องให้ความรู้กับพนักงานให้เข้าใจว่าก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในองค์กรมันมาจากไหน แต่ละคนที่ทำงานตามหน้าที่ ตามฟังก์ชันต่างๆ ก็จะเข้าใจว่าจะมีส่วนช่วยกันยังไง เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ติดมา หรือการเดินทางของพนักงานก็รวมอยู่ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ทุกคนก็ต้องมีความตระหนักในเรื่องการเลือกใช้ยานพาหนะในการเดินทาง หรือเรื่องการขนส่งสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วก็ตาม เราต้องคิดถึงประสิทธิภาพในการขนส่ง ชนิดของเชื้อเพลิงหรือพลังงานที่ใช้ว่าทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากน้อยอย่างไร เมื่อเรามีความตระหนักรู้เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ และมีเป้าหมายบวกกับตัวชี้วัดที่ถูกต้อง ทุกคนก็จะช่วยกันหมดทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกันทั้งหมด ถ้าได้ตามเป้าก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ตามเป้าก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ ถามว่ายากไหม มันก็ยาก แต่เรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร เราก็ต้องทำให้ได้”

บทสนทนาอาจจะจบลงแล้ว แต่สำหรับเรา โจทย์ที่ท้าทายที่สุดก็คือการกลับไปอ่านหนังสือเล่มสีเขียวที่อยู่ในมือของเราเล่มนี้ ใช่…รายงานความยั่งยืน ที่หน้าปกเขียนว่า ‘เพื่อพรุ่งนี้ ที่ดีกว่า’ อย่างน้อยนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ที่เราเชื่อว่าพวกเขาใช้เวลาไม่น้อยเลยในการสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อบอกว่า พวกเขาทำอะไรมาบ้างและจะทำอะไรต่อไปตามความตั้งใจให้สังคมในวันพรุ่งนี้ดีกว่าเดิม 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: ธีรเมธ เชิดวงศ์ตระกูล

AUTHOR